ThaiPublica > คนในข่าว > “เจน เฟรเซอร์” ทลายกำแพงวอลล์ สตรีท นั่ง “ซีอีโอหญิงคนแรก”ซิตี้ กรุ๊ป

“เจน เฟรเซอร์” ทลายกำแพงวอลล์ สตรีท นั่ง “ซีอีโอหญิงคนแรก”ซิตี้ กรุ๊ป

21 กันยายน 2020


ที่มาภาพ:
https://www.nytimes.com/2019/10/24/business/citigroup-jane-fraser-michael-corbat.html?action=click&module=RelatedLinks&pgtype=Article

ซิตี้กรุ๊ปประกาศว่า เจน เฟรเซอร์ จะรับหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร chief Executive Officer หรือ C.E.O. คนต่อไป และเป็น ผู้หญิงคนแรกที่เป็นผู้นำธนาคารใหญ่ชั้นนำที่อยู่ในตลาดหุ้น

ทั้งนี้ซีอีโอคนปัจจุบัน ไมเคิล คอร์แบท มีแผนที่จะวางมือเพื่อเกษียณในเดือนกุมภาพันธ์หลังจากทำหน้าที่นี้มา 8 ปี ซึ่งจะเปิดทางให้ผู้ช่วยมือหนึ่ง เจน เฟรเซอร์ ขึ้นมาทำหน้าที่ผู้นำหญิงคนแรกของธนาคารใหญ่ชั้นนำในตลาดหุ้น

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงของเจน เฟรเซอร์ถือว่าเป็นการทลายเพดานกระจก (glass ceiling:เป็นคำอุปมาที่ชาติตะวันตกมักใช้เมื่อพูดถึงอุปสรรคที่มองไม่เห็นซึ่งขวางผู้หญิงไม่ให้ได้รับตำแหน่งในระดับสูง) ที่มีมาอย่างยาวนานในองค์กรสหรัฐฯ

ตลอดหลายทศวรรษนี้ ตลาดหุ้น หรือ วอลล์สตรีท เปลี่ยนแปลงไปมาทั้งจากสาเหตุฟองสบู่แตกหรือ การฉ้อฉล หรือการตื่นตระหนก แต่สิ่งเดียวที่ไม่เปลี่ยนคือ ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดที่ตกเป็นของผู้ชายเสมอ แต่ขณะนี้ป้อมปราการนี้กำลังจะพังทลายลง

เจน เฟรเซอร์ ร่วมงานกับซิตี้ กรุ๊ปมา 16 ปี รับผิดชอบสายงานต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของซิตี้ กรุ๊ป นั่นคือ consumer bank ที่ดูแลลูกค้าบุคคลรายย่อย จะรับหน้าที่ซีอีโอซิตี้ กรุ๊ป ในเดือนกุมภาพันธ์ และจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นผู้นำของสถาบันการเงินในสหรัฐเอมริกา เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของซิตี้ กรุ๊ป ธนาคารที่ใหญ่อันดับสามของสหรัฐอเมริกา

“ถึงเวลาแล้ว” ไฮดี้ มิลเลอร์ อดีตผู้บริหารระดับสูงของเจพี มอร์แกน เชส ซึ่งเคยถูกวางตัวเป็นผู้สืบทอดต่อจาก เจมี ไดมอน ซีอีโอที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด “ต้องขอชื่นชมซิตี้ ที่ตระหนักถึงความสามารถและให้โอกาสเจน เฟรเซอร์ รวมทั้งให้เติบโต” มิลเลอร์ให้ความเห็นและบอกว่า เธอดีใจด้วยจริงๆ

การก้าวขึ้นสูงผู้บริหารสูงสุดของ เจน เฟรเซอร์ ถือเป็นการก้าวสู่ยุคใหม่ของวอลล์สตรีท ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชาย(boys club)เท่านั้นและชื่อเสียงด้านนี้ไม่เคยสั่นคลอน เพราะผู้ชายมีบทบาทมากในตำแหน่งสูงๆของธนาคารหรือสถาบันการเงินประเภทอื่น แม้มีความพยายามที่จะเปิดรับผู้หญิงและมีการส่งเสริมผู้หญิงมากกว่าเดิม ในการให้ถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการด้านบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฏร ในเดือนเมษายน 2562 สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรคนหนึ่งได้ขอให้ คอร์แบทและผู้บริหารธนาคารอีก 6 คนจาก เจพีมอร์แกน เชส แบงก์ออฟอเมริกา โกลด์แมนแซคส์ มอร์แกน สแตนเล่ย์ แบงก์ออฟนิวยอร์กเมลลอน และสเตท สตรีท ยกมือ หากทุกคนเชื่อว่าจะมีผู้หญิงหรือคนผิวสีมารับหน้าที่ต่อจากจะพวกเขา แต่ปรากฎว่าไม่มีใครยกมือ

เจน เฟรเซอร์ซึ่งมีอายุ 53 ปีไม่เพียงแต่จะไม่มีเพื่อนร่วมตำแหน่งที่เป็นผู้หญิงใน 10 ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เมื่อเธอเข้ารับตำแหน่งผู้นำของซิตี้ เธอยังจะจัดอยู่ในกลุ่มผู้นำหญิงกลุ่มเล็กๆ ใน บริษัทใหญ่ๆ ของอเมริกาอีกด้วย

ปัจจุบันมีผู้หญิงเพียง 31 คนในกลุ่มซีอีโอของบริษัท 500 แห่งที่อยู่ในดัชนี หุ้น S&P 500

ผู้หญิงมีสัดส่วน 26% ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ให้บริการทางการเงินในสหรัฐฯในปี 2562 เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2559 ตามรายงานเดือนพฤศจิกายนของ บริษัทที่ปรึกษาโอลิเวอร์ ไวแมน(Oliver Wyman) แม้จะมีความคืบหน้า แต่ภาคธุรกิจนี้ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและให้ความสำคัญกับการรองรับเส้นทางอาชีพของผู้หญิง เมื่อพวกเธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้อง จัดสรรเวลาทำงานและครอบครัวให้เหมาะสม

เมื่อปีที่แล้วในงานประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่จัดในแนวคิด ผู้หญิงที่มุ่งมั่น (The Female Quotient) เจมี ไดมอนกล่าวว่า เขาได้เรียนรู้ว่าผู้หญิงเต็มใจที่จะเดินทางไปทำงาน “ผู้ชายไม่ควรคิดว่าผู้หญิงไม่อยากเดินทาง เราควรถามพวกเธอก่อน”

ถึงกระนั้นวอลล์สตรีทในปัจจุบันก็เป็นสถานที่ที่แตกต่างจาก เมื่อเจน เฟรเซอร์ ซึ่งเป็นชาวสกอตและเริ่มทำงานที่โกลด์แมน แซคส์ในลอนดอน ขณะที่ยังอยู่ในวัย 20 ปีก่อนเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล ได้เข้ามาเป็นคนใน ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงทศวรรษที่ 1990 และผู้หญิงก็เริ่มก้าวย่างบนวอลล์สตรีท ความทะเยอทะยาน ความกล้าที่จะท้าทาย และชุดสูททรงตรงที่เสริมไหล่ของพวกเธอ เหมาะสมกับการสวมบทบาทในภาพยนตร์ฮอลลีวูดในทศวรรษที่ผ่านมาเช่น“ Working Girl” และ“ Baby Boom”

แต่เมื่อเจน เฟรเซอร์ครุ่นคิดว่าจะกลับไปที่โกลด์แมน แซคส์หลังจากจบจากฮาร์วาร์ดดีหรือไม่ เธอเห็นว่าผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จที่โกลด์แมน แซคส์ และในฝ่ายวาณิชธนกิจโดยทั่วไปดู “ค่อนข้างน่ากลัว” และต้องแต่งตัว“ เกือบเหมือนผู้ชาย” เธอเล่าขณะกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมธุรกิจการเงิน ปี 2559 ที่ไมอามี “ ไม่มีใครมีความสุข” เธอกล่าว

แต่เจน เฟรเซอร์กลับหางานที่จัดว่าเป็นงานประจำ ซึ่งจะช่วยให้เธอสามารถเริ่มต้นครอบครัวขณะที่ทำงานได้ เธอเข้าร่วมงานกับ บริษัทที่ปรึกษา แมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี(McKinsey & Company) ในสุนทรพจน์ของเธอที่ไมอามี เจน เฟรเซอร์จำได้ว่า ได้รับโทรศัพท์จากเจ้านายของเธอเพื่อบอกว่า เธอได้รับการยอมรับให้เป็นหุ้นส่วนบริษัท หลังจากเธอคลอดลูกได้สองสัปดาห์ เธอจึงรีบจบการสนทนาและคิดเพียงแต่ว่า” ฉันต้องเลี้ยงลูก”

“ฉันเป็นแม่ที่ทำงานนอกบ้าน” เจนพูดติดตลกในไมอามี “ฉันมีเด็กชายสามคนที่บ้าน ฉันมีเด็กอายุ 14 ปี 16 ปีและ 59 ปี และคนที่อายุมากที่สุด สามีของฉัน บอกว่าเขาก็รู้สึกแบบเดียวกัน” อัลแบร์โต พีดร้า สามีของเธอเป็นผู้บริหารดูแลด้านปฏิบัติการของแบงก์ออฟอเมริกาในยุโรปหลังจากทำงานที่โกลด์แมนแซคส์ 15 ปีเขาเกษียณในปี 2552 ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการธนาคารระดับโลกที่เดรดเนอร์ส ไคลน์เวิร์ท( Dresdner Kleinwort)

เจน เฟรเซอร์ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ (President) ของซิตี้ รับผิดชอบงานหลายด้านในอาชีพการงาน 16 ปีที่ธนาคาร รวมถึงการดูแลภูมิภาคลาตินอเมริกา ในสุนทรพจน์ปี 2557 เธอเล่าว่า การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยของซิตี้ทั่วโลกว่าเป็นงานที่ “พลิกผัน” ความสำเร็จของเธอได้ปูทางไปสู่การได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการแต่งตั้งที่ทำให้เธอก้าวขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนต่อไปของธนาคาร

ที่มาภาพ:
https://www.nytimes.com/2020/09/10/business/citigroup-ceo-jane-fraser.html

“เราเชื่อว่าเจน เป็นบุคคลที่เหมาะสมในการต่อยอดจากสิ่งที่ไมค์สร้างไว้และนำซิตี้ไปอีกระดับหนึ่ง” จอห์น ซี. ดูแกนประธานซิตี้กล่าวในแถลงการณ์ “เธอมีประสบการณ์อย่างดีในสายธุรกิจและภูมิภาคของเรา และเรามั่นใจในตัวเธอเป็นอย่างมาก”

ในบันทึกถึงพนักงาน เจน เฟรเซอร์กล่าวว่า ซิตี้มี “องค์ประกอบของสินทรัพย์ที่โดดเด่น โดยเริ่มจากบุคลากรของเราและเครือข่ายทั่วโลกที่ไม่มีใครเทียบได้” และจำเป็นต้อง “ต่อยอดจากรากฐานดังกล่าวและวางตำแหน่งธนาคารให้รับมือกับดิจิทัลและช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า และเพื่อผลการดำเนินงานที่สม่ำเสมอ ยั่งยืน และประสบความสำเร็จในระยะยาว”

ข่าวการได้รับแต่งตั้งของเจน เฟรเซอร์ ในตำแหน่งที่จะดูแลธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดในโลกและมีทรัพย์สิน 1.96 ล้านล้านดอลลาร์ ได้รับความชื่นชมจากสตรีผู้ทรงอิทธิพลคนอื่น ๆ ในวอลล์สตรีต

“ฉันหวังอยู่เสมอว่าเมื่อถึงเวลาเกษียณอายุจะมีผู้หญิงคนอื่นๆ ในบทบาทซีอีโอ” เบธ มูนีย์ อดีตผู้บริหารระดับสูงของคีย์คอร์ป(KeyCorp) หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุด 20 แห่งของสหรัฐฯกล่าว ซึ่งก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนเมษายน “ช่างเป็นวันที่น่าภาคภูมิใจอย่างไม่น่าเชื่อ” มูนีย์กล่าว

เคธี เบสเซนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของแบงก์ออฟอเมริกา ซึ่งถูกจับตาในวงกว้างว่าเป็นตัวเลือกรายต้นๆที่จะเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของเวลล์ ฟาร์โกเมื่อธนาคารกำลังหาตัวผู้นำคนใหม่ในปีที่แล้ว ได้กล่าวชื่นชมการประกาศของซิตี้ไว้ผ่านทวิตเตอร์ว่า

“ข่าวดีสำหรับ บริษัท และสำหรับผู้หญิงทุกๆที่” ทั้งนี้เคธีพ่ายแพ้แก่ชาร์ลส์ ดับเบิ้ลยู ชาร์ฟที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของเวลล์ฟาร์โก

ที่มาภาพ:
https://www.nytimes.com/2020/09/10/business/citigroup-ceo-jane-fraser.html

การตัดสินใจของซิตี้ในการเลื่อนตำแหน่งของเจน เฟรเซอร์ มีแนวโน้มที่จะดึงดูดความสนใจไปที่แผนการสืบทอดตำแหน่งของบริษัทอื่นๆ ในวอลล์สตรีท เจพี มอร์แกนได้ปรับตำแหน่งผู้นำใหม่แล้ว โดยมีผู้หญิง 2 คนคือมาเรียน เลค และเจนนิเฟอร์ พีบแซค ซึ่งเป็นสองรายในบรรดาตัวเลือกที่มีศักยภาพที่จะรับตำแหน่งต่อจากไดมอน

เจน เฟรเซอร์เข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารซิตี้ ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถของธนาคารในการรักษาธุรกิจทั่วโลกท่ามกลางสถานการณ์ไม่สงบระหว่างประเทศหลายด้าน ตั้งแต่สงครามการค้าของรัฐบาลทรัมป์ไปจนถึงการระบาดของไวรัสโคโรนา ธนาคารเองกำลังแก้ไขการโอนเงินที่ผิดพลาดเมื่อเดือนที่แล้วจำนวน 900 ล้านดอลลาร์ไปยังกลุ่มที่ให้ยืมเงินกับ บริษัท ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมความงามเรฟลอน ซึ่งยังคงพยายามชดใช้บางส่วนอยู่ ความผิดพลาดดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลในบรรดาหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารว่า การควบคุมภายในของซิตี้ผู้ที่ใกล้ชิดกับเรื่องดังกล่าวให้ข้อมูล

เจน เฟรเซอร์ยังจะมีบทบาทที่มากขึ้นในฐานะบุคคลสาธารณะของบริษัท โดยมีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่การพูดคุยกับนักวิเคราะห์ของวอลล์สตรีทเกี่ยวกับอนาคตของซิตี้ไปจนถึงการให้ถ้อยแถลงต่อรัฐสภา

“เธอเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จักโดยทั่วไป” ไมก์ มาโยนักวิเคราะห์ของเวลลส์ ฟาร์โกให้ความเห็นผ่านบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ให้นักลงทุน “ด้วยเหตุนี้จึงไม่ชัดเจนว่า เธอมีสิ่งที่จะเป็นผู้นำธนาคารได้หรือไม่และซิตี้ควรมองหาคนจากภายนอกหรือไม่”

มาโยกล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์ว่า เจน เฟรเซอร์“ มีประวัติที่น่าประทับใจมากและซิตี้กรุ๊ปก็ตระหนักดี เธอได้รับตำแหน่งนี้เพราะความดีความชอบไม่ใช่เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง” เขากล่าว

ไมเคิล คอร์แบท วัย 60 ปีจะออกจากซิตี้หลังจากดำรงตำแหน่งมา 8 ปีซึงเริ่มต้นด้วยการลาออกอย่างกะทันหันของวิกรม เอส. บัณฑิต ผู้นำคนก่อน ภายใต้การนำของเขาธนาคารพยายามฟื้นตัวกลับมาใหม่หลังวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ในแถลงการณ์ของซิตี้ระบุว่ารายได้สุทธิในช่วงที่คอร์แบทดำรงตำแหน่งเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วจาก 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2555

บทบาทใหม่ของเจน เฟรเซอร์จะเป็นการทดสอบความกลัวที่ฝังอยู่ลึกๆ ที่เธอพูดถึงในการให้สัมภาษณ์เมื่อสี่ปีก่อน

“สำหรับฉัน ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งคือความรู้สึกสงสัยของฉัน” เจน เฟรเซอร์กล่าวเมื่อปี 2559 ในการพูดคุยกับสมาชิกของ สมาคมฮาร์วาร์ดบิสซิเนส สคูล ที่นิวยอร์ก “ฉันรู้สึกเสมอถ้าฉันไม่ได้รับโอกาส 120% สำหรับโอกาสใหม่หรือความท้าทายที่ฉันไม่ควรทำต่อไป” เธอกล่าว

เจน เฟรเซอร์อธิบายสูตรของเธอในการเอาชนะความรู้สึกนั้นว่า

“ฉันพยายามแปลงความสงสัยนั้นให้เป็นพลังแห่งความสงสัย เพื่อให้แน่ใจว่าฉันมีทีมที่ยอดเยี่ยมที่มีคุณสมบัติมากกว่าฉัน”

ซิตี้ กรุ๊ปได้กำหนดตัว เจน เฟรเซอร์ให้สืบทอดตำแหน่งซีอีโอ แทนไมเคิล คอร์แบตมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยในเดือนตุลาคม 2562 ได้แต่งตั้งให้เจน เฟรเซอร์ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

ไมเคิล คอร์แบทส่งอีเมลถึงพนักงานแจ้งข่าวการแต่งตั้งเจน เฟรเซอร์ว่า เธอได้ช่วยขับเคลื่อนธนาคารหลายด้านจนเป็นซิตี้อย่างที่เห็นในทุกวันนี้

ในเว็บไซต์ซิตี้ ให้ข้อมูลประวัติเจน เฟรเซอร์ว่า ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการซิตี้และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Consumer Banking โดยความรับผิดชอบทั่วโลกของเธอรวมถึงธุรกิจคอนซูเมอร์ทั้งหมดใน 19 ประเทศ และธนาคารรายย่อย การบริหารความมั่งคั่ง บัตรเครดิต สินเชื่อที่อยู่อาศัยและการดำเนินงานและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เธอเป็นสมาชิกของทีมบริหารของซิตี้และทำหน้าที่เป็นประธานร่วมของ Citi Women Affinity Group

ก่อนรับหน้าที่นี้เธอดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซิตี้ลาตินอเมริกาตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2562 ในช่วงปี 2556 ถึงปี 2558 ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Consumer and Commercial Banking ในสหรัฐฯและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนปี 2552 ถึง 2556 เจนดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไพรเวทแบงก์ทั่วโลก(Global Private Bank) ของซิตี้ ก่อนหน้านี้เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลกและการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการของซิตี้ ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2552 เธอเข้าร่วมงานกับซิตี้ในปี 2547 ในสายงานลูกค้าธุรกิจและวาณิชธนกิจ(Corporate and Investment Banking)

ก่อนที่จะร่วมงานกับซิตี้ เจน เฟรเซอร์เคยเป็นหุ้นส่วนที่ McKinsey & Company เธอเริ่มเส้นทางอาชีพที่โกลด์แมน แซคส์ ในแผนก Mergers & Acquisitions ในลอนดอน จากนั้นทำงานให้กับ Asesores Bursátiles ใน มาดริด ประเทศสเปน

เธอยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ Citibanamex และคณะที่ปรึกษาของคณบดี ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล รวมทั้งเป็นสมาชิกของสโมสรเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก คณะกรรมการที่ปรึกษาระดับโลกที่สแตนฟอร์ด และสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ

เจน เฟรเซอร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล และปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เธอแต่งงานมีลูกสองคน