ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > แบงก์ชาติเผยแพร่ “รายงานความยั่งยืน” ฉบับแรก ตอกย้ำ “ESG” แก่นที่ทั่วโลกตระหนัก

แบงก์ชาติเผยแพร่ “รายงานความยั่งยืน” ฉบับแรก ตอกย้ำ “ESG” แก่นที่ทั่วโลกตระหนัก

17 กรกฎาคม 2020


นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้จัดทำ รายงานความยั่งยืนประจำปี 2562 เป็นฉบับแรก เพื่อรายงานผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความยั่งยืนของ ธปท. ในสามมิติหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ให้สาธารณชนรับทราบและตระหนักถึงความสำคัญ โดย ธปท. ผลักดันการดำเนินงานผ่าน 2 ด้านสำคัญ

ด้านแรก การผลักดันผ่านภาคสถาบันการเงินตามบทบาทธนาคารกลางผู้กำกับดูแล ด้วยหลักการ “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)” ธปท. ส่งเสริม สนับสนุน และออกแนวปฏิบัติให้ภาคสถาบันการเงินดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม การสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดีของสถาบันการเงิน

ด้านที่สอง การผลักดันผ่านการดำเนินงานขององค์กร การดำเนินภารกิจที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนของกระบวนการผลิตธนบัตรและการดำเนินงานที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงาน ในด้านสังคม ธปท. มุ่งสร้างความรู้ด้านการเงินให้กับประชาชน รวมถึงการร่วมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม และในด้านธรรมาภิบาล การดำเนินงานภายใต้กรอบธรรมาภิบาลที่ดีตามมาตรฐานสากล และกำหนดหลักธรรมาภิบาลเพื่อความยั่งยืนเป็นหลักให้พนักงานยึดถือปฏิบัติ

นอกจากนี้ ธปท. ได้กำหนดให้ความยั่งยืน (Sustainability) เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ ธปท. 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการดำเนินการ เพื่อให้ ธปท. ทำหน้าที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินไทยให้มีความเข้มแข็งเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ กระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม เป็นรากฐานสำคัญเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน

ทำไม ธปท.จึงส่งเสริมการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

ในรายงานระบุว่าธปท.ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล(Environment Social Governance หรือ ESG) ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) ปัญหาหนี้ครัวเรือนตลอดจนการไม่ปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณและการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อภาคเศรษฐกิจและชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว รวมถึงโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงต่อฐานะความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงินและความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.กล่าวในรายงานเล่มนี้ว่า “เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาว ปัญหาสังคมที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาครัวเรือนก่อหนี้เกินตัว บทบาทของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อแบบไม่รับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคม ตลอดจนปัญหาด้านธรรมาภิบาลและการทุจริตคอร์รัปชัน”

ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การดำเนินงานของสถาบันการเงิน และความยั่งยืนของเศรษฐกิจและระบบการเงินในระยะยาวความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้คำนึงถึง ESG มีให้เห็นมากมาย เช่น สถาบันการเงินในบางประเทศอาเซียนปล่อยสินเชื่อให้ธุุรกิจปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันจากการลักลอบเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก จนสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดููแลต้องออกมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในสหรัฐอเมริกา ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเปิดบัญชีลูกค้าบัตรเครดิตโดยไม่ได้รับคำยินยอมจากลูกค้าเพื่อสร้างยอดขายเทียม จนถููกหน่วยงานกำกับดูแลปรับเป็นเงินจำนวนมากและกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารที่สะสมมายาวนาน ในประเทศไทยมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง จากการแข่งขันปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ได้ส่งผลให้เกิด
“สินเชื่อเงินทอน” จนนำไปสู่การกู้เงินเกินความจำเป็น และทำให้ความเข้มแข็งด้านการเงินของครัวเรือนลดลง

แก่นของความยั่งยืนคือ การคำนึงถึงผลในระยะยาวและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นรอบด้าน เป็นหลักคิดที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกมิติของการทำธุรกิจ ซึ่งหากทุกภาคส่วนได้นำไปปฏิบัติ จะเป็นหนทางที่ทำให้เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม พัฒนาไปพร้อมกัน

ภารกิจหลักของ ธปท. คือ การดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ การรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนเป็นหลักการที่สอดคล้องกันอย่างยิ่ง ธปท. จึงเห็นความสำคัญของการนำหลักความยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินงานและส่งเสริมให้สถาบันการเงินปฏิบัติอย่างต่อเนื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมหลักการการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม(Market Conduct) ตลอดจนการปรับปรุงหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน

ขณะเดียวกัน ธปท. ได้ส่งเสริมการดำเนินงานภายในองค์กรให้สอดคล้องกับหลักของความยั่งยืน ในด้านสังคมมุ่งเน้นสร้างความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ด้านสิ่งแวดล้อม ผลิตธนบัตรด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และด้านธรรมาภิบาล ผ่านระบบกำกับดูแลที่โปร่งใสมีคณะกรรมการต่าง ๆ ที่มีตัวแทนจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก รวมถึงกำหนดหลักการธรรมาภิบาลที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลให้พนักงานยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นกลไกในการกำกับถ่วงดุลและดูแลกิจการที่ดี

ทั้งนี้ ธปท. จะจัดทำรายงานเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบและตระหนักถึง ความสำคัญด้านความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ธปท.