ThaiPublica > เกาะกระแส > แอปฯ เพื่อเกษตรกร “มะลิซ้อน–รีคัลท์” นวัตกรรมรายงานความเสียหายพืชผลรายแรกของโลก

แอปฯ เพื่อเกษตรกร “มะลิซ้อน–รีคัลท์” นวัตกรรมรายงานความเสียหายพืชผลรายแรกของโลก

23 กันยายน 2020


เปิดตัวแอปฯ เกษตรกร “มะลิซ้อน-รีคัลท์” ยอดเคลมความเสียหายประกันภัยข้าว-ข้าวโพด ปีล่าสุดพุ่งเกือบ 5 พันล้าน

สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดตัวแอปพลิเคชันเพื่อเกษตรกร “มะลิซ้อน-รีคัลท์” ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำหรับใช้ในการรายงานความเสียหายจากภัยธรรมชาติ แจ้งง่ายรวดเร็วแค่ปลายนิ้ว ชูดาวเทียมเก็บข้อมูลรูปภาพความเสียหายพร้อมตำแหน่งสถานที่ประสบภัยพิบัติได้ทันที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยได้ครอบคลุมถึงเขตที่ไม่ประกาศภัยด้วย ช่วยร่นเวลาตรวจสอบและอนุมัติพร้อมจ่ายเงินเคลมเหลือ 7-15 วัน จากปกติ 60 วัน ส่วนยอดเคลมปี 62/63 พุ่งเฉียดเป้า 5 พันล้านบาท ปิดยอด ต.ค. นี้ สูงสุดตั้งแต่เริ่มโครงการประกันภัยข้าวนาปี 9 ปี

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับภาครัฐในการดำเนินการโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง และมีพื้นที่รับประกันภัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี โดยเริ่มต้นด้วยการประกันภัยข้าวนาปี ในปี 2554 และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2562 เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืช ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความแปรปรวนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ climate change

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

หากเกษตรกรไทยมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืช จะช่วยเกษตรกรมั่นใจ และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทประกันวินาศภัยจะประสบกับภาวะขาดทุนจากการรับประกันภัยในบางปี เช่น ปี 2554 ที่เริ่มทำประกันภัยข้าวนาปี แต่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยยังคงมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้กับภาคเกษตรกรรมของไทย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและตอบสนองนโยบายของภาครัฐต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนารูปแบบของโครงการประกันภัยพืชผลให้มีความเหมาะสมกับเกษตรกร มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้เกษตรกรได้รับความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการรายงานความเสียหายและการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 นี้ จึงได้มีการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสำรวจความเสียหายจากภัยธรรมชาติของแปลงนา ซึ่งเกษตรกรสามารถถ่ายรูปรายงานความเสียหายได้เองทางโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี และแอปพลิเคชัน “รีคัลท์” สำหรับโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการประเมินความเสียหายโดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถใช้แอปฯ รายงานความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเกษตรกรสามารถดาวน์โหลดทั้ง 2 แอปพลิเคชันนี้ได้แล้ว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

แอปพลิเคชันเพื่อเกษตรกร “มะลิซ้อน”
แอปพลิเคชันเพื่อเกษตรกร “รีคัลท์”

ส่วนขั้นตอนการเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน มี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ ขั้นตอนแรก โหลดแอปและลงทะเบียน ขั้นตอน 2 วาดแปลงพื้นที่เพาะปลูกที่ยังไม่เกิดภัย และบันทึกข้อมูล ขั้นตอนที่ 3 บันทึกข้อมูลเมื่อเกิดภัยบนแปลงเพาะปลูก ให้ถ่ายรูปส่งเข้ามาเพื่อบันทึกข้อมูลความเสียหายและส่งรายงานข้อมูล

“แอปพลิเคชันทั้งสองนี้ เราพัฒนาขึ้นเพื่อเกษตรกร ใช้เป็นเครื่องมือในการแจ้งความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถรายงานความเสียหายได้ทันทีจากโทรศัพท์มือถือ โดยการถ่ายรูปพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวได้เอง จากจุดแปลงนาหรือแปลงข้าวโพดที่เกิดความเสียหายส่งไปยังระบบฐานข้อมูลได้สะดวก รวดเร็วขึ้น โดย ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย สามารถติดตามความเสียหายได้แบบเรียลไทม์ และการทำผ่านแอปฯ จะใช้เวลาดำเนินการสั้นราว 1 สัปดาห์ก็สามารถตรวจสอบทำเคลมได้ โดยเงินจะส่งผ่าน ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย จากเดิมใช้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ จะนาน 3 เดือนกว่าจะได้เงิน” นายอานนท์กล่าว

ทั้งนี้ เกษตรกรในโครงการที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั้งในกรณีที่อยู่ในเขตและนอกเขตพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินนั้น เกษตรกรก็สามารถรายงานความเสียหายได้ทันที เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบข้อมูล และดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

สำหรับข้อมูลผลการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปีพบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2562 รวม 9 ปีนั้น ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวเป็นจำนวนกว่า 116 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 9,625 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวน 10,803 ล้านบาท มีอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนกว่า 113%

ส่วนผลการรับประกันภัย ในปี 2563 มีพื้นที่รับประกันภัยรวมกว่า 44 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 72.57% จากทั้งหมด 60 ล้านไร่ ถือว่าเป็นปีที่มีสัดส่วนสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำ และมีเบี้ยประกันภัยรวม 3,758 ล้านบาท จำนวนชาวนารวม 3 ล้านรายแล้ว

ทางด้านโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มโครงการเมื่อปี 2562 เป็นปีแรก พบว่า ผลการดำเนินงานรวม 1 ปี คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนกว่า 1.8 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 76 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรแล้วจำนวนกว่า 348 ล้านบาท มีอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนกว่า 458% ส่วนผลการรับประกันภัย ในปี 2563 มีพื้นที่รับประกันภัยรวมกว่า 2 ล้านไร่คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 71.82% และมีเบี้ยประกันภัยรวม 325 ล้านบาท

“เมื่อมีแอปฯ เข้ามาใช้รายงานความเสียหายแทนแล้ว จากนี้ไปจะไม่ต้องใช้คณะกรรมการประเมินความเสียหายลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอีกต่อไปแล้ว ซึ่งแบบเดิมที่ลงสำรวจจะใช้เวลานานมากและต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะฉะนั้น เกษตรกรใช้แอปฯ รายงาน โดยถ่ายภาพแปลงนาที่เสียหายส่งเข้ามาเป็นหลักฐาน ระบบจะทำการตรวจสอบภาพทางดาวเทียม เมื่อภาพ matching ได้ว่า พื้นที่เสียหายสีแบบนี้ (เหลืองๆ) ในแปลงนี้ตรงกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเกษตรกรมีหลักฐานภาพถ่ายเข้ามา ไม่ว่าผู้ว่าฯ ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติหรือไม่ประกาศก็ตาม แม้เป็นพื้นที่แปลงเล็กแปลงน้อย เราก็จ่ายให้ถ้ารัฐจ่าย ซึ่งแอปฯ นี้จะช่วยได้ ถ้ามีภาพถ่ายเอกสารยืนยันชัดเจน ถ้ากรมธรรม์ไม่คุ้มครอง แต่อย่างน้อยรัฐก็จะมีการเคลมให้ด้วยวิธีอื่นๆ” นายอานนท์กล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาแอปฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือของสมาคมฯ กับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย

พร้อมกันนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้กำหนดจัดการอบรมความรู้ เรื่อง การใช้งานแอปพลิเคชันการรายงานความเสียหาย และเว็บแอปพลิเคชัน โครงการประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และใช้งานได้อย่างถูกต้องต่อไป โดยจัดอบรมขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และสงขลา ตามลำดับ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้และคลิปวิดีโอ แนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันการรายงานความเสียหายดังกล่าว เผยแพร่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรได้รับทราบ และสามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่

นายอานนท์กล่าวต่อว่า การพัฒนาแอปพลิเคชันทั้ง 2 แอปฯ นี้ ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญเพื่อปรับปรุงรูปแบบการประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น จะช่วยลดปัญหาในการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนและสร้างวิถีใหม่ในการทำเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรไทย ทั้งยังช่วยต่อยอดการเป็น smart farmers แบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้การประกอบอาชีพการเกษตรในประเทศไทยนั้นมีความยั่งยืน

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดว่าปีนี้จะมีเกษตรกรจำนวนราว 60-70% ที่ทำประกันภัยพืชผล เข้ามาใช้งานทั้ง 2 แอปฯ นี้ “มะลิซ้อน-รีคัลท์” และปีหน้าจะเต็ม 100% ซึ่งเป้าหมายการออกแอปฯ นี้มาจะช่วยให้สามารถเคลมค่าสินไหมทดแทนถึงมือเกษตรกรเร็วขึ้น เพียงหนึ่งสัปดาห์รู้ผลและเงินก็จะเข้ามาผ่าน ธ.ก.ส. ใช้เวลารวม 15 วัน เพราะมีการใช้ภาพจากดาวเทียมที่วิ่งทุกวัน ต่างจากเดิมที่ต้องใช้เวลาตรวจสอบ 1-3 เดือน กว่าจะได้เงินค่าเยียวยา ใช้เวลารวมๆ ก็ 6 เดือน

สำหรับงบในการลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” และ “รีคัลท์” ตั้งเป้าหมายจำนวน 5 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นใช้ไปแล้ว 3 ล้านบาท ส่วนงบที่เหลือกำลังพัฒนาฟีเจอร์สำหรับการเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย น่าจะดำเนินการเสร็จภายในปี 2564 และในระยะต่อไปจะพัฒนาใช้โดรนแทนดาวเทียม ขณะนี้กำลังศึกษาโมเดลของประเทศจีนอยู่ ซึ่งจะทำให้สามารถสำรวจภัยและจ่ายเคลมได้เร็วขึ้นเพียง 1-2 วัน โดยคาดว่าไทยจะนำมาใช้ราว 3 ปีข้างหน้า จะนำมาใช้ในการสำรวจภัยได้

ส่วนความคืบหน้าของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2562/2563 ที่กำลังจะปิดโครงการภายในเดือน ต.ค. นี้ นายกี่เดชกล่าวว่า สมาคมฯ ได้มีการอนุมัติจ่ายค่าสินไหมทดแทน (loss ratio) ไปแล้ว ยอดรวมกว่า 4,800 ล้านบาท คิดเป็นความเสียหายสูงกว่า 223% จากเบี้ยรับประกันภัย 2,000 ล้านบาท ซึ่งได้ประมาณการณ์ความเสียหายโครงการนี้ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท แต่ก็ถือว่าเป็นปีที่มียอดเสียหายสูงที่สุดตั้งแต่รับประกันภัยมา โดยไม่เปรียบเทียบกับปีแรกที่เริ่มทำประกันภัยนาข้าวปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ที่มียอดเคลมความเสียหายสูงถึง 500%

ในส่วนของโครงการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2563-2564 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณไปเดือน เม.ย. 2563 นั้น นายกี่เดชกล่าวว่าปัจจุบันมีพื้นที่รับประกันภัยแล้วกว่า 44 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 72.57% ถือเป็นโครงการรับประกันที่เป็นมีขนาดใหญ่สุด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการจ่ายเคลม แต่คาดว่ายอดความเสียหายจะเริ่มเข้ามาในเดือน ต.ค. 2563

“เราก็หวังว่าความเสียหายปีนี้คงจะดีกว่าปีก่อน แต่เรื่องประกันภัยพืชผลคาดการณ์ยากเพราะพึ่งพาธรรมชาติจริงๆ และปกติประเทศไทยเจอพายุปีละ 20 ลูก ทางกรมอุตุฯ บอกจังหวัดนี้จะมีฝนตกหนัก แต่เอาจริงๆ ก็ตกนิดเดียว” นายกี่เดชกล่าว

ทั้งนี้ โครงการรับประกันภัยข้าวนาปีทำมา 9 ปี นับจากเริ่มปี 2554-2562 ให้ความคุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนรวมกว่า 116 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยมีเบี้ยประกันภัยจำนวน 9,625 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เกษตรแล้ว จำนวน 10,803 ล้านบาท มีอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนกว่า 113% โดยเป็นโครงการที่เน้นช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งถือครองพื้นที่เพาะปลูกข้าวเฉลี่ย 1-12 ไร่ต่อคน และกว่า 80% เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส.