ThaiPublica > คอลัมน์ > จริงไหมที่ผู้ชายที่หน้าตาดีมักจะมีนิสัยที่โหลยโท่ย: Berkson’s Paradox

จริงไหมที่ผู้ชายที่หน้าตาดีมักจะมีนิสัยที่โหลยโท่ย: Berkson’s Paradox

20 เมษายน 2021


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

เพื่อนๆเคยได้ยินที่คนเขาพูดกันว่า “ผู้ชายที่หน้าตาดีมักจะมีนิสัยที่โหลยโท่ย” ไหมครับ (สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เคยได้ยินคำว่าโหลยโท่ยมาก่อน โหลยโท่ยก็คือ useless หรือ good for nothing นั่นเอง)

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไม

คำอธิบายง่ายๆของ “ผู้ชายที่หน้าตาดีมักจะมีนิสัยที่โหลยโท่ย” มาจากปรากฎการณ์ที่มีชื่อว่า Berkson’s Paradox ซึ่งBerkson’s Paradox ก็คือการที่คนเรามักจะมีความเข้าใจผิดว่ากลุ่มคนที่มีลักษณะด้านบวกอย่างหนึ่ง เช่นความหล่อมักจะขาดคุณสมบัติด้านบวกอีกอย่างหนึ่ง เช่น การมีนิสัยที่ดี

งงไหมครับ โอเค สมมติว่าเรามีประชากรอยู่ 100 คน ในหนึ่งร้อยคนนี้มีคนที่หน้าตาไม่ดีและหน้าตาดีคละเคล้ากันไปและในร้อยคนนี้มีคนที่นิสัยดีและไม่ดีคละเคล้ากันไปเหมือนกัน

สมมติอีกว่าใน 100 คนนี้ เราสามารถแบ่งพวกเขาออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆได้ โดย 25 คนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “หน้าตาไม่ดีและนิสัยไม่ดี” ตามหน้าตาและนิสัยของพวกเขาจริงๆ ส่วนอีก 25 คนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “หน้าตาดีและนิสัยดี” อีก25 คนถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “หน้าตาไม่ดีแต่นิสัยดี” และ 25 คนสุดท้ายถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่ม “หน้าตาดีแต่นิสัยไม่ดี”

สมมติว่าเราเอาคนทั้งสี่กลุ่มนี้ไปให้ผู้หญิง 100 คนเลือกดูว่า ถ้าเขาสามารถเลือกได้ เขาอยากจะไปออกเดทกับคนกลุ่มไหน ผมเชื่อว่าคงจะมีผู้หญิงหลายคนอยู่ — อาจจะเกือบทั้งร้อยเลยก็ว่าได้ — ที่น่าจะเลือกไปออกเดทกับผู้ชายในกลุ่ม “หน้าตาดีและนิสัยดี”

อาจจะมีผู้หญิงในกลุ่มบางคนที่เลือกผู้ชายในกลุ่ม “หน้าตาไม่ดีแต่นิสัยดี” ถ้าเขาให้คุณค่ากับนิสัยมากกว่าหน้าตาและก็อาจจะมีผู้หญิงบางคน (หรืออาจจะหลายคนก็ได้) ที่เลือกผู้ชายในกลุ่มที่ “หน้าตาดีแต่นิสัยไม่ดี” หรือ bad boys type

แต่ผมขอพนันเลยว่า ไม่น่าจะมีผู้หญิงคนไหนเลยที่ตั้งใจจะเลือกผู้ชายที่อยู่ในกลุ่ม “หน้าตาไม่ดีและนิสัยไม่ดี” ซึ่งผลลัพธ์จากการที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนเลือกผู้ชายจากกลุ่มนี้เลยทำให้เราไม่มี observations ของผู้ชายหน้าตาไม่ดีและนิสัยไม่ดีในประชากรผู้ชายที่ผู้หญิงอยากจะออกเดทด้วย และถ้าเรานำเอาจำนวนของผู้ชายจากแค่สามกลุ่มที่เรามีมา plot ลงบนกราฟที่มี y-axis ที่เป็นหน้าตาและ x-axis ที่เป็นนิสัย เราก็จะพบว่า จากหน้าตาไม่ดี (1) ไปหน้าตาดี (100) นั้น เราไม่มี observations ของผู้ชายที่ “หน้าตาไม่ดีและนิสัยไม่ดี” อยู่บนกราฟเลย เรามีกลุ่มตัวอย่างที่เราสามารถเลื่อนตาม y-axis ได้อย่างเดียวก็คือกลุ่ม “หน้าตาดีแต่นิสัยไม่ดี”

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าเรา plot ตัวอย่างลงไปบนกราฟนี้แล้วล่ะก็ แล้วเราทำการขีดเส้น best line of fit สิ่งที่เราจะเห็นก็คือความสัมพันธ์ทางลบระหว่างนิสัยและหน้าตา ซึ่งก็เป็นที่มาของความเชื่อที่เรามีว่า “ผู้ชายที่หน้าตาดีมักจะมีนิสัยที่โหลยโท่ย” ซึ่งมันจะไม่เป็นความจริงเลยถ้าเรามีกลุ่มผู้หญิงที่เลือกที่จะไปออกเดทกับผู้ชายที่หน้าตาไม่ดีและมีนิสัยที่ไม่ดีแต่จะมีผู้หญิงที่ไหนยอมทำอย่างนั้น จริงไหมครับ

Berkson’s Paradox ยังใช้อธิบายความเชื่อผิดๆที่เรามีเกี่ยวกับคุณสมบัติที่เรามีอีกหลายๆอย่างเช่น เด็กที่เรียนเก่งมักจะไม่เก่งทางด้านกีฬา (เพราะเด็กที่ไม่เก่งทั้งในด้านการเรียนและการกีฬาส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่ออุดมศึกษา) คนรวยมักขี้โกง (เพราะเรามักจะนึกถึงคนจนที่ขี้โกงไม่ค่อยออก) เป็นต้นนะครับ

ป.ล. ผมต้องขอบคุณและให้เครดิตกับ Twitter เพจของ Lionel Page ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Sydney ที่ inspire โพสต์นี้ของผมนะครับ