พรนภา ลีลาพรชัย สถาบันพัฒนาบุคลากร และ อาทร พึ่งสมวงศ์ โรงพิมพ์ธนบัตร
หลายคนที่กำลังอยู่ในวังวนหนี้สินคงรู้สึกไม่ต่างกันว่า การตกอยู่ในวงจรหนี้เปรียบเสมือนกับตกในหลุมทรายดูด ยิ่งเราดิ้นหนี-ยิ่งจม (กองดอกเบี้ย) ลึกลงไปเรื่อย ๆ และมองไม่เห็นหนทางว่า จะหลุดจากกองทรายดูดนี้ได้เมื่อไหร่
แต่ถ้าเรานิ่ง มีสติ ค่อย ๆ คิดว่า จะเผชิญหน้ากับปัญหาตรงหน้าอย่างไร และมองไปรอบ ๆ ว่า อะไรจะเป็นหลักยึดให้เราเหนี่ยวตัวเองขึ้นจากสภาพที่กำลังเผชิญอยู่ได้ และประคับประคองตัวเองขึ้นมาจากหลุมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โอกาสหลุดบ่วงหนี้ได้ย่อมมีสูง เหมือนฉากในหนังเรื่อง อินเดียน่า โจนส์ (Indiana Jones) ที่พวกเราเคยดู
กุญแจสำคัญจึงอยู่ที่ “ความนิ่งและมีสติ” แต่ลูกหนี้ส่วนใหญ่มักทำไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ ที่ ณ ขณะใดขณะหนึ่งถ้ามีปัญหาอะไรที่ตนคิดว่าใหญ่ที่สุด ก็จะคิดลบวนเวียนกับเรื่องนั้น และมักมองปัญหาใหญ่เกินไป จนทำให้ทุกสิ่งดูมืดมนไปหมด
ตัวอย่างกรณีที่ลูกหนี้มีปัญหาสภาพคล่อง-รายได้ลด-ตกงาน จนไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ บางคนถูกเจ้าหนี้คุกคามและต้องเผชิญกับสารพัดปัญหา จากประสบการณ์ที่พูดคุยกับลูกหนี้หลายราย พบว่า พวกเขามักคิดวนเวียนว่า จะหาเงินตรงไหนมาจ่ายหนี้ จะหลบหนีอย่างไรไม่ให้เจ้าหนี้จับได้ หรือหลบซ่อนทรัพย์อย่างไรไม่ให้ถูกยึด รู้สึกอายเมื่อถูกทวงหนี้ แม้กระทั่ง ความรู้สึกผิดที่พาตัวเองกับครอบครัวเข้าสู่วงจรหนี้ ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่เหมือนเดิม
สุดท้ายคำถามมากมายเหล่านี้ก็บั่นทอนกำลังใจ จนลูกหนี้หลายคนอยู่ในสภาวะ “จิตแตก-ฟุ้งซ่าน” และแสดงออกมาในอาการที่หลากหลาย ซึ่งสภาวะจิตใจเช่นนั้น ย่อมทำให้ลูกหนี้แทบหมดทางแก้ไขหนี้สินของตัวเองได้
คำถามสำคัญคือ เราจะกู้ใจ เรียกสติ คืนความนิ่งให้ตัวเองอย่างไร?
อันดับแรก เราต้องปักหมุดความคิดให้ถูกต้อง ทำความเข้าใจปัญหาหนี้ตามความเป็นจริงว่า หนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เป็นปัญหาที่เราต้องแก้ และอีกหลาย ๆ คนก็มีปัญหาแบบเดียวกัน ใครแก้ปัญหาได้ก่อน ก็สบายก่อน
อันดับต่อมา เราต้องมองให้เห็นผลของการแก้ปัญหาเพื่อสร้างกำลังใจ แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาที่ไม่มีทางออก ขอให้มองว่า ปัญหาหนี้สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้จริง ๆ ก็ไม่ได้เลวร้ายนัก ตัวอย่างเช่น
แก้ได้เราอาจมีอิสรภาพทางการเงินในอนาคต แค่ต้องอดออมไปอีกระยะหนึ่ง
แก้ไม่ได้อย่างดีเราก็อาจเสียทรัพย์ที่รักและทุ่มเทสร้างขึ้นมา แต่เรายังมีสินทรัพย์อื่นในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฝีมือและประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่มีใครยึดไปได้ สามารถใช้หารายได้ในอนาคตได้
ที่สำคัญคือ เมื่อมีความนิ่งและสติกลับมา ลูกหนี้จะเริ่มมีความมั่นใจและพร้อมใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อหาทางออกให้ชีวิตได้มากขึ้น
อันดับสุดท้ายคือ หมั่นเติมกำลังใจให้ตัวเองเสมอ ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจซึ่งเปรียบเหมือนกับเชื้อเพลิงขับเคลื่อนรถยนต์ให้เรามีแรงฉุดออกจากจุดที่อยู่ในปัจจุบันไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เป็นหมุดหมายสำคัญ โดยแรงบันดาลใจอาจมาจากลูก ครอบครัว หรือความเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเองว่า เราสามารถนำพาตนเองออกจากปัญหาและสร้างชีวิตใหม่ที่ดีได้
คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรกับหนี้สินที่มีอยู่?
กลยุทธ์ “รู้เขา-รู้เรา” รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังคงใช้ได้ในทุกปัญหา รวมถึงเรื่องแก้หนี้
รู้เรา หมายถึง รู้รายละเอียดทางการเงิน โอกาสและปัญหาของตัวเองให้ชัดเจน กล่าวคือ เราต้องรู้ว่ารายรับมีเท่าไร มีงานใดหรือเวลาช่วงไหนจะหารายได้เพิ่มได้บ้าง
รายจ่ายมีเท่าไร อะไรที่เราจะลดได้ หารือร่วมกันในครอบครัวช่วยกันลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
หนี้สินเป็นอย่างไร หนี้ก้อนไหน ต้องจ่ายเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร ใช้หลักทรัพย์ไหนค้ำประกัน ทรัพย์แต่ละชิ้นมีความสำคัญอย่างไร เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการแก้ปัญหา เช่น การขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อได้เงินก้อนมาปิดจบ หรือจัดการกับก้อนหนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน เป็นต้น เราก็จะเห็นทางเลือกในการปลดหนี้ว่ามีอะไรบ้าง
รู้เขา หมายถึง ต้องประเมินให้ออกว่า เจ้าหนี้ต้องการอะไร และสิ่งนั้นเรามีหรือไม่ ถ้าไม่มีจะเจรจากับเจ้าหนี้อย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุด ความตั้งใจที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ นับเป็นการแสดงความจริงใจและเจตนาของลูกหนี้ที่อยากชำระหนี้ หลายคนคิดไม่ถึงว่า นี่คือเครดิตของลูกหนี้ในช่วงที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ ในหลายเคสที่เราพบในงานแก้หนี้ภาคประชาชน หากลูกหนี้พยายามเต็มที่และแสดงความจริงใจและความตั้งใจในการจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้เห็น มักได้รับโอกาสในการผ่อนผันหนี้หรือได้รับข้อเสนอจากเจ้าหนี้ที่ช่วยให้ปลดหนี้ได้เร็วขึ้น และช่วยนำลูกหนี้ไปสู่อิสรภาพจากวังวนหนี้ได้ในที่สุด
สิ่งสุดท้ายที่จำเป็นต้องรู้คือ รู้ข้อมูลและนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามผลักดันงานแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน ผ่านช่องทาง “คลินิกแก้หนี้” “ทางด่วนแก้หนี้” และ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” โดยร่วมมือกับสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ จนปัจจุบันช่องทางการดูแลลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเรียกได้ว่า ครบวงจรระดับหนึ่งแล้ว
ขณะที่หนี้ที่เกิดจากสินเชื่ออื่น ๆ อาทิ บ้าน หรือรถยนต์ ธปท. ก็กระตุ้นให้สถาบันการเงินต่าง ๆ เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การเลื่อนชำระหนี้ ลดเพดานดอกเบี้ย ขยายงวดการชำระหนี้ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจสามารถโทรมาสอบถามฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินที่หมายเลข 1213 หรือค้นข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.1213.or.th และ www.bot.or.th
สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากฝากไว้คือ “งานกู้ใจ-งานแก้หนี้” ต้องทำไปพร้อมกัน เพราะถ้าไม่มีกำลังใจ ย่อมให้งานแก้หนี้สำเร็จได้ยาก ขณะเดียวกัน ถ้ามีเพียงกำลังใจ แต่ไม่รู้เขา-รู้เรา-รู้ข้อมูล รบกี่ครั้งก็แพ้ ซึ่งทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมยืนเคียงข้างพร้อมสนับสนุนข้อมูลและเป็นกำลังใจให้ลูกหนี้เสมอ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า “ท่านไม่ได้สู้กับปัญหาหนี้สินอย่างเดียวดาย”