ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวิจัยชี้ผู้หญิงไทยจบป.ตรีแต่งงานช้า โสดมากขึ้น มีลูกน้อยลง กระทบแรงงานในอนาคต

งานวิจัยชี้ผู้หญิงไทยจบป.ตรีแต่งงานช้า โสดมากขึ้น มีลูกน้อยลง กระทบแรงงานในอนาคต

26 กุมภาพันธ์ 2020


วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ “ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย” ซึ่งได้จัดทำร่วมกับ Ms. Lusi Liao นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

งานวิจัยได้ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทยในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา (1985-2017) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้หญิงไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโสดมากขึ้นและมีลูกน้อยลง

ผู้หญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะเลือกอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือ หากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง

ส่งผลไปยังอัตราการเกิดของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อจำนวนกำลังแรงงานในอนาคต ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐจะมีนโยบายใดบ้างในการแก้ปัญหาดังกล่าว

ดร.ศศิวิมล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ “Marriage strike” ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลง เนื่องจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการแต่งงานและการลาคลอดบุตรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในงานวิจัยชิ้นนี้ คณะผู้วิจัยก็พบปรากฏการณ์ “Marriage strike” ในประเทศไทยเช่นกัน โดยพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ดร.ศศิวิมล ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ไม่เพียงแค่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลงเท่านั้น แต่มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดตลอดไปเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยงานวิจัยที่ผ่านมาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Gold miss” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบในกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีสถานภาพทางสังคมที่สูง โดยผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่เพียงแค่จะชะลอการแต่งงาน แต่กลับเลือกที่จะไม่แต่งงานและคงสถานภาพการอยู่เป็นโสดอีกด้วย

และพบว่าเกิดปรากฏการณ์นี้ในประเทศพัฒนาแล้วในทวีปเอเชียหลาย ๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งปรากฏการณ์ “Gold miss” นี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศในทวีปเอเชียเหล่านี้ ที่คาดหวังให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องรับผิดชอบทั้งการดูแลครอบครัวในฐานะแม่บ้าน และการทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ไปพร้อม ๆ กัน โดยความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงนี้ ทำให้ผู้หญิงในทวีปเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัวและมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีโอกาสที่จะแต่งงานลดลง 14% เมื่อเทียบกับผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมหรือต่ำกว่า และหากผู้หญิงไทยกลุ่มนี้แต่งงานจะมีจำนวนลูกที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น โดยผู้หญิงไทยที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น 1 ปี มีแนวโน้มที่จะมีลูกลดลง 10% ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศไทย และปัญหาที่จะตามมาในอนาคต คือ การขาดแคลนกำลังแรงงานของประเทศ

สำหรับงานวิจัยของดร.ศศิวิมลและ Ms. Lusi Liaoที่มีชื่อว่า “Gold Miss” or “Earthy Mom”? Evidence from Thailand (Liao and Paweenawat, 2019a) ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงไทยกับการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก โดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วง 30 ปี (1985–2017) พบข้อสรุปที่น่าสนใจ 3 ประการดังต่อไปนี้

1) ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้พบปรากฏการณ์ “Marriage Strike” ในประเทศไทย โดยผู้หญิงไทยที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานและอยู่เป็นโสดมากขึ้น และสัดส่วนร้อยละของคนโสดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1980s และเมื่อพิจารณาสัดส่วนคนโสด (คนที่ไม่เคยแต่งงาน) โดยแยกตามระดับการศึกษา จะพบว่า ถึงร้อยละ 50-60 ของผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเป็นโสด และมีเพียงร้อยละ 15-20 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นมัธยมศึกษาและร้อยละ 10-15 ของผู้หญิงไทยที่จบชั้นประถมศึกษาเป็นโสด

ภาพที่ 1 สัดส่วนร้อยละของผู้หญิงโสดแบ่งตามระดับการศึกษา

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบปรากฏการณ์ “Gold Miss” ในประเทศไทย โดยผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้มีการเลือกที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้นและไม่มีลูกเลย

งานวิจัยของ Hwang (2016) พบว่า ปรากฏการณ์นี้มีแนวโน้มที่จะเกิดในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปรากฏการณ์ “Gold Miss” เกิดขึ้นจากทัศนคติทางเพศที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น (intergenerational transmission of gender attitude) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียที่มีรากฐานวัฒนธรรมที่หยั่งลึกในเรื่องทัศนคติที่มีต่อเพศหญิง โดยสังคมในประเทศกลุ่มนี้มีความคาดหวังต่อผู้หญิงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการแต่งงาน ซึ่งผู้หญิงมีบทบาททั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยนอกจากจะเป็นแม่บ้านที่เลี้ยงดูลูกและดูแลความเรียบร้อยของบ้านแล้ว ผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้มีบทบาทนอกบ้านในฐานะที่เป็นหนึ่งในแรงงานหลักที่ต้องหาเงินเข้าบ้านและเลี้ยงครอบครัว ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงนี้ ทำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 2 สัดส่วนร้อยละของผู้หญิงโสดที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและอายุมากกว่า 35 ปี

นอกจากนั้น ผลการศึกษายังพบว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะมีโอกาสในการแต่งงานลดลงร้อยละ 14 โดยผู้หญิงที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี มีโอกาสการแต่งงานอยู่ที่ร้อยละ 85 ในขณะที่โอกาสการแต่งงานของผู้หญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีอยู่ที่ร้อยละ 71 ในขณะเดียวกัน ระดับการศึกษากลับไม่ได้ส่งผลต่อโอกาสในการแต่งงานของผู้ชายมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาผลของระดับการศึกษาต่อโอกาสในการแต่งงานในประเทศอื่น ๆ ซึ่งพบว่า ผลแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น Fort et al. (2016) พบว่า การศึกษาเพิ่มโอกาสในการแต่งงานของผู้หญิงในประเทศแถบทวีปยุโรป แต่ลดโอกาสในการแต่งงานในประเทศอังกฤษ ส่วน Kan and Lee (2018) พบว่า การศึกษาไม่มีผลต่อโอกาสในการแต่งงานในไต้หวัน

2) ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกน้อยลง

นอกจากปรากฏการณ์ที่ระดับการศึกษามีผลต่อการตัดสินใจแต่งงาน ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบความสัมพันธ์ที่ผกผันกันระหว่างระดับการศึกษาของผู้หญิงกับจำนวนลูก กล่าวคือ ผู้หญิงที่มีการศึกษาเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลงตามลำดับ ในกรณีของประเทศไทย พบว่า จำนวนลูกต่อผู้หญิงหนึ่งคนของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มการศึกษาอื่น ๆ มีแนวโน้มคงที่ หรือลดลงเพียงเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากเทียบภายในกลุ่มการศึกษาเดียวกัน พบว่า กลุ่มผู้หญิงที่เกิดปี 1950s และจบปริญญาตรีขึ้นไปจะมีลูกโดยเฉลี่ย 1.3 คน ขณะกลุ่มที่เกิดปี 1980s มีลูกเพียง 0.7 คน ซึ่งลดลงกว่าครึ่งนึง อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกของผู้หญิงกลุ่มที่จบมัธยมและประถมศึกษามีการลดลงเพียงเล็กน้อย โดยเฉลี่ยจะยังอยู่ที่ 1.2 คนและ 1.5 คน ตามลำดับ

ภาพที่ 3 จำนวนลูกต่อผู้หญิงหนึ่งคนของผู้หญิงไทยแบ่งตามระดับการศึกษา

นอกจากนั้น หากทำการประมาณความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นกับจำนวนลูกของผู้หญิงไทย พบว่า การศึกษาที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีจะลดจำนวนลูกที่ผู้หญิงมีประมาณ 0.1 คน ซึ่งผลการศึกษาสอดคล้องกับผลการศึกษาในประเทศอังกฤษและบางประเทศในยุโรป ที่พบว่าจำนวนลูกลดลงประมาณ 0.15 คนต่อระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้น 1 ปี (Fort et al. 2016)

3) ระดับการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกในประเทศไทย

ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกในประเทศไทย คือ ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ที่แม้จะส่งผลทางบวกต่อระดับสถานภาพของผู้หญิงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ส่งผลลบต่อการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกของผู้หญิง จากการที่ผู้หญิงไทยมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะพบคู่ครองที่มีความเหมาะสมกันทั้งระดับรายได้และการศึกษาน้อยลง นอกจากนั้น ระดับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น ได้รับค่าตอบแทนแรงงานสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้หญิงจากการลาคลอดและเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงยังอาจเลือก “คุณภาพ” ในการเลี้ยงดูลูกมากกว่า “จำนวน” นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือไปจากระดับการศึกษา ที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการตัดสินใจแต่งงานและการมีลูกอีกด้วย ได้แก่

  • ต้นทุนของการเลี้ยงดูลูกที่เพิ่มขึ้น ทำให้คู่สมรสมีแนวโน้มที่จะชะลอการมีลูกหรือตัดสินใจไม่มีลูกเลย ข้อมูลจาก งานวิจัยล่าสุดของ Chamchan et al. (2019) ชี้ว่า การเลี้ยงลูก 1 คน (อายุ 0-14 ปี) อยู่ที่ประมาณ 1.57 ล้านบาท โดยต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรนี้เพิ่มสูงขึ้นตามระดับรายได้ของครัวเรือน
  • ผลกระทบต่อค่าจ้างที่เกิดขึ้นจากการมีลูกของแรงงานไทย งานวิจัยของ Liao and Paweenawat (2019b) ได้ศึกษาความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและแรงงานที่ไม่มีลูก (parenthood wage gap) พบว่า การมีลูกส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของแรงงานหญิง (motherhood wage penalty) โดยแรงงานที่ไม่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่สูงกว่าแรงงานที่มีลูก ซึ่งความแตกต่างของค่าจ้างนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
  • ทัศนคติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาสูง มีทัศนคติต่อการแต่งงานและการมีลูกที่แตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและความเป็นอิสระส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนลูกลดน้อยลง Samutachak and Darawuttimaprakorn (2014) พบว่า กลุ่ม Generation Y ในประเทศไทย (คนที่เกิดระหว่างปี 1980-2003) ให้ความสำคัญกับการแต่งงานและการมีลูกน้อยกว่าเรื่องอื่น ขณะเดียวกัน งานวิจัยของ Isarabhakdi (2015) พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ในไทยมีการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ (lesbian, gay, bisexual, and transgender) เมื่อเทียบกับคนรุ่นเก่า
  • การขาดการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากทางภาครัฐและสังคม เช่น การขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กของภาครัฐ การขาดความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน การกีดกันแบ่งแยกในสถานที่ทำงานต่อแรงงานที่มีลูก ทำให้ลดความต้องการที่จะแต่งงานและมีลูกลงไป

โดยปัจจัยที่กล่าวถึงทั้งหมดนี้สามารถอธิบายการลดลงของอัตราการเกิดในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ดร.ศศิวิมลกล่าวว่า “ภาครัฐควรเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัวอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ผ่านนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบดังเช่นในบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การเริ่มต้นชีวิตคู่ การมีลูก การเลี้ยงดูลูก โดยมีมาตรการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเงินทุนสนับสนุนและการลดหย่อนภาษี เป็นต้น”

การที่ผู้หญิงโสด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากแต่งงานก็จะเลือกที่จะมีลูกจำนวนน้อยลง ซึ่งผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากที่จะสะท้อนถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสที่สูงของแรงงานหญิงไทยจากการตัดสินใจแต่งงานและมีลูก และค่านิยมทางสังคม ยังก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เป็นผลมาจากการขาดการสนับสนุนของภาครัฐในการสร้างแรงดึงดูดใจในเรื่องการแต่งงานและการเลี้ยงดูลูกอย่างเพียงพอหรือไม่ ปรากฏการณ์นี้ ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอัตราการเกิดที่ลดลงในประเทศไทย และปัญหาที่ตามมาคือ การขาดแคลนกำลังแรงงานของประเทศในอนาคต

ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” อย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยภาครัฐควรมี “นโยบายชวนน้องแต่งงาน” เพื่อที่จะกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวต้องการแต่งงานและมีลูกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ในประเทศอื่นนั้นก็มีนโยบายกระตุ้นการแต่งงานและการมีลูกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น สิงคโปร์มีการให้ความสำคัญตั้งแต่การช่วยหาคู่ชีวิตให้คนโสด การให้เงินช่วยเหลือคู่สมรสใหม่ในการจัดหาซื้อบ้านเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่ และหากมีลูก ก็มีการให้เงินทุนสนับสนุนทั้งการศึกษา สุขภาพ การลดหย่อนภาษี การขอคืนภาษีเพื่อช่วยเลี้ยงลูก ขณะที่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เช่น นอร์เวย์และสวีเดน มีเงินช่วยเหลือในการจ่ายค่าบริการดูแลเด็ก และบางประเทศมีกฎหมายแรงงานที่เอื้อต่อการดูแลลูก เช่น สวีเดน พ่อแม่ที่มีลูกอายุน้อย สามารถขอลดเวลาทำงานได้ สหราชอาณาจักร อนุญาตให้พ่อแม่มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ เป็นต้น