ThaiPublica > เกาะกระแส > EIC ระบุ “ปิดเมืองรอบสอง-มาตรการรัฐหมดอายุ-การเลือกตั้งสหรัฐ” กดดันตลาดเงินโลกทำบาทแข็ง 30.5-31.5 ครึ่งปีหลัง

EIC ระบุ “ปิดเมืองรอบสอง-มาตรการรัฐหมดอายุ-การเลือกตั้งสหรัฐ” กดดันตลาดเงินโลกทำบาทแข็ง 30.5-31.5 ครึ่งปีหลัง

4 สิงหาคม 2020



รายงานโดย ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ,วชิรวัฒน์ บานชื่น,พงศกร ศรีสกาวกุล,มณฑล วานิชประเสริฐพร

EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก :นัยต่อค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยไทยปี 2020

  • EIC ประเมิน 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 คือ 1) มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศกลับมาเข้มงวดขึ้นอีกครั้งตามการระบาดซ้ำของ COVID-19 2) มาตรการสนับสนุนของภาครัฐในหลายประเทศที่กำลังจะหมดอายุลง (policy cliff) ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป และ 3) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
  • ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินข้างต้น EIC จึงปรับประมาณการและมุมมองต่อตลาดการเงินดังนี้ เงินบาท ณ สิ้นปี 2020 มีแนวโน้มแข็งค่าจากระดับปัจจุบันมาอยู่ที่กรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแน้วโน้มไหลเข้าตลาด EM และ ธปท. มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้นจากความเสี่ยงที่จะถูกทางการสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในกลุ่ม monitoring list ของกลุ่มประเทศ currency manipulator อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากการขายทองคำในช่วงที่ราคาปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี เงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นมาก เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุลลดลงอย่างมีนัย
  • คาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นอายุ 1 ปี ณ สิ้นปี 2020 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.5-0.6% ตามแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย และปรับประมาณการอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอายุ 10 ปี ณ สิ้นปี 2020 มาอยู่ที่ 1.30-1.40% เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังภาครัฐอาจหันมาระดมทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากขึ้นในระยะต่อไป และภาวะเศรษฐกิจไทยที่จะหดตัวน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปีทำให้นักลงทุนอาจทยอยโยกย้ายการลงทุนออกจากสินทรัพย์ปลอดภัย

    ด้วยมาตรการสนับสนุนขนาดใหญ่จากภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด (bottoming out) และนักลงทุนเริ่มกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ชะลอลงในหลายประเทศ ประกอบกับภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนขนาดใหญ่ออกมาและทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลกลับเข้าสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตลาดหุ้น ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของหลาย ๆ ประเทศทยอยปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน (รูปที่ 1) โดยในบางตลาดได้ปรับสูงกว่าระดับก่อนที่มีโรคระบาดแล้ว เช่น ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (NASDAQ) ตลาดหลักทรัพย์จีน (Shanghai) และตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ เป็นต้น

    อย่างไรก็ดี EIC ประเมิน 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 จากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่กลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศหลังมีการทยอยเปิดเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งแม้จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวในระยะถัดไปอาจชะลอตัวลงได้ (stalling economic recovery) ในรายงานฉบับนี้ EIC ได้ประเมินปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปีไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1.มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศที่อาจกลับมาเข้มงวดขึ้นอีกครั้งหลังการระบาดของ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปที่อาจชะลอลง

    หลังกลับมาเปิดเมือง สถานการณ์การระบาด COVID-19 ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยมีทั้งกลุ่มที่คุมสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อได้ (ยุโรปและเอเชีย) และกลุ่มที่ยังไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ (สหรัฐอเมริกา บราซิล และอินเดีย เป็นต้น) จากสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดที่แตกต่างกันทำให้ความคืบหน้าของมาตรการการเปิดเมืองมีความแตกต่างกัน โดยในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ภาครัฐได้เริ่มทยอยเปิดเมืองต่อเนื่อง ในขณะที่ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาอยู่ในระดับสูง ภาครัฐได้เริ่มมีการเลื่อนการเปิดเมือง (lockdown easing delay) หรือกลับมาเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการอีกครั้ง เช่น สหรัฐฯ (รูปที่ 2) ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเริ่มชะลอตัวลงในระยะต่อไป (stalling economic recovery รูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม EIC ประเมินว่า มาตรการปิดเมืองในระยะหลังจะไม่มีความเข้มงวดเท่ากับที่เคยประกาศใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปิดเมืองเป็นวงกว้างและเข้มงวดสูงมาก เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศตระหนักถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในภาวะหยุดชะงัก (sudden stop)

    2.มาตรการสนับสนุนของภาครัฐบางมาตรการกำลังจะหมดอายุลง หรือผ่อนคลายในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่รายได้และการจ้างงานยังต่ำกว่าระดับปกติ

    มาตรการประเภทให้เงินช่วยเหลือ (cash handout) บางมาตรการเริ่มหมดอายุลง อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนในการต่ออายุและขนาดของโครงการที่อาจเล็กลง (fiscal cliff) ทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสูงขึ้น ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการออกมาตรการการเงินและการคลังขนาดใหญ่เพื่อเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะหยุดชะงักและตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) โดยมาตรการประเภทให้เงินช่วยเหลือ (cash handout) ส่วนใหญ่เป็นมาตรการชั่วคราว เช่น ในสหรัฐฯ มีมาตรการให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่บุคคลผ่านการคืนภาษีซึ่งดำเนินในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2020 อีกทั้งยังมีมาตรการให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ผู้ว่างงาน (600 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์) ซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคม 2020 โดยการต่ออายุมาตรการมีความไม่แน่นอนสูงและขนาดของมาตรการอาจเล็กลง ส่วนในกรณีของไทยนั้น มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งจะหมดอายุลงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2020 และมีความไม่แน่นอนในการต่ออายุเช่นกัน (ตารางที่ 1) ซึ่งหากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาไม่ทันกับการหมดอายุลงของมาตรการภาครัฐ หรือมาตรการเหล่านี้ไม่ถูกต่ออายุออกไป หรือถูกต่ออายุออกไปแต่มีขนาดเล็กลง (fiscal cliff) เนื่องจากงบประมาณที่เหลืออยู่เริ่มมีจำกัด ก็อาจส่งผลกระทบให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น

    การดำเนินนโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มาตรการอื่น ๆ อาจเริ่มผ่อนคลายในอัตราที่ชะลอลง โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ย และสร้างเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการอัดฉีดสภาพคล่อง และเป็นหลังพิง (backstop) เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน โดยในระยะต่อไป EIC ประเมินว่าเครื่องมือต่าง ๆ น่าจะมีแนวโน้มดังต่อไปนี้

  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินจะยังอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่จะอยู่ในระดับใกล้ศูนย์ โดยธนาคารกลางจะยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง1

  • อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านเครื่องมืออื่น ๆ จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น มาตรการที่สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และการค้ำประกันจากภาครัฐ ที่เดิมทีเคยให้ความช่วยเหลือเป็นการทั่วไปจะเริ่มมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น โครงการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ (ภายใต้โครงการ Paycheck Protection Program: PPP) ที่ได้รับการต่ออายุออกไปจนถึงสิ้นปี 2020 แต่เงื่อนไขการให้สินเชื่อจะให้เฉพาะบางธุรกิจซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่เคยให้เป็นการทั่วไป
    สำหรับในกรณีของประเทศไทย ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงว่าจะไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป แต่สำหรับความช่วยเหลือระยะถัดไปนั้น ลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบต่อรายได้อย่างมีนัยสามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต โดยความไม่แน่นอนของการต่ออายุและลักษณะของโครงการ รวมถึงขนาดของความช่วยเหลือที่อาจน้อยลง อาจสร้างความกังวลด้าน policy cliff ให้เกิดขึ้นในตลาดในระยะต่อไปได้

  • มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องอาจมีลักษณะผ่อนคลายในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากตลาดคลายความกังวลมากขึ้น เช่น เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่ตลาดอยู่ในภาวะวิ่งเข้าหาเงินสด (dash for cash) มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจะเริ่มมีการอัดฉีดเพิ่มเติมที่ชะลอลง ( เช่น มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ธุรกรรมการอัดฉีดสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐให้กับหลายประเทศผ่านมาตรการ USD liquidity swap arrangements และธุรกรรมให้กู้ยืมเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้นแก่ภาคธุรกิจในตลาดตราสารหนี้ (bridge financing))

    3.การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

    จากผลสำรวจล่าสุดพบว่าคะแนนความนิยมของ Joe Biden ผู้สมัครจากพรรค Democrat มีคะแนนนำประธานาธิบดี Trump อยู่ค่อนข้างมาก (รูปที่ 4) โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับภาษี การค้าระหว่างประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐของ Joe Biden สรุปได้ดังนี้

  • ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อจีนอาจไม่กลับไปประนีประนอมเท่ากับช่วงก่อนประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ก็น่าจะไม่แข็งกร้าวเท่ากับสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความตึงเครียดทางด้านการค้าและเทคโนโลยี (trade and tech war) ลดความรุนแรงลงได้บ้าง โดยคาดว่าอัตราภาษีระหว่างประเทศ (trade tariff) น่าจะไม่ถูกปรับเพิ่มขึ้น และอาจมีการสร้างพันธมิตรระหว่างประเทศ (international coalition) เพื่อกีดกันการค้าต่อจีน แทนที่การใช้ unilateral tariff แบบที่ผ่านมา

  • การปรับเพิ่มอัตราภาษีทั้งภาษีภาคธุรกิจ (corporate tax) และภาษีต่อผู้มีรายได้สูง แต่อัตราภาษีที่จะถูกปรับขึ้นนั้นคาดว่าจะไม่สูงมากนัก โดยอัตราภาษีภาคธุรกิจอาจถูกปรับขึ้นจาก 21% มาอยู่ที่ 28% (เมื่อเทียบกับ 35% ในช่วงก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะลดอัตราภาษีลง) ซึ่งอาจส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลง และอาจทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายส่วนหนึ่งไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้

  • การใช้จ่ายภาครัฐในสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับสูงขึ้นมากเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านทั้งในรูปการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการสาธารณสุข ทั้งนี้แม้รายได้ภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขึ้นภาษี แต่การขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ น่าจะยังปรับสูงขึ้น เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะยังไม่สามารถชดเชยรายจ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า โดยล่าสุด Fitch rating ได้ปรับลดมุมมอง outlook ของสหรัฐฯ ลงมาเป็น negative จากเดิมที่อยู่ในระดับ stable แต่ยังคงระดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ไว้ที่ AAA

    จากแนวนโยบายทั้ง 3 ด้านของ Joe Biden EIC ประเมินว่า หาก Biden ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 ผลการเลือกตั้งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นจากการขาดดุลการคลังที่คาดว่าจะมีมากขึ้น อีกทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายจะทยอยไหลกลับเข้าสู่กลุ่มประเทศ EM ได้

    ประมาณการและมุมมองตลาดการเงิน

    ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินข้างต้น EIC จึงปรับประมาณการและมุมมองต่อตลาดการเงินดังนี้

    EIC คาดเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 แข็งค่าจากปัจจุบันมาอยู่ที่กรอบ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (จากเดิมคาดไว้ที่ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในรายงาน Outlook ไตรมาส 2 ปี 2020) ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ปี 2020 ที่ปรับอ่อนค่าลงรวดเร็ว สวนทางกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในวันที่ 3 สิงหาคม 2020 เงินบาทอยู่ที่ 31.2 อ่อนค่าจากต้นปี 4.9%

    โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เป็นผลจากปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญคือ 1) ปัจจัยจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทย และความไม่แน่นอนทางการเมือง และ 2) การที่ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ธุรกรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างเบาบางจึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าเร็ว อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า EIC ประเมินว่า เงินบาทจะเผชิญกับปัจจัยด้านแข็งค่าดังต่อไปนี้

    เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2020 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 93.7 อ่อนค่าลงจากต้นปี 2.7% โดย EIC มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกเล็กน้อยจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    1.เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี โดยทั่วไปแล้วเงินดอลลาร์สหรัฐมักจะแข็งค่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากนักลงทุนต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด และหลาย ๆ ประเทศทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (lockdown easing) ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับสูงขึ้น ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยจึงมีน้อยลง (รูปที่ 5 ซ้าย) นอกจากนี้ EIC ยังพบว่าในช่วงที่การแพร่ระบาด ของ COVID-19 เกิดเป็นวงกว้างและรวดเร็วจนทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวด ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงรุนแรงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงมากตามไปด้วย ซึ่งในช่วงเดียวกันเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้น (รูปที่ 5 ขวา) ซึ่งในระยะต่อไป EIC มองว่า แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชะลอลง จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังสูงขึ้นในบางประเทศ แต่ด้วยมาตรการปิดเมืองที่น่าจะมีลักษณะเฉพาะพื้นที่ (local lockdown) ซึ่งต่างจากมาตรการแบบเดิมที่เคยใช้คือปิดเมืองเป็นวงกว้าง (nation-wide lockdown) จะไม่ทำให้เศรษฐกิจกลับไปหดตัวและกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง ซึ่งน่าจะทำให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีอยู่ต่อไป

    2.แนวโน้มที่ Biden จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดที่พบว่า Biden มีคะแนนนำ Trump อยู่ค่อนข้างสูง น่าจะทำให้ตลาดการเงินโลกเริ่มปรับคาดการณ์เกี่ยวกับแนวนโยบายของ Biden ซึ่งน่าจะส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งหาก Biden ชนะการเลือกตั้งจริงก็มีโอกาสที่จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงได้เพิ่มเติมตามที่ได้อภิปรายข้างต้น

    3.การดำเนินนโยบายการเงินที่จะมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในสหรัฐฯ น่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่ Fed สามารถเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินได้อย่างต่อเนื่อง (คาดว่าเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และเข้าซื้อพันธบัตร MBS ราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยต้องเผชิญกับขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป (มีข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงศูนย์) จึงทำให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าต่อเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะยังมีอยู่

    ทั้งนี้ EIC ประเมินว่าความเสี่ยงที่อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในระยะต่อไปคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระลอกสองในหลาย ๆ ประเทศ และความไม่แน่นอนของมาตรการภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุลง โดยหากภาครัฐในหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองโดยไม่ระมัดระวัง และเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอีกเป็นวงกว้าง จะทำให้ความกังวลของนักลงทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วจนอาจเกิดสถานการณ์วิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย (dash for cash) ได้อีก ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ หากในระยะต่อไปมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจและตลาดแรงงานทยอยปรับหมดลงโดยที่ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังไม่สามารถปรับตัวได้ (เช่น ในสหรัฐฯ และไทยที่กำลังหมดอายุลง) ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับแย่ลงกว่าที่คาด จึงทำให้แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลาร์สหรัฐต้องหยุดลงได้

    นอกจากปัจจัยด้านการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังมีปัจจัยของไทยที่ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ คือ

    1.เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยในระยะต่อไป จากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่ปรับลดลง ในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลกลับเข้าสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย (ในกรณีของไทย มาจากการไหลเข้าตลาดพันธบัตรเป็นหลัก รูปที่ 6) ซึ่ง EIC มองว่าในระยะข้างหน้า เงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยได้อีก เนื่องจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกปรับลดลง (รูปที่ 7 ซ้ายมือ) ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับดีขึ้นและหันมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดย EIC พบว่าในช่วงที่ความผันผวนของตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูงมาก เงินทุนเคลื่อนย้ายมักไหลออกจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) แต่หากความผันผวนในตลาดเงินอยู่ในระดับปานกลางหรือต่ำ เงินทุนเคลื่อนย้ายมักไหลเข้ากลุ่มประเทศ EM ในอัตราปานกลางและมากตามลำดับ (รูปที่ 7 กลาง) นอกจากนี้ แนวโน้มที่ภาครัฐอาจระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นเพื่อการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยได้

    อย่างไรก็ดี EIC มองว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลเข้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ไทยเทียบต่อความผันผวนของค่าเงินอยู่ยังในระดับต่ำ

    โดยความผันผวนในตลาดการเงินโลกอาจมาจาก 1) โอกาสในการระบาดของ COVID-19 ที่อาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้างตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนออกแจกจ่ายได้โดยทั่วไป 2) ความเสี่ยงที่ภาครัฐจะดำเนินมาตรการปิดเมืองอีกครั้งหากไวรัสกลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และ 3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ความผันผวนของตลาดเงินอาจยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติดังช่วงก่อนมี COVID-19 อีกทั้ง EIC ยังมองว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยน่าจะยังมีได้ไม่สูงนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่ย้ายสินทรัพย์เข้ามาหุ้นไทยมากนัก นอกจากนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเทียบต่อความผันผวนของค่าเงินบาท (Sharpe ratio) ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยได้ไม่มากนัก (รูปที่ 7 ขวามือ)


    2.ธปท. มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น หลังจากไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม monitoring list ของกลุ่มประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า (currency manipulator) จากสหรัฐฯ โดยในรายงาน “Macroeconomics and FX Policy of Major Trading Partners” ล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2020 ไทยอยู่ในรายชื่อประเทศคู่ค้าสำคัญกับสหรัฐฯ (major trading partners) เนื่องจากมีมูลค้าการค้ากับสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2018 ถึง มิถุนายน 2019 เกิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยยังไม่ถูกจัดเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (monitoring list) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 2 เกณฑ์จากทั้งหมด 3 เกณฑ์ ดังตารางที่ 2 และหากเข้าทั้ง 3 เกณฑ์จะถูกจัดเป็นประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า

    สำหรับในรายงานครั้งถัดไปซึ่งเผยแพร่ล่าช้ากว่าปกติ (โดยทั่วไปจะเผยแพร่ในเดือนเมษายนและใช้ข้อมูลของทั้งปี 2019) EIC มองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะเข้า 2 เกณฑ์เป็นอย่างน้อย เนื่องจากไทยมีแนวโน้มเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2019 เกินดุลที่ 6.4% ต่อ GDP สำหรับเงื่อนไขการเข้าแทรกแซงค่าเงินนั้น ยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะ ธปท. ไม่เปิดเผยข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศ แต่หากประเมินจากการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะพบว่า ในปี 2019 มูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. เพิ่มขึ้นทั้งหมด 8 จาก 12 เดือน ซึ่งมีมูลค่าราว 3.2% ต่อ GDP (สำหรับไตรมาสแรกปี 2020 ปรับเพิ่มขึ้น 2.4% ต่อ GDP เทียบกับไตรมาสแรกปี 2019) อย่างไรก็ดี ธปท. ได้ชี้แจงในการประชุมกับนักวิเคราะห์ครั้งที่ผ่านมาว่า มีการหารือกับทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐฯ อาจพิจารณาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า จึงทำให้ไทยอาจถูกจัดอยู่ใน monitoring list ของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ทั้งนี้การเข้าดูแลค่าเงินบาทโดย ธปท. เพื่อไม่ให้แข็งค่าก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น

    หมายเหตุ : *ในรายงานถัดไป คาดว่าสหรัฐฯ จะใช้ข้อมูลของทั้งปี 2019 ในการพิจารณา

    3.การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำอาจเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อค่าเงินบาท โดยที่ผ่านมาพบว่าการแข็งค่าของเงินบาท มักมีความความสัมพันธ์สอดคล้องกับราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากในเวลาที่ราคาทองคำปรับสูงขึ้นมาก ผู้ค้าทองคำในในไทยมักขายทองคำ (ส่งออกทองคำไปต่างประเทศ) ซึ่งเมื่อได้รับการชำระเงินในรูปดอลลาร์สหรัฐ และต้องการแลกกลับมาเป็นเงินบาท จึงทำให้มีแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเดียวกัน สำหรับในระยะต่อไปที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่สูง ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก ความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นต่อค่าเงินสกุลหลักของโลก (reserve currency) ที่ลดลง และโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อโลกอาจปรับสูงขึ้นเร็วในระยะต่อไปหลังภาครัฐทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังและอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ หาแรงกดดันที่ทำให้ราคาทองคำปรับสูงขึ้นยังมีอยู่ ก็จะทำให้ค่าเงินบาทได้รับแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อไปได้

    อย่างไรก็ดี EIC มองว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นมากดังในช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุลลดลงอย่างมีนัย ทำให้ความต้องการเงินบาทอาจมีน้อยลง โดย EIC ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ให้เกินดุลอยู่ที่ 2.1% ต่อ GDP (จากที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเคยเกินดุลถึง 6.8% ต่อ GDP ในปี 2019) สะท้อนถึงอุปสงค์ของเงินบาทที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะลดลงมากและการส่งออกที่จะหดตัวลงเช่นกัน ซึ่ง EIC ประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ลดลงมากนี้อาจอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค (รูปที่ 8)

    EIC คาดว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นอายุ 1 ปี ณ สิ้นปี 2020 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.5-0.6% โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2020 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 1 ปี อยู่ที่ 0.49% ปรับลดลง 71 bps
    นับจากสิ้นปี 2019 ทั้งนี้ EIC มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ณ สิ้นปี 2020 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับปัจจุบัน เนื่องจาก

  • คาดการณ์การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี โดยปกติแล้วอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นมักเคลื่อนไหวใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่อาจมีการเคลื่อนไหวผันผวนบ้างตามการคาดการณ์การปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ดังนั้น EIC ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น อายุ 1 ปี จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการคาดการณ์ของ EIC ที่ 0.5% ในสิ้นปีนี้

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอาจเคลื่อนไหวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ได้เล็กน้อย ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทย โดยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับลดลงทำให้นักลงทุนบางส่วนอาจขายพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูงออกไปบ้าง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอาจปรับสูงขึ้นได้เล็กน้อย โดยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของผู้ร่วมตลาดใน 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 0.54% (ณ วันที่ 20 กรกฎฎาคม 2020) สะท้อนได้ว่า นักลงทุนอาจเริ่มมองเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุด และสะท้อนถึงการสื่อสารของ ธปท. ที่ระบุว่า ความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีจำกัด ประกอบกับ ธปท. มีเครื่องมือนโยบายการเงินอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ ทำให้การคาดการณ์ของนักลงทุนต่อการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหมดไป

    EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอายุ 10 ปี ณ สิ้นปี 2020 มาอยู่ที่ 1.30-1.40% (จากเดิมที่คาดไว้อยู่ที่ 0.90-1.00% ในรายงาน Outlook ไตรมาส 2 ปี 2020) โดย ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2020 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.19% ปรับลดลงจากต้นปี 27 bps ซึ่งในระยะข้างหน้า EIC มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาว (อายุ 10 ปี) มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ณ วันที่ 31 กรกฎคม 2020 อยู่ที่ 0.54% ปรับลดลงจากต้นปี 138 bps สำหรับในระยะต่อไป EIC มองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน เนื่องจาก

    1.เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ทำให้ความต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง โดยในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหลังจากที่รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง EIC จึงคาดว่าความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยจะมีลดลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวสามารถปรับสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันได้อีกเล็กน้อยในช่วงสิ้นปีนี้

    2.รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มหันมาระดมทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากขึ้น โดยที่ผ่านมานั้น เงินระดุมทุนส่วนใหญ่มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (Treasury bill) ทำให้สัดส่วนพันบัตรระยะสั้นต่อตราสารหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2020 อยู่ที่ 25.5% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีย้อนหลัง (หลังผ่านวิกฤตการเงินโลกปี 2008-09) ซึ่งอยู่ที่ราว 10-15% เท่านั้น นอกจากนี้ Treasury Borrowing Advisory Committee ยังได้เสนอรายงานต่อกระทรวงการคลังสหรัฐฯ โดยกล่าวว่าสัดส่วน T-bill ต่อพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมดในปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก ในระยะต่อไปจึงเห็นควรให้ลดสัดส่วนลงเพื่อให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีตมากขึ้น และด้วยแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในระยะกลางถึงระยะยาว EIC จึงมองว่าภาครัฐจะหันมาระดมทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะมีมากขึ้น2 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้

    3.อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในปีนี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก โดยในเดือนมิถุนายนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ที่ไม่รวมราคาพลังงาน (CPI exclude energy price) อยู่ที่ 1.68% ปรับลดลงจากสิ้นปี 2019 ที่ 2.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ที่รวมผลของราคาพลังงาน (Headline CPI) อยู่ที่ 0.6% ปรับลดลงค่อนข้างมากจากสิ้นปีก่อนที่ 2.3% (รูปที่ 9 ซ้ายมือ) นอกจากนี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำนี้ ทำให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทั้งจากตลาดการเงิน (breakeven inflation) และจากผลสำรวจของครัวเรือน ต่างมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง (รูปที่ 9 ขวามือ)

    4.การที่ Fed เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในอัตราที่มากกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในอดีต เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นได้ไม่มาก Fed เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณที่สูงกว่าในอดีตมาก โดยล่าสุดมูลค่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถือโดย Fed อยู่ที่ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับสูงขึ้นจากต้นปีถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง EIC มองว่า Fed จะเข้าซื้อเพิ่มเติมอีกราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนจนถึงสิ้นปี 2020 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการทำ QE รอบก่อน ๆ (รูปที่ 10) เป็นผลให้ขนาดงบดุลของ Fed ณ สิ้นปีมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจึงจะยังเป็นแรงกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก

    สำหรับปัจจัยในประเทศที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นได้คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเศรษฐกิจโลกที่จะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 จะส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้การทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจะช่วยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัวเช่นกัน จึงทำให้นักลงทุนอาจโยกย้ายการลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อัตราผลตอบแทนพันฐบัตรรัฐบาลไทยจึงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้

    ในระยะต่อไป มีโอกาสที่รัฐบาลจะหันมาระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ทำให้อุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวอาจปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดได้ โดยในปี 2012 หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2011 พบว่าภาครัฐต้องดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณและรัฐได้ออก พ.ร.ก. เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเป็นผลให้รัฐบาลต้องระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น (รูปที่ 11) สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ รัฐบาลมีแผนกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในรายละเอียดเบื้องต้นพบว่า รัฐบาลได้กู้เงินจากสถาบันการเงินไปแล้วราว 3 หมื่นล้านบาท ออกจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลราว 6 หมื่นล้านบาท และจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งในระยะข้างหน้า EIC มองว่ามีโอกาสที่รัฐบาลจะหันมาระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งอาจกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับสูงขึ้นได้

    อ้างอิง
    1. ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่ามาตรการสนับสนุนสภาพคล่องที่จะหมดอายุภายในเดือนกันยายน 2020 จะถูกขยายระยะเวลาออกไปจนถึงสิ้นปี 2020 ไม่ว่าจะเป็น มาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในทั้งตลาดแรกและตลาดรอง และมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ครัวเรือนและภาคธุรกิจ
    2.สำหรับในระยะสั้น กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะยังคงระดมทุนผ่านพันธบัตรระยะสั้นอยู่ โดยเหตุผลและรายละเอียดสามารถอ่านได้จาก มุมมองตลาดเงินใน EIC Outlook 2020 ไตรมาส 2