ThaiPublica > คนในข่าว > ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ อีกบทบาทบนเวทีปราศรัยร่วมกับอดีตแกนนำคนเสื้อเหลือง

‘จตุพร พรหมพันธุ์’ อีกบทบาทบนเวทีปราศรัยร่วมกับอดีตแกนนำคนเสื้อเหลือง

6 เมษายน 2021


นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/peacetv.thai.udd/

จตุพร พรหมพันธุ์ นักเคลื่อนไหววัย 56 ปี หนึ่งในอดีตแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจากเหตุการณ์ ‘พฤษภา 35’ ยุคที่มีการประท้วงต่อต้าน ‘นายกฯ คนนอก’ และประท้วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ

ปัจจุบัน จตุพรยังเป็นประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. (แกนนำคนเสื้อแดง) องค์กรเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 กันยายน 2549

การเคลื่อนไหวของ นปช. และมวลชนคนเสื้อแดงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวทางสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นคือพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน ทั้ง 2 พรรคถูกยุบตามลำดับ จตุพรเคยสังกัดทั้ง 3 พรรคนี้

กระทั่งการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 จตุพรซึ่งมีสถานะถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลังรับโทษจำคุกคดีหมิ่นประมาท “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี โดยการเข้าไปอยู่ในเรือนจำครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 สำหรับชีวิตทางการเมืองของเขา

ครั้งแรก จตุพรอยู่ในเรือนจำ 12 วัน คดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ปี 2550 ต่อมาได้รับการประกันตัว

ครั้งที่ 2 ปี 2554 ศาลเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในคดีก่อการร้ายปี 2553 หลังจตุพรปราศรัยโจมตีรัฐบาลในเดือนเมษายนปี 2554 อยู่ในเรือนจำ 3 เดือน ก่อนได้รับการประกันตัว

ครั้งที่ 3 อยู่ในเรือนจำ เดือนตุลาคม 2559 – มกราคม 2560 หลังศาลเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในคดีก่อการร้ายปี 2553 เป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากทำผิดเงื่อนไข ต่อมาได้รับการประกันตัว

ครั้งที่ 4 ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฟ้องฐานหมิ่นประมาท จตุพรเข้าเรือนจำ กรกฎาคม 2560

หลังออกจากคุกครั้งนี้ (ปี 2561) จตุพรไม่ได้ทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทย แต่ได้ไปมีบทบาทเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคเพื่อชาติ นำการปราศรัยในเวทีของพรรคโดยเขาให้เหตุผลว่าเป็นการหาเสียงให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/peacetv.thai.udd/

หลังการเลือกตั้งจบลงไม่นาน จตุพรประกาศยุติบทบาทผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อชาติ เหลือเพียงตำแหน่งประธาน นปช. ขณะเดียวกันได้ย้ายที่ทำการสถานี Peace TV ออกจากห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ลาดพร้าว ไปยังซอยรามอินทรา 40 ที่ตั้งใหม่ของสถานี แยกออกจากห้างอิมพีเรียลซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการพรรคเพื่อชาติ

ต่อมาปลายเดือนธันวาคมปี 2563 จตุพรเสนอแนวคิดต่อสาธารณะว่าจะเดินสายพูดคุยกับแกนนำ นปช. คนอื่นๆ เพื่อยุบองค์กร นปช. เพราะเขามองว่า ข้อเรียกร้องของ นปช. ประเด็น ‘โค่นอำมาตยาธิปไตย’ มีความล้าหลังกว่าข้อเรียกร้อง ‘ปฏิรูปสถาบัน’ ที่นำโดยแกนนำกลุ่มราษฎรซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่

ล่าสุด จตุพรนัดหมายชุมนุม ‘ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย’ ในนามกลุ่มสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จุดประสงค์เพื่อขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 และประกาศจะชุมนุมทุกวัน (ยกเว้นวันที่ 6 เม.ย. 2564) ที่อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร กทม. ร่วมกับ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และร่วมกับอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ เขาบอกว่าไม่ได้จัดกิจกรรมในฐานะประธาน นปช. (คนเสื้อแดง) และบนเวทีปราศรัยก็มีอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนเสื้อเหลือง) ร่วมปราศรัยบนเวทีด้วย

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/peacetv.thai.udd/

ขณะที่มวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งคือคนเสื้อแดง ใช้สัญลักษณ์สีแดงและเป็นผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร แม้การเคลื่อนไหวของจตุพรครั้งนี้จะมีเพดานการชุมนุมที่ไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน

ส่วนข้อเสนอแนวคิดยุบองค์กร นปช. ยังไม่มีความคืบหน้า แม้องค์กร นปช. จะไม่มีบทบาทนำและแกนนำแต่ละคนได้แยกย้ายกันไปอยู่แตกต่างพรรค ไม่ใช่พรรคเดียวกันอย่างในอดีต