ThaiPublica > เกาะกระแส > EIU เปิดรายงาน Democracy Index 2020 ชี้ประชาธิปไตยไทย “ถดถอย”

EIU เปิดรายงาน Democracy Index 2020 ชี้ประชาธิปไตยไทย “ถดถอย”

3 กุมภาพันธ์ 2021


สถาบันวิจัย Economist Intelligence Unit (EIU) เผยแพร่ ดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2020 บนเว็บไซต์ว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลกคือ นอรเวย์ โดยมีคะแนนรวม 9.81 จากเกณฑ์ประเมิน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.กระบวนการการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม(Electoral process and pluralism) 2.การทำงานของรัฐบาล(Functioning of government) 3.การมีส่วนร่วมทางการเมือง(Political participation) 4.วัฒนธรรมการเมือง(Political culture) 5.เสรีภาพของพลเมือง(Civil liberties)

ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันได้เลื่่อนอันดับขึ้นเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ในดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2020

  • ไต้หวันได้รับการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น 20 อันดับมาอยู่อันดับที่ 11 ของโลกและอันดับ 3 ในระดับภูมิภาคทำให้เข้าสู่กลุ่ม “ประชาธิปไตยเต็มใบ”(full democracy) ได้อย่างน่าทึ่ง
  • ฮ่องกงตกลง 12 อันดับกลายเป็น “ระบอบลูกผสม”หรือ กึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย(hybrid regime) แทนที่จะเป็น “ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์”(flawed democracy)
  • คะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคลดลงในปี 2020 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา
  • ในอินเดียและประเทศไทย การต่อต้านประชาธิปไตยโดยทางการ และการกีดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทำให้อันดับโลกตกลงอีกครั้ง
  • รายงาน ดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2020 จัดทำภายใต้แนวคิด Democracy in sickness and in health หรือ ประชาธิปไตยท่ามกลางความเจ็บป่วยและสุขภาพ เนื่องจากได้คำนึงถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก

    เอเชีย-ออสตราเลเซียประชาธิปไตยเต็มใบ 5 ประเทศ

    ในภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซีย นิวซีแลนด์ทำคะแนนได้สูงสุด (9.25) และรักษาตำแหน่งที่ 4 ในการจัดอันดับโลก (จาก 167 ประเทศ) ขณะที่เกาหลีเหนือที่ยังอยู่หลังสุดอย่างต่อเนื่อง (1.08) และอยู่ล่างสุดของการจัดอันดับโลก คือ อันดับที่ 167

    คะแนนรวมของภูมิภาคลดลงในปี 2020 แต่ตอนนี้มี ประเทศที่มี“ ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ” 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ ไต้หวันซึ่งอันดับขยับขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2019 ส่วนออสเตรเลียยังคงรักษาสถานะ“ ประชาธิปไตยเต็มใบ” และอันดับสูง (9) ไว้ได้

    ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้กลับมาอยู่ในกลุ่ม “ประชาธิปไตยเต็มใบ” เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014

    ส่วนไต้หวันก้าวเป็นประเทศ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” เป็นครั้งแรกหลังจากอันดับพุ่งขึ้นอย่างน่าประทับใจด้วยคะแนนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆในโลก การเลือกตั้งระดับประเทศในเดือนมกราคม 2020 แสดงให้ถึงว่าประชาธิปไตยของไต้หวันมีความยืดหยุ่น ขณะที่กระบวนการเลือกตั้ง การกำกับดูแลของรัฐสภาและเสรีภาพของประชาชนทั่วโลกถอยหลัง

    การเลือกตั้งในไต้หวันมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนมากรวมทั้งคนรุ่นใหม่ เพื่อเลือกประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา โดยรวมแล้วดูเหมือนว่าประเทศจะได้ข้อสรุปว่า ประชาธิปไตยที่ทำงานได้ดี เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องอนาคตของอนาคต

    สำหรับเกาหลีใต้ คะแนนที่ดีขึ้นเพียง 0.1 คะแนน ก็มากที่ทำให้ประเทศกลับมาอยู่ในสถานะ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” คะแนนด้านสิทธิเสรีภาพของที่ลดลงถูกชดเชยด้วยคะแนนการทำงานของรัฐบาลที่ดีขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้น

    คะแนนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 7.99 ในปี 2019 เป็น 8.13 ในปี 2020 ส่งผลให้มาอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก เป็นผลความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้น และข้อมูลจากการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการปกครองโดยนักวิชาการมากกว่าการปกครองโดยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งมีจำนวนลดลง

    นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการเชิงบวกอื่นๆของประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน แม้มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การเลือกตั้งระดับชาติก็มีขึ้นอย่างสันติในมองโกเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และศรีลังกา รวมทั้งในไต้หวัน

    แม้จะมีการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่คะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคของเอเชียก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2013 เนื่องจากมาตรการอย่างเป็นทางการที่ดำเนินการเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้เกิดข้อจำกัดที่รุนแรงที่สุดบางด้านเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพของพลเมืองในโลก จีน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ดำเนินการในขั้นที่เข้มงวดมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ในการติดตามและควบคุมพลเมืองของตนเองรวมทั้งการกักกันตัวเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด -19

    ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้จำนวนมากกว่าครึ่งมีคะแนนรวมลดลง อย่างไรก็ตามประเทศที่มีคะแนนลดลงมากที่สุด คือ เมียนมาและฮ่องกง โดยมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ ที่รวมถึงการปราบปรามผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากในเมียนมา และการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากเจ้าหน้าที่ในฮ่องกง

    ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สองประเทศนี้มีอันดับโลกที่ตกลง 13 และ 12 อันดับตามลำดับ และฮ่องกงหลุดจากประเทศที่ประชาธิปไตยไม่สมบูณ์เป็นประเทศที่มีระบบลูกผสม

    ประชาธิปไตยไทยถดถอย

    ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คะแนนของไทยปี 2020 หลายด้านถอยหลัง รวมไปถึงด้านที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อฝ่ายค้านและการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

    ในรายงาน ดัชนีประชาธิปไตยประจำปี 2020 ไทยได้คะแนน 6.04 คะแนน อยู่ที่อันดับ 73 ของโลก และอันดับที่ 14 ของภูมิภาค โดยมีคะแนน ในด้าน 1)กระบวนการการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยม 7.00 คะแนน 2)การทำงานของรัฐบาล 5.00 คะแนน 3)การมีส่วนร่วมทางการเมือง 6.67 คะแนน 4)วัฒนธรรมการเมือง 6.25 คะแนน 5)เสรีภาพของพลเมือง 5.29 คะแนน และยังเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยไม่เต็มใบ

    ในดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ปี 2019 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยแบบไม่สมบูรณ์จากที่อยู่กลุ่มประเทศกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยติดต่อกัน 5 ปี โดยได้คะแนน 6.32 เพิ่มขึ้นจาก 4.63 คะแนนในปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2014

    ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ศาลรัฐธรรมนูญของไทยได้มีคำสั่งให้ยุบ พรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่อันดับสองคือ พรรคอนาคตใหม่หลังจากพบว่ามีความผิดฐานละเมิดกฎหมายในข้อกำหนดที่มาของเงินที่ใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2019 เพิกถอนสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งไม่ต่างจากการดำเนินการต่อฝ่ายค้านในช่วงที่ผ่านมา

    พรรคอนาคตใหม่เป็นที่รู้จักในด้านจุดยืนต่อต้านทหารและก้าวขึ้นมาเป็นพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับสามจากการสนับสนุนจากเยาวชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมือง การประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้กลับมาอีกครั้ง เมื่อผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาเรียกร้องให้ยุบสภา ให้เคารพต่อเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม และร้องขอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้ประท้วงและวางมาตรการควบคุมสื่อต่างประเทศและในประเทศเพิ่มมากขึ้น

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียใต้ถอยหลัง

    ในมาเลเซียเสถียรภาพทางการเมืองแย่ลง นับตั้งแต่ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือน มีนาคม 2020 อย่างไรก็ตามกระบวนการเลือกตั้งและความเป็นพหุนิยมที่ดีขึ้น ส่งผลให้สถาบันทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

    สิงคโปร์ยังคงเป็น“ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์” แม้คะแนนลดลงเกือบจะต่ำกว่า 6.00 ซึ่งเป็นเกณฑ์จัดในกลุ่ม“ระบอบการปกครองลูกผสม” และแม้คะแนนรวมในปี 2020 ดีขึ้น และข้อจำกัดในกระบวนการทางการเมืองยังคงมีอยู่ แต่มีการพัฒนาเชิงบวกในแง่การแข่งขัน พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) สูญเสียที่นั่งจำนวนมากในการเลือกตั้ง และฝ่ายค้านพรรคแรงงาน(Worker’s Party) ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า กลุ่มของฝ่ายค้านในรัฐสภา

    ในเมียนมา พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD)กลับมาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 หลังจากที่นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำโดยพฤตินัย นำพรรคคว้าชัยในการเลือกตั้งระดับชาติ อย่างไรก็ตามประเทศไม่ได้เข้าใกล้การเป็นประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและทั่วถึงมากกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน

    คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) จำกัดการลงคะแนนในรัฐยะไข่ ขณะที่การสู้รบอย่างหนักระหว่างกลุ่มกบฏชาติพันธุ์และกองทัพยังมีอย่างต่อเนื่อง และมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สามารถลงคะแนนได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งใน 9 เมืองจาก 17 เมืองของรัฐ โดยอ้างปัญหาด้านความปลอดภัย เนื่องจากการสู้รบยังมีอยู่ อย่างไรก็ตามในขณะที่ยกเลิกการลงคะแนนใน 7 เขตเลือกตั้งที่พรรคแห่งชาติอาระกัน (Arakan National Party) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้คะแนน คณะกรรมการเลือกตั้งอนุญาตให้การลงคะแนนต่อไปใน 3 เขตจาก 4 เขตเลือกตั้งของยะไข่ซึ่งพรรค NLD ได้คะแนน

    ด้วยเหตุนี้เป็นผลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่มากกว่า 1 ล้านคนถูกตัดสิทธิ์ แม้จะมีการตกลงหยุดยิงหลังจากที่จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น แต่คณะกรรมการเลือกตั้งและรัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้จัดการเลือกตั้งในเวลาต่อมา ทั้งทหารและรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD ยังหันมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางออนไลน์ที่ขยายวงกว้างเพื่อยับยั้งผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล

    ในอินเดียระบอบประชาธิปไตยยังคงถดถอยต่อเนื่อง ภายใต้การนำของนายนเรนทรา โมดิ สมาชิกภารติยะ ชนตะ (Bharatiya Janata Party:BJP) ที่เป็นชาตินิยมฮินดู ได้นำองค์ประกอบทางศาสนามาใช้ในการกำหนดแนวความคิดเกี่ยวกับสัญชาติอินเดีย ซึ่งเป็นการดำเนินการที่นักวิจารณ์หลายคนมองว่าเป็นการบ่อนทำลายพื้นฐานของความเป็นกลางทางศาสนาของรัฐในอินเดีย นอกจากนี้การจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาของทางการทำให้สิทธิเสรีภาพลดลงอีกในปี 2020

    ดุลอำนาจโลกไหลมาเอเชีย

    โจน โฮอี้ บรรณาธิการของรายงานดัชนีประชาธิปไตยประจำปีของ EIU กล่าวว่า “การที่เอเชียมีประเทศที่มี“ ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ” 3 ประเทศในปี 2020 และยุโรปตะวันตกที่มีประเทศที่หลุดออกไป 2 ประเทศ(ฝรั่งเศสและโปรตุเกส) เป็นการจัดอันดับที่เหมาะสม เนื่องจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้เร่งการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของโลกจากตะวันตกไปสู่ตะวันออก เอเชียยังคงตามหลังตะวันตกในแง่ประชาธิปไตยที่มี “ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ” เพียง 5 ประเทศเมื่อเทียบกับยุโรปตะวันตก 13 ประเทศ อีกทั้งยังมี 7 ประเทศที่มีการปกครองแบบผด็จการ ขณะที่ยุโรปตะวันตกไม่มีเลย

    แต่ภูมิภาคเอเชียจัดการกับการแพร่ระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่นๆโดยมีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตต่ำกว่า และเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากบทเรียนในการจัดการโรคซาร์ส รัฐบาลเอเชียจัดการขั้นเด็ดขาด (แม้ว่าจะใช้อำนาจบีบบังคับในบางกรณี) เนื่องจากมีข้อดีจากระบบสาธารณสุขที่มีการจัดระเบียบอย่างดีและทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลในยุโรปดำเนินการอย่างเชื่องช้า ระบบสุขภาพบางระบบใกล้จะล่มสลายและความไว้วางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาลลดลง”

    การรับมือกับการระบาดของโรคในยุโรปไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีสำหรับประชาธิปไตย และเป็นสิ่งที่จีนซึ่งเป็นระบบเผด็จการได้ชี้ให้เห็น

    การระบาดของโรคได้ตอกย้ำช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างตะวันออกที่มีพลวัตร และตะวันตกที่ถดถอย และมีแนวโน้มที่จะเกิดการถ่ายดุลอำนาจของโลกไปสู่เอเชีย

    คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกแตะนิวโลว์

    จากการจัดทำดัชนีประชาธิปไตยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่าประชาธิปไตยไม่ได้เบ่งบานเข้มแข็งมาระยะหนึ่งแล้ว

    ในปี 2020 ความแข็งแกร่งของประชาธิปไตยถูกทดสอบมากขึ้นจากการระบาดของไวรัสโคโรนาที่อุบัติขึ้น คะแนนเฉลี่ยดัชนีประชาธิปไตยปี 2020 ทั่วโลกลดลงจาก 5.44 ในปี 2019 เหลือ 5.37 และนับเป็นคะแนนระดับโลกที่แย่ที่สุด นับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีครั้งแรกในปี 2006 ผลการจัดอันดับในปี 2020 แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยอย่างมากและเกิดขึ้นในวงกว้าง และไม่ใช่เกิดจากมาตรการเข้มงวดที่รัฐบาลนำมาใช้ซึ่งจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลและสิทธิเสรีภาพทั่วโลกเพื่อตอบสนองต่อการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนาเพียงอย่างเดียว
    .
    การลดลงของคะแนนทั่วโลกในปี 2020 มาจากคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ลดลงในทุกแห่งของโลก แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงอย่างมากของภูมิภาคอัฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า(Sub-Saharan Africa) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่ “ระบอบเผด็จการ” ครอบงำโดยคะแนนลดลง 0.10 และ 0.09 ตามลำดับระหว่างปี 2019 ถึง 2020

    ยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกต่างมีคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคลดลง 0.06 คะแนน สำหรับภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเซียที่มีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยมาตลอดระยะเวลาการจัดทำดัชนีประชาธิปไตยมีคะแนนลดลง 0.05 คะแนน ส่วนละตินอเมริกาคะแนนเฉลี่ยลดลง 0.04 ในปี 2020 นับเป็นการถดถอยติดต่อกันปีที่ 5 ของภูมิภาคนี้ ขณะที่คะแนนเฉลี่ยของอเมริกาเหนือลดลงเพียง 0.01 แม้คะแนนในสหรัฐอเมริกาลดลงมากถึง 0.04 แต่มีคะแนนของแคนาดาที่ดีขึ้นมาช่วยหนุน

    ในปี 2020 ประเทศส่วนใหญ่ 116 แห่งจากทั้งหมด 167 ประเทศ (เกือบ 70%) มีคะแนนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2019 มีเพียง 38 ประเทศ (22.6%) ที่มีคะแนนดีขึ้นและอีก 13 ประเทศคะแนนไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2019 ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มมากสุดคือไต้หวัน ขณะที่มาลีเป็นประเทศที่คะแนนลดลงมากที่สุด

    นอกจากนี้มี 11 ประเทศที่ถูกจัดกลุ่มใหม่ โดย 7 ประเทศแย่ลง และ 4 ประเทศดีขึ้น โดย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน จัดอยู่ในกลุ่ม “ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ” จาก”ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์” และแอลเบเนียประเทศเดียวที่ได้รับการยกระดับเป็น“ ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์” จาก“ ระบอบการปกครองแบบลูกผสม” ในก่อนหน้านี้ ส่วนฝรั่งเศสและโปรตุเกสหลุดจากสถานะ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ที่เพิ่งได้คืนมาในปี 2019 และกลับมาเป็น “ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์”อีกครั้ง

    เอลซัลวาดอร์และฮ่องกงถูกปลดออกจาก“ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์” เป็น “ระบอบการปกครองลูกผสม” และสุดท้าย อัลจีเรีย บูร์กินาฟาโซ และมาลีถดถอยจากสถานะ“ ระบอบลูกผสม” ไปเป็น“ ระบอบเผด็จการ”