ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ไม่หวั่น เดินหน้า “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” – มติ ครม. จัดรถโมบาย 1 แสนคัน ตระเวนขายสินค้าถูกกว่าตลาด 40%

นายกฯ ไม่หวั่น เดินหน้า “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” – มติ ครม. จัดรถโมบาย 1 แสนคัน ตระเวนขายสินค้าถูกกว่าตลาด 40%

22 มิถุนายน 2021


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน การประชุม ครม.ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์

นายกฯไม่หวั่นโควิดฯระบาด เดินหน้า “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” วอน ปชช.เลี่ยงชุมนุม ฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมาย – มติ ครม.จัดรถโมบาย 1 แสนคัน ตะเวนขายสินค้าถูกกว่าท้องตลาด 40% – สั่งทุกหน่วยบริหาร “วัคซีนโควิดฯ” ตามข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

เดินหน้า “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ไม่หวั่นโควิดฯระบาด

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัดจะทบทวนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือไม่ ว่าจากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดใหญ่) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือถึงสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรครวมถึงการเปิดประเทศตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเปิดประเทศใน 120 วันหรือเดือน ตุลาคม 2564

ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าการพิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะที่จ.ภูเก็ต หรือตามเกาะต่างๆในจ.สุราษฎร์ธานี ทั้ง เกาะสมัย เกาะพงัน เกาะเต่า เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยจะคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งจำนวนผู้ได้รับวัคซีนและความพร้อมด้านสาธารณะสุขในพื้นที่

ดังนั้นการดำเนินการและปฏิบัติตามมาตราการด้านสาธารณสุขจะทำอย่างเคร่งครัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก จ.ภูเก็ตและเกาะต่างๆในจ.สุราษฎร์ธานี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นผู้ดำเนินการพิจารณาเสนอ

“โดยรัฐและเอกชนจะต้องหาข้อสรุปให้ได้อย่างชัดเจนก่อนเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ให้พิจารณา และศบค.ไม่ใช่หน่วยงานที่จะกำหนดว่าพื้นที่ใดจะเปิดได้หรือไม่ ส่วนหลักเกณฑ์รับนักท่องเที่ยวยืนยันว่าจะดำเนินการให้เป็นตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งแต่ละลังวัดจะมีการจัดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขประจำจังหวัดเพื่อที่จะพิจารณา ซึ่งจะมีมาตรการในรายละเอียดว่าหากมีผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มขึ้นเท่าไร หรือมีการกระจายไปกี่อำเภอ ก็จะมีการเร่งทบทวนสิ่งต่างๆทั้งหมด”

ต่อคำถามถึงกรณีคณะกรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แสดงความห่วงใยต่อนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน นายอนุชา กล่าวว่า เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ รับฟังโดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นเรื่องข้อกังวลต่างๆแต่ทั้งหมดนายกฯได้ให้นโยบายไว้แล้วว่าจะต้องรักษาสมดุลทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพ และการดูแลการแพร่ระบาดจึงเป็นเหตุผลทำให้รัฐบาลต้องเลือกแซนด์บ็อกซ์ เปิดรับนักท่องเที่ยวเฉพาะบางพื้นที่เช่นที่ภูเก็ต ซึ่งจะมีการควบคุมในพื้นที่นั้น แต่หากพื้นที่นั้นๆต้องมีการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงก็จะดำเนินการทันที ซึ่งสามารถแก้ไขและปรับเปลี่ยนเรื่องการเปิดประเทศในลักษณะการนำร่องในพื้นที่จังหวัดอื่นๆตามมา

วอนเลี่ยงชุมนุม ฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมาย

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึงข้อกังวลในการชุมนุมในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ขณะที่ยังมีการแพร่ระบาดขอโควิดฯ ว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ในปัจจุบันโดยหวังว่าประชาชนจะได้มีการพิจารณาทบทวนการออกมาชุมนุมไม่ว่าจะท้องที่ใดในประเทศตอนนี้ก็อาจมีความสุ่มเสี่ยงกับสถานการณ์การติดเชื้อที่ยังมีการแพร่ระบาดและยังคงมีคลัสเตอร์ต่างๆ เกิดขึ้น

“ขอให้ประชาชนพิจารณาหลีกเลี่ยงการรวมตัวชุมนุมในลักษณะดังกล่าว และหากมีการกระทำความผิด มีการดำเนินการออกมาชุมนุมในลักษณะต่างๆ ก็เป็นที่จะต้องพิจารณาและดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ต่อไป”

ยันเอกชน-องค์กร ตปท. ยังขอรับจัดสรรวัคซีนจากรัฐได้

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีหนังสือแจ้งจัดวัคซีนให้บริษัทเอกชน ว่า เรื่องดังกล่าวมีการกำหนดโดย ศบค. และกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว ให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยที่มีความประสงค์จะขอรับวัคซีนให้แก่บุคลากรในองค์กรสามารถที่จะแจ้งความประสงค์ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และในกรณีองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรอยู่ในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศหน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศสามารถที่จะแจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนไปฉีดให้บุคลากรในสังกัดโดยหาสถานพยาบาลรองรับการได้เอง

“ตรงนี้เป็นข้อปฏิบัติที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนหลายๆ บริษัทเองหรือหลายองค์กรในส่วนของภาครัฐก็ได้มีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วซึ่งการระบาดต่างๆ ในส่วนของการฉีดวัคซีนนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าจะมีการฉีดวัคซีนอย่างปูพรม ซึ่งมีข้อปฏิบัติอย่างชัดเจนแล้ว”

สั่ง รพ.สนามจัดเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง-แดง

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึงข้อกังวลของประชาชนในเรื่องของเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดฯ ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในวันนี้ในเรื่องของเตียงที่จะรองรับผู้ป่วย โดยให้แต่ละจังหวัดพิจารณาเพิ่มเติมปรับในเรื่องของเตียงต่างๆ เช่น โรงพยาบาลสนามที่ปัจจุบันรองรับผู้ป่วยเกณฑ์สีเขียว ขอให้มีการปรับเพื่อที่ให้สามารถรองรับผู้ป่วยเกณฑ์เส้นเหลืองได้ สำหรับโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยสีเหลือง ก็ขอให้ปรับเพื่อที่จะรองรับผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์สีแดงด้วยเช่นเดียวกัน

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับหน่วยงานต่างๆ ว่าถ้าหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ว่าเครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ ก็ขอให้เร่งดำเนินการแจ้งความประสงค์มา ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมพิจารณาให้เป็นการเร่งด่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลต่างๆ ในการรองรับผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันปัญหาของผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา

ไม่เลื่อนเปิดเทอม หากมีปัญหาให้พิจารณาเป็นรายกรณี

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึงการทบทวนหรือมีมาตรการอย่างไรหลังจากมีการพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนหลายแห่งในต่างจังหวัด ว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไป คือ หลังจากที่มีการเปิดไม่ว่าจะเป็นจุดใด ก็แล้วแต่ โดยเฉพาะโรงเรียนเองก็ดี หากพบว่ามีปัญหาก็จะต้องดำเนินการให้สอดคล้อง คือ ปิดชั่วคราว เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง

“หากสถานที่ใดจะดีที่เปิดแล้ว ไม่มีปัญหาสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ก็สามารถดำเนินการตามที่มีนโยบายเดิมได้ ดังนั้นจึงต้องดูเป็นจุดจุดเป็นสถานที่ไปว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรและปรับเปลี่ยน”

ชวน ปชช.ช่วยกันตรวจสอบการใช้งบฯ-พบทุจริตแจ้ง 1111

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีการใช้งบประมาณเกี่ยวกับด้านสาธารณสุขจากนี้จะเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างไรหรือไม่ ว่า หากมีการพบหรือมีความสงสัยหรือมีหลักฐานสามารถที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษ เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบได้ทุกกรณี โดยไม่มีการยกเว้นฉะนั้นใครที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางเองก็ดีหรือท้องถิ่นก็ดีหากมีหน่วยงานใดที่เข้าข่ายอาจจะทำให้เกิดเรื่องของความไม่ชอบมาพากล ก็ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย

“ส่วนที่มีการร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ร้องเรียน 1111 ของรัฐบาลยังคงได้รับข้อมูลที่นำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องก็ ขอให้ประชาชนได้ใช้ช่องทางนี้ให้เป็นประโยชน์ นายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจังเพื่อที่จะให้ผู้ที่ทุจริตหรือผู้ที่ถูกร้องเรียนได้มีการชี้แจงหรือหากพบว่ามีความผิดจริงก็จะดำเนินคดีโดยไม่มีการละเว้น”

ต่อคำถามถึงกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจพบองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดสมุทรสาคร จัดซื้อกล้อง CCTV ในโรงพยาบาลสนาม 2 แห่งแพงเกินจริง และกรณีการจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าแพงกันจริงหรือมีการทุจริต นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ ได้ให้นโยบายเช่นเดียวกัน คือ หากพบ หรือมีการร้องทุกข์กล่าวหาก็จะต้องดำเนินการให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น

“ข้อมูลที่ประชาชนจะร้องทุกข์กล่าวโทษหรือตรวจสอบต่างๆ จะต้องเข้าสู่กระบวนการและมีการตรวจสอบก็จะต้องดำเนินการ เพื่อที่ให้การกระจายอำนาจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะมีทั้งในส่วนที่ดีอีกมากมายที่มีการกระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นส่วนของโครงการใดที่เป็นข้อกังขาวันนี้หรือประชาชนไม่สบายใจ ก็เป็นเรื่องของกระบวนการร้องทุกข์กล่าวโทษซึ่งจะดำเนินการตามขั้นตอนอย่างชัดเจน”

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

จัดรถโมบาย 1 แสนคัน ตะเวนขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด 40%

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการ “รถ Mobile พาณิชย์…ลดราคา!” ช่วยประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้กรอบวงเงิน 161.324 ล้านบาท  โดยการใช้รถ Mobile ไม่น้อยกว่า 1,000 คัน ให้บริการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพให้กับประชาชนในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดร้อยละ 20 – 40  ในพื้นที่แหล่งชุมชนและหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน เริ่มเดือนกรกฎาคม 2564  ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มรายได้ 210 ล้านบาท ลดรายจ่าย 90 ล้านบาท  เพิ่มการจ้างงาน/รักษาการจ้างงาน 2,385 คน ลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน 3 ล้านคน หรือ 100,000 คน/วัน

“สำหรับประโยชน์ของโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการบริโภคภาคครัวเรือนรวม ทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยลดการเดินทางของประชาชน รวมทั้งลดความเสี่ยงในการกระจายและการติดเชื้อโควิด-19 ของประชาชนด้วย” นายอนุชา กล่าว

IMD ขยับขีดความสามารถในการแข่งขันไทยมาอยู่ที่อันดับ 28

นายอนุชา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม.ได้รับทราบรายงานสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development) หรือ “IMD” ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อวันที่  17 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยไทยนั้นมีอันดับที่ดีขึ้น ขยับมา 1 อันดับ จากปี 2563 มาอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ ทั้งนี้ ผลจากวิกฤตการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ทำให้คะแนนสุทธิเฉลี่ยของทั้ง 64 เขตเศรษฐกิจลดลงจาก 71.82 ในปี 2563 เหลือเพียง 63.99 จากคะแนนเต็ม 100 ในปี 2564 โดยไทยยังคงมีคะแนนสุทธิในปีนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยอยู่ที่ 72.52  ลดลงเล็กน้อยจาก 75.39 ในปี 2563

และเมื่อมองภาพรวมในอาเซียน ไทยยังคงรักษาระดับอยู่ที่อันดับ 3 ของกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ โดยอันดับที่ 1 ได้แก่ สิงคโปร์ (ลดลง4 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 5) อันดับที่ 2 มาเลเซีย (ดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 25) อันดับที่ 3 ไทย อันดับที่ 4 อินโดนีเซีย (ดีขึ้น 3 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 37) และอันดับที่ 5 ฟิลิปปินส์ (ลดลง 7 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 52)

ทั้งนี้  การเปรียบเทียบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD  ระหว่างปี 2563 และ2564 พบผลการจัดอันดับดีขึ้น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ เป็นผลจากภาพลักษณ์ความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐที่มีการปรับตัวดีขึ้น และการเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีการปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับ เนื่องจากความพยายามของภาครัฐและภาคธุรกิจที่สนับสนุนการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรให้อยู่รอดในตลาดแรงงาน สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการศึกษา (Infrastructure) ปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับ เนื่องจากรัฐบาลมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีการปรับลดลงถึง 7 อันดับ โดย สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การค้าและการลงทุนของประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการส่งออกสินค้าและสถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการปรับตัวลดลงของตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการจัดอันดับที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลจากการส่งออกภาคบริการที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักที่มีอันดับลดลงค่อนข้างมากจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19

นายอนุชา ได้กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ เพื่อขยับอันดับของไทย โดยเน้นให้ติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง  ทุกส่วนราชการต้องเร่งพัฒนาระบบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย พร้อมใช้ และสะท้อนสถานการณ์การพัฒนาที่เกิดขึ้นจริง

สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคธุรกิจและประชาชนผ่านช่องทางที่เข้าถึงง่าย ขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพวิทยาศาสตร์และดิจิทัล และพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงและโรคอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะได้จัดประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจประเด็นร่วมกัน รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อติดตามและผลักดันแผนงาน โครงการ ที่จะช่วยยกอันดับตัวชี้วัดของไทยในอนาคตไทยให้ดีขึ้นต่อไป

รับทราบ GDP ปี’64 ขยายตัว 3% – ปี’65 โต 4.7%

นายอนุชา กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม.วันนี้ ได้รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564  ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและการส่งออกของเอเชียที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4.7 และฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564  โดยประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ซึ่งต่ำจากการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่   คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 มีแนวโน้มเกินดุลลดลงจากการนำเข้าที่ขยายตัวสูง โดยจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 10.0 และปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.3  และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 และ 2565 ประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และ 1.0 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ดีกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากการส่งเสริมการขายรถยนต์ในช่วงปลายปี และผลจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่ออกมาเพิ่มเติมภายหลังการระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งการลงทุนในลักษณะโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความชัดเจนมากขึ้น สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คือ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 20 ของการจ้างงานทั้งหมด

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพแต่เปราะบางมากขึ้น จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอ่อนแอ จึงต้องติดตามฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด   อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่ไม่เข้มงวดเท่าปีก่อนหน้า ประกอบกับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาเพิ่มเติมและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.7 จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นภายหลังการกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึงด้วย

ปลื้มผลงานช่วยคนจนเข้าถึงบริการทางการเงิน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ.2560-2564 ประจำปีงบประมาณปี 2563 โดยแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการเงิน 3 ด้านได้แก่ ด้านผู้ใช้บริการทางการเงิน , ด้านผู้ให้บริการทางการเงิน และด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน รวมทั้งสิ้น 78 โครงการ

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ได้ดำเนินการสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัดแล้ว รวม 54 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 จำนวน 15 โครงการ ที่มีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่คนในชุมชน และองค์กรการเงินชุมชนของธนาคารเพื่อการเกษตรและและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ได้มีการอนุมัติสินเชื่อมากกว่า 140,000 ล้านบาท, โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้หลุดพ้นจากความยากจนของ ธ.ก.ส. สามารถพัฒนาและยกระดับรายได้ให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้วจำนวนมากกว่า 160,000 ราย โครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำหรับประชาชนของสำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โครงการนี้สามารถส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อยให้สามารถตอบสนองการดำเนินชีวิตของประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้ใดโอกาส และผู้พิการ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 20194 จำนวนกว่า 9.1  ล้านกรมธรรม์

ส่วนโครงการที่ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 แต่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายตัวชี้วัดในปี 2563 แล้ว ได้แก่ โครงการให้ความรู้การเงินแก่ประชาชนของธนาคารออมสินได้มีการจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน ให้แก่ผู้ใช้บริการสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไปแล้วมากกว่า 60,000 ราย , โครงการเพิ่มบริการทางการเงินผ่านเครือข่ายทางการเงิน และสถาบันการเงินอื่นของ ธ.ก.ส. ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มช่องทางให้บริการทางการเงินให้ครอบคลุมประชาชนได้ระดับฐานรากผ่านเครือข่ายทางการเงินและสถาบันการเงินอื่นๆของ ธ.ก.ส.มากกว่า 1,600 แห่ง

สั่งทุกหน่วยบริหาร “วัคซีนโควิดฯ” ตามข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือ “ศบค.” หลายประเด็น หลัก ๆก็จะมีเรื่องที่ ครม.รับทราบคำวินิจฉัย และข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิดฯ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ , ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 , ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย , กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร รายงานผลการดำเนินงานตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินให้ที่ประชุม ครม.รับทราบด้วย

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ประเด็นถัดมาที่ประชุม ครม.ได้รับทราบแผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด ฯ และการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่าง ๆทั่วประเทศ รวมถึงแผนการจัดหาวัคซีน ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาและดำเนินการเจรจาจองวัคซีนไปแล้ว 105.5 ล้านโดส และมีเสนอเพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนจาก 100 ล้านโดสในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565 และรับทราบแนวการดำเนินงานของสถานที่กักกัน ซึ่งทางราชการกำหนดที่กำลังจะเริ่มต้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ รวมทั้งรับทราบข้อกำหนดการปรับมาตรฐานการควบคุมแบบบูรณาการ ซึ่งทาง ศปก.ศบค. ได้เสนอมาตรการปรับลดระดับพื้นที่สถานการณ์ต่าง ๆ อาทิ การปรับพื้นที่สีแดงเข้มทั้งหมด เพื่อลบผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมและให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯในปัจจุบันด้วย

รวมทั้งที่ประชุม ครม.ยังรับทราบมาตรการผ่อนคลายสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ และรับทราบแนวทางการปรับวิธีการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กรณีเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือ เจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ ซึ่งต้องเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร ณ ช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศทางอากาศ เฉพาะกรณีที่มีฐานปฏิบัติการในประเทศไทย อาทิ ลูกเรือของสายการบินต่าง ๆ และรับทราบหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับจากท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต หรือ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และที่เกาะนเกาะเต่าซึ่งในรายละเอียดแต่มีการแจ้งไปในเบื้องต้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาแล้วเกี่สมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำเสนอ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ก่อนเดินทางมาถึงประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างไร และก่อนเดินทางออกต้องทำอย่างไร โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการกรณีที่เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องดำแลอย่างใกล้ชิด

กำหนดหลักเกณฑ์ปรับเพิ่ม-โยกงบฯปี’65

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบ แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตามที่สำนักงบประมาณนำเสนอดังนี้

สำหรับแนวทางและหลักเกณฑ์การขอเพิ่มงบประมาณปี 2565 โดยให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายปี 2565 เฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการ์โควิดฯ 2564-2565 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการภายในปี 2565 โดยมีเงื่อนไขสำคัญดังต่อไปนี้

    1.ไม่ควรทำให้เกิดภาระรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
    2.ไม่ควรผูกพันงบประมาณารายจ่ายข้ามปีในปีต่อๆไป
    3.หน่วยรับงบประมาณมีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที
    4.หน่วยรับงบประมาณต้องเสนอโครงการ/รายการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้นๆ
    5.ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561

ส่วนส่วนแนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย เฉพาะรายการที่หน่วยรับงบประมาณเสนอ ขอตั้งงบประมาณไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 และกรณีที่มีการโอนภารกิจของหน่วยรับงบประมาณให้ดำเนินการ ดังนี้

    1)ให้หน่วยรับงบประมาณที่ถูกโอนภารกิจ เสนอขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องโอน
    2)ให้หน่วยรับงบประมาณที่รับโอนภารกิจ เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ได้ปรับลดตามข้อ (1)

ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณจะพิจารณาคำขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายปี 2565 และจะจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม 2564 เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ไฟเขียวคุมราคา “สินค้า-บริการ” 51 รายการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2564 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเสนอผ่านกระทรวงพาณิชย์ โดยให้คงสินค้าและบริการควบคุม ปี 2564 เช่นเดียวกับ ปี 2563 จำนวน 51 รายการ

แบ่งเป็น 46 สินค้า และ 5 บริการ กำหนดเป็น 11 หมวด ได้แก่ 1)หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ 2)หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง 3)ปัจจัยทางการเกษตร 4)ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 5)หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ 6)หมวดวัสดุก่อสร้าง 7)หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ 8)หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค 9)หมวดอาหาร 10)หมวดอื่นๆ และ11)หมวดบริการ สำหรับสินค้าและบริการควบคุมปี 2564 เช่น น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ ผงซักฟอก บริการซื้อขาย และบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ

เห็นชอบร่างแถลงการณ์กลุ่มเคร์นส์ฯ – ดันเปิดเสรีเกษตร

นางสาวรัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ของการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 42 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ ประเทศสมาชิกจะให้ความสำคัญกับการผลักดันการเจรจาด้านเกษตรที่เป็นรูปธรรมและเท่าเทียม เพื่อให้การค้าสินค้าเกษตรสามารถคาดการณ์ได้และเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรได้มากขึ้น และรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ความไม่มั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเห็นพ้องร่วมกันที่จะดำเนินการ อาทิ  1)การลดอุปสรรคทางการค้าและการบิดเบือนทางการค้า 2) การปฏิรูปเกี่ยวกับการเปิดตลาด การอุดหนุนภายใน และการส่งออก ตามความตกลงว่าด้วยการเกษตรภายใต้ WTO เป็นต้น

ซึ่งประเทศออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือและร่วมกันผลักดันการเจรจาด้านเกษตรภายใต้ WTO 3 หัวข้อ ได้แก่

  1. การเปิดตลาด อาทิ การลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิก
  2. การลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าให้แก่สินค้าเกษตร
  3. การยกเลิกการอุดหนุนส่งออก ให้ได้ข้อสรุปก่อนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (12th Ministerial Conference: MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ กลุ่มเคร์นส์ (Cairns Group) เป็นการรวมกลุ่มของประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อผลักดันการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และลดการอุดหนุนภายในที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนการค้า ประกอบด้วยสมาชิก 19 ประเทศ คืออาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปารากวัย เปรู ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ เวียดนาม ไทย และอุรุกวัย

“การรับรองแถลงการณ์ดังกล่าวนี้ จะเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลกในการแสดงเจตนารมณ์ต่อการปฏิรูปสินค้าเกษตรภายใต้ WTO รวมทั้งสนับสนุนความมุ่งมั่นของกลุ่มเคร์นส์ ในการผลักดันให้การเจรจาด้านการเกษตรในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) มีผลลัพธ์ เพื่อเสริมสร้างการแข่งขันสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมสำหรับประเทศสมาชิก WTO ต่อไป”

กำหนดมาตรฐาน มอก.คุมยาง “รถบัส-รถพ่วง” หล่อดอกใหม่

นางสาวรัชดา กล่าวว่าครม.จึงอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ  เนื่องจากปัจจุบันได้มีการนำยางล้อแบบสูบลมของรถบัส รถบรรทุก หรือรถพ่วง ซึ่งเป็นยางเก่าผ่านการใช้งานมานานและดอกยางสึกเสื่อมสภาพ นำกลับมาหล่อดอกยางใหม่แล้ววางขายในท้องตลาดจำนวนมาก และมีราคาถูกกว่ายางใหม่ แต่ยางหล่อดอกซ้ำเหล่านี้ไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพและผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ (UN Regulation No. 109)  และส่งเสริมให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ซึ่งร่างกฎกระทรวงมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2979-2562 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5471 พ.ศ.2562 โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ายางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ สำหรับเชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง จะต้องได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตและมีการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานถูกต้องครบถ้วน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ สมอ. (www.tisi.go.th) และแจ้งไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ร่วมแสดงความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว รวม 140 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวง

“ประโยชน์ที่จะได้รับ เมื่อร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คือ 1)เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และป้องกันการนำยางล้อหล่อดอกซ้ำที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ 2)เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานรับรอง และคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค”

ตัดสิทธิ “การบินไทย” ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินดอนเมือง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 เรื่อง ร้านค้าปลอดภาษี ที่เคยอนุมัติให้ บริษัท การบินไทย จำกัด ในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดภาษี ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ตามที่ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561

ทั้งนี้ เนื่องจากมติ ครม.ดังกล่าว ที่ให้การบินไทยฯ เป็นผู้ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอาการ (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องเปิดประมูลทั่วไปนั้นมีความไม่เหมาะสมกับการดำเนินการปัจจุบัน รวมทั้งไม่สอกคล้องกับบทบาทและแนวทางการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมือง เนื่องจากจากการบินไทยฯ ไม่ได้รับอนุญาตจาก บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ปกระกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2550

และปัจจุบันการบินไทยฯ ได้ย้ายเที่ยวบินไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมดแล้ว ประกอบกับการบินไทยฯ ได้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสหากิจ เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทเอกชนตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 อีกทั้งในการคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายได้ ได้ผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับสทธิดังกล่าวเป็นเวลา 10 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2576 แล้ว

อย่างไรก็ตามหากการบินไทยต้องการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอาการศยานดอนเมือง ก็นามารถยื่นข้อเสนอได้ตามประกาศเชิญชนคัดเลือกผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของ ทอท. ได้โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมศุลลกากรที่ 44/2561 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร

บังคับ “ผู้ผลิต-นำเข้า” ของเล่น ต้องได้มาตรฐาน มอก.

นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่น ให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นภายในประเทศให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ทำ หรือ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่น และผู้รับใบอนุญาตทำ หรือ นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานที่กำหนดใหม่ก่อนวันที่กฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องเป็นไปตามมาตรฐานมีผลใช้บังคับ รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นที่ได้รับอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

ออกใบอนุญาตคุมดาวเทียมต่างชาติ เปิดให้บริการในไทย

นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมี สาระสำคัญคือ ให้ใช้บังคับกับการอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมกรณีผู้ให้บริการประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น รวมถึงกรณีผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์หรือกิจการกระจายเสียง

สำหรับการกำหนดให้การพิจารณาว่ารัฐใดเป็นรัฐเจ้าของดาวเทียม จะต้องพิจารณาจากรัฐที่เป็นเจ้าของสิทธิข่ายงานดาวเทียมตามทะเบียนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเป็นหลัก หากรัฐที่เป็นเจ้าของสิทธิข่ายงานดาวเทียมตามทะเบียนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศไม่ใช่รัฐที่มีความเชื่อมโยงที่แท้จริงกับดาวเทียม ให้พิจารณาจากรัฐที่มีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของดาวเทียมนั้น หรือรัฐที่มีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติตนถือหุ้นข้างมากและเป็นผู้มีอำนาจควบคุมที่แท้จริงของดาวเทียมเป็นลำดับต่อไป นอกจากนี้ร่างประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้ประเทศไทยอาจตั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดของดาวเทียมต่างชาติด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงได้

ขณะเดียวกันได้กำหนดให้การอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศไทยเชิงพาณิชย์ ให้เป็นไปตามกรณีดังต่อไปนี้คือ 1.ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทยที่ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในการประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น 2.ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกที่ประสงค์จะประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย

โดยผู้ประสงค์จะประกอบกิจการต้องยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กสทช.กำหนด พร้อมกำหนดให้มีการประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบและจัดทำข้อเสนอแนะเมื่อประกาศฉบับนี้บังคับใช้ไปแล้ว 3ปี เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ต่อไป

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2564เพิ่มเติม