
3 ปี 11 เดือน และ 17 วันหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตือนจากด้านตะวันตกของอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า “การนองเลือดของชาวอเมริกันยุติลงที่นี่” จุดที่เขายืนอยู่นั้นจมหายไปในกลุ่มผู้ประท้วงจากฝั่งของทรัมป์ที่นำไปสู่การเสียเลือดเนื้อของตัวเอง
กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ได้บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเมื่อวันพุธ(ุ6 มกราคม 2564) ส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกต้องหาที่หลบภัย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำรัฐสภาปิดการเข้าออก และนายกเทศมนตรีกรุงวอชิงตันออกคำสั่งเคอร์ฟิวทั้งเมืองตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันพฤหัสบดี
กลุ่มผู้ประท้วงลุกฮือไปทั่วกรุงวอชิงตันเพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนปีที่แล้ว และบุกผ่านแท่นแบริเออร์เข้าไปในอาคารรัฐสภา ด้วยแรงหนุนจากประธานาธิบดีทรัมป์เองที่ออกมาพูดกับฝูงชนและยุยงให้ประท้วงต่อสิ่งที่เขาอ้างแบบผิดๆ ว่า มีการโกงการเลือกตั้ง
กลุ่มผู้ประท้วงรอจังหวะให้ตรงกับช่วงการรับรองคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีของสภาคองเกรส เพราะมีเป้าหมายที่จะกดดันให้พรรครีพับลิกันสนับสนุนความพยายามของทรัมป์ที่จะพลิกชัยชนะของโจ ไบเดน ในคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี
กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ส่วนหนึ่งสวมหมวก MAGA สีแดง (หมวกที่มีคำว่า Make America Great Again) แต่ไม่สวมหน้ากาก รวมตัวกันที่สนามรูปวงรี (The Ellipse) ใกล้ทำเนียบขาว ซึ่งเป็นจุดที่ประธานาธิบดีได้กล่าวปราศรัยกับกลุ่มผู้ประท้วงช่วงเที่ยงวันพุธ ฝูงชนได้หันหน้าเข้าทำเนียบขาว โดยมีเวทีที่มีป้ายคำว่า “Save America March” ปลิวไสวอยู่ด้านข้าง พร้อมกับร้องเพลง “Macho Man” ของวงเดอะวิลเลจพีเพิล (The Village People) และเพลง “Billy Jean” ของไมเคิล แจ็กสัน
ทรัมป์กล่าวปราศรัยว่า “เราจะเดินไปอาคารรัฐสภา และเราจะสนับสนุนวุฒิสมาชิกผู้กล้าหาญของเราและสมาชิกสภาคองเกรสทั้งหญิงและชาย และเราอาจจะไม่สบอารมณ์กับพวกเขาหลายคน เพราะเราไม่สามารถนำประเทศเรากลับคืนมาได้ด้วยความอ่อนแอ พวกคุณต้องแสดงให้เห็นถึงพลังและพวกคุณต้องเข้มแข็ง”
หลังจากการปราศรัยจบลง ทรัมป์ซึ่งบอกกับกลุ่มผู้สนับสนุนไว้ก่อนหน้าจะร่วมเดินขบวนไปอาคารรัฐสภาด้วยนั้น กลับเดินทางเข้าไปยังทำเนียบขาวด้วยรถกันกระสุน ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงได้เคลื่อนตัวผ่านเครื่องกีดขวางเข้าไปในเขตรัฐสภา พร้อมตะโกนว่า “Whose Capitol? Our Capitol” ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้นำแท่นแบริเออร์เข้ามาเสริมหลายชั้น
ขณะที่ผู้ประท้วงหลายพันคนพยายามที่จะบุกเข้าไปด้านใน ได้มีเสียงแก๊สระเบิด แต่ไม่ชัดเจนว่าใครเป็นคนยิง จากนั้นได้เกิดเหตุความวุ่นวายขึ้น และกลายเป็นภาพแห่งความตะลึงงัน การยั่วยุของประธานาธิบดีทรัมป์หลายชั่วโมงก่อนหน้านี้ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งเสียชีวิต และส่งผลให้สมาชิกสภาคองเกรสต้องวิ่งหาที่กำบัง รวมทั้งมีการอพยพ หลังจากพบระเบิดแสวงเครื่องในอาคารสำนักงานใกล้เคียง
หลายหน่วยงานปิดทางเข้าออกไปยังรัฐสภาเพื่อป้องกันความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการประท้วงในหลายรัฐ ด้วยแคมเปญ Stop The Steal ที่อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งแบบลอยๆ โดยรัฐจอร์เจียที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ผู้ประท้วงที่มีอาวุธรวมตัวกันหน้าอาคารรัฐสภาท้องถิ่น ส่วนในแคนซัส ผู้ประท้วงเข้ายึดพื้นที่รัฐสภาช่วงสั้นๆ จากการที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้เข้าไป การชุมนุมยังมีขึ้นในไอดาโฮ มิชิแกน และแคลิฟอร์เนีย แต่เป็นไปด้วยความสงบ
อิวังกา ทรัมป์ บุตรสาวของทรัมป์ได้พยายามที่จะหยุดกล่มผู้ประท้วงด้วยการทวีตเรียกผู้ประท้วงว่าอเมริกันผู้รักชาติ แต่ได้ลบข้อความนี้ทิ้งในภายหลัง ทว่าก่อนหน้านี้ บุตรชายคนโตของทรัมป์กล่าวว่า “สำหรับคนที่ไม่ได้ออกมาร่วมแคมเปญ Stop The Steal การรวมตัวครั้งนี้กำลังบอกอะไรบางอย่าง”
หลังจากได้รับคำร้องขอจากทีมงานและพันธมิตรในรัฐสภาที่อยู่ภายในอาคารรัฐสภาที่ถูกปิดล้อม ทรัมป์ก็ได้เผยแพร่วิดีโอที่อัดเทป ขอให้กลุ่มผู้สนับสนุนที่ถือธงทรัมป์ และมีสัญญลักษณ์ของทรัมป์ในมือ “กลับบ้าน” ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนยังป่าวประกาศความคับข้องใจว่าถูกโกงเลือกตั้ง
ในวิดีโอ ทรัมป์ยังย้ำกับกลุ่มผู้ประท้วงด้วยคำโกหกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่อ้างว่ามีการโกง
“ผมรู้ว่าคุณเจ็บปวด ผมรู้ว่าคุณเจ็บช้ำ เรามีการเลือกตั้งที่โกงเราไป” คำพูดของทรัมป์แทบไม่มีผลต่อฝูงชน
“พวกคุณต้องกลับบ้านทันที เราต้องมีสันติสุข” “เราต้องเคารพกฎหมายและคำสั่ง” ทรัมป์กล่าวหลังจากที่มีการบุกอาคารรัฐสภานานหลายชั่วโมง
นอกจากนี้ ทรัมป์ไม่ได้พยายามที่จะยับยั้งกลุ่มผู้ประท้วงและเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นจากยั่วยุของเขา และไม่ยอมออกคำสั่งให้ใช้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเมื่อผู้ประท้วงบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ทั้งๆ ที่ช่วงระหว่างการทำหน้าที่ประธานาธิบดีมักจะกระตือรือร้นที่จะใช้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิในเหตุการณ์รุนแรงในหลายเมือง
การประท้วงที่อาคารรัฐสภาสงบลงด้วยการมีผู้เสียชีวิต 4 ราย ถูกจับกุม 52 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 14 นาย

จุดต่ำสุดประชาธิปไตยอเมริกา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในช่วงเวลา 14 วันก่อนที่วาระแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์สิ้นสุดลง ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้มีการถอดถอนทรัมป์อีกครั้งและให้นำบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 25 กลับมาพิจารณาใหม่ ซึ่งจะทำให้ทรัมป์พ้นจากตำแหน่ง
เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวหลายคนลาออกและอีกหลายคนรวมถึงที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประเทศของประธานาธิบดี กำลังพิจารณาที่จะลาออกเพื่อเป็นการประท้วง
ในหลายแง่มุม สิ่งที่ปรากฎขึ้นสะท้อนธรรมชาติของการเป็นประธานาธิบดีที่อยู่บนการไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานของประชาธิปไตย การต่อต้านสถาบันรัฐบาล และการเพิกเฉยต่อแนวโน้มความรุนแรงของฝ่ายขวาสุดโดยเจตนา ฝูงชนขัดขวางการดำเนินการที่จะรับรองชัยชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และความพ่ายแพ้ของทรัมป์อย่างเป็นทางการ
และก็พอจะคาดเดาฉากนี้ได้ว่าเป็นจุดต่ำสุดสำหรับประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ประธานาธิบดีที่นั่งกับโต๊ะกล่าวคำตำหนิเล็กน้อย ทั้งผ่านทวิตเตอร์และวิดีโอ ขณะที่พยายามหาเหตุผลมาสร้างความชอบธรรมให้กับอาชญากรรมที่ตัวเองก่อขึ้น
ในวิดีโอทรัมป์กล่าวชื่นชมกลุ่มผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ขโมยของจากหลายห้อง และถ่ายรูปในห้องประชุม
“เรารักพวกคุณ” ทรัมป์กล่าว “พวกคุณสุดยอดมาก” และทรัมป์หาเหตุผลให้กับการกระทำของตัวเองผ่านทวิตเตอร์ด้วยข้อความว่า “สิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอันยิ่งใหญ่นั้น ถูกกระชากออกจากมืออย่างไม่รู้ตัวและเลวทราม”
ทรัมป์ไม่ได้พยายามทำให้กลุ่มผู้ประท้วงสงบลง แต่กลับพูดถึงความไม่ยุติธรรมของการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าถูกโกงและมีข้อผิดพลาด
“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากยิ่ง และเป็นช่วงที่สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่พวกเขาช่วงชิงไปจากพวกเราทุกคน จากผม จากพวกคุณ จากประเทศของเรา” ทรัมป์กล่าว
นอกเหนือจากการปลุกระดมมวลชนแล้ว ทรัมป์ยังดูเหมือนจะกันตัวเองออกจากความวุ่นวายนี้ แต่ปรากฏว่ารองประธานาธิบดีไมก์ เพนช์ ซึ่งถูกอพยพจากชั้นที่ทำงานของวุฒิสมาชิก ขณะที่ทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะผู้เลือกตั้ง กลับต้องมารับผิดชอบในการประสานงานการดำเนินการของรัฐบาล โดยได้ประสานกับกระทรวงกลาโหมเพื่อให้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิดำเนินการอย่างรวดเร็วและเร็วกว่าที่ผ่านมา
รองประธานาธิบดีไมก์ เพนช์ พูดกับผู้ก่อเหตุจลาจลจากชั้นวุฒิสภาหลังจากเริ่มการประชุมอีกครั้งเมื่อเวลา 20.00 น. ตามเวลาในสหรัฐฯ
“สำหรับผู้ที่สร้างความเสียหายในอาคารรัฐสภาของเราในวันนี้ คุณไม่ชนะ” รองประธานาธิบดีเพนช์กล่าว
ก่อนหน้านี้ระหว่างการประท้วง รองประธานาธิบดีเพนช์ออกแถลงการณ์ว่า ไม่สามารถที่จะปฏิเสธผลการเลือกตั้งได้เพียงฝ่ายเดียว แม้ทรัมป์กดดัน
รองประธานาธิบดีเพนช์ยังทวีตข้อความจากสถานที่ที่ไม่เปิดเผยด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยว่า
“การบุกรัฐสภาของเราครั้งนี้ เป็นการกระทำที่รับไม่ได้ และผู้ที่เกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด”
ทีมงานของทรัมป์ได้เริ่มยืนหนังสือลาออก ทั้งหัวหน้าคณะเลขานุการสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เลขานุการด้านสังคมและรองโฆษกทำเนียบขาว เจ้าหน้าที่ทำเนียขาวรายหนึ่งระบุว่า รับไม่ได้กับพฤติกรรมของทรัมป์และไม่สามารถทำงานกับทรัมป์ต่อไปได้
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง โรเบิร์ต โอไบรอัน, ผู้ช่วยที่ปรึกษา แมตต์ พอตติงเกอร์ และรองเสนาธิการทำเนียบขาว คริส ลิดเดล กำลังพิจารณาที่จะลาออกในค่ำวันพุธ จากการให้ข้อมูลของผู้ที่ใกล้ชิด โดยพอตติงเกอร์น่าจะลาออกชัดเจน ขณะที่คนอื่นยังคงเงียบอยู่
แม้ยังไม่มีกระแสลาออกของทีมงาน แต่มีสัญญาณว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นในช่วงสุดท้ายของการทำหน้าที่
ที่ปรึกษากระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ทอม บอสเซิร์ต ประณามการกระทำของทรัมป์ พร้อมทวีตว่า “นี่เป็นสิ่งที่ยิ่งกว่าผิดและไม่ถูกกฎหมาย ไม่ใช่อเมริกัน ประธานาธิบดีทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างไร้เหตุผลมาหลายเดือน ด้วยเหตุนี้ต้องตำหนิเขาต่อการปิดล้อมครั้งนี้และสิ่งที่น่าอับอายที่สุด”
อิลฮัน โอมาร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากพรรคเดโมแครตมีปฏิกิริยายิ่งกว่าทอม บอสเซิร์ต โดยระบุว่า ทรัมป์จะต้องถูกถอดถอนอีกครั้ง
“เราไม่สามารถปล่อยให้เขาทำงานต่อไป เพราะเราต้องรักษาสาธารณรัฐของเราและต้องทำตามคำสาบานของเรา”
ด้านฟิล เวอร์มอนต์ ผู้ว่าการรัฐเวอร์มอนต์ ระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องลาออกหรือถูกปลดออกด้วยคณะรัฐบาลของเขา หรือด้วยสภาคองเกรส
สมาคมผู้ผลิตแห่งชาติ (National Association of Manufacturers) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รองประธานาธิบดีเพนช์ดำเนินการร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 25 เพื่อรักษาประชาธิปไตย

โซเชียลมีเดียล็อกบัญชีทรัมป์ชั่วคราว
ข้อความของประธานาธิบดีทรัมป์ที่สื่อออกมาถูกลบออกจากทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก โดยบริษัทให้เหตุผลว่า เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก และได้ล็อกบัญชีทรัมป์ชั่วคราว
ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ล็อกบัญชีของประธานาธิบดีทรัมป์ จากเหตุความรุนแรงในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ได้ทำการล็อกบัญชีของทรัมป์บนบริการของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโพสต์ข้อความใดๆ จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐอเมริกา (US Capitol) ที่เกิดจากกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้ง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทวิตเตอร์ออกมาตอบโต้โดยการล็อกบัญชีทวิตเตอร์ของทรัมป์เป็นเวลา 12 ชั่วโมงด้วยเหตุผลว่า ทวีตส่วนหนึ่งของทรัมป์เป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ทวิตเตอร์ได้เรียกร้องผ่านบัญชี @TwitterSafety ให้ทรัมป์ลบทวีตดังกล่าว มิฉะนั้นจะทำการล็อกบัญชีต่อไปเรื่อยๆ และหากยังมีการทำผิดกฎของทวิตเตอร์อีก ทวิตเตอร์จะทำการแบนบัญชี @realDonaldTrump เป็นการถาวร
ทางด้านของเฟซบุ๊ก ได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ผ่านบัญชี Facebook Newsroom (@fbnewsroom) ว่า ได้ทำการลบคลิปวิดีโอและโพสต์ของทรัมป์และล็อกบัญชีเฟซบุ๊กของทรัมป์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในวิดีโอดังกล่าว ทรัมป์บอกกับผู้สนับสนุนของตนให้หยุดการกระทำรุนแรงและกลับบ้านของตนอย่างสงบ พร้อมทั้งยังย้ำกับผู้ชุมนุมว่าคะแนนเสียงของเขาถูกขโมยไป
กาย โรเซน รองประธานของเฟซบุ๊ก ให้เหตุผลผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว (@guyro) เกี่ยวกับเหตุผลในการตัดสินใจลบวิดีโอ ว่า “วิดีโอดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แทนที่จะยับยั้งความเสียหายที่กำลังเกิดอยู่ในตอนนี้”
ในขณะเดียวกัน อดัม มอสเซรี CEO ของแอปพลิเคชันอินสตาแกรม (@mosseri) ทวีตข้อความว่า อินสตาแกรมเองก็ล็อกบัญชีของทรัมป์เป็นเวลา 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน

โลกประณามเหตุการณ์การบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ
นานาชาติแสดงความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์การบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศต่างๆ อย่าง ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และแคนาดา เรียกร้องให้มีการส่งต่ออำนาจอย่างสงบ
จากเหตุการณ์กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้ามาภายในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อขัดขวางการรับรองนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สร้างความ ‘กังวลใจ’ แก่เหล่าผู้นำประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการรวมตัวชุมนุมเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้ง ผู้ชุมนุมได้พังเครื่องกีดขวาง และบุกเข้าไปในตัวอาคารรัฐสภา ทำให้การประชุมสภาคองเกรสจำเป็นต้องหยุดการประชุมฉุกเฉิน
ความพยายามครั้งสุดท้ายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะพลิกผลเลือกตั้ง ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อวานนี้ จนเกิดข้อกังขาว่าเป็นการพยายามยึดอำนาจหรือไม่ ผู้นำของประเทศต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินการชุมนุมอย่างสงบและสันติ
องค์การสหประชาชาติ
นายสเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์การบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา และระบุในออกแถลงการณ์ว่า “ในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำทางการเมืองจะสื่อสารกับผู้ติดตามของตนเองให้ไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ รวมถึงให้ความเคารพกระบวนการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม”
ในขณะเดียวกัน นายวอลคาน บอสคีร์ ประธานเลขาธิการสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ก็ได้แสดง “ความเสียใจอย่างสุดซึ้ง” ต่อความรุนแรงและการแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ
แคนาดา
นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ได้แสดงความกังวลก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า แคนาดาเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าวและติดตามอย่างใกล้ชิดแบบนาทีต่อนาที นายทรูโดกล่าวกับสถานีวิทยุ นิวส์ 1130 แวนคูเวอร์ ว่า “ผมคิดว่าสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ มีความเข้มแข็ง ผมหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเร็วๆ นี้”
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้ทวีตผ่านบัญชี (@CanadianPM) ยกคำพูดของนายทรูโดที่กล่าวว่า ชาวแคนาดารู้สึกตื่นตระหนกและเสียใจต่อการทำลายประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของแคนาดา และความรุนแรงจะไม่มีวันลบล้างเจตนารมณ์ของประชาชนได้”
เวเนซุเอลา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวเนซุเอลา นายจอร์จ อาร์เรียซา ทวีตข้อความว่า เวเนซุเอลาแสดงความเสียใจต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงวอชิงตัน พร้อมทั้งกล่าวประณามการแบ่งขั้วทางการเมือง และหวังว่าชาวอเมริกันจะสามารถก้าวต่อไปด้วยเสถียรภาพและความเป็นธรรมในสังคม”
สหภาพยุโรป
นายชาร์ล มิเชล ประธาณคณะมนตรียุโรป กล่าวว่า เขารู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ในกรุงวอชิงตัน และเปรียบเทียบสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ว่าเป็นเหมือน ‘วิหารแห่งประชาธิปไตย’ อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ
ด้านนางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เน้นย้ำความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองและแนวคิดประชาธิปไตยในสหรัฐฯ และกล่าวว่าพร้อมทำจะทำงานกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐฯ
องค์การนาโต้
เลขาธิการองค์การนาโต เจนส์ สตอลเตนเบิร์ก เรียกร้องให้ยอมรับผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา และทวีตข้อความบนบัญชีทวิตเตอร์ของเขา (@jensstoltenberg) ว่า “ภาพเหตุการณ์ในกรุงวอชิงตันเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เราต้องเคารพผลลัพธ์ที่ได้จากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย”
สหราชอาณาจักร
นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ก็ทวิตข้อความประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เป็นภาพที่เสื่อมเสียต่อประชาธิปไตย” เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่เป็นตัวแทนของประชาธิปไตยในระดับนานาชาติ และเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานาธิบดีไปสู่นายโจ ไบเดน อย่างสันติและเป็นไปอย่างถูกต้อง
ฝรั่งเศส
ในทวิตเตอร์ของนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ได้โพสต์วิดีโอพูดถึงการโจมตีสภาคองเกรสว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เป็นอเมริกา” และเขาเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ นายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส ได้กล่าวในทวิตเตอร์ว่า “ความรุนแรงต่อสถาบันทางการเมืองอเมริกัน เป็นการโจมตีที่ส่งผลต่อประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ผมขอประณามสิ่งนี้ เราต้องเคารพความตัดสินใจและเสียงโหวตของชาวอเมริกัน”

เยอรมนี
นายไฮโค มาสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ศัตรูของประชาธิปไตยคงดีใจที่ได้เห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เขาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับการตัดสินใจของชาวอเมริกัน และยังบอกอีกว่า วาทกรรมที่ปลุกปั่นยุยงเป็นสาเหตุของความรุนแรงครั้งนี้ กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ควรยอมรับผลการเลือกตั้ง และขอให้หยุดการเหยียบย่ำประชาธิปไตยไว้เท่านี้
ตุรกี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกีออกแถลงการณ์ ขอให้ทุกฝ่ายในสหรัฐฯ อยู่ในความสงบและสันติ โดยกล่าวว่า “ตุรกีเป็นกังวลกับเหตุการณ์ในสหรัฐฯ รวมไปถึงการโจมตีอาคารรัฐสภา เราเชื่อว่าสหรัฐฯ จะสามารถผ่านพ้นวิกฤติการเมืองภายในได้อย่างราบรื่น” อีกทั้งยังตักเตือนชาวตุรกีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ให้อยู่ห่างจากที่ที่มีคนพลุกพล่านและที่ที่มีการชุมนุม
โฆษกรัฐสภาของตุรกี นายมุสตาฟา เซนทอป ทวีตข้อความว่า “เราติดตามเหตุการณ์ในสหรัฐฯ และขอร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ เราเชื่อว่าปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมายและประชาธิปไตย”
ออสเตรเลีย
นายสกอต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย กล่าวประณามเหตุการณ์ที่ “น่าเศร้าเสียใจอย่างยิ่ง” ในสภาคองเกรสสหรัฐฯ และกล่าวว่าออสเตรเลียคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลและประธานาธิบดีอย่างสงบ ซึ่งเป็นธรรมเนียมในระบบประชาธิปไตยของอเมริกาที่เยี่ยมยอด
นิวซีแลนด์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของนิวซีแลนด์ นางนาไนอา มาฮูตา กล่าวว่า “นิวซีแลนด์รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ในกรุงวอชิงตัน ความรุนแรงจะไม่มีทางหยุดยั้งประชาธิปไตยเอาไว้ได้ เราหวังว่ามีการเปลี่ยนผู้บริหารทางการเมืองของอเมริกาได้อย่างสงบสุข ซึ่งนั่นเป็นจุดเด่นของระบอบประชาธิปไตย” พร้อมทั้งกล่าวอวยพรเป็นภาษาเมารี
เรียบเรียงจาก
Trump’s presidency ends with American carnage
Trump Supporters Storm U.S. Capitol, Clash With Police
States Also See Protests — And Angry Responses — To D.C. Violence
DC updates: 4 dead, 52 arrested, 14 police officers injured after pro-Trump rioters breach US Capitol; FBI opens investigation
Facebook declares ‘emergency situation’ and removes Trump video
Twitter and Facebook Lock Trump’s Accounts After Violence on Capitol Hill
‘Disgraceful’: World reacts as Trump supporters storm US Capitol