ThaiPublica > คอลัมน์ > Black Gold บนร่างมนุษย์

Black Gold บนร่างมนุษย์

24 ตุลาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2020/07/02/us/china-hair-uyghur-cpb-trnd/index.html

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเราได้ยินแต่เรื่องการนำอวัยวะบางส่วนของผู้ตายไปใช้ประโยชน์ (organ harvesting) ด้วยการเปลี่ยนอวัยวะ แต่การนำผมของคนมีชีวิตไปเสริมความงามของคนมีชีวิตด้วยกันเองอย่างเป็นล่ำเป็นสันนั้นเราไม่ค่อยได้ยินกันโดยเฉพาะการบังคับตัดผมจากบุคคลในสถานที่กักกันมาขาย

CNN สื่อข่าวใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้นำเรื่องราวที่แปลกนี้มาสู่โลกภายนอกอันนำไปสู่ประเด็นสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ผู้นิยมเสริมความงามทั้งหลายพึงทราบเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจซื้อหามาใช้

การนำเอาผมของคนอื่นมาใช้ประโยชน์มีมานานแล้วเช่นทำวิกผมแต่การต่อผมนั้นเป็นเทคโนโลยีที่โลกเพิ่งรู้จักไม่นานแต่ก็มีส่วนสร้างให้ความต้องการผมในระดับโลกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในสหรัฐอเมริกาเองเมื่อไม่นานมานี้ทางการได้ยึดผมมนุษย์หนัก 13 ตันที่นำเข้าจากจีนจนเกิดความสนใจว่ามันมีที่มาอย่างไรจึงสามารถส่งออกผมได้มากขนาดนี้ (นี่เป็นการยึดเพียงครั้งเดียว ไม่ทราบว่าเคยทำมากี่ครั้งแล้ว และเป็นน้ำหนักรวมกี่ร้อยตันซึ่งคงต้องมาจากมนุษย์นับล้าน ๆ คนเป็นแน่)

ลูกค้าสำคัญในสหรัฐก็คือหญิงอาฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งให้ความสนใจแก่ผมเป็นพิเศษ ว่ากันว่าเป็นการสร้างความมั่นใจวิธีหนึ่ง ผมที่ใช้มีทั้งจากการประดิษฐ์และธรรมชาติ เพียงแค่ค่าม้วนผมเป็นรูปร่างที่ใช้ผมประดิษฐ์ประกอบก็ใช้เวลาหลายชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 115 เหรียญ (3,500บาท) แล้ว หากเป็นผมจริงซึ่งให้ความเป็นธรรมชาติมากกว่าก็แพงกว่านี้อีก

การต่อผมเป็นธุรกิจที่มาแรงมากในระดับโลกเฉพาะตลาดของผมดำ ประมาณว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านเหรียญ (ประมาณ 80,000 ล้านบาท) ในปี 2018 จนผมสีดำที่ใช้เป็นที่รู้จักกันในนามของ Black Gold ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน

ทางการสหรัฐรู้ดีว่าผมส่วนหนึ่งที่นำเข้ามานั้นมาจากการบังคับแรงงาน (forced labor) ที่อยู่ในบริเวณ Xinjiang (ชิน-เจียง) ซึ่งอาจมีคนถูกบังคับอยู่ถึง 2 ล้านคน บางส่วนของชนกลุ่มน้อยในบริเวณนั้นถูกบังคับให้อยู่ในค่ายกักกัน (internment camp) ตั้งแต่ปี 2016

Internment camps ไม่ใช่คุก หากเป็นสถานที่กักบริเวณไม่ให้ออกมา โดยมีเรือนนอน ทำอาหารและอยู่อาศัยในค่ายนั้น (ประวัติศาสตร์ที่ด่างพร้อยของสหรัฐคือในปี 1942-1946 คนเชื้อสายญี่ปุ่นประมาณ 127,000 คน ถูกบังคับให้เข้าไปอยู่ใน internment camps หลังจากญี่ปุ่นถล่ม Pearl Harbor ในปี 1941 ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และร้อยละ 62 ของคนเหล่านี้มีสัญชาติอเมริกันด้วย)

Xinjiang เป็นเขตปกครองตนเองอยู่ทางตะวันตกเฉียงหนือของจีนเป็นที่โล่ง มีภูเขาและทะเลทราย เป็นแหล่งที่อยู่ของหลายชนกลุ่มน้อย มีพื้นที่ 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อย Uyghur (46%) Kazakh (6.5%) Hui (4.5%) และฮั่น (คนจีนส่วนใหญ่ของประเทศ 40.5%) มีภาษาพูดประมาณ 50 ภาษา

Uyghurs (อุย-เก้อ) สะกดได้หลายอย่าง เช่น Uighurs หรือ Uygurs เป็นชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาตุรกี เป็นมุสลิมที่เคร่งครัด ส่วน Kazakh เป็นอีกกลุ่มที่ใช้ภาษาตระกูลตุรกีเช่นเดียวกัน (Xinjiang ซินเจียงอยู่ติดกับประเทศ Kazakhstan) ส่วน Hui นั้นเป็นคนจีนอิสลามซึ่งมีที่อยู่อาศัยในเขตอื่นด้วย

จีนให้ความสำคัญกับบริเวณนี้มากเพราะมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์มากไม่ว่าน้ำมัน ก๊าซ แร่เหล็ก ถ่านหิน และแร่ธาตุอื่นๆอีกมากมาย มีคนที่นับถือศาสนาและเชื้อชาติที่ต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่ครอบครองอยู่เป็นเวลายาวนานนับร้อย ๆ ปี นโยบายของจีนแต่ดั้งเดิมต่อชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่นับสิบนับร้อยกลุ่มคือให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา มีวัฒนธรรมประเพณีที่ต่างไป แต่ก็ไม่วายจับตามองเพราะอาจมีความต้องการเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ โดยมีการสนับสนุนเชื่อมโยงทางการเงินจากประเทศอื่น

ในระยะหลังนี้ ทางการจีนเข้มงวดกับคนในเขตนี้มากเป็นพิเศษโดยเฉพาะในเมืองหลวง Urumqi (อู-รัม-กี) มีกล้องจับใบหน้าและกล้องโทรทัศน์อยู่ทั้งเมืองเพื่อตรวจดูความปลอดภัยและลามไปถึงการจับกุมคุมขัง และเกิดค่ายกักกันบริเวณนั้นขึ้น จีนเรียก internment camps นี้ว่า “ศูนย์ฝึกอาชีวะ” โดยเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรมโดยอยู่ในโครงการ “ขจัดความยากจน”

ผมมนุษย์หนัก 13 ตันราคา 800,000 เหรียญ (25.6 ล้านบาท) นี้ทางการสหรัฐกำลังสอบสวนและพบว่ามีสองบริษัทที่นำเข้าและอ้างว่าไม่ทราบว่าผมมนุษย์นี้มาจาก ค่ายกักกันบังคับมนุษย์ โดยซื้อผมมาจากบริษัทเกาหลีอีกต่อหนึ่ง

ที่มาภาพ : https://www.axios.com/us-china-forced-labor-products-human-hair-69da26c5-2d01-4bad-a2b2-8c944f6d0a70.html

อย่างไรก็ดีตามกฎหมายระหว่างประเทศ การค้าขายสินค้าที่ผลิตอย่างถูกบังคับจากคุกนั้นผิดอยู่แล้ว ยิ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ด้วยแล้วทำให้ความรู้สึกต่อต้านการใช้ผมคนเสริมความงามยิ่งแรงขึ้น ทุกบริษัทที่สื่อไปสัมภาษณ์ล้วนบอกว่าหากรู้ก็จะไม่นำมาเป็นสินค้าของบริษัทอย่างแน่นอน แง่มุมหนึ่งที่น่าคิดสำหรับสาวอาฟริกัน-อเมริกันก็คือสินค้านี้เป็นผลพวงจากการบังคับใช้แรงงานซึ่งก็คือการใช้แรงงานจากทาสนั่นเอง สาวเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากกระบวนเดียวกันในประวัติศาสตร์ ดังนั้นจึงยิ่งมีเหตุผลที่ไม่ควรสนับสนุนการเสริมความงามด้วยสินค้าลักษณะนี้

คนอเมริกันที่ทราบเรื่องนี้ต่างมีความรู้สึกไปในทำนองต่อต้านมากจนในเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการออกกฎหมายชื่อ “The Uyghur Forced Labor Prevention Act” ซึ่งผ่านรัฐสภาด้วยคะแนนท่วมท้นโดยห้ามการนำเข้าและค้าขายสินค้าที่มาจากการบังคับแรงงานของกรณีUyghur

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นชัยชนะของชนกลุ่มน้อย Uyghur ที่ต้องการให้โลกรู้ความจริงว่ากำลังเกิดการล้ำสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มของเขาอย่างไร กฎหมายฉบับนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งเลวร้ายอยู่แล้วยิ่งหนักขึ้น

มีคำกล่าวหาในเรื่องการกล่อมให้ Uyghur เป็นจีนมากยิ่งขึ้นโดยการใช้ค่ายเช่นนี้ว่าโหดร้ายทารุณ มีผู้หนีรอดมาได้หลายคนเล่าประสบการณ์ของการถูกทรมาน ถูกละเมิดทางเพศ และถูกบังคับให้ทำหมัน สำหรับคนข้างนอกเพียงความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ไว้หนวดยาวไป โพกผ้า มีลูกมากไป ฯลฯ ก็อาจถูกส่งเข้าค่ายได้ ทุกคนในค่ายต้องร้องเพลงชาติจีนได้อย่างถูกต้องวันละไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง เข้าห้องน้ำไม่เกินครั้งละ 2 นาทีมิฉะนั้นจะถูกเอาไฟช๊อตและหากสอบตกภาษาจีนก็อาจอยู่ค่ายนานขึ้น หญิงทุกคนจะถูกตัดผมจนหัวโล้น ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าผมเหล่านี้อาจนำมาผสมกับผมที่จีนนำเข้าจากอินเดีย มาเลเซีย และอีกหลายประเทศกลายเป็นสินค่าส่งออกที่มีการโฆษณาว่าเป็น Xinjiang Human Hair

เคยได้ยินมากว่า 40 ปีแล้วว่าผู้หญิงในแถบเอเชียเราไว้ผมยาวมากเพื่อตัดขาย แต่เมื่อราคาผมพุ่งสูงขึ้นเกือบ 12 เท่าในเวลา10 ปีที่ผ่านมาจนกลายเป็น Black Gold ผมที่ดูไร้เดียงสาเมื่อก่อนได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการล้ำสิทธิมนุษยชนขึ้นได้อย่างสำคัญ

หมายเหตุ : คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่อังคารที่ 20 ต.ค. 2563