ThaiPublica > คนในข่าว > “ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทยคนใหม่ กับภารกิจพัฒนาระบบธนาคารพาณิชย์เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ

“ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทยคนใหม่ กับภารกิจพัฒนาระบบธนาคารพาณิชย์เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ

21 สิงหาคม 2020


ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทย ได้แต่งตั้งนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย คนที่ 24 แทนนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่ลาออกจากตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย เพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563

การรับตำแหน่งในครั้งนี้ มีภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน คือ การร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาระบบธนาคารพาณิชย์ให้เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจและตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนไทยในทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ประธานสมาคมธนาคารไทยจะหารือกับผู้บริหารของธนาคารสมาชิกเพื่อร่วมกันกำหนดแผน ยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยในระยะถัดไป

นายผยง ศรีวณิช ปัจจุบันอายุ 52 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่ University of Arizona ,Tucson, Arizona สหรัฐอเมริกา ระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ ที่ University of Pittsburgh, Pennsylvania สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ในด้านธุรกิจการเงินการธนาคารมากว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่ง Managing Director, Head of Global Markets & Country Treasurer Citibank N.A.,Thailand ระหว่างปี 2551-2557 ทำงานกับธนาคารกรุงไทยในปี 2558 ในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หลังได้รับแต่งตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559

หลังจากการเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย “ผยง” ได้สลัดภาพความเป็นธนาคารรัฐไม่ทันสมัยให้เป็น Digital Bank ที่พร้อมขับเคลื่อนสังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นในยุคไทยแลนด์ 4.0

ธนาคารกรุงไทยยังมีส่วนในการขับเคลื่อนโครงการ National e-Payment เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยเป็นธนาคารแรกที่นำร่องด้าน PromptPay การคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ร่วมกับกระทรวงการคลัง รวมทั้งผลักดันการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดกับ QR Code Payment การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดอย่างต่อเนื่องในต่างจังหวัด

การรับตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทย ของ “ผยง ศรีวณิช” น่าเป็นการถูกที่ถูกเวลา เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น หลังจากการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้คนเปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น และธนาคารกรุงไทยยังมีส่วนร่วมในการใช้เครื่องมือดิจิทัลสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทั้งโครงการ ชิม ช้อปใช้ และล่าสุด เราไม่ทิ้งกัน

กรุงไทย NEXT จุดเริ่มต้นส่งโมบายแบงกิ้งสู่ประชากรฐานราก

เส้นทางการเป็น Digital Bank เริ่มจากการประกาศ 5 ยุทธศาสตร์ดิจิทัลก้าวสู่ Invisible Banking เต็มรูปแบบในปี 2561 ผ่านแอป “กรุงไทย NEXT” ซึ่งพลิกโฉม Mobile Banking ให้เป็นโครงสร้างที่ครอบคลุมการทำธุรกรรมการเงินทุกประเภท

Invisible Banking หมายถึงการให้บริการในการทำธุรกรรมของกรุงไทยติดตัวและเคลื่อนที่ไปกับลูกค้าทุกที่ทุกเวลา

“ผยง” มองว่า การให้บริการของธนาคารได้พัฒนาจากยุค Internet Banking สู่ยุค Mobile Banking ลูกค้าทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking มากขึ้น ในปี 2561 คนไทยทำธุรกรรมทั้งการโอนเงินและชำระเงินค่าบริการต่างๆ ผ่าน Mobile Banking เพิ่มขึ้นเป็น 37.9 ล้านบัญชี แต่ยังมีประชากรไทยจำนวนมากในภูมิภาคทั่วประเทศ ที่เข้าไม่ถึงการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking เพราะไม่เข้าใจเทคโนโลยี มองว่าใช้ยาก และไม่กล้าใช้งาน อีกทั้งการทำธุรกรรมจ่ายเงินบน Mobile Banking ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมในทุกช่องทาง จึงยังคงใช้บริการ โอน เติม จ่าย ผ่านสาขาและตู้เอทีเอ็ม

“การเปิดตัวแอป กรุงไทย NEXT เป็นโครงการนำร่อง ให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมที่สุดในประเทศไทย กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของการนำ Mobile Banking เข้าสู่ประชากรฐานราก ยกระดับ Mobile Banking สู่โครงสร้างระดับมหภาคอย่างแท้จริง ” นายผยงกล่าว

ปัจจุบัน การทำธุรกรรมผ่าน กรุงไทย NEXT มีความหลากหลาย นอกเหนือจากฟีเจอร์หลัก คือ โอนเงิน เติมเงิน ชำระเงิน จ่ายเงิน ทั้งโอนข้ามเขตและโอนต่างธนาคาร การเติมเงินค่าโทรศัพท์ได้ทุกค่าย รวมทั้ง Easy Pass, M-PASS และ MRT และมีเน็ตเวิร์คการทำธุรกรรมการเงินที่ครอบคลุมที่สุดในประเทศไทย ทั้งช่องทางภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาภูมิภาค ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ บริการรับชำระค่าปรับจราจร กรมขนส่ง กรมธนารักษ์ กรมสรรพสามิต ชำระหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กสท โทรคมนาคม และบริการอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ e-Donation หรือกรุงไทย เติมบุญ ครอบคลุมวัด โรงพยาบาล มูลนิธิ สถานศึกษา มัสยิด และองค์กรสาธารณกุศล กว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม รับใบอนุโมทนาบุญอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที พร้อมส่งข้อมูลการบริจาคให้กรมสรรพากรสำหรับการลดหย่อนภาษีอีกด้วย และยังมีฟีเจอร์พิเศษ ที่รับซื้อ-จองสลากกินแบ่งรัฐบาลล่วงหน้า ให้ผู้มีสิทธิซื้อ-จองสลากไม่ต้องไปต่อคิวที่ตู้เอทีเอ็มอีกต่อไป ตลอดจนการตรวจข้อมูลเครดิตบูโร

ที่สำคัญกรุงไทย NEXT ได้รับการโหวตจากผู้พิการทางสายตาให้เป็นโมบายแบงกิง ที่สามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และถูกต้องแม่นยำ ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการทางสายตา ส่งให้ธนาคารกรุงไทยได้รับรางวัล Tab Digital Inclusive Awards 2019 จากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

“กรุงไทย NEXT ยังคำนึงถึง user interface ออกแบบโดยคำนึงถึงการเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกคน ส่งผลให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือได้อย่างสะดวกสบาย ถูกต้องครบถ้วน ตามมาตรฐาน UI Accessibility Guideline ของระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศได้โหวตให้ กรุงไทย NEXT เป็นโมบายแบงกิงที่สามารถใช้งานได้สะดวกสบายที่สุด จนได้รับรางวัล Tab Digital Inclusive Awards 2019 จากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย” นายผยงกล่าว

นายผยงกล่าวต่อว่า “ธนาคารรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้พิการทางสายตา สามารถทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองได้อย่างสะดวกปลอดภัย และธนาคารยังมีแผนพัฒนา กรุงไทย NEXT ตลอดจนบริการทางการเงินอื่นๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับบริการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม”

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การให้รางวัล TAB Digital Inclusive Award 2019 ใช้วิธีการให้ผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศโหวตให้คะแนนแอปพลิเคชันโมบายแบงกิงที่เคยใช้งาน โดยมีหลักในการพิจารณา 3 ประเด็น คือเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อคนไทยทุกคน เป็นแอปพลิเคชันสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้คนตาบอดใช้โดยเฉพาะ และเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ตั้งแต่ 80% ขึ้นไป

เปิด Innovation Lab รองรับ 5 Ecosystems

ต่อมาในเดือน มีนาคม 2562 นายผยง ได้เปิด Krungthai Innovation Lab ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง แหล่งรวมคนรุ่นใหม่ที่ร่วมคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ยกระดับการให้บริการแบบครบวงจร เพื่อก้าวสู่ Invisible Banking เพื่อสร้างแพล็ตฟอร์มที่เชื่อมโยง 5 Ecosystems ได้แก่ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา และกลุ่มระบบขนส่งมวลชน

Krungthai Innovation Lab จะคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เช่น ฟีเจอร์ใหม่ๆของแอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT, ระบบ Face Recognition สแกนใบหน้า เพื่อระบุตัวตนของลูกค้า ป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบ, ระบบ Smart Document ให้ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมสามารถส่งหลักฐานสำคัญ ผ่านระบบออนไลน์, AI รวมไปถึงรูปแบบสาขาดิจิทัล ที่ใช้เทคโนโลยีที่สามารถรับมือกับอาชญากรรมยุคใหม่ โดยได้ทยอยติดตั้งเครื่องตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมข้อมูลกับทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย และใช้เทคโนโลยี e-Signature เพื่อตรวจสอบลายเซ็นที่สามารถตรวจจับความถูกต้องได้แม่นยำ สำหรับใช้ในการทำรายการต่างๆ ที่เคาน์เตอร์สาขา ครอบคลุมทุกสาขาทั่วประเทศ อีกทั้งยังสามารถรับหลักฐานการทำธุรกรรมผ่านทางอีเมลและ SMS ได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีส่วนสนับสนุนกลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา พัฒนา University Application หรือ U App อำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วยฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน ปัจจุบันมี 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อีกทั้งครอบคลุมระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL) ในรูปแบบ Paperless และ Digital ID กลุ่มการชำระเงิน พัฒนาแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชัน เป๋าตุง และแอปพลิเคชั่น ถุงเงินประชารัฐ เพื่อให้บริการแก่ร้านค้า รวมทั้งติดตั้ง QR Code ในร้านค้า รถโดยสารประจำทาง เพื่อการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง

เดินหน้าสู่ Open Banking ไม่มีบัญชีกับธนาคารใช้บริการได้

ธนาคารกรุงไทยเดินหน้าเป็น Open Banking ที่ประชาชนสามารถใช้บริการทางการเงิน โดยไม่ต้องมีบัญชีกับธนาคาร จากการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์และตอบโจทย์ทางการเงินของลูกค้ากลุ่มต่างๆ และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานรัฐ

ธนาคารกรุงไทยได้ลงทุนครั้งใหญ่ด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นแพลตฟอร์มทางการเงินที่สามารถเชื่อมต่อทุกความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญได้เริ่มต้นการเป็น Open Banking ที่ประชาชนสามารถใช้บริการทางการเงิน โดยไม่ต้องมีบัญชีกับธนาคาร ซึ่งเป็นพลังที่ไร้ขีดจำกัดในยุคปัจจุบัน

นายผยงกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้ก้าวสู่การเป็น invisible banking อย่างเต็มตัวด้วยแพลตฟอร์มที่หลากหลาย โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT เป๋าตัง และ ชิม ช้อป ใช้ ทำให้ธนาคารกรุงไทยสามารถสร้างแพลตฟอร์มใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีผู้เข้ามาใช้งานในระบบเพิ่มขึ้นกว่า 12 ล้านคน ตอกย้ำความสำเร็จของธนาคารในการก้าวสู่ยุคดิจิทัล Thailand 4.0

เชื่อมโยงธนาคารกับหน่วยงานรัฐ-เอกชนทุกมิติ

ธนาคารกรุงไทยได้สนับสนุนภาครัฐในการขับเคลื่อน Digital Payment Platform อย่างเต็มที่ โดยเริ่มจากโครงการ National e-Payment การวางระบบ Digital Payment Super Highway เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่คนไทยในทุกภาคส่วนทั่วประเทศ และการก่อตั้ง Krungthai Innovation Lab ที่ป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานการบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เชื่อมโยงธนาคารกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในทุกมิติ

โดยมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ธนาคารกรุงไทยร่วมกับ ขสมก.เปิดให้บริการรับชำระค่าโดยสารประจำทาง แบบไร้เงินสด ในทุกเส้นทางเดินรถทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ร่วม ขสมก. บัตรนักเรียน นักศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ สแกน QR Code เพื่อชำระเงินผ่าน กรุงไทย NEXT หรือ Mobile Banking รวมทั้งบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตของทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ Contactless และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านเครื่อง EDC ที่ผู้ใช้บริการสามารถเติมเงินในบัตรผ่าน Mobile Banking และตู้ ATM ของทุกธนาคาร เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา และตู้บุญเติม

“ธนาคารได้ติดตั้งเครื่อง EDC เพื่อรับชำระเงินในรถ ขสมก. ทุกคัน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งพนักงานเก็บค่าโดยสารสามารถตรวจสอบและยืนยันการทำรายการชำระเงินของผู้โดยสารในเครื่อง EDC ประจำตัวพนักงาน และ ขสมก. สามารถตรวจสอบการทำรายการชำระเงินของรถโดยสารแต่ละคันผ่านเว็บไซต์ ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการเงินสด และลดต้นทุนการจัดการระบบโลจิสติกส์”

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแห่งแรก ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ให้บริการกรมบัญชีกลาง ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ผู้ประกอบการสามารถออกหนังสือรับรองสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ e-Credit Confirmation ประกอบการขอขึ้นทะเบียนจัดลำดับชั้นผู้ประกอบการงานก่อสร้าง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานของหน่วยงานในกระทรวงการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดขั้นตอนการทำงาน ตอบสนองผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้น

จากการที่กระทรวงการคลังที่มีนโยบายนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อยกระดับการทำงานของหน่วยงานต่างๆในสังกัด ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินและการจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญเป็นการวางโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ชุมชน ธนาคารกรุงไทยได้ช่วยพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มทางการเงิน คือ วอลเล็ต สบม.(วอลเล็ต สะสมบอนด์มั่งคั่ง) เพื่อรองรับการซื้อขายพันธบัตรแบบดิจิทัล เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ช่วยให้การจำหน่ายพันธบัตรสอดคล้องกับโลกอนาคตที่ต้องการประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ ความรวดเร็ว ความโปร่งใส และมีโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำ ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน

“ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ จึงได้พัฒนาช่องทางการซื้อขายพันธบัตรด้วยวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะได้เห็นการซื้อขายพันธบัตรผ่านช่องทางดิจิทัล โดยธนาคารได้ออกแบบแอปพลิเคชันเป๋าตัง ภายใต้โครงสร้างใหม่ เพื่อให้เป็นระบบการเงินแบบเปิด สามารถรองรับวอลเล็ตได้หลายตัวพร้อมๆกัน และมีการนำเทคโนโลยี Blokchain มาประยุกต์ออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับการเงินในโลกแห่งอนาคต สำหรับวอลเล็ต สบม.นี้ ได้ออกแบบการซื้อขายพันธบัตรให้เป็นแบบรวมศูนย์ ทำให้การจำหน่ายมีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถซื้อขายได้แบบ Real Time ซึ่งผู้ขายจะมีข้อมูลผลลัพธ์การขายเป็นรายนาที ขณะที่ผู้ซื้อเห็นข้อมูลของเงินและพันธบัตรในวอลเล็ตเดียวกัน และเมื่อมีการซื้อขายพันธบัตรแล้ว ข้อมูลการถือครองจะแสดงให้เห็นในวอลเล็ตทันที ไม่ต้องรอ 15 วันเหมือนที่ผ่านมา” นายผยงกล่าว

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) (ซ้าย) และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย แถลงข่าว บริการรับชำระหนี้จากผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. และ กองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ผ่านระบบ QR Code โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง

“ชิมช้อปใช้” ยกระดับ Thailand 4.0

นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือลูกค้าและคนไทยในทุกวิกฤติ ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่านหลายโครงการ ทั้งกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การติดตั้งเครื่อง EDC ให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐแล้ว ธนาคารกรุงไทยยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลโครงการชิมช้อปใช้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

“ชิมช้อปใช้” มีผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน มีเงินใน “เป๋าตัง” คนละ 1,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลทันตาทันใจรัฐบาลแล้ว ข้อมูลของธนาคารกรุงไทยรายงานจากพื้นที่ต่าง ยังเป็น Big Data ที่ภาครัฐสามารถนำไปต่อยอดตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตได้

และเป็นการก้าวกระโดดของการเชื่อมต่อนโยบายภาครัฐให้ปฏิบัติได้จริงในเวลาที่รวดเร็ว อันเป็นผลจากการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์

“ชิมช้อปใช้” มาจากแนวคิดรัฐบาลต้องการหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นความพยายามที่รัฐต้องการให้เงินไปตามพื้นที่ต่างๆ และเป็นความเร่งด่วนที่ไม่อยากให้เศรษฐกิจชะลอลงเร็ว เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยับเพิ่มขึ้น 0.15 % แต่ต้องมีการตรวจสอบได้ชัดเจน พิสูจน์ทราบได้ว่ามีตัวตนจริง

นายผยงกล่าวว่า การลงทะเบียนชิมชอบใช้ ทำให้รัฐได้เห็นข้อมูล สามารถที่จะคิดต่อยอดว่าจะไปพัฒนาแต่ละจังหวัดอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสังคมเศรษฐกิจมาก ที่จะนำข้อมูลมาบูรณาการต่อยอดต่อไป เช่น ไปเชื่อมเอสเอ็มอีบัญชีเดียว ว่ากิจการค้าขายดีไม่ดีอย่างไร ในอนาคตเจ้าของกิจการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น เพราะมีข้อมูลที่หมุนเวียนในระบบสามารถยกระดับได้ ได้ทรัพยากรไปใช้

นี่คือจุดเริ่มต้นของไทยแลนด์ 4.0 ในสเกลที่ใหญ่มากๆ ที่มีจำนวนประชาชน 10 ล้านคน 1 แสนร้านค้า

โครงการชิมช้อปใช้เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประชาชนเข้ามาร่วมจำนวนมากและครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นการยกระดับดิจิทัลอีโคโนมีขึ้นไปอีก

“แบงก์กรุงไทยได้ทำระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินไว้ สามารถจะที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ลงทะเบียนเอาเงินไปใช้ที่ไหน ใช้จริงไหม หากไม่มีก็จะเป็นความยากว่าเขาไปใช้ที่ไหน ใช้อย่างไร ใช้จริงๆหรือไม่”

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เอาเทคโนโลยีมายกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับให้บริการดิจิทัลแบงกิง และเป็น open banking platform ให้กับแบงก์กรุงไทย ขณะเดียวกันในอนาคตหากภาครัฐอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ จะมีการเปิด G wallet เกิดขึ้นเป็นกระเป๋าที่ 3-4-5 ซึ่งจะเป็นกระเป๋าตังส์เล็กๆน้อยๆ ในแอปเป๋าตังได้ทันที

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย, นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงความพร้อมมาตรการ “ชิมช้อปใช้”

“ขณะเดียวกันในแง่หลังบ้านของแบงก์กรุงไทย ด้วยระบบกลไกของ AI เราจะเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าเราที่เป็นประชาชนมากขึ้น สามารถแบ่งเซกเมนต์เทชันได้ พอแบ่งเซกเมนต์ได้ เราจะรู้ความต้องการลูกค้าและตอบโจทย์เขาได้ถูกต้อง เช่น มนุษย์เงินเดือนคนที่สามารถใช้จ่ายได้ 30,000 บาท เขาอาจจะสนใจการลงทุนการออมแล้ว หรือคนที่ไปใช้ต่างจังหวัดสนใจเรื่องการกินเป็นพิเศษ ทำโปรโมชั่นในอนาคตได้”

“ความสำเร็จของโครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน กรมบัญชีกลาง ททท. กรุงไทย หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนก็ตื่นตัว ที่สำคัญคือการเอาเทคโนโลยีมาใช้ เป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปอีกระดับหนึ่ง แม้ช่วงแรกในการลงทะเบียนอาจจะยากนิดหนึ่ง การสแกนใบหน้า ระบบนี้เป็นการวางระบบความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการจ่ายเงิน เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ แม่นยำ เมื่อมีการสร้างฐานข้อมูลนี้แล้ว ในอนาคตจะเป็นการต่อยอด G wallet โครงการอื่นๆ ได้”

ความสำเร็จจากหลายโครงการผลักดันให้ธนาคารพร้อมเป็นผู้นำในการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยล่าสุดเดือนมีนาคม ธนาคารกรุงไทยได้เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินของรัฐ รับลงทะเบียนการขอรับเงินเยียวยาผลกระทบจาดโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

ยึดปรัชญากรุงไทยคุณธรรมเพื่อความยั่งยืน

ธนาคารกรุงไทยยังคงมุ่งเน้นในยุทธศาสตร์ 5Ps บนพื้นฐานปรัชญากรุงไทยคุณธรรมเพื่อความยั่งยืน เพื่อยกระดับบริการสู่ดิจิทัล

โดยนายผยงเปิดเผยว่า ธนาคารได้เริ่ม “กรุงไทยคุณธรรม” โครงการเพื่อความยั่งยืนของธนาคาร ในปี 2561 เพราะมองว่าธนาคารต้องเป็นต้นแบบให้กับสังคมในทุกมิติอย่างจริงจัง การเป็นองค์กรยั่งยืน ต้องมีการสอดประสานของทั้งองค์กร เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและผู้มีส่วนร่วมหรือ stakeholder ในทุกบริบทของกรุงไทยต้องเดินไปด้วยกัน

“สิ่งที่เรายกระดับขึ้นมา หนึ่ง พนักงานในครอบครัวกรุงไทยทุกคนต้องไม่เพิกเฉยกับการทุจริต หรือการทำไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ กติกา ทั้งกฎภายในบ้านและกฎนอกบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม สอง การเพิกเฉยหรือการปล่อยให้การทำงานของเราไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในกระบวนการ ซึ่งการไร้ประสิทธิภาพหรือการหย่อนประสิทธิภาพคืออีกหนึ่งรูปแบบของการทุจริต เป็นแนวคิดที่เรานำมาปฏิบัติจริงจัง”

กรุงไทยคุณธรรมมีคณะกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันอย่างจริงจัง เป็นการดำเนินการจากคณะกรรมการลงมาจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ระดับสาขา ระดับพื้นที่จะต้องสะท้อนถึงแนวคิดปรัชญากรุงไทยคุณธรรมทั้งหมด

“กรุงไทยเป็นองค์กรของรัฐ ผมขอย้ำว่าเราเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นตรงถึง 56% ทุกปีมีผู้ถือหุ้นรัฐบาลโดยอ้อมผ่านกองทุนรวมต่างๆ ผ่านธนาคารต่างๆ อีกพอสมควรรวมแล้วประมาณ 70% ผู้ถือหุ้นรายย่อยของกรุงไทยยังเป็นข้าราชการ เป็นพนักงาน เป็นอดีตพนักงานกรุงไทยอีกมากมาย ยังไม่รวมประชาชน เพราะฉะนั้นเราเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ หมายความว่าเราเป็นธนาคารพาณิชย์ของคนไทยทุกคนที่เราต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ความรับผิดชอบการดูแลทรัพย์สมบัติของรัฐบาลเป็นหน้าที่ของกรุงไทยทุกคน การตระหนักและเข้าใจถึงหน้าที่ของพวกเราในมิตินี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำหน้าที่ในทุกมิติให้ดีที่สุด และต้องมีการลงมือทำด้วยไม่ใช่พูดอย่างเดียว” นายผยงกล่าว

ธนาคารให้ความสำคัญกับการยกระดับกรุงไทยคุณธรรม โดยใช้เวลาใช้ทรัพยากรอย่างมากมาย ทั้งกลไก กระบวนการตรวจเช็คตรวจสอบในองค์กร ที่เรียกว่ากำแพง 3 ประการ ได้แก่ First, second and third line of defense ได้มีการยกระดับบูรณาการจนกำแพงมีประสิทธิภาพ องค์กรกรุงไทยเป็นองค์กรที่มีประวัติศาสตร์มา 50 ปี ทุกวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นองค์กรเดียวที่ยืนหยัดเป็นกลไกในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งหนักที่สุด มีการปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งและอีก 16 แห่ง กรุงไทยรับภาระเงินฝากทั้ง 56 และ 16 แห่งมาที่กรุงไทยและบริษัทลูกในขณะนี้คือ กรุงไทยธนกิจเข้ามาอยู่ในระบบกรุงไทยทั้งหมดด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล

การเดินทางบน 5 ecosystems เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และที่ต้องเน้นคือการลงลึกในการลงมือทำ โดยหลักของ 5Ps ที่มีกรุงไทยคุณธรรมเป็นแกน ประกอบด้วย 1) Platform ธนาคารต้องการเป็นแพลตฟอร์มของรัฐบาล ใน 3 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย 1. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพราะมองว่าระบบนี้คือการวางโครงสร้างพื้นฐาน digital payment ทั่วประเทศทุกตำบล 2. การติดตั้งเครื่อง EDC 3. ร้านธงฟ้า เป็นการนำโครงการของรัฐมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้ประโยชน์ในบริบทธนาคารพาณิชย์ของรัฐได้อย่างดีเยี่ยม

2) Partnership จำเป็นที่จะต้องมีพันธมิตรเข้ามาร่วมมืออย่างใกล้ชิด 3) People ครอบคลุมทั้งการจัดวางกำลังคนใหม่ workforce rationalization ให้สอดคล้องกับเนื้องาน การส่งเสริมพนักงานให้เรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill-upskill) 4) Process จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้วิธีการทำงานมีความชัดเจน 5) Performance ผลการดำเนินงาน