ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > รัฐบาลเตรียมสร้างท่าเรือบกหนุนแหลมฉบัง พัฒนา Land Bridge ภาคใต้เชื่อมโยงขนส่งอ่าวไทย-อันดามัน

รัฐบาลเตรียมสร้างท่าเรือบกหนุนแหลมฉบัง พัฒนา Land Bridge ภาคใต้เชื่อมโยงขนส่งอ่าวไทย-อันดามัน

4 ตุลาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.md.go.th/central/cdnm_bureau/planning/admin/images/upload/news/734-007.pdf

รัฐบาลเตรียมพัฒนาท่าเรือบก และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง อ่าวไทย-อันดามันก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ท่าเรือแหลมฉบังในพื้นที่ EEC เพื่อติดตามแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบด้วยโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการท่าเรือทางบก (Dry Port) การศึกษารูปแบบการเชื่อมโยงอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ด้วยโครงการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกระนองและท่าเรือชุมพร โครงการพัฒนา Land bridge เชื่อมท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง และโครงการสะพานไทย

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 มีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต หรือ Twenty Foot Equivalent Unit (TEU) ได้ 4.3 ล้านตู้ ระยะที่ 2 รองรับได้ 6.8 ล้านTEU และเมื่อพัฒนาระยะที่ 3 เสร็จสมบูรณ์แล้วจะรองรับได้เพิ่มอีก 7.0 ล้านTEU รวมทั้งสิ้นเป็น 18.1 ล้านTEU

ในส่วนของท่าเรือบก (Dry Port) นั้นหมายถึง บริเวณพื้นที่ตอนในของประเทศที่มีการดำเนินงานเป็นศูนย์โลจิสติกส์ ซึ่งทำหน้าที่เสมือนท่าเรือ แต่ไม่มีการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ เป็นการรองรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในระบบคอนเทนเนอร์ และมีการเชื่อมต่อการขนส่งได้หลายรูปแบบ โดยมีการขนส่งทางรางเป็นหลัก และจากการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งท่าเรือบกเพื่อสนับสนุนการให้บริการท่าเรือแหลมฉบัง พบว่าจังหวัดที่เหมาะสมคือ ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์ โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือทางบกที่ จังหวัดฉะเชิงเทราได้ในปี 2567 จังหวัดขอนแก่น และ จังหวัดนครราชสีมาได้ในปี 2568 และ จังหวัดนครสวรรค์ได้ในปี 2570 ตามลำดับและคาดการณ์ปริมาณการขนส่งผ่านท่าเรือบกในปี 2565 จาก 2.8 ล้านTEU เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านTEUในปี 2570

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันนั้น ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนองให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ซึ่งตามโยบายได้กำหนดให้เป็นประตูการค้าฝั่งอันดามันของประเทศไทย โดยสามารถขนส่งสินค้าเชื่อมโยงเส้นทางการเดินเรือระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือในกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ เพราะการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือน้ำลึกระนองจะสามารถลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เนื่องจากไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์)

กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะพัฒนาท่าเรือจังหวัดชุมพรเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาให้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land bridge) โดยโครงการ Land bridge นี้จะเป็นการขยายขีดความสามารถการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ของประเทศด้วยที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์การค้าโลก สามารถเชื่อมประเทศไทย อาเซียน จีน อินเดีย ตลอดจนเชื่อมโยงประเทศกลุ่มประเทศตะวันออกไกล เข้ากับกลุ่มประ เทศตะวันออกกลาง และสหภาพยุโรปให้สะดวกยิ่งขึ้น

รูปแบบการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจนี้จะประกอบไปด้วยท่าเรือพาณิชย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบริเวณปลายทั้งสองด้านของฝั่งทะเล จังหวัดระนองและ จังหวัดชุมพรโดยมีการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองแห่งด้วย ทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) คู่ขนานบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินกับภาคประชาชน สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการ รัฐบาลจะลดการใช้งบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาโครงการด้วย และจะมีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้ใช้งบประมาณปี 2563 (งบกลางฯ) เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model)

สำหรับโครงการสะพานเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นโครงการก่อสร้างสะพานข้ามอ่าวไทยโดยเบื้องต้นกำหนดทางเลือกไว้ 2 เส้นทาง ดังนี้ 1) แหลมฉบัง-เพชรบุรี ระยะทาง 86 กิโลเมตร และ 2) พัทยา-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 110 กิโลเมตร โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมกันดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการ (Pre-feasibility Study)

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายโลจิสติกส์ของภูมิภาคทั้งการขนส่งสินค้า และการสัญจร โดยได้กำชับว่าในการศึกษาโครงการต่างๆนั้น ต้องสร้างความเชื่อมโยง ให้เห็นความคุ้มค่าในการลงทุน และเกิดผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ และใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อประหยัดงบประมาณเพื่อสามารถนำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ และการดำเนินการทุกอย่างต้องโปร่งใส ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน โดยยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ นอกจากนั้นทุกหน่วยงานต้องเร่งทำงาน ใช้ช่วงโควิด-19 เตรียมพร้อมประเทศ เสริมความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่จะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านไปแล้ว