วรากรณ์ สามโกเศศ
“ศาสตร์แห่งการเป็นผู้นำ” สอนกันมานานนับพันปี ปัจจุบันก็ยังสร้างความรู้และเรียนสอนกันผ่านบทความของวารสารวิชาการ นิตยสาร หรือหนังสือ ส่วนใหญ่ก็กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้นำว่าต้องเป็นผู้รู้จักเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว กล้าหาญ บากบั่น อดทน มีความเข้าใจผู้อื่น มีทักษะในการสื่อสาร ฯลฯ
มีหนังสือเล่มหนึ่ง “The Contrarian’s Guide to Leadership” ของ Dr.Steven Sample ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญกันมากเพราะตั้งแต่ชื่อหนังสือก็บอกเลยว่าจะเป็นคำชี้แนะการเป็นผู้นำจากสายตาของ “คนขวางโลก” (contrarian คือคนที่มีทัศนคติหรือความคิดตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่) ซึ่งเป็นแง่มุมที่ยุให้คิดอย่างไม่เหมือนตำราเล่มอื่น ๆ แต่ที่สำคัญก็คือดูเข้าท่าเสียด้วย
Dr.Steven Sample เรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจาก The University of Illinois ที่ Urbana-Champaign เป็นอาจารยมหาวิทยาลัยอยู่หลายปี เขียนหนังสือและบทความหลายชิ้น เคยเป็นอธิการบดีของ The State University of New York ที่ Buffalo (เขียนสั้น ๆ ว่า SUNY Buffalo) ระหว่างปี 1982-1991 และย้ายมาเป็นอธิการบดีของ The University of Southern California (USC) ระหว่าง 1991-2010 โดยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการเป็นอธิการบดีของทั้งสองมหาวิทยาลัย ใน ค.ศ. 2016 เขาเสียชีวิตในวัย 76 ปี
หนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มนี้สกัดมาจากประสบการณ์ที่ยาวนานของเขาในการเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัย กรรมการของบริษัท ผู้นำกิจกรรมสังคม และอาจารย์มหาวิทยาลัย Dr.Sample บอกแต่ต้นเลยว่า “ความเป็นผู้นำเป็นศิลปะ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์” คล้ายกับดนตรี การเขียนภาพ การเขียนบทกวี ฯลฯ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นประจำ
เขาบอกว่ามี 6 ประการที่ “ผู้นำขวางโลก” คิดอย่างแตกต่างจากคนอื่นซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จในงานทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเอกชนหรือราชการ หรือองค์กรการกุศล นั่นก็คือ
(1) “คิดแบบสีเทาและเสรี” การคิดแบบสีเทาคือการหลุดพ้นจากการคิดแบบ 2 อย่าง (เช่น มีความคิดอย่างทันทีว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย) ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นเสรีเชิงวิชาการและอย่างสร้างสรรค์ (การคิดแบบนี้ทำให้เกิดความท้าทายสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจต่าง ๆ) เช่น การเปิดประเทศหลังจากล็อกดาวน์ ไม่ได้คิดเพียงว่าเปิดหรือไม่เปิด แต่ต้องคิดไปถึงสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลัง (เช่นเชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคสำเร็จแล้วในระดับใด มีอะไรเป็นหลักฐาน) ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจมีคุณภาพกว่า อนึ่ง “ผู้นำขวางโลก” ต้องพยายามเก็บความคิดที่ขัดแย้งกันและมุมมองกว้างไว้ในใจนาน ๆ
(2) “เลื่อนการตัดสินใจ” จงอย่าตัดสินใจเรื่องใดในวันนี้ถ้าสามารถเลื่อนออกไปถึงพรุ่งนี้ได้ ถ้ามีเหตุมีผลพอที่จะคอยก็จงอย่ารีบตัดสินใจเพราะจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ผิดพลาด การตัดสินใจที่รีบด่วนไปก่อนที่จะได้รับข้อมูลใหม่ที่สำคัญเพิ่มเติมอาจสร้างความเสียหายได้มาก
Dr.Sample ออกตัวว่าการเลื่อนตัดสินใจมิได้หมายความว่าเป็นคนลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ การเลื่อนออกไปมีสองลักษณะคือ เลื่อนออกไปอย่างมีศิลปะกับเลื่อนออกไปอย่างขี้ขลาด การตัดสินใจต้องทำทันทีหากเลื่อนออกไปไม่ได้และประการสำคัญผู้นำต้องพยายามอย่าเสี่ยงกับการสูญเสียการควบคุมในการตัดสินใจ (เช่น ถูกบังคับโดยคนอื่นหรือสถานการณ์ให้ต้องตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง)
(3) “มอบอำนาจในการตัดสินใจ” การมอบอำนาจเช่นนี้ในยามที่เหมาะสมแก่ลูกน้องจะทำให้เกิดสองสิ่ง (ก) เพิ่มความสามารถให้ลูกน้องในการตัดสินใจและเท่ากับดึงลูกน้องให้เข้ามาเกี่ยวพันกับงานลึกซึ้งขึ้น (ข) ช่วยป้องกันไม่ให้คนหนึ่งคนใดเป็นตัวอุปสรรคของความก้าวหน้าขององค์กร ต้องไม่ลืมว่าการมอบอำนาจในการตัดสินใจก็คือการพัฒนาคน
(4) “จงรับฟังผู้เชี่ยวชาญแต่อย่าทำตามอย่างหลับหูหลับตา” การรับฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญเป็นขั้นตอนที่ดีในกระบวนการตัดสินใจ แต่อย่าไว้วางใจอย่าหลับหูหลับตาเพราะคนเหล่านี้อาจมีข้อบกพร่องหรือเอนเอียงหรือมีเรื่องส่วนตัวแฝงอยู่ การรับฟังผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับพยายามมีมุมมองตรงข้ามจะช่วยลดทางโน้มที่จะตัดสินใจไปทางเห็นพ้องกับคนส่วนใหญ่อย่างผิดพลาดได้
(5) “หาความสมดุลระหว่างการรับฟังและการพูดโน้มน้าวคนอื่นให้เห็นพ้อง” ” ผู้นำขวางโลก” รู้ว่าจะสร้างความสมดุลระหว่างการรับฟังและการพูดโน้มน้าวคนอื่นและได้รับความคิดเห็นสะท้อนกลับจากลูกน้องอย่างไร
ผู้นำที่ลืมจะโน้มน้าวคนอื่นให้เห็นวิสัยทัศน์และความคิดของตนอาจตกม้าตายได้ตอนที่มีปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์ ผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์นั้นเท่ากับมิได้ให้เหตุผลของการเดินตามแก่ผู้ตาม และผู้นำที่ไม่รับฟังผู้ตามจะมีภาพของการเป็นเผด็จการ ผู้นำที่เป็นเผด็จการขาดโอกาสที่จะทำให้ทีมงานร่วมมือกันสร้างสิ่งที่เป็นคุณค่าร่วม
(6) “การเป็น”กับ”การกระทำ” Dr.Sample ย้ำว่าคนจำนวนมากต้องการ “to be leader” แต่น้อยคนต้องการ “to do leadership” อำนาจ บารมีและคำสรรเสริญดึงดูดใจผู้นำประเภท “to be leader” ในขณะที่ผู้นำประเภท “to do leadership” เข้าใจดีว่าเวลาส่วนใหญ่ของเขาคือการดูแลกำกับให้เรื่องที่เป็นประจำนั้นลุล่วงไปด้วยดี มีส่วนน้อยของเวลาเท่านั้นที่เขาใช้ผลักดันเรื่องที่สำคัญให้เดินไปข้างหน้า
“ผู้นำขวางโลก” ต้องเข้าใจว่าลักษณะเช่นนี้เป็นธรรมชาติของงานการเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงต้องรู้ว่าจะอุทิศเวลาส่วนน้อยที่สำคัญยิ่งนี้อย่างไร
คำสอน 6 ข้อนี้อาจฟังดูแปลก แต่อย่าลืมว่านี่คือหลักคิดของ “ผู้นำขวางโลก” ดังนั้นจึงต้องสวนทางกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ตกตะกอนของผู้นำที่ประสบความสำเร็จและเป็นเรื่องน่าขบคิดด้วยอย่างสมควรแก่การเป็น “อาหารสมอง”
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง”กรุงเทพธุรกิจอังคาร 23 มิ.ย. 2563