ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “8 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์” ขอความอิสระ “วิชาชีพสาธารณสุข” ปลดล็อคออกจาก ก.พ.

“8 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์” ขอความอิสระ “วิชาชีพสาธารณสุข” ปลดล็อคออกจาก ก.พ.

3 มิถุนายน 2020


กลุ่มวิชาชีพทางการแพทย์ตีแผ่ปม “ความอิสระในวิชาชีพสาธารณสุข” เมื่อผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ไร้น้ำยาดูแล “สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์” เสนอปลดล็อคออกจากสำนักงานก.พ. แก้ปัญหา “ วิชาชีพคนสาธารณสุข” อัตรากำลัง ค่าตอบแทน ความก้าวหน้า และสวัสดิการ

การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสำคัญของ “วิชาชีพสาธารณสุข” หลายคนมักจะมองแค่การเป็น “ข้าราชการ” ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เดือนละ 22 วัน แต่อาชีพบุคลกรทางการแพทย์ แต่ไหนแต่ไรมาต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง วันละ 3 กะ อยู่ที่ว่าหน่วยงานหรือโรงพยาบาลไหนมีกำลังคนมากน้อยแค่ไหน ก็แบ่งกันรับภาระ มีทั้งหนักและเบาต่างกันไป

ปัจจุบันคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จัด “กลุ่มคนวิชาชีพสาธารณสุข” อยู่ใน “กลุ่มทั่วไป” ไม่ใช่วิชาชีพเฉพาะ และไม่อนุมัติให้มีการเพิ่มจำนวนข้าราชการ ระบุว่าข้าราชการสาธารณสุขมีมากเกินไปแล้ว (ดูตาราง)จึงไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม ขณะที่ภาระงานมีแต่จะเพิ่มขึ้นตามนโยบายสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้ข้าราชการสาธารณสุข อาทิ พยาบาลทำงานกันเดือนละ 40 วัน ไม่ใช่ 22 วันเหมือนข้าราชการทั่วไป ต้องควงเวรคนละ 3กะ เช้าต่อบ่าย บ่ายต่อดึก ดึกต่อเช้า หรือแพทย์ต้องอยู่เวร 16 ชั่วโมง เป็นต้น ยังไม่นับรวมแรงกดดันอื่นๆที่ต้องทำงานภายใต้กฏหมายหลายฉบับที่ทำให้แพทย์ขาดความอิสระในการวินิจฉัยโรค

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากบุคลากรสธารณสุข จำนวน 209,116 คน ออกจากสังกัดก.พ.ซึ่งดูแลข้าราชการอยู่ทั้งสิ้น 393,157 คน (ตัวเลข ณ ปี 2561) นั่นหมายถึงก.พ.จะมีขนาดเล็กลงมาก อาจจะมีผลต่อความมั่นคงของตำแหน่งและองค์กรของก.พ.หรือไม่

เมื่อวิชาชีพสาธารณสุขที่อยู่ภายใต้สังกัดก.พ. ได้รับการปฏิบัติเหมือนข้าราชการทั่วไป ไม่ใช่ “วิชาชีพ” ในการประชุมหารือวิชาชีพพิจารณาการแก้ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข เรื่อง “8 วิชาชีพการสาธารณสุข ออกจาก ก.พ. ดีหรือไม่” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 นำโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ และประธานกลุ่มพลังแพทย์ พร้อมด้วยแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมหารือ และมีความเห็นในทางเดียวกันว่า “บุคลากรสาธารณสุขควรออกจากสังกัด ก.พ.”

สำหรับ 8 วิชาชีพการสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ในฐานะประธานการประชุมดังกล่าว เปิดประเด็นว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นความสำคัญของการบรรจุพยาบาลหรือบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ โดยอ้างว่า ก.พ. ไม่ให้อัตรากำลัง ผู้บริหารกระทรวงฯ จึงแก้ปัญหาด้วยการจ้างเป็นพนักงานราชการ แต่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของบุคลากรสาธารณสุขว่าทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยและมีสุขภาพดี จึงเป็นโอกาสที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าว

พญ.เชิดชูกล่าวว่า “กรรมาธิการสาธารณสุขเป็นแค่เสือกระดาษ รัฐบาลไม่ฟัง ทำได้แค่พูด ประชุมทุกสัปดาห์ แต่ไม่มีผลงานออกมาเพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ส่วนสภาวิชาชีพก็มีอำนาจแค่กำกับดูแลและลงโทษ ดังนั้นต้องเป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนและกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้”

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา(ซ้าย)และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา (ขวา)

ก.พ.จัดบุคลากรสาธาณสุข เป็น”กลุ่มทั่วไป” ไม่ใช่ “วิชาชีพ”

พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้บุคลากรสาธารณสุขยังอยู่ภายใต้สังกัด ก.พ. คือ ‘ผู้บริหารองค์กร’ เพราะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะอยู่ไม่นาน มีวิสัยทัศน์สั้น มองไม่เห็นข้อเท็จจริง และไม่เห็นคุณค่าของบุคลากรสาธารณสุข

พญ.อรพรรณ์ กล่าวอีกว่า ระเบียบของ ก.พ. แบ่งราชการออกเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มบริหาร (2) กลุ่มอำนวยการ (3) กลุ่มวิชาการ และ (4) กลุ่มทั่วไป ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขบางส่วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มทั่วไป เช่น เดียวกับพนักงานพิมพ์ดีด ทั้งที่งานสาธารณสุขเป็นงานเชิงเทคนิค

“ขณะเดียวกัน การทำงานของบุคลกรทางการแพทย์ต้องทำเป็นทีม สมมติมี 10 คน เช่น หมอผ่าตัด ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ มีธนาคารเลือด และอื่นฯ หากขาดคนใดคนหนึ่ง ก็ทำงานไม่ได้ ภัยเกิดกับประชาชนและเกิดกับสังคมโดยรวม ยิ่งมี next pandemic ต้องระวังมาก เพราะเชื้อไวรัสโคโรนาเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ขณะนี้เรายังประมาทมากๆ และแก้ผ้าเอาหน้ารอดอยู่” พญ.อรพรรณ์กล่าว

พญ.อรพรรณ์ยกตัวอย่างของการแยกตัวออกจาก ก.พ. โดยเปรียบเทียบกับข้าราชการตุลาการ อัยการ ตำรวจ ครู ซึ่งออกจากก.พ.แล้ว ต้องแก้กฎหมาย แต่การที่จะแก้กฎหมายได้ก็ต้องอาศัยความสามัคคีและเห็นปัญหาร่วมกัน เพื่อวางโครงสร้างคนในระบบสาธารณสุขใหม่ แต่ที่ผ่านมาต้นตอปัญหาของคนในแวดวงสาธารณสุขคือ “จิกตีกันเอง” ทำให้การผลักดันเรื่องนี้ไม่เดินหน้าเท่าที่ควร

ก.พ. หวั่นไร้อำนาจ? หาก ส.ธ. แยกตัว

“โควิด-19 มันเกิดแล้ว ทำให้เห็นปัญหาสาธารณสุขชัดเจนมากขึ้น ทำไมรัฐมนตรีสาธารณสุขถึงอนุมัติบรรจุบุคลากรสาธารณสุขสองหมื่นกว่าตำแหน่งเป็นข้าราชการ แสดงว่าเขารู้อยู่แล้วว่ามันขาดและมีความสำคัญ แล้วการบรรจุดังกล่าว เขาก็รู้ว่าเป็นขวัญกำลังใจ ไม่ใช่ว่ามาเพิ่มตำแหน่งจนเหลือ จนเกิน จนไม่มีงานทำ แต่ทำไมไม่ยอมบรรจุให้ตั้งแต่แรก” รศ. นพ.สมชาย อมรโยธิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งคำถามถึงปัญหาของบุคลากรระบบสาธารณสุข

รศ. นพ.สมชายกล่าวต่อว่า ถ้าบุคลากรสาธารณสุขจะออกจาก ก.พ. ก็ต้องออกทุกวิชาชีพ เนื่องจากทางการแพทย์ต้องทำงานแบบบูรณาการ ไม่ใช่สาขาเดียว เห็นได้ว่าบุคลากรสาธารณสุขไม่ได้มีแต่สายรักษา แต่มีสายสนับสนุนและสายอื่นๆ ด้วย ดังนั้นถ้าจะออกจาก ก.พ. ก็ต้องออกให้หมดทุกวิชาชีพเพื่อเป็นทีมเดียวกัน

“แต่การออกจากสังกัด ก.พ.มันยาก เพราะ ‘หัว’(ก.พ.) เขาไม่ยอม หัวเขาโต ถ้าออกแล้วแทนที่จะมี power เขาจะไม่มี นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่สนับสนุน” รศ. นพ.สมชายกล่าว

รศ. นพ.สมชายเล่าว่า “ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าอย่าเพิ่งเดินขบวนเรียกร้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากจะเกษียณปลายปี สะท้อนให้เห็นว่ามีพวกรอเกษียณอย่างเดียว ไม่ทำงาน ไม่แก้ปัญหา สุดท้ายประชาชนและประเทศเดือดร้อน”

รศ. ดร.สมชายกล่าวอีกว่า การออกจาก ก.พ. มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าเทียบแล้วมีข้อดีมากกว่า โดยข้อดีคือช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงสำหรับเด็กจบใหม่ และให้สวัสดิการที่ดีได้ แต่การอยู่ภายใต้ ก.พ. มีข้อจำกัดเรื่องกรอบอัตรากำลัง ทำให้บุคลากรที่มีความสำคัญ(แพทย์)มักจะเดินออกจากระบบ เนื่องจากค่าตอบแทนน้อย ทำงานหนัก ส่วนข้อเสียที่ชัดเจนคือบางคนจะคิดว่าออกจาก ก.พ. แล้วจะมีการรวมกลุ่มก้อน กลุ่มพรรคพวกเข้ามา รวมถึงมองว่าบางสาขาวิชาชีพอาจจะได้คนที่ไม่ตรงสาขามาเป็นหัวหน้า เพราะเป็นการเล่นพรรคเล่นพวก

“ถ้าเราอยากให้มีคนคุณภาพอยู่ในระบบสาธารณสุข ก็ต้องให้ความมั่นคงในอาชีพเขา สวัสดิการ ความเจริญก้าวหน้า การจะออก ก.พ.ได้ ไม่ว่าจะเรื่องอัตรากำลัง คน งบประมาณ ต้องบริหารจัดการแบบกระทรวงอื่น”

ข้อจำกัดอัตราการกำลังคน เมื่อสังกัด ก.พ.

นพ.องอาจ วินิจธนาสาร กรรมการราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ กล่าวว่า หัวใจของกระทรวงสาธารณสุขคืออยากให้ดูแลคนไข้ได้ดี แต่ข้อเท็จจริงคือเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เพราะเพิ่มอัตรากำลังไม่ได้

“ถ้ามองเรื่องการบริหารจัดการมี man money management เขา(ก.พ.)ต้องการทุกอย่างภายใต้คนจำนวนเดิม” นพ.องอาจอธิบาย

นพ.องอาจกล่าวอีกว่า เนื้องานสาธารณสุขไม่ได้มีแค่งานรักษา แต่มีงานป้องกัน เปรียบกับทีมกู้ภัย แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีเอกชนเข้ามาช่วยอย่างมหาศาล

ด้านจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ นพ.องอาจกล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดแพทย์ เมื่อเทียบอัตราขั้นต่ำกับประเทศมาเลเซีย เมื่อนับรวมกับนักศึกษาแพทย์ก็ยัง ‘ไม่พอ’ ต่อความต้องการ อย่างไรก็ตาม มองว่าการแก้ปัญหาคือให้ทางมหาวิทยาลัยหรือสถาบันฝึกอบรมจับมือร่วมกับทางศูนย์ที่มีความสามารถในการฝึกอบรม เพื่อผลิตบุคลากรสาธารณสุขให้มากขึ้น

นพ.องอาจกล่าวถึงการขยายอัตรากำลังว่า เวลาจะฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน 1 คน จะมีเวลาในการกำหนด เช่น ศัลยกรรม 1 คนจะต้องมีอาจารย์แพทย์ 2 คนในการฝึกอบรม หมายความว่าถ้ามีหมอ 10 คน ก็จะอบรมได้ 5 คน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ไม่สามารถเพิ่มบุคลากรได้ เนื่องจากการพัฒนาอัตรากำลังมี ก.พ. เป็นผู้กำหนด

“ถ้า ก.พ. ฟังวันนี้ ก.พ. เข้าใจ แต่ ก.พ. ก็เคยฟังอย่างนี้มาก่อน เข้าใจแค่วันเดียว ก.พ. ไม่ใช่ปลาทองนะครับ ความรักยาว แต่ความจำสั้น เขาเข้าใจแค่วันนี้แล้วเขาไม่เข้าใจอีกแล้ว สุดท้ายเหมือนเดิม คนที่เหนื่อยคือพวกเรา”

“นักวิทยาศาสตร์การแพทย์” ไม่มีชื่อในสารระบบ ก.พ.ไม่ได้เยียวยา

นางผกามาศ ตะนง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี กล่าวว่า ปัญหาของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เวชศาสตร์ธนาคารเลือดแตกต่างวิชาชีพอื่น เพราะไม่มีชื่อในสารระบบของ ก.พ. กลายเป็นคนไม่มีตัวตน ทั้งที่มีความจำเป็นในทางการแพทย์

“ปัญหาที่เจ็บปวดของเราคือเจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปเรียนเพิ่มเติมและเรามีการปรับวุฒิ หลังจากปรับวุฒิมีประมาณสี่สิบกว่าคน ซึ่งระหว่างที่ปรับวุฒิถูกปรับลดลงเหลือ ซี-5 แล้วเงินเดือนลดลงคนละสามสี่พันบาท พอไปติดต่อที่ ก.พ. เขาบอกว่าไม่มีในสารระบบ ซึ่งจริงๆ แล้วตำแหน่งนี้มีตั้งแต่ประมาณปี 2541 ก.พ. บอกไม่มีวิชาชีพ วิชาชีพอื่นได้รับการเยียวยา แต่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่ได้รับการเยียวยา”

นางผกามาศกล่าวว่า…

ผลกระทบคือไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกและให้ทุนและตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่กลับไม่มีความก้าวหน้าของสายงานเนื่องจาก ก.พ. ไม่มีข้อมูล

“เราพูดให้ ก.พ. ฟังว่าคนมีใบขับขี่รถยนต์ไม่สามารถขับรถบรรทุกหรือรถโดยสารได้ เราไม่ได้ขอใบประกอบเพื่อทำงานการแพทย์ทั้งหมด เราขอเฉพาะทำงานของธนาคารเลือดเท่านั้น แต่ยังไม่มีคำตอบ” นางผกามาศกล่าว

งบ สธ. ไม่สอดคล้องกับประชากรที่เพิ่มขึ้น ภาระงานล้นมือ

พลตรีหญิง พูลศรี เปาวรัตน์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิราชการ มองว่า ถ้าเอาบุคลากรสาธารณสุขออกจาก ก.พ. รัฐบาลควรต้องเพิ่มงบให้กระทรวงฯ มากกว่าเดิม เห็นได้จากความจำเป็นในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการตัดงบกระทรวงต่างๆ มาช่วยสาธารณสุข ที่สำคัญการเพิ่มงบประมาณจะต้องส่งไปถึง รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล) แล้วประชาชนทั่วประเทศจะได้รับบริการที่ดี

พลตรีหญิง พูลศรี กล่าวอีกว่า ตั้งแต่อดีตงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขไม่มีการขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสม สำหรับ ‘อัตราประชากรที่เพิ่มขึ้น’ และ ‘ภาระงาน’ ที่ยุ่งยากมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือรัฐบาลมีนโยบายยาสำหรับผู้สูงอายุ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม

“เป็นบทเรียนว่าคนจะเพียงพอได้ ต้องมีงบ มีเงินจ้าง ไม่ใช่ให้เงิน 10 บาทแต่ให้ทำงาน 100 บาท ตอนนี้หมอและพยาบาลทำงานแบบให้ 20 ทำประมาณ 100 บาท เพราะไม่ได้ทำงานแค่ 8 ชั่วโมงแล้วหยุดเสาร์อาทิตย์”

ทางเลือกในมุมมองของพลตรีหญิง พูลศรี คือสร้างฐานรากให้แข็งแรง เช่น แพทย์แผนไทย หรือ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) แต่ต้องส่งเสริมให้คนเรียน 4 ปีและสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะบุคลากรฐานรากไม่ใช่แค่การ ‘รักษา’ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการป้องกัน ดังประโยคที่ว่า “Prevention is better than cure”

พลตรีหญิง พูลศรี ยังกล่าวถึงความเสี่ยงของแพทย์ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรอื่นๆ ว่า แม้จะมีงานล้นมือ แต่ถ้าทำไม่ถูกต้อง ไม่ดี หรือไม่ถูกใจตามความต้องการของผู้มารับบริการ แพทย์จะถูกลงโทษ ทั้งที่ไม่ได้มีอุปกรณ์หรือทรัพยากรในการดูแลรักษาอย่างครบครัน

“พอคนไข้ตายด้วยโรคเพราะรักษาไม่หาย ก็ยังทำร้ายหมอ ต่อยหมอซะอย่างนั้น กฎหมายก็ไม่เป็นธรรมกับคนในสาธารณสุข รัฐบาลต้องเล็งเห็นตรงนี้ ให้ความสำคัญแก่เราผู้ซึ่งเสียสละชีวิต เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บแล้วทำกับเราถึงเพียงนี้เชียวหรือ”

พลตรีหญิง พูลศรี กล่าว

เสนอ 8 วิชาชีพ ประจำ รพ.สต. เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ

นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย กล่าวถึงความจำเป็นของประเทศไทยที่จะเข้าสู่ new normal ด้านสาธารณสุขต้องเริ่มจาก ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ซึ่งเป็นฐานรากของระบบ เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเป็นการสู้กับเชื้อโรค ต้องใช้ระบบสาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหา ยิ่งกว่านั้นต้องรับมือกับ next pandemic ที่จะเกิดขึ้น จึงไม่สามารถทำให้โครงสร้างสาธารณสุขอ่อนแอได้

นพ.สมนึกเสนอว่า “ผมต้องการให้มี 8 วิชาชีพอยู่ที่ รพ.สต. เพราะนี่คือรากแก้ว สิ่งเหล่านี้จะเป็นเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แต่ตอนนี้ รพ.สต. ไม่มีรายได้ คอยแบมือขอเงิน เงินเดือนก็ไม่มี ค่าเวรก็ไม่ได้ ไปประชุมก็ไม่ได้เพราะไม่มีงบ พนักงานมีสามสี่คน แค่งานรีพอร์ตก็ไม่ต้องตรวจคนไข้แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ทำอย่างไรให้ รพ.สต. มีความเข้มแข็งและบุคลากรสาธารณสุขจะเป็นบุคลากรที่ทำเงินให้ประเทศ”

เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยสาธารณสุข แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่สามารถผลักดันได้เต็มที่ เพราะติดข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะข้อจำกัดเมื่ออยู่ภายใต้สังกัด ก.พ. ทั้งที่การแพทย์ไทยเป็นที่ขึ้นชื่อของชาวต่างชาติ รวมทั้งเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น กัญชาทางการแพทย์ นวัตกรรมต่างๆ ฯลฯ

แยกตัวจาก ก.พ. แพทย์แผนไทยมีอิสระผลักดันภูมิปัญญา

ภก.คมสัน ธีรานุรักษ์ กรรมการสภาการแพทย์แผนไทย กล่าวถึงบุคลากรด้านการแพทย์อย่าง ‘แพทย์แผนไทย’ ว่าถูกละเลยและถูกหลงลืมในการให้ตำแหน่งอัตรากำลังที่ผ่านมา ทำให้แพทย์แผนไทยในระบบราชการรู้สึกน้อยใจ โดยตำแหน่งส่วนใหญ่จะอยู่ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างประจำ ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอในการใช้จ่าย ส่งผลแพทย์แผนไทยมีจำนวนน้อยลงต่อเนื่อง

“น่าเสียดายว่าแพทย์แผนไทยสามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้ถึงระดับชาวบ้าน และป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ… ทุกวันนี้มีการส่งเสริมแพทย์แผนไทยน้อยมาก ทั้งที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าแพทย์แผนไทยสามารถรักษาโรคมะเร็งได้หายจริงด้วยองค์ความรู้สมุนไพร ภูมิปัญญาที่สืบทอดมา ตำราเหล่านี้ทรงคุณค่า สามารถรักษาโรคได้ดีมาก แต่ไม่ถูกบรรจุถูกในตำราการเรียนของแพทย์แผนไทย” ภก.คมสันกล่าว

ภก.คมสันยกข้อดีกรณีที่สามารถออกจากสังกัดก.พ.คือ แพทย์แผนไทยจะมีอิสระในการดูแลตัวเอง มีสิทธิเสนอความคิดเห็น และช่วยดูแลผู้สูงอายุได้กว้างขวาง รวมถึงทำให้แพทย์แผนไทยเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเป็น medical spa ที่ชาวต่างชาติสนใจ

ภก.คมสันกล่าวว่า “ถ้ามีการส่งเสริมแพทย์แผนไทยใน รพ.สต. ทุกตำแหน่ง แล้วลงลึกถึงการให้องค์ความรู้สู่ อสม. สามารถเรียนรู้และนำไปใช้สืบทอด ทำเป็นตำราขึ้นมาในการให้ อสม. ได้ใช้ดูแลชาวบ้าน และนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่ทั่วประเทศจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประหยัดงบประมาณใช้ยาแผนปัจจุบันกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี เราสามารถลดต้นทุนเหล่านี้ได้

“แพทย์แผนไทยอยู่ในระบบที่ไม่เห็นคุณค่า นับวันหมอพื้นบ้านจะลดน้อยถอยลง” ภก.คมสันกล่าว