ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน คนตัวเล็กกระทบหนัก เร่งจัดแพคเกจอุ้มลูกหนี้-ซอฟท์โลนต่อเนื่อง

ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน คนตัวเล็กกระทบหนัก เร่งจัดแพคเกจอุ้มลูกหนี้-ซอฟท์โลนต่อเนื่อง

15 ตุลาคม 2020


ธนาคารแห่งประเทศไทยประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2563

ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน คนตัวเล็กกระทบหนัก เร่งจัดแพคเกจอุ้มลูกหนี้-ซอฟท์โลนต่อเนื่อง เพิ่มแรงจูงใจปรับโครงสร้างหนี้ ระบุแรงงานย้ายคืนถิ่นกว่า 1 ล้านคน อีสานตอนล่างมากสุด

ธปท. แจงนักวิเคราะห์ เศรษฐกิจไทยฟื้นช้า-ไม่เท่ากัน กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและคนรายได้น้อยกระทบหนัก เตือนความเสี่ยงโควิดยืดเยื้อ ฉุดส่งออกและภาคท่องเที่ยว ย้ำใช้เวลาฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 2 ปี ส่วนภาคบริโภคปรับตัวดีขึ้นจากแรงส่งภาครัฐ ระบุเร็วๆนี้ จัดแพคเกจอุ้มลูกหนี้ที่หมดมาตรการพักชำระหนี้สิ้นต.ค.นี้ และปรับซอฟท์โลนช่วยลูกหนี้ตรงจุด เพิ่มแรงจูงใจเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ผุดไอเดียตั้ง warehouse คล้าย AMC ช่วยแบงก์รับมือปัญหาลูกหนี้

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2563 นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มหดตัวมากจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง และจะเห็นการฟื้นตัวที่แตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ ภูมิภาคและผู้ประกอบการการแต่ละกลุ่ม เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า จึงยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน ขึ้นกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ

“เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีในการฟื้นสู่ระดับก่อนโควิด โดยมี 2 ปัจจัยที่จะทำให้ฟื้นตัวล่าช้า คือ 1. ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยจนกว่าจะมีวัคซีนใช้แพร่หลาย ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การระบาดในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าคาด ทั้งการระบาดรอบสองในหลายประเทศ และบางประเทศก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ และ 2. เศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงจนต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทย และธปท.ต้องติดตามใกล้ชิด”

ทั้งนี้ ล่าสุด ธปท. ประมาณการณ์ปี 2563 แนวโน้มเศรษฐกิจติดลบ 7.8% และปี 2564 กลับมาขยายตัวแต่ไม่สูงมากอยู่ที่ 3.6% เนื่องจากเปิดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้จำกัด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยลง 0.9% จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และปีหน้ามีแนวโน้มกลับมาเป็นบวก 1% ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ และปีหน้า 6.7 ล้านคน และ 9 ล้านคน

นายดอนกล่าวต่อว่า ปีนี้การส่งออกของไทยคาดว่าจะติดลบ 8.2% และปีหน้าโต 4.5% แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกจะฟื้นตัวน้อยกว่าภูมิภาค เนื่องจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ทำให้เห็นการฟื้นตัวไม่กระจายตัวนัก เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวได้เร็ว แต่หากเป็นสินค้ารถยนต์จะฟื้นตัวช้า

ด้านภาคท่องเที่ยว เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถคาดได้ว่าหากมีการระบาดรุนแรงขึ้นจะเกิดการล็อคดาวน์อีกหรือไม่ ขณะที่รัฐบาลเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงประเมินว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติปีหน้าเข้ามาเพิ่มขึ้นบ้างจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (STV) และครึ่งปีหลังจึงจะเห็นเข้ามามากขึ้น ภายใต้คาดการณ์มีวัคซีนในกลางปีหน้า ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัว โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีหน้าอยู่ที่ 9 ล้านคน จากปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน

แรงส่งรัฐช่วยภาคบริโภคดีขึ้น ตลาดแรงงานยังเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ ยังมีเครื่องยนต์หลัก คือ ภาครัฐบาล ที่ช่วยให้อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคปรับดีขึ้นบ้าง แต่การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและใช้เวลาฟื้นตัวนาน และจะเห็นการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยจะเห็นภาพธุรกิจเล็กได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และคนที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่มีรายได้มาก

นายดอนกล่าวว่า เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ใช้เวลานานและมีแนวโน้มที่แตกต่างกันมาก ทำให้เสถียรภาพระบบการเงินไทยมีความเสี่ยงสูงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมากในปีนี้ จากการระบาดของโควิด จึงอาจส่งผลให้ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเปราะบางและมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินไทยยังมีความเข้มแข็งหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินกองทุน และเงินกันสำรองที่สูง ซึ่งในระยะต่อไป ธปท. ยังให้ความสำคัญกับมาตรการเงินที่สำคัญ 2 ประเด็น คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่ไปกับการกระจายสภาพคล่อง

ชูแพคเกจช่วยลูกหนี้ต่อ-แก้ซอฟท์โลน-ให้แรงจูงใจแบงก์เร่งแก้หนี้

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายใน 1-2 วันนี้ ธปท.เตรียมจะออกแพคเกจในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ต่อเนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ที่กำลังจะหมดอายุในเดือน ต.ค. นี้ และปรับการให้ซอฟท์โลน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาตรงจุดได้มากขึ้น นอกจากนี้ มีแนวคิดจะทำ warehousing ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่คล้ายกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในการเป็นเครื่องมือช่วยดูแลลูกหนี้กลุ่มที่มีปัญหา ประคับประคองธุรกิจและรักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงิน รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาให้กับสถาบันการเงินได้ ซึ่งจะให้แรงจูงใจแก่สถาบันการเงินในการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าเร็วขึ้น

“ในช่วงก่อนโควิด เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก เงินกองทุนอยู่ระดับสูง แต่หลังโควิด ทำให้เงินกองทุนลดลงบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวล และเชื่อว่าสถาบันการเงินได้เตรียมวิธีการต่างๆรับมือเพื่อรักษาเงินกองทุนให้อยู่สูงกว่ากฏหมายกำหนด (8.5%) ” นายเมธีกล่าว

โดยธปท.ได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้ พบว่า มีจำนวนกว่า 60% ของลูกค้าที่เข้ามาตรการฯ สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ ส่วนอีก 40% อาจเป็นกลุ่มที่มีปัญหาหรือมีปัญหา

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ 31 ส.ค. จำนวนลูกหนี้รวม(สถาบันการเงิน นอนแบงก์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ) ที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้มีจำนวน 12.1 ล้านบัญชี และยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ รวม 6.9 ล้านล้านบาท ส่วนข้อมูลซอฟท์โลน ณ วันที่ 5 ต.ค. 2563 สินเชื่อที่ได้รับอนุมัติอยู่ที่ 117,809 ล้านบาทจำนวน 70,255 ราย โดยสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 1.7 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธปท. มีนโยบายเกี่ยวกับการรีไซเคลเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยจะมีแนวทางผลักดันคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นเป็นวงกว้างจากปัจจุบันจำกัดเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุน high net worth เพื่อกระจายความเสี่ยง แม้ว่าผลตอบแทนในตลาดต่างประเทศจะไม่สูงมากนัก แต่มีบางตลาดต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในไทย พร้อมกันนี้จะอนุญาตให้มีการเปิดบัญชีที่เป็นเงินตราต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งจะเปิดให้สามารถดึงสินทรัพย์ต่างประเทศเข้ามาให้คนไทยสามารถลงทุนได้โดยตรง จากปัจจุบันจะต้องลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับภาวะกำลังการผลิตส่วนเกินสูงมาก โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม สายการบิน อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ขณะที่การใช้นโยบายการเงินมีจำกัด โดยปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25% ดังนั้นจึงจำเป็นการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะเน้นให้ตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เกิดการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับบริบทใหม่หลังโควิด ผ่านการดำเนินนโยบายที่สอดประสานทั้งนโยบายการคลัง นโยบายสินเชื่อและนโยบายการเงิน มากยิ่งขึ้น

สำหรับปัญหาตลาดแรงงานนั้น เนื่องจากแต่ละสาขาเศรษฐกิจได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน โดยสาขาที่พึ่งพาต่างประเทศได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด อยู่ในภาคส่งออกและท่องเที่ยว จึงอยากให้ ภาครัฐควรเร่งสร้างงานโดยเฉพาะสายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก แต่มีศักยภาพและเหมาะสมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ซึ่งตลาดแรงงานเป็นตัวสร้างรายได้สำคัญของภาคครัวเรือน ที่จะส่งผลต่อพลวัตรของเศรษฐกิจ

“จากโควิด ทำให้เห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานค่อนข้างมาก มีแรงงานย้ายกลับถิ่นภูมิลำเนาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน เพราะมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่า โดยพบว่าพบการเคลื่อนย้ายกลับในภาคอีสานตอนล่าง ค่อนข้างมาก ขณะที่แรงงานบางส่วนได้งานทำในพื้นที่ แต่กระจุกตัวอยู่ในสาขาที่มีรายได้ต่ำ” นายฑิตนันท์กล่าว