Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ธุรกิจแบตเตอรี่ Lithium-ion…โตแรง รับกระแสกรีนและ EV โดยมองว่า
รู้จัก Energy Storage System
Energy Storage System หมายถึง ระบบหรืออุปกรณ์ที่ใช้สะสมพลังงานไฟฟ้าเพื่อกักเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงเวลาอื่นได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้งานเป็นตัวช่วยควบคุมเสถียรภาพของการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า (TDRI, 2562) โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งมักมีความเสถียรในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าน้อย
ทั้งนี้ เทคโนโลยีของ Energy Storage System สามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ตามรูปแบบของพลังงาน โดยมีรายละเอียดในรูปที่ 1
แม้ว่าเทคโนโลยีของ Energy Storage System มีหลากหลายประเภท แต่ Lithium-ion เป็นเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่กำลังได้ความนิยมมากสุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดที่ 27.5% ซึ่งมากสุดในกลุ่ม1 และ Mordor Intelligence ได้คาดว่าทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตถึง 20% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2568 ตามกระแส Green Economy สำหรับในไทย คาดว่าจะมีความต้องการ Lithium-ion เพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ยที่ 12% ต่อปี ในช่วงปี 2563-25682 ทั้งนี้ จากความต้องการแบตเตอรี่ Lithium-ion ที่มีแนวโน้มเติบโต และกำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก Krungthai COMPASS จึงเน้นการวิเคราะห์เทคโนโลยีแบตเตอรี่ Lithium-ion เป็นหลัก
จากที่แบตเตอรี่ Lithium-ion กำลังได้รับความนิยมใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบให้ต้นทุนลดลง และการคิดค้นแบตเตอรี่ Lithium-ion ประเภทใหม่ที่ชื่อว่า “Solid State Battery” ซึ่งคาดว่ามีความจุมากขึ้น และชาร์จไฟฟ้าได้เต็มเร็วขึ้น อีกทั้ง มีความทนทานต่อการใช้งานที่เพิ่มขึ้น3 โดยจะเริ่มถูกนำมาใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ในปี 25684 European Federation for Transport & Environment ประเมินว่า ความจุของแบตเตอรี่ Lithium-ion จะถูกพัฒนาจนความจุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 75%-100% ในระยะ 4-9 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ตัวแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานที่เพิ่มขึ้นด้วยจาก 10-15 ปี ในปี 2562 เป็น 50 ปี ในปี 25735
ทั้งนี้ การเติบโตของการใช้แบตเตอรี่ Lithium จะหนุนให้ผู้ผลิตเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น จนเกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) อีกด้วย ทั้งหมดนี้ จะช่วยหนุนให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion มีทิศทางลดลง 8.9% ต่อปี ในช่วงปี 2563-736 และการที่ต้นทุนแบตเตอรี่ลดลง จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ Lithium ลดตาม ซึ่งก็จะยิ่งหนุนให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง
3 ปัจจัยหลักหนุนแบตเตอรี่ Lithium-ion โตเกาะกระแส Green Economy
Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับแบตเตอรี่ Lithium-ion ในประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยคาดว่ามูลค่าโดยรวมกลุ่มธุรกิจนี้ในปี 2562 อยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท7 และมีแนวโน้มเติบโต 12% ต่อปี ในช่วงปี 2563-688 ตามกระแส Green Economy ที่ทั่วโลกกำลังตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา และยุโรป ทั้งนี้ ความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion จะมาจากปัจจัยหนุนทั้งสิ้น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
แบตเตอรี่ Lithium-ion นิยมใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: xEV) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของปริมาณความจุรวมของแบตเตอรี่ Lithium-ion ทั่วโลก9 ทำให้ Krungthai COMPASS มองว่าความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ขึ้นอยู่กับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก (รวม HEV PHEV และ BEV)
Krungthai COMPASS ประเมินว่าปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.03 แสนคัน และ 1.4 ล้านคัน ในปี 257310 ตามเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เทียบกับปี 2562 อยู่ที่ 35,039 คัน (IHS Markit,2563) เนื่องจากภาครัฐพยายามสนับสนุนผ่านนโยบายทางภาษีต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคลมากสุดถึง 8 ปี ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย (BOI) และการยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยในช่วงปี 2563-6511อีกทั้งยังสนับสนุนการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การส่งเสริมให้ขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน ทาง International Energy Agency (2564) ประเมินว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 33% ต่อปี ในช่วงปี 2563-68 เนื่องจากราคามีทิศทางลดลงจนใกล้เคียงกับระดับราคารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป12
2.กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัว จะหนุนความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion เพื่อใช้เสริมประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้า
จากที่ทั่วโลกมีความพยายามลด Carbon footprint โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 55% ภายในปี 2573 เทียบกับปี 2563 (United Nation ,2562) ทำให้แต่ละประเทศมีแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้น หรือแม้แต่ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ก็มีแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะแสงอาทิตย์ เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลเกือบ 50% ให้ได้ภายในปี 257313 ทำให้ Allied Market Research คาดว่ากำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโลกจะขยายตัวที่ 13.9% ต่อปี ส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะขยายตัวที่ 13.5% ต่อปี ในช่วงปี 2563-2570
ทั้งนี้ การเติบโตของโรงไฟฟ้าข้างต้น จะช่วยหนุนให้เกิดความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion มากขึ้น เนื่องจากแบตเตอรี่ Lithium-ion เป็นตัวช่วยให้การผลิตและจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับทาง U.S. Department of Energy ที่ประเมินว่าในปี 2573 กลุ่มโรงไฟฟ้าจะมีความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากกลุ่มยานยนต์
สำหรับไทย ภาครัฐได้คำนึงถึงการลด Carbon footprint เช่นกัน จึงมีแผนลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าลง 20-25% ภายในปี 2573 ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำและพลังงานลม โดยรวมในปี 2580 เพิ่มเป็น 5,714 เมกะวัตต์ จากปี 2563 อยู่ที่ 1,488 เมกะวัตต์14
3. การเติบโตของการติดตั้ง Solar Rooftop ในภาคครัวเรือน ที่มีข้อจำกัดในการกักเก็บพลังงาน จะช่วยหนุนความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion เพิ่มเติม
นอกจากการเติบโตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ความต้องการแบตเตอรี่ Lithium-ion มีทิศทางขยายตัวตามการติดตั้ง Solar Rooftops ในภาคครัวเรือน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดี เนื่องจากภาคครัวเรือนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย การรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ในอัตราที่สูงกว่าภาคเอกชน อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากราคาแบตเตอรี่ Lithium-ion และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้ภาคครัวเรือนจะคืนทุนได้เร็วขึ้น หากติดตั้ง Solar Rooftop
นอกจากนี้ การที่ระบบ Solar Rooftop มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการกักเก็บกระแสไฟฟ้า ทำให้มักใช้ได้แค่ช่วงเวลากลางวัน จึงเป็นโอกาสแก่แบตเตอรี่ Lithium-ion ที่จะช่วยกักเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ในเวลากลางคืนได้ ซึ่งราว 89.2% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด มักอาศัยในช่วงกลางวันน้อย15
ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ตามการเติบโตของแบตเตอรี่ Lithium-ion
ผลจากการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั้งตลาดในต่างประเทศและในประเทศ จะช่วยหนุนให้ธุรกิจแบตเตอรี่ในไทยมีโอกาสเติบโตตาม หากผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวให้ทันกับ Technology disruption ที่จะมีผลต่อธุรกิจพลังงาน
ทั้งนี้ การตั้งฐานการผลิตตัวแบตเตอรี่ Lithium-ion ในไทย อาจเสียเปรียบด้านต้นทุน เนื่องจากไทยไม่มีวัตถุดิบที่สำคัญคือ แร่ Lithium ดังนั้น แนวทางที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเข้าสู่ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานนี้คือ การผลิตส่วนประกอบใดส่วนประกอบหนึ่งของ แบตเตอรี่ Lithium-ion โดยส่วนประกอบที่ผู้ผลิตไทยมีศักยภาพ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า Diode16 และ Transistor17
สำหรับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ Lithium-ion (รูปที่4)ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มขั้นต้น ส่วนมากเป็นธุรกิจแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้น เช่น Lithium และ Cobalt
กลุ่มขั้นกลาง ส่วนมากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตส่วนประกอบ และวงจรไฟฟ้าภายในแบตเตอรี่ อาทิ ผู้ผลิตขั้วไฟฟ้าของแบตเตอรี่ ผู้ผลิต Separator อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพมากที่สุด
กลุ่มขั้นปลาย ส่วนมากเป็นธุรกิจประกอบ และติดตั้งแบตเตอรี่ อีกทั้ง ผู้ผลิต และติดตั้ง Battery Management System และ Battery Charger
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยทั้งอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ Lithium-ion มีจำนวน 15 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตขั้นกลาง ที่ประกอบด้วยผู้ผลิต Separator 19 และ Semiconductor20 รวมกันมีจำนวน 7 ราย21 ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไทยน่าจะมีศักยภาพและเติบโตตามห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจแบตเตอรี่ Lithium-ion ได้ ขณะที่ธุรกิจต้นน้ำ ไทยมีเพียง 1 ราย ซึ่งน้อยมาก เพราะไทยไม่มีแหล่งแร่ Lithium ทำให้ไทยต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ 100%
Krungthai COMPASS จึงมองว่าธุรกิจที่จะเติบโตโดดเด่นในระยะข้างหน้า ตามการเติบโตของแบตเตอรี่ คือ ธุรกิจผลิต Semiconductor เช่น Diode และ Transistor ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ Battery System Management โดยมีทิศทางเติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตส่วนประกอบดังกล่าวค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออก Diode และ Transistor โดยรวมของไทยที่สูงถึง 2,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก และยังเติบโตสูงถึง 31%(Trade Map)
นอกจากนี้ ไทยมีผู้ผลิต Semiconductor สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เพียง 2 ราย21 ทำให้การแข่งขันของธุรกิจนี้ต่ำมาก ซึ่งสะท้อนได้จาก HHI ของธุรกิจนี้ที่สูงถึง 7,55722 อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS ประเมินว่าผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอื่น เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิต Switch Power Supply, Diodes และ Transistor มักมีความได้เปรียบจากที่มีความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง Semiconductor ซึ่งมักถูกใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ จึงมีโอกาสที่จะขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้
- แบตเตอรี่ Lithium-ion เป็น Energy Storage System ที่เป็นที่นิยมมากสุดในโลก และมีแนวโน้มเติบโตดีทั่วโลก ตามการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า และกระแส Green Economy โดยคาดว่ามูลค่าตลาดแบตเตอรี่ Lithium-ion ของโลกจะเติบโตจาก 42,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 104,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงถึง 2.5 เท่า
- สำหรับไทย คาดว่าความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion มีแนวโน้มเติบโตที่ 12% ต่อปีในช่วงปี 2563-2568 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในไทยและต่างประเทศ จากการสนับสนุนผ่านนโยบายภาครัฐ โดยในปี 2562 ปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 35,039 คัน และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องภายในปี 2568 ที่ 6.03 แสนคัน และ 1.4 ล้านคัน ในปี 2573 ตามเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่ที่ 35,039 คัน นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยหนุนจากกระแสการลด Carbon footprint ที่ทำให้ทั่วโลกมีการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 13.9% ต่อปี และขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ 13.5%ต่อปี ในช่วงปี 2563-2570
- จากความต้องการใช้แบตเตอรี่ Lithium-ion ที่มีแนวโน้มเติบโตดี ทั้งในไทยและต่างประเทศนั้น เป็นโอกาสแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้เติบโตตาม ทั้งนี้ ทาง Krungthai COMPASS ประเมินว่า ธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวโดดเด่นจะเป็นกลุ่มผู้ผลิต semiconductor โดยเฉพาะผู้ผลิต diode และ Transistor ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขั้นกลางของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ Lithium-ion เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าดังกล่าวค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีโอกาสขยายกิจการเข้าสู่การผลิต semiconductor สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ Lithium-ion ได้เช่นกัน เนื่องจากได้เปรียบจากที่มีองค์ความรู้ที่จะสามารถต่อยอดได้ ขณะที่ ธุรกิจขั้นต้นของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ไทยยังไม่มีแหล่งทรัพยากรวัตถุดิบ จึงเป็นข้อจำกัด
รายงานโดย นิรัติศัย ทุมวงษา และ พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS
หมายเหตุ
1.อ้างอิงจาก Energy Storage Grand Challenge : Energy Storage Market Report, U.S. Department of Energy (ธ.ค. 2563) และคำนวณโดย Krungthai COMPASS
2.การศึกษาสถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลซากแบตเตอรี่ชนิดที่มีลิเทียมเป็นองค์ประกอบในประเทศไทย, ม.เทคโนโลยีสุรนารี (2562)
3.Samsung SDI. What is Solid State Battery ?[27 เม.ย. 2564]
4.FutureBridge. Solid-state Batteries to Make Inroads in EV by 2025 [27 เม.ย. 2564]
5.Europe Federation of Transport & Environment (2563 และ 2564) และคำนวณโดย Krungthai COMPASS
6.ข้อมูลจาก Mordor Intelligence (2564) Bloomberg NEF (2563)และคำนวณโดย Krungthai COMPASS
7.ประเมินโดย Krungthai COMPASS โดยใช้วิธีการดังนี้ รายได้ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งหมด + ยอดนำเข้าแบตเตอรี่ Lithium
8.การศึกษาสถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลซากแบตเตอรี่ชนิดที่มีลิเทียมเป็นองค์ประกอบในประเทศไทย, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, (2562)
9.Energy Storage Market Report, U.S. Department of Energy (ธ.ค. 2563) และคำนวณโดย Krungthai COMPASS
10.จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564
11.นสพ.ประชาชาติ เมื่อ วันที่ 10 ธ.ค. 2563
12.Electric Vehicle Outlook 2020, Bloomberg NEF (ก.ย. 2563)
13.สำนักข่าว Reuters ณ วันที่ 9 เม.ย. 2564
14.แผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (ต.ค. 2563)
16.Diode มักถูกใช้ใน Battery System Management เพื่อรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าของแต่ละเซลล์ในแบตเตอรี่ Lithium-ion ให้เท่ากันอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ นอกจากนั้น ยังถูกใช้ใน Battery Charger เพื่อช่วยในการแปลง และชาร์จไฟเข้าไปในแบตเตอรี่ Lithium-ion
17.การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 และคำนวณโดย Krungthai COMPASS
18.Battery System Management เป็นระบบที่ทำหน้าที่ในการดูแล และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อแบตเตอรี่ Lithium-ion เช่น ป้องกันไม่ให้ชาร์จไฟเข้าไปในแบตเตอรี่ Lithium-ion มากเกิน
19. Separator เป็นแผ่นที่กั้นระหว่างขั้วบวก และลบของแบตเตอรี่ Lithium-ion เพื่อป้องกันไม่ให้ขั้วทั้งสองติดต่อกันจนลัดวงจร (ที่มา: การศึกษาสถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลซากแบตเตอรี่ชนิดที่มีลิเทียมเป็นองค์ประกอบในประเทศไทย, ม.เทคโนโลยีสุรนารี (2562))
20. Semiconductor คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสมบัติในการนำไฟฟ้า และอยู่ระหว่างตัวนำ และฉนวน จึงมักถูกใช้อุปกรณ์ไอที และแบตเตอรี่ (ที่มา: iEnergyGuru)
21.BOI (2564) และรวบรวมโดย Krungthai COMPASS
22.ความหมายของค่า HHI มีดังนี้ ค่า HHI < 1,500 แสดงว่าธุรกิจมีการแข่งขันสูง, ค่า 1,500 ≤ HHI ≤ 2,500 แสดงว่าธุรกิจนี้มีการแข่งขันในระดับปานกลาง และค่า HHI > 2,500 แสดงว่าธุรกิจนี้มีการแข่งขันต่ำ ทั้งนี้ ค่า HHI ครั้งนี้เป็นข้อมูลล่าสุดในปี 2562