ThaiPublica > เกาะกระแส > อาคเนย์ จับมือม.อัสสัมชัญ เปิดหน้าใหม่การศึกษาไทย เน้นประสบการณ์ตรง “Happiness by Design” ( HbD)

อาคเนย์ จับมือม.อัสสัมชัญ เปิดหน้าใหม่การศึกษาไทย เน้นประสบการณ์ตรง “Happiness by Design” ( HbD)

21 กุมภาพันธ์ 2020


นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ (สองจากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาคเนย์ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน และภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ (สองจากขวา) อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 อาคเนย์ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน จับมือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ เน้นการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ตรงจากผู้เชี่ยวชาญ ดึงศักยภาพของนักศึกษามาพัฒนาเพื่อให้เกิดเป็นอาชีพ ที่จะสร้างความยั่งยืนให้นูปบบการดำเนินชึวิตที่ทั้งมั่งคั่งและสุขภาพดี (wealthy and healthy lifestyle) ตรงใจเด็กรุ่นใหม่ ที่ต้องการความรู้มากกว่าในตำราเรียน พร้อมขยายเครือข่ายการทำธุรกิจไปยังอาเซียนภายใต้แนวคิด Happiness by Design (HbD)

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาคเนย์ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน กล่าวว่า ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีในคณะบริหารธุรกิจ (BBA) ระหว่าง บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นำโดย อาคเนย์ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการประกันและวงการการศึกษา เพื่อยกระดับการเรียนรู้แบบบูรณาการให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาในยุคดิจิทัล สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของอาคเนย์ ที่มุ่งสนับสนุนภาคการศึกษาของเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศได้มีโอกาสค้นหาตัวตน ผ่านแนวคิด Happiness by Design (HbD) ที่จะช่วยให้วางแผนความสุข ความต้องการ พร้อมเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ จนสามารถขยายเครือข่ายและสานต่อธุรกิจของครอบครัว รวมถึงต่อยอดธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาคเนย์ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน

สำหรับโครงการนี้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ พัฒนาโครงสร้างและหน่วยกิจ ร่วมกันระหว่างอาคเนย์และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอย่างใกล้ชิดตลอด 1 ปีเต็ม จนได้หลักสูตรที่ทันสมัย ครอบคลุม เทรนด์ เทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค จนผ่านการรับรองหลักสูตรอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ โดยอาคเนย์จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหมวดวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น การบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Management) การบริหารผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneur and Innovation Management) การบริการทางการเงินและประกันภัย (Finance & Insurance Solution) โดยใช้ design thinking เป็นเครื่องมือ มุ่งหวังให้กลุ่มนักศึกษาทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน (CLMV) ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ลองคิดบริการ ผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่

“ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับวงการอุดมศึกษาไทย เพราะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่การเรียนรู้ชีวิตจริง ให้นักศึกษาสามารถทำความเข้าใจ สร้างธุรกิจของตนเองได้อย่างอิสระ พร้อมทั้งแสดงศักยภาพทางความคิดผ่านโปรเจกต์ที่ชื่นชอบ เพราะเราตั้งใจที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเอง และกลุ่มที่ต้องการสานต่อธุรกิจครอบครัวให้ได้รับประโยชน์จากหลักสูตรที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างความสุขให้กับตัวเองและคนรอบด้าน ภายใต้การสนับสนุนของ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ และ TCC Group ที่ช่วยให้เกิดเครือข่ายร่วมกันในระดับพ่อแม่ และรุ่นลูก” นายโชติพัฒน์กล่าว

นายโชติพัฒน์กล่าวเสริมอีกว่า หลักสูตรนี้อยากให้เป็นประสบการณ์แก่นักศึกษาโดยตรง แม้ว่าโครงการนี้จะเป็นเพียง 9 หน่วยกิตจากหลักสูตรทั้งหมด  แต่คิดว่าประสบการณ์ที่ได้ทำงานจริงคงไม่ได้หาง่ายแบบความรู้ที่ทุกวันนี้มีอยู่ทั่วไป โดยธุรกิจของกลุ่มมีทั้งด้านการเงิน โรงแรม เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก ที่นักศึกษาจะเข้าไปหาประสบการณ์ได้ นอกจากประสบการณ์การทำงานแล้ว หลักสูตรยังดึงครอบครัวของนักศึกษาที่ส่วนใหญ่ก็มีธุรกิจส่วนตัวและอยากให้เด็กมาสืบทอดกิจการอยู่แล้วและสร้างเป็นเครือข่ายของธุรกิจต่างๆ ด้วยในอนาคตที่เชื่อว่าจะอยู่นานกว่าระยะเวลา 4 ปีที่เรียนหนังสือแน่นอน

อนึ่ง หลักสูตรเบื้องต้นจะรับนักศึกษาบริหารธุรกิจประมาณ 50-100 คน โดยอาจจะเน้นไปที่เด็กปี 3-4 เนื่องจากมีความรู้พื้นฐานทางธุรกิจพอสมควรแล้ว และสามารถนำไปแข่งขันต่อยอดได้ ส่วนในอนาคตอาจจะขยายไปยังคณะอื่นๆ ที่สอดคล้องกับธุรกิจของอาคเนย์มากขึ้นด้วย

ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ประสานความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน มุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นสากล และได้รับการรับรองจากภาครัฐ เพื่อรองรับนักศึกษาและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากวิชาเรียนอย่างเข้มข้น โดยจะเริ่มเปิดให้นักศึกษาที่สนใจลงทะเบียนหลักสูตรใหม่ของวิชาเลือกเสรีคณะบริหารธุรกิจ ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการเรียนการสอนครั้งสำคัญ เพราะนักศึกษาจะได้รับโอกาสเรียนรู้และศึกษาวิชาในสายอาชีพที่ชื่นชอบและสนใจจากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอย่างใกล้ชิด สามารถดึงศักยภาพสูงสุดของตัวเองมาใช้ ขณะที่อาคเนย์จะมีโอกาสได้ทรัพยากรบุคคลที่ผ่านการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านทั้งความรู้ ความสามารถ มาช่วยพัฒนาธุรกิจได้ตรงตามที่ต้องการ พร้อมร่วมงานกับอาคเนย์ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน ภายใต้ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายธุรกิจหลัก ของ TCC ในอนาคต” ภราดา ดร.บัญชากล่าว

ภราดา ดร.บัญชา กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องร่วมมือว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้วในโลกตะวันตก ส่วนไทยเรียกว่ายังห่างอยู่ 30-40 ปี โดยสิ่งที่ต่างประเทศปฏิบัติกันอย่างเช่นการรวมกลุ่มกันอย่างอียู แม้ว่าอังกฤษจะออกไป แต่นั่นเพราะเป็นประเทศใหญ่ ส่วนประเทศอื่นๆ เล็กก็ยังต้องรวมตัวกันเพื่อรักษาอำนาจต่อรองต่างๆ เช่นเดียวกับอาเซียนที่รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์นี้

“นี่คือโมเดลของโลกที่ใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อย่างเรื่องโรคระบาดตอนนี้ อย่างเรื่องเอไอ เรื่องเทคโนโลยี อันนี้คือประเด็นแรก” ดร.บัญชากล่าว

ประเด็นที่สอง คือ การร่วมมือกันจำเป็นสำหรับโลกที่การแข่งขันสูงแบบทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยต้องแข่งกันแย่งเด็กเข้ามาเรียน และประเด็นสุดท้ายคือทุกอย่างมันซับซ้อนขึ้นมากในโลกปัจจุบันและยากที่ใครคนเดียวจะเข้าใจ เดิมมหาวิทยาลัยเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่รู้ว่าข้างนอกเขาทำอะไรกัน รวมไปถึงว่ากฎระเบียบต่างๆ ยังเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ และการขออนุญาตทำอะไรใหม่ๆ ต่างก็ล่าช้าไม่ทันการณ์

“กลับกัน โลกธุรกิจหรืออุตสาหกรรมต่างๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  คำถามคือจะทำให้นักศึกษาเรียนรู้ทฤษฎีแล้วนำไปปฏิบัติอย่างไร อุตสาหกรรมต้องเข้ามาร่วมมือช่วยกันพัฒนาเรื่องเหล่านี้ เพราะภายในมหาวิทยาลัยก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง ธุรกิจเขารู้และปรับเปลี่ยนไวคล่องตัวกว่า เราจึงอยากให้เขานำของจริงเข้ามาฝึกฝนนักศึกษาให้รู้จักของจริง ให้เคลื่อนตัวไวเหมือนกัน” ดร.บัญชา