ThaiPublica > เกาะกระแส > “มาตรการงดแจกถุง” ในวิกฤติขยะพลาสติก ปัญหาซ้ำซ้อนยุคโควิด-19

“มาตรการงดแจกถุง” ในวิกฤติขยะพลาสติก ปัญหาซ้ำซ้อนยุคโควิด-19

4 กันยายน 2020


IPPD (สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร) จัดเสวนาออนไลน์ “Plastic Bags: From Pollution to Solutions”

IPPD (สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตร) จัดเสวนาออนไลน์ “Plastic Bags: From Pollution to Solutions” ตีแผ่ปัญหาพลาสติกยุคโควิด-19 ร่วมเสนอนโยบายลดการใช้พลาสติก

ยุคโควิด ขยะพลาสติกพุ่ง 2.75 เท่า เดลิเวอรี่ดันปริมาณพลาสติก 11 ชิ้นต่อครั้ง

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมควบคุมมลพิษดำเนินการเรื่องการจัดการพลาสติกภายใต้คณะทำงานสนับสนุนการบริหารจัดการพลาสติกจำนวน 3 คณะ ได้แก่ ด้านการส่งเสริมกลไกในการจัดการ ด้านการรณรงค์ และด้านการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากพลาสติก โดยทั้ง 3 คณะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการด้วยการรณรงค์ให้ร้านค้างดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

“ถุงพลาสติกในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี สัดส่วน 40% มาจากตลาดสด-แผงลอยมีอยู่ 1 พันล้านใบ รองลงมาห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อจำนวน 1.35 หมื่นล้านใบ คิดเป็น 30% และร้านขายของชำอีก 30%” นางสาวปรีญาพรให้ข้อมูล

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวอีกว่า ในช่วงโควิด-19 (มกราคม–มีนาคม) ประชาชนใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น 40% ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 2.75 เท่า

ในเดือนมกราคม–มีนาคม 2563 ขยะพลาสติกทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 15% จากปกติ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ส่วนเดือนเมษายน 2563 กทม. มีปริมาณขยะพลาสติก 3,432 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 1,317 ตันต่อวัน คิดเป็น 62% เมื่อเทียบกับปี 2562

นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษสำรวจอัตราขยะที่มาจากพลาสติกเดลิเวอรี่ พบว่าในช่วงโควิด-19 จะมีปริมาณการใช้มากถึง 11 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง ขณะที่ช่วงปกติอยู่ที่ 5 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวอีกว่า สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกทำให้กรมควบคุมมลพิษมุ่งเน้นเรื่องการรณรงค์การลดการใช้ถุงพลาสติกผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ คาดว่าจะลงนามความร่วมมือภายในเดือนกันยายน 2563

“ภาครัฐฝ่ายเดียวทำไม่สำเร็จ อย่างไรก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่ภาครัฐจะเป็นต้นแบบในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก็จะต้องมีมาตรการคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อเป็นต้นแบบ ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการด้วยเช่นกัน” นางสาวปรีญาพรกล่าว

จากซาเล้งถึงกระบวนการรีไซเคิล ปัญหาราคาที่ไม่คุ้มทุน

นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป” มองว่าถุงพลาสติกหูหิ้วมีคุณสมบัติเรื่องความยืดหยุ่นในการใช้งาน จนทำให้ยังไม่มีวัสดุไหนมาทดแทนการใช้งานได้ แต่ถุงพลาสติกมีปัญหาเรื่องการย่อยสลายที่ส่งผลถึงสิ่งแวดล้อม

“เราต้องมองถึงทางแก้ของมัน แต่วิธีการแก้คือ circular economy ฝั่งผู้ผลิต ผู้บริโภค และกระบวนการรีไซเคิล แต่ผมมองว่าส่วนที่ยากที่สุดคือการแก้ที่ผู้บริโภค เพราะเราสื่อสารกับคนเป็นล้าน สื่อสารกับคนที่มีการใช้งานที่หลากหลาย ถ้าเราสื่อสารกับห้างสรรพสินค้าก็อย่างหนึ่ง ตลาดก็อย่างหนึ่ง ผมเชื่อว่าถ้ารณรงค์ให้ผู้บริโภคอย่างเดียวมันจะไม่ประสบผลสำเร็จถ้าไม่มีกลไกอื่นมาช่วย” นายเปรมกล่าว

นายเปรมกล่าวอีกว่า ภาครัฐได้สื่อสารกับห้างสรรพสินค้าถือเป็นมาตรการที่เหมาะสม เพราะรูปแบบการใช้สิ่งทดแทนภายในห้างสามารถทำได้ง่ายกว่าตลาดนัด

นายเปรมเสริมอีกว่า กระบวนการรีไซเคิลในประเทศไทยก็มีข้อจำกัดเรื่อง “ราคาที่ไม่คุ้มทุน” ในทุกขั้นตอน (supply chain) ตั้งแต่ซาเล้งไปเก็บขยะก็มีค่าใช้จ่ายถึง 50% ของรายได้ ถัดมาที่ร้านขายของเก่าก็มีค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้ที่จะขายให้โรงอัดหรือนายหน้า ทำให้กระบวนการรีไซเคิลไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์

“อาชีพซาเล้งเป็นอาชีพที่ค่อยๆ น้อยลง วันหนึ่งราคาขยะไม่ได้จูงใจเท่าสมัยก่อน สมัยก่อนกระดาษอยู่ที่โลละ 3 บาท ผ่านมา 30 ปี กระดาษก็อยู่ที่ 3 บาท มูลค่ามันน้อยลงสู้ค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลไม่ได้แล้ว”

นายเปรมกล่าวอีกว่า ในขั้นตอนการรีไซเคิลจะต้องให้ภาครัฐมาช่วยกำหนดมาตรการให้เอกชนและประชาชนว่า ในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้าถุงพลาสติกในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินไปทิศทางเดียวกัน

IPPD ชี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นด้วยมาตรการงดแจกถุงพลาสติก

ในช่วงที่ผ่านมา IPPD ได้ดำเนินโครงการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายและมาตรการการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้สอดคล้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 12 ในประเด็นการสร้างรูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีนางสาว บุษบา คงปัญญากุล หัวหน้าทีมวิจัยโครงการพลาสติกฯ IPPD และยังเป็นฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หัวหน้าทีมวิจัยโครงการพลาสติกฯ IPPD กล่าวว่าโครงการได้สำรวจความคิดเห็น 5 รูปแบบ รายละเอียดดังนี้

รูปแบบที่ (1) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยมีผู้เข้าร่วม 116 คนจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาออกแบบเป็นแผนภาพระบบนิเวศในการจัดการขยะพลาสติกทั้งระบบ

รูปแบบที่ (2) สอบถามมุมมองบริษัทจดทะเบียนต่อมาตรการงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (CEO survey) โดยพบว่าบริษัทส่วนใหญ่ให้การตอบรับกับมาตรการงดแจกถุงพลาสติก เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับวิธีการ circular economy แต่จะมีผลกระทบเรื่องต้นทุนในระยะสั้น

รูปแบบที่ (3) แบบสอบถามทั้งออนไลน์ (online survey) และออฟไลน์ (face to face interview)

แบบออนไลน์ได้จัดทำแบบสอบถามในช่วงวันที่ 10–22 เมษายน (ช่วงล็อกดาวน์) กลุ่มเป้าหมาย 1,137 คน เป็นประชากรกรุงเทพฯ 58% และส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย พบว่าผู้บริโภค 82.4% เห็นด้วยกับมาตรการงดแจกถุงพลาสติก ใช้ถุงผ้าทดแทน 89.5% อีกทั้งส่วนใหญ่ใช้ถุงพลาสติกซ้ำเป็นถุงขยะ 97% และมีผู้บริโภคอีก 74% มีพฤติกรรมแยกขยะ

ส่วนแบบสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ผู้วิจัยลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน กลุ่มเป้าหมาย 2,425 คน แบ่งสัดส่วนของแต่ละภูมิภาคใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า พบว่าผู้บริโภค 81.65% เห็นด้วยกับมาตรการงดแจกถุงพลาสติก ใช้ถุงผ้าทดแทน 84.2% อีกทั้งส่วนใหญ่ใช้ถุงพลาสติกซ้ำเป็นถุงขยะ 92.1% และมีผู้บริโภคอีก 30% มีพฤติกรรมแยกขยะ

“เมื่อเปรียบเทียบทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์จะเห็นว่า ผู้บริโภคเห็นด้วยกับมาตรการกว่า 80% และเราถามผู้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงโควิด เขาคิดว่าพลาสติกเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นหรือเปล่า ส่วนใหญ่ก็ตอบว่าพลาสติกเป็นสิ่งจำเป็นขึ้น” นางสาวบุษบากล่าว

รูปแบบที่ (4) สอบถามพ่อค้าแม่ค้า (ผู้ประกอบการ) โดยสอบถามว่าหากมีการงดแจกถุงพลาสติกจะมีความคิดเห็นอย่างไร โดยผู้ประกอบการถึง 59% เป็นร้านค้าแผงลอย ตั้งอยู่ในพื้นที่ตลาดสด ริมถนนและตลาดนัด ให้คำตอบว่าเห็นด้วยหากมีการงดแจกถุงพลาสติก 66% แต่ส่วนที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าจะกระทบต่อบริการลูกค้าและไม่มีตัวเลือกอื่นให้ใช้ อย่างไรก็ตามมีพ่อค้าแม่ค้า 84% พบปัญหาจากพลาสติก 3 อันดับ ได้แก่ สกปรก กองขยะอุดตันทำให้น้ำขัง และพลาสติกปนเปื้อนขยะอื่นๆ ทำให้มีกลิ่นรบกวน

(5) Social Listening ผ่านการเก็บคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับการขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 (หลังจาก ครม. มีมติดีเดย์ถุงพลาสติก) จนถึงกุมภาพันธ์ 2563 พบข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 117,977 ข้อความ เป็นข้อความบนเฟซบุ๊กถึง 73% ทวิตเตอร์ 16% และแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมกันอีก 11% โดยภาพรวมเห็นด้วยมาตรการงดแจกถุงพลาสติกถึง 41% และไม่เห็นด้วย 25%

เทียบข้อมูล 7 ประเทศ ไทยไร้มาตรการบังคับและเครื่องมือเศรษฐศาสตร์

นางสาวบุษบาเสนอทางนโยบาย 4 ข้อ คือ ต้องมองว่าการจัดการขยะเป็นความรับผิดชอบของทุกคนไม่ใช่แค่ภาครัฐ การเข้าใจพฤติกรรมของคนไทย การให้คุณค่าและมูลค่าของขยะ และการเข้าใจธรรมชาติของวัสดุเพื่อการจัดการที่เหมาะสม และมองเป้าหมายออกเป็น 3 ระดับคือ ลดปริมาณการใช้ เพิ่มประสิทธิภาพในการแยกขยะถุงพลาสติก และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำถุงพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

นางสาวบุษบาเสนออีกว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องประกาศแนวทางและหลักปฏิบัติให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งประกาศให้ผู้ผลิตใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางให้ร้านสะดวกซื้อ เช่น เก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก ตลอดจนกำหนดเกณฑ์การผลิตถุงพลาสติกจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในประเทศ

ต่อมาเป็นการกำหนดกลไกร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องสร้างกลไกรองรับการจัดการขยะ

ดร.พัชรียา รุ่งกิจวัฒนานุกูล นักวิจัยทีมโครงการพลาสติกฯ IPPD และนักวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงการจัดการพลาสติกของประเทศไทยว่าปัจจุบันไทยใช้เครื่องมือประเภทสมัครใจ เน้นไปที่การ “ขอความร่วมมืองดแจกถุงพลาสติกในร้านค้า” โดยยังไม่มีบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผู้ประกอบการรายเล็กประสบปัญหาเรื่องต้นทุน แต่ในทางกลับกันเครื่องมือที่ใช้ในประเทศไทยทำให้สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – พฤษภาคม 2563 ถึง 11,534 ล้านใบ

ดร.พัชรียากล่าวว่า หลักการในการจัดการพลาสติกจะต้องคำนึงถึงวงจรชีวิตของถุงพลาสติก และนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ผลิตถุงพลาสติก มีเป้าหมายที่ชัดเจนมากกว่าเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ที่สำคัญคือการออกนโยบายให้เข้ากับบริบทของประเทศ แต่ต้องเป็นมาตรฐานแบบเข้มงวด และแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการใช้มาตรการบังคับหรือมาตรการเศรษฐศาสตร์เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก และมีบทลงโทษอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีการใช้ทั้งแบบบังคับและกลไกทางเศรษฐศาสตร์เพื่อลดปัญหาให้ได้มากที่สุด

https://www.facebook.com/ippd.or.th/videos/317163892888835