ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-11 กรกฎาคม 2563
ลี เซียนลุง คว้าชัยชนะเลือกตั้งสิงคโปร์

พรรค PAP ได้ที่นั่งในสภาลดลง ส่วนพรรค WP ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 4 ที่นั่งจากเดิม 6 ที่นั่ง เนื่องจากประชาชนไม่พอใจกับการที่เศรษฐกิจสิงคโปร์เผชิญภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
การเลือกตั้งครั้งนี้รู้จักกันดีว่าเป็น วิกฤติเลือกตั้งหรือเลือกตั้งโควิด-19 เป็นการเลือกครั้งสำคัญนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้เอกราช เนื่องจากมีขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด และพรรคฝ่ายค้านมีที่นั่งเพิ่มขึ้น และพรรรค PAP มีคะแนนลดลงเป็น 61.24% จาก 69.9% ในปี 2015 และห่างจาก 60.1% ในการเลือกตั้งปี 2011 เล็กน้อย
นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง แถลงข่าวเมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 10 กรกฎาคม ว่า พรรค PAP ได้รับความไว้วางใจอย่างชัดเจนและได้คะแนนดี แม้สัดส่วนของคะแนนนิยมไม่ได้สูงอย่างที่อยากจะเห็น แต่ก็สะท้อนถึงการสนับสนุนพรรค PAP ในวงกว้าง
“ข้าพเจ้าจะใช้ความไว้วางใจนี้อย่างรับผิดชอบเพื่อจัดการกับการระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเพื่อให้พวกเราปลอดภัยผ่านวิกฤตอไปได้และเดินหน้าต่อไป” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวและว่า “ในขณะเดียวกันผลการเลือกตั้งสะท้อนความเจ็บปวดและความวิตกกังวลที่ชาวสิงคโปร์รู้สึกอยู่ในภาวะวิกฤติครั้งนี้”
นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง กล่าวถึงการพ่ายแพ้ในเขตใหญ่เซงกัง ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของผู้นำประเทศรุ่นที่ 4 นอกจากนี้พรรค WP ยังคว้าชัยในเขตอัลจูนีตซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งแบบกลุ่มด้วยคะแนน 59.93% ของคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมดของเขต และยังชนะในเขตอ่าวกั้ง ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
ขณะที่ห้อมล้อมไปด้วยคณะรัฐมนตรีจากผู้นำพรรครุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ได้ให้คำมั่นว่า ตัวเขาพร้อมกับสมาชิกคณะรัฐบาลที่มีอาวุโสจะยังคงอยู่เพื่อดูแลสิงคโปร์ให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งยังแสดงให้เห็นว่ามี “ความปรารถนาที่จะมีความหลากหลายมากขึ้น” ในแง่รัฐสภาซึ่งจะมี ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้าน 10 ที่นั่งที่มาจากการเลือกตั้งและ 2 ที่นั่งที่ไม่ได้มาจากนอกรัฐธรรมนูญ
นายเฮง สวี เคียต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคว้าชัยในเขต อีสต์โคสต์ด้วยคะแนน 53.4% ลดลงจาก 60.7% ในการเลือกตั้งปี 2015 และจาก 54.8% ในปี 2011
การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 2,535,565 คน คิดเป็น 95.63% ของผู้มีสิทธิออกเสียงที่ลงทะเบียนไว้ทั้งหมด 2,651,435 คน
ข้อตกลงเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-ออสเตรเลียมีผล 5 ก.ค.

ภายใต้ข้อตกลง การส่งออกของผู้ส่งออกอินโดนีเซียไปยังออสเตรเลียแทบทั้งหมดจะไม่ต้องเสียภาษี
“การทำงานอย่างหนักและความพยายามของทั้งสองรัฐบาลในระหว่างกระบวนการเจรจาและการให้สัตยาบันได้ผลคุ้มค่า ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้เสียในอินโดนีเซียจากนี้ไปจะได้รับประโยชน์จาก IA-CEPA” นายซูปรามันโตกล่าว
รัฐบาลได้ออกประกาศ 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ข้อตกลง ได้แก่ ประกาศกระทรวงการค้าเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อตกลง IA-CEPA ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องภาษนำเข้าใน และประกาศกระทรวงการคลังอีกฉบับเรื่องกลไกของการกำหนดอากรขาเข้าภายใต้ข้อตกลง
ผลิตภัณฑ์ของอินโดนีเซียที่สามารถส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ การประมง ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ รองเท้าและอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
“ภาษีการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์อินโดนีเซียทั้งหมดที่ส่งออกไปยังออสเตรเลียจะถูกยกเลิก การกำหนดอัตราภาษีภายใต้ IA-CEPA นี้นักธุรกิจชาวอินโดนีเซียควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อกระตุ้นการส่งออกของอินโดนีเซีย” นายซูปรามันโตย้ำ
ในทางกลับกัน การกำหนดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ จะช่วยให้อุตสาหกรรมในอินโดนีเซียสามารถนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่แข่งขันได้
“ข้อตกลง IA-CEPA ไม่เพียงครอบคลุมการค้าสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมของ IA-CEPA จะส่งเสริมให้อินโดนีเซียและออสเตรเลียเป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงในการสร้างเครือข่ายอุปทานทั่วโลก” นายซูปรามันโตกล่าว
กัมพูชาร่างกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ดึงเม็ดเงินใหม่

กัมพูชากำลังจัดทำกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้กัมพูชาเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนใหม่และยังยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุนเพื่อดึงการลงทุนให้อยู่ในประเทศ
กฎหมายฉบับกำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างและคาดว่าจะนำขี้นระบบออนไลน์ได้ภายในปีนี้ นายพัน พัลลา ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กล่าวในการแถลงข่าว วันที่ 8 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา
กฎหมายร่างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนเผชิญและสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถดึงดูดการลงทุนในประเทศได้มากขึ้น นายพันกล่าว
กฎหมายการลงทุนใหม่จะให้สิทธิประโยชน์ในระยะยาวแก่อุตสาหกรรมใหม่ แต่สิ่งที่กัมพูชาต้องทำ คือ การเพิ่มขีดความสามารถและกำจัดอุปสรรคทางการค้า
“กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุน รักษาการลงทุนเดิมที่มีอยู่และดึงดูดการลงทุนใหม่” นายพันกล่าวและว่า “กฎหมายจะนำไปใช้ในเร็วๆ นี้ เพราะถือเป็นงานเร่งด่วน ที่จะดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ต้องตอบสนองกับแนวโน้มการย้ายฐานการลงทุน”
ร่างกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่เสร็จสมบูรณ์แล้ว 95% ทั้งนี้รัฐบาลได้เริ่มร่างกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลจากภาคเอกชนและหุ้นส่วนการพัฒนา เพื่อให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ
กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่นี้มีกำหนดที่จะเปิดตัวในเวลาเดียวกันเมื่อกัมพูชาเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย
นายพันกล่าวว่า กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่จะดึงและรองรับนักลงทุนได้มากขึ้น เนื่องจากกัมพูชาและจีนกำลังจะลงนามในข้อตกลง FTA เร็วๆ นี้ และการเจรจา FTA กับเกาหลีใต้กำลังจะเริ่มขึ้น
กัมพูชาประกาศใช้กฎหมายการลงทุนครั้งแรกในปี 1993 และมีการแก้ไขในปี 2003 เพื่อปรับให้เข้ากับการลงทุนที่ก้าวหน้า
กัมพูชาจะออกใบขับขี่สากล-ใบขับขี่คนพิการ
กัมพูชากำลังวางแผนที่จะออกใบขับขี่สากลและใบขับขี่สำหรับคนพิการในเดือนกรกฎาคมหรือเดือนหน้านี้ จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณะและการขนส่ง นายสุน จันฑล ในการประชุมที่พนมเปญเพื่อตรวจสอบงานความปลอดภัยทางถนนในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 และกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับครึ่งหลังของปีในพนมเปญ
นายสุนกล่าวว่า ปัจจุบันใบขับขี่ของกัมพูชาไม่สามารถใช้ในต่างประเทศได้ ดังนั้นการมีใบขับขี่สากลจะเพิ่มความสะดวกให้ชาวกัมพูชาเมื่อขับรถในต่างประเทศ
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สำหรับกัมพูชาที่จะออกใบขับขี่ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวกัมพูชาที่มีใบขับขี่ปัจจุบัน สามารถขอปรับเป็นใบอนุญาตชั่วคราวระหว่างประเทศในหมวดหมู่ A, B หรือ C
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาได้ร่วมมือกับ Grab เพื่อจัดทำใบขับขี่สำหรับคนพิการเพื่อส่งเสริมการเข้าถึง
ลาวกำหนดคนเดินทางออกนอกประเทศต้องมีใบรับรองแพทย์

สปป.ลาวกำหนดให้ ผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศจะต้องมีใบรับรองแพทย์สำหรับประเทศปลายทาง เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19
คณะกรรมการเฉพาะกิจแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระบุว่า ผู้ที่เดินทางทุกคน รวมทั้งประชาชนลาว จะต้องมีใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทางไปประเทศอื่น คนที่ไม่มีใบรับรองแพทย์ที่ถูกต้องอาจจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศจากประเทศปลายทาง
เวียงจันทน์ไทมส์รายงานว่า นายวังนะคอน ดิตถะพง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมิตรภาพ ย้ำถึงความสำคัญการที่ต้องมีใบรับรองแพทย์สำหรับนักเดินทาง เพราะจะต้องผ่านจุดตรวจสุขภาพหลายแห่ง และผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวจะต้องจัดทำเอกสารทางการแพทย์จากประเทศต้นทาง
ประชาชนในลาวสามารถขอใบรับรองแพทย์ที่โรงพยาบาลเฉพาะแห่งในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไอ เจ็บคอ หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือมีประวัติสัมผัสกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จะไม่สามารถจัดหาใบรับรองแพทย์ให้ได้
โรงพยาบาลมิตรภาพ โรงพยาบาลมโหสถ และสถาบันปาสเตอร์ในเวียงจันทน์ เป็นสถานที่ตรวจโควิด-19
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมิตรภาพกล่าวว่า ใบรับรองแพทย์ควรรับรองว่าผู้เดินทางไม่แสดงอาการคล้ายโควิดและมีผลตรวจเป็นลบ มาตรการป้องกันนี้จะยังบังคับใช้ไปอีกนาน เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ค่าเช่าในนิคมอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของเวียดนามสูงขึ้น

ต้นทุนค่าเช่าเฉลี่ยในเขตอุตสาหกรรมในโฮจิมินห์และจังหวัดทางใต้ของเวียดนามในไตรมาส 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 106 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้น 9.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อน
โฮจิมินห์ซิตีมีค่าเช่าสูงสุดที่ 182.3 ดอลลาร์ต่อตารางเมตรต่อสัญญาเช่า ตามมาด้วยจังหวัดลองอัน 133 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร จังหวัดด่งนาย 98 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร จังหวัดบิ่ญเซือง 88 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร และจังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า ไม่เกิน 80 ดอลลาร์ต่อตารางเมตร จากรายงานบริษัทโจนส์ แลง ลาซาลส์
ต้นทุนโรงงานสำเร็จรูป ทรงตัวมากกว่าที่ดินในราคา 3.5-5 ดอลลาร์ต่อตารางเมตรต่อเดือน เนื่องจากเป็นสัญญาระยะสั้นระหว่าง 3-5 ปีและผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19
แม้ว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ แต่การศึกษาตลาดพบว่าอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมในเวียดนามยังคงดึงดูดผู้ประกอบการและนักลงทุนจำนวนมาก
ในไตรมาสที่สอง ภาคใต้ของเวียดนามได้จดทะเบียนพื้นที่ให้เช่ารวม 25,045 เฮกตาร์ ส่วนที่เหลือในนิคมอุตสาหกรรมในโฮจิมินห์บางส่วนไม่พร้อมให้เช่า เพราะค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ยังไม่เรียบร้อย
การระบาดของไวรัสยังคงมีขึ้นในประเทศและทั่วโลก สัญญาเช่าในไตรมาสที่สองส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนในประเทศหรือจากที่ตกลงไว้ก่อนการระบาด อัตราการเข้าใช้พื้นที่เฉลี่ยของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้อยู่ที่ 84% ในช่วงปลายไตรมาสที่สอง