ThaiPublica > คนในข่าว > “ท่านนางวัฒนา ดาลาลอย” รองผู้ว่า แบงก์ชาติสปป.ลาว เล่าการ “เปิดประตูการค้า-เปิดประตูการเงิน”

“ท่านนางวัฒนา ดาลาลอย” รองผู้ว่า แบงก์ชาติสปป.ลาว เล่าการ “เปิดประตูการค้า-เปิดประตูการเงิน”

20 กุมภาพันธ์ 2020


ท่านนางวัฒนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว หนึ่งในประเทศมาชิกอาเซียน และสมาชิกกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูง 7% ต่อเนื่องนานหลายปี นับตั้งแต่ปี 2557 สำหรับในปีนี้แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจากระดับ 7% เล็กน้อย แต่ก็ยังขยายตัวได้ถึง 6.4%

ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวมาจากการวางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่มีเป้าหมายหลุดพ้นจากสถานะประเทศรายได้ต่ำภายในปี 2563 รวมทั้งการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจมาเป็นระบบตลาด การวางยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการเงินด้วยการเปิดเสรีให้กับธนาคารต่างชาติ จากการให้สัมภาษณ์ของ ท่านนางวัฒนา ดาลาลอย รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว กับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ในโอกาสที่ได้เดินทางไปเยือน สสป.ลาว ในช่วงปลายปี 2562 ตามคำเชิญของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับภาระหน้าที่ของท่านนางวัฒนาที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว นั้น รับผิดชอบสายงานด้านกฎหมาย การชำระเงินและการชำระบัญชี เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงินและการบัญชี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานเพื่อป้องกันการฟอกเงินและการก่อการร้ายแห่งชาติ และเป็นกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ท่านนางวัฒนา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์จาก State University of Management ที่รัสเซีย ต่อมาได้ศึกษาในหลักสูตรระดับอนุปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น และระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัย Brandeis สหรัฐอเมริกา

เส้นทางการทำงานของท่านนางวัฒนาเริ่มต้นที่ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao: BCEL) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ส่วนเงินฝาก จากนั้นได้ย้ายมาร่วมงานกับธนาคาร โลกที่สหรัฐฯ ในตำแหน่งที่ปรึกษา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ปี 2004 ได้กลับประเทศเพื่อรับหน้าที่หัวหน้าส่วนการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ กับธนาคารแห่ง สปป.ลาว และปีถัดมาได้โยกย้ายทำหน้าที่หัวหน้าส่วนงานอาเซียนและสหภาพยุโรป ในปี 2008-2010 ได้รับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการก่อตั้งตลาดทุน หลังจากนั้นได้ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ คณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 1 ปี ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะกลับมารับตำแหน่งรองผู้ว่าการ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ในเดือนตุลาคม 2014

เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 7% ตลอด 5 ปี

ท่านนางวัฒนาได้บรรยายภาวะสรุปเศรษฐกิจลาวโดยกล่าวว่า ต้องขอนำย้อนเวลากลับไป 30 ปีเพื่อจะได้เห็นภาพภาวะเศรษฐกิจ สปป.ลาว ได้อย่างชัดเจน โดยในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว นั้น ถือว่าลาวมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงพอสมควรเฉลี่ยเกือบ 7% นับตั้งแต่ปี 2014 ยกเว้นปี 2018 ที่ขยายตัวในอัตรา 6.3%

เศรษฐกิจของลาวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2016) มีการเติบโตเฉลี่ย 7% แต่ปี 2018 และ 2019 เติบโตไม่ได้ 7% ตามเป้าหมาย โดยขยายตัวราว 6.3-6.4% สำหรับประมาณการติบโตทางเศรษฐกิจ 2020 ซึ่งได้เสนอต่อสภาแห่งชาตินั้นคาดการณ์การเติบโตไว้ที่ 6.5%

โครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ เกิดอุทกภัย ภัยธรรมชาติ ภาวะความผันผวนของตลาดเงินโลก และปัจจัยด้านงบประมาณ เข้ามากระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ได้ตามเป้าหมายในปีที่แล้ว

“การเติบโตของเศรษฐกิจตามที่วางไว้ว่าจะโต 7% เฉลี่ยใน 5 ปี แม้บางปีไม่สามารถบรรลุได้ เรายอมรับเพราะรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ แต่มีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาคแล้ว ก็ถือว่าระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวเป็นระดับที่ยอมรับได้” ท่านนางวัฒนากล่าว

สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2019 ได้มีการรายงานต่อสภาแห่งชาติซึ่งได้มีการประชุมครั้งที่ 8 และเสร็จสิ้นไปในวันที่ 8 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมาว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นตามเป้า 6.7% ที่วางไว้ โดยจะเติบโต 6.4% เนื่องจากประสบกับอุทกภัย การเกิดโรคระบาดที่มีผลต่อการกสิกรรมหนักพอสมควร และความผันผวนทางการเงิน ความผันผวนของค่าเงิน โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจลาวพอสมควร

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อนั้นสามารถบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยปี 2019 ตั้งเป้าไว้ว่าไม่เกิน 5% แต่ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาสามารถรักษาเงินเฟ้อไม่เกินเลขสองหลัก ซึ่งรอบ 9 เดือนปี 2019 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 2.5% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เนื่องจาก สปป.ลาว มีการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณมาก ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อการผลิตและต้นทุนในภาคเศรษฐกิจอื่นด้วย

นอกจากนี้ อุทกภัยที่เกิดขึ้นใน 13 แขวง ภาคใต้ มีผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตข้าว การเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งการทำนาในปีนี้ไม่เป็นไปตามฤดูกาลจากภัยแล้ง

ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนตลอด 6 ปีที่ผ่านมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบไม่เกิน 5% แต่ปี 2019 เงินกีบเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 2.88% และเมื่อเทียบกับเงินบาทแล้วอ่อนค่าลงมาก ในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2019 อ่อนค่าถึง 5.99%

“อัตราเงินเฟ้อปี 2020 จะพยายามรักษาเสถียรภาพไม่ให้สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนจะดูแลต่อเนื่องไม่ให้เคลื่อนไหวขึ้นลงเกินกรอบ 5% แม้มีสิ่งท้าทาย ซึ่งธนาคารกลางมีมาตรการรับมือ” ท่านนางวัฒนากล่าว

ภาคต่างประเทศถือว่ามีเสถียรภาพมาก แม้ดุลการชำระเงินโดยรวมบางปีขาดดุลและบางปีเกินดุล ซึ่งในปีที่เกินดุลนั้น เป็นปีที่มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เข้ามาจำนวนมาก

“ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต่อเนื่องและเป็นปัญหาต่อเนื่องที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการนำเข้า เนื่องจากมีการนำเข้าเกือบทุกรายการ ทั้งเครื่องจักร วัตถุดิบ ในภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการผลิตเพื่อการส่งออกไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร” ท่านนางวัฒนากล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมพบว่า ปีนี้เป็นปีที่สองที่เกินดุลการค้า แต่ไม่สามารถสมดุลกับกระแสเงินไหลเข้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ส่งออกนำเงินตราต่างประเทศชำระค่าสินค้าก่อนนำเงินเข้าประเทศ

ในปี 2018 เงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าจากต่างประเทศมีจำนวน 1,319.6 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 7.2% ของจีดีพี ซึ่งต่างชาติที่ลงทุนสูงเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ จีน และมีไทยเป็นอันดับสอง ส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม พลังงาน บ่อแร่ (เหมืองแร่)

สำหรับกรณีที่มีการมองว่า การที่คนจีนเข้ามามากทั้งคนทั้งเงินเหมือนกับว่าครอบครอง CLMV ทั้งหมด ท่านนางวัฒนาให้ความเห็นว่า ถ้ามองอย่างนั้นก็มองได้ แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง จากเป้าหมายของอาเซียน อย่างแรก อาเซียนต้องการที่จะทำการค้าร่วมกัน ทำการค้าระหว่างกัน อย่างที่สอง มีเป้าหมายจะให้การค้าขายของอาเซียนกับนอกประเทศอาเซียนขยายใหญ่ขึ้น

“แต่ลาวไปฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน อีกทั้งจีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะไปไหน แต่หากคนเข้ามาจำนวนมากและเงินก็เข้ามามาก ก็คิดว่าไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าจะดูแลสิ่งที่เข้ามากนั้นได้อย่างไร ว่าจะคุ้มครองให้รู้เวลาเข้ามาเยอะ จะให้เยอะระดับไหน จะนับทั่วถึงหรือไม่ เวลาที่ออกไปจะกระทบเราหรือไม่ ถ้าให้ออกไปโดยไม่กระทบเรา ก็ออกไปได้ หากคนจีนมาอยู่ลาว แต่เราก็รู้ว่าเขาสามารถทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ มีกฎหมายคุ้มครอง แต่เวลาเข้ามาเข้าเท่าไร เวลาออกออกไปเท่าไร ต้องมีการจัดการให้เรียบร้อย ก็ยังไม่เป็นอะไร เพราะคนลาวมีไม่มากและยังมีพื้นที่อีกมาก หากรู้จักใช้ในบางจุดให้เป็นประโยชน์ก็จะเพิ่มมูลค่าได้” ท่านนางวัฒนากล่าว

ท่านนางวัฒนากล่าวถึงการค้าของ สปป. ลาวว่า ไทยเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของลาว ทั้งการนำเข้าและการส่งออก ขณะที่การค้าโดยรวมขยายตัวขึ้นมาหลังจากที่ลาวได้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และส่วนหนึ่งมาจากการค้ากับอาเซียนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย

การส่งออกหลักของลาวเป็นสินค้าส่งออกพื้นฐาน คือ พลังงาน เหมืองแร่ กสิกรรม โดยส่งออกไฟฟ้ามีสัดส่วน 8% ของการส่งออกรวม การส่งออกสินค้ากสิกรรมมีสัดส่วน 9% ทางด้านการนำเข้าปี 2018 ส่วนใหญ่ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์ พาหนะ และการนำเข้าสินค้ามีสัดส่วน 11% ขณะที่การนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วน 10% ของการนำเข้าทั้งหมด

พลังงานไฟฟ้าเครื่องยนต์หลักหนุนเศรษฐกิจ

ท่านนางวัฒนาเล่าว่า การที่เศรษฐกิจลาวขยายตัวตัวได้ต่อเนื่องในระดับสูง ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานไฟฟ้า เหมืองแร่ อุตสาหกรรม รวมทั้งกสิกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเติบโต ที่สำคัญที่สุดคือ ปัจจุบัน รัฐบาลเพิ่มความสำคัญของภาคกสิกรรมและท่องเที่ยว โดย 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมมากขึ้น ขณะที่ 3 ภาคเศรษฐกิจเดิมก็ยังเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ

“รัฐบาลได้ส่งเสริมภาคกสิกรรม ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกสิกรรมที่เป็นเกษตรอินทรีย์ กสิกรรมสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างมาก สัดส่วนของการสิกรรมในระบบเศรษฐกิจ แม้จะน้อยและโตไม่มากนัก แต่การเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น การปลูกพืชเพิ่มขึ้น มีการปลูกพืชที่หลากหลายมากขึ้น” ท่านนางวัฒนากล่าว

ท่านนางวัฒนาให้ข้อมูลอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมการค้าได้เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้นำเข้าสินค้ากสิกรรมของลาวมากขึ้น หลายชนิดขึ้น ส่งผลให้ในปี 2017 ปีจีนได้นำเข้าข้าวสารจากลาวเพิ่มขึ้น และปี 2018 จีนนำเข้าปริมาณ 3,000 ตัน และในปี 2020 จีนนำเข้าเพิ่มเป็น 50,000 ตัน

ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงการอุตสาหกรรมการค้า มีสินค้า 25 ชนิดที่ส่งไปจีนนั้น จีนได้กำหนดมาตรการและจำนวนโควตานำเข้าจาก สปป.ลาว โดยเฉพาะ กระนั้นก็ยังมีปัญหาในการส่งออกแม้เปิดตลาดได้แล้ว มีโควตาส่งออกแล้ว เพราะลาวไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ รัฐบาลกำลังหาทางที่จะดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในภาคกสิกรรมมากขึ้น

สำหรับภาคกสิกรรมทั่วไปในปี 2019 จากการที่ลาวประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รัฐบาลได้เห็นชอบที่จะให้ลดปริมาณการปลูกข้าวลง ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น รวมทั้งพืชประเภทอื่นที่ใช้แทนข้าว เช่น มันสำปะหลัง ข้าวสาลี ยางพารา โดยเฉพาะยางพาราซึ่งช่วงนี้สามารถกรีดยางได้แล้ว หลังจากได้เริ่มปลูกเมื่อ 10 ปีก่อน

ไทยพับลิก้าได้ถามย้อนกลับไปถึงเรื่องพลังงานไฟฟ้าซึ่งผลิตจากเขื่อนว่า เรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขงทุกคนบอกน้ำแห้ง ลาวใช้น้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าไปขายข้างนอก มีการดูแลสิ่งแวดล้อมมีข้อตกลงอะไรหรือไม่ ท่านนางวัฒนากล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่มีข้อมูลด้านนี้มากนัก แต่เท่าที่ทราบรัฐบาลได้ใส่ใจปัญหานี้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งแสดงให้เห็นจากการปรับปรุงกฎหมาย มีการสร้างกฎหมายคุ้มครองน้ำสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ออกมาแล้วและคิดว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหา climate change พอสมควร เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักของลาว จึงต้องรักษาสิ่งแวดล้อมไว้

“นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้กำหนดให้มีการรักษาสัดส่วนพื้นที่ในประเทศให้เป็นป่า เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ในแผนที่จะมีจุดแสดงจุดต้นกำเนิดของน้ำจะสามารถรักษาป่าไว้กี่เปอร์เซ็นต์และจะทำอะไรกับพื้นที่ได้บ้าง มีแผนที่กำหนดไว้แล้ว ปัจจุบันมีการบังคับใช้ตามยุทธศาสตร์นั้นไม่ให้ออกนอกกรอบที่มุ่งเน้นเพื่อรักษาแหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อม สิ่งที่พวกเราที่เรายังไม่ได้ดูคือเรื่องการเงินกับการพัฒนา ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม อันหนึ่งที่พวกเราจะนำมาใช้ ซึ่งในอาเซียนก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประเทศจีนก็เป็นอันดับหนึ่งในโลก รองลงมาจากสหรัฐฯ ที่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ ซึ่งหากพวกเราจะนำมาใช้ในตลาดเงินและตลาดทุน ตลาดทุนอาเซียนปัจจุบันมีการออกกรีนบอนด์แล้ว” ท่านนางวัฒนากล่าว

การค้าชายแดนโต คนลาวนิยมสินค้าเพื่อนบ้าน

ท่านนางวัฒนาให้ข้อมูลอีกว่า นอกเหนือจากภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคกสิกรรม ที่เป็นโครงสร้างสำคัญต่อเศรษฐกิจแล้ว การค้าชายแดนมีผลต่อเศรษฐกิจลาวมากเช่นกัน เนื่องจากลาวเป็นประเทศ landlock มีชายแดนติดกับทุกประเทศที่ล้อมรอบลาว ล้วนแล้วแต่มีการค้าระหว่างกันทั้งนั้น ไม่ว่าการค้าระหว่างลาวกับเวียดนาม การค้าระหว่างลาวกับจีน การค้าระหว่างลาวกับไทย ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าที่มีการผลิตที่เข้มแข็ง และสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศเหล่านี้ ไม่นับเครื่องจักร เครื่องกล สินค้าอุตสาหกรรมหนัก เป็นที่ชื่นชอบของคนลาว

สำหรับการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับลาว ท่านนางวัฒนากล่าวว่า ไทยเป็นคู่ค้าหลักที่มีปริมาณการค้าระหว่างกันมากถึง 60% ของปริมาณการค้าของลาว

“ด้วยเหตุที่ว่าคนลาวกับคนทุกประเทศที่ล้อมรอบ แม้แตกต่างกันในด้านวัฒนธรรม แบบแผนการดำรงชีวิตก็ยังนิยมชมชอบ ชมใช้สินค้าของกันและกัน คนลาวมีความชื่นชอบอย่างหนึ่ง คือ รับสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ สอง คือ การผลิตภายในประเทศของลาวเองยังไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอทำให้ความต้องการเหล่านี้ ส่งผลให้การค้าชายแดนขยายตัวเร็ว”

ท่านนางวัฒนากล่าวอีกว่า หากมีการปรับการค้าชายแดนให้ไปทุกทิศทาง จะช่วยให้เศรษฐกิจเข้มแข็งมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการค้าชายแดนบางประเภทอาจจะเป็นการทำการค้านอกระบบ ขณะที่การค้าบางประเภทอยู่ในระบบ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศคู่ค้าทั้งสองฝ่าย หากสามารถนำการค้าชายแดนมาอยู่ในระบบที่มีการตรวจสอบ ที่มีกติกาคุมก็จะช่วยยกระดับการค้าให้ดีขึ้น เป็นการค้ามีระบบมากกว่าเดิม มีการคุ้มครองดูแลได้ดีกว่าเดิม

ท่านนางวัฒนากล่าวว่า การค้าชายแดนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการค้า ซึ่งเข้าใจว่าได้ตระหนักถึงปัญหานี้รวมทั้งเข้าใจว่าในการพบปะประจำปี ของ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ก็ได้มีการหารือร่วมกัน เพราะเป็นปัญหาของทั้งภูมิภาค นอกจากเกี่ยวข้องกับ 4 ประเทศนี้แล้วยังเชื่อมโยงกับการค้ากับจีนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุมประเทศสมาชิกของกรอบความตกลงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ( Greater Mekhong Subregion) กับกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ได้มีการพูดคุยปัญหานี้

ในความเห็นของท่านนางวัฒนาคิดว่า การแก้ไขปัญหาการค้านอกระบบยังต้องดำเนินการอีกหลายด้าน เนื่องจากมีหลายปัญหาที่เกี่ยวข้อง หนึ่ง ปัญหาภายใน สปป.ลาว คือ การคุ้มครองด่านสากลยังไม่มีเอกภาพ เพราะขั้นตอนแบบแผนการแจ้งภาษี ทางตอนใต้มีกระบวนการแบบหนึ่ง ทางตอนเหนือมีกระบวนการอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้ด่านมิตรภาพ 1 ในนครหลวงเวียงจันทน์ กับด่านสากลวัดไตเป็นต้นแบบนำร่องทดลองใช้ หากสำเร็จจะขยายรูปแบบนี้ไปใช้กับด้านอื่นๆ อีก

ท่านนางวัฒนากล่าวอีกว่า การดำเนินการของรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการแก้ไขหลังจากที่ได้เข้าร่วมรับฟังการประเมินนโยบายการค้า จากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของ สปป.ลาว ซึ่งมีหลายประเทศได้เสนอความเห็นว่า ต้องการให้ลาวปรับปรุงกระบวนการทางภาษีและกระ บวนการด้านศุลกากร เพราะกระบวนการทางศุลกากรใช้เวลานาน และมีหลายขั้นตอน ทำให้ไม่สะดวก เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดการค้านอกระบบขึ้น

ปัญหาที่สอง การชำระเงินสำหรับการค้า มีการชำระผ่านระบบธนาคารไม่มากนัก ยังมีการใช้บริการเงินด่วนนอกระบบ มีการโอนเงินผ่านตัวแทนนอกระบบ เนื่องจากผู้ค้ามองว่าการใช้บริการผ่านธนาคารไม่สะดวก อีกทั้งค่าธรรมเนียมการใช้บริกามีอัตราสูง ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) กับธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้ร่วมกันตั้งทีมงานขึ้นมาศึกษาพร้อมกับมอบหมายให้สมาคมธนาคารรับไปดำเนินการ เพราะธนาคารกลางของทั้งสองประเทศไม่ต้องการที่จะเข้าแทรกแซงภาคธุรกิจ จึงให้สมาคมธนาคารของทั้งสองประเทศร่วมกันหาทางลดค่าธรรมเนียมลง

“เรารู้ว่าการค้าที่มีการชำระเงินนอกระบบมีเยอะมาก แต่ไม่รู้ว่ามากแค่ไหน ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว ยังไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติตรงนี้ มีเฉพาะข้อมูลในระบบ ข้อมูลนอกระบบก็เป็นการประมาณการเอา”

ตลาดเงินตลาดทุนยังมีข้อท้าทาย

ท่านนางวัฒนากล่าวถึงพัฒนาการของภาคการเงิน ระบบการเงิน และสถาบันการเงินของลาว ว่า สถาบันการเงินในประเทศขยายตัวมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 30 ปีก่อน เพราะในปี 1990 มีการปรับระบบเศรษฐกิจมาเป็นระบบตลาด มีการร่างกฎหมายใหม่ มีการแก้ไขกฎหมายเดิม ส่งผลให้ธนาคารจากเดิมเป็นธนาคารของรัฐ มีสถานะเป็นธนาคารธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้มีการแก้ไขกฎหมายเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคการเงินธนาคารซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 43 แห่ง

“นับตั้งแต่มีการรวมตัวเป็น AEC มีต่างชาติจาก 9 ประเทศเข้ามาลงทุนในภาคการเงินของลาว โดยมี 5 ประเทศเป็นสมาชิกอาเซียน” ท่านนางวัฒนากล่าว

สำหรับธนาคารรัฐมี 3 แห่ง และมีธนาคารเฉพาะกิจอีก 1 แห่ง ได้รับงบประมาณจากรัฐเพื่อนำไปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือนทุกข์ยาก ไม่มีรายได้ตามนโยบาย ซึ่งธนาคารเหล่านี้ไม่ได้รับเงินฝากจากประชาชน

ส่วนธนาคารต่างประเทศ มีสถานะบริษัทในเครือ (subsidiary) ของสาขาธนาคารต่างชาติ และสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2018 มีจำนวน 142 พันล้านกีบ

สำหรับสาขาของธนาคารพาณิชย์มีอยู่ในทุกแขวง แต่ไม่ครบทุก 140 เมืองทั่วประเทศ และมีอีก 30 เมืองที่ยังไม่มีเครือข่ายธนาคาร จึงนับเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ

นอกจากนี้ยังมีสถาบันการเงินอีก 5-6 ประเภท ได้แก่ ไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งมีทั้งที่รับเงินฝากและไม่รับเงินฝาก เป็นสถาบันการเงินกึ่งรัฐ ทรัพย์สินของไมโครไฟแนนซ์มีไม่ถึง 5% ของระบบธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงธนาคารชุมชนนับเป็น 3-4 พันแห่ง และกองทุนหมู่บ้าน

กองทุนหมู่บ้านดำเนินการมาได้ 15 ปี หลังจากมีการจัดตั้งในช่วงปี 2003-2004 จากแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการให้ชุมชนช่วยชุมชน มีการนำไปถือปฏิบัติในหลายภาคส่วนทั้ง NGO องค์การสากล หน่วยงานท้องถิ่นทั้งในระดับแขวง ด้วยการใช้เงินงบประมาณ ภาษีที่จัดเก็บได้ ส่วนในระดับเมืองใช้เงินจากองค์การจัดตั้งในภาคสังคม

ท่านนางวัฒนากล่าวว่า บางหมู่บ้านมี 4-5 กองทุนจากหลายหน่วยงาน จากการสำรวจปี 2017 พบว่า 50% มีแต่ชื่อทรัพย์สินหายไป เพราะการดำเนินการไม่มีระบบ มีการให้กู้ยืม 1-3 ล้านกีบ สูงสุด 50 ล้านกีบ ซึ่งเป็นเงินกู้ในขนาดเดียวกับธนาคารส่งเสริมกสิกรรมให้กู้

รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ธนาคารแห่ง สปป.ลาว หาแนวทางกำกับกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารชุมชน ซึ่งขณะนี้มี 600 แห่ง ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้เข้าไปดูแล มีการจัดทำระบบการบัญชี พร้อมการช่วยเหลือด้านวิชาการจากองค์กระหว่างประเทศ

กองทุนหมู่บ้านเป็นกองทุนที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน ปัจจุบันมี 600 กว่าแห่งซึ่งถือว่ามีจำนวนมากพอสมควรจึงต้องมีแนวทางในการกำกับดูแล

สำหรับกองทุน 600 กองทุนที่เข้าไปดูแลมีความแข็งแกร่ง มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL เพียง 5% แต่สินทรัพย์ขยายตัว

ทางด้านตลาดทุน ท่านนางวัฒนาเล่าว่า ตลาดหลักทรัพย์ลาวได้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อ 9 ปีก่อนมีบริษัทจดทะเบียน 11 แห่งระดมทุนได้ 12-13% ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาค ไฟฟ้า พลังงาน ก่อสร้าง และภาคการเงิน

“ปัจจุบันเท่าที่ทราบมีหลายบริษัทที่เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องใช้เวลา เนื่องจากภาคการผลิตของลาวยังไม่เข้มแข็งพอ และไม่ขยายตัวมากพอที่จะจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้” ท่านนางวัฒนากล่าว

การพัฒนาตลาดทุนเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลในการระดมแรงจากประชาชนรายย่อย เพื่อใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งการผลิต ขับเคลื่อนได้ในระดับหนึ่ง แต่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลายด้านมีความท้าทาย ได้แก่ หนึ่ง แนวปฏิบัตินโยบายเงินตรา เพราะการผลิตที่ยังไม่เข้มแข็งทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อย มีผลต่อการบริหารเงินตรา ผนวกกับการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่เป็นระบบ ทั้งสองจุด มีการใช้เงินตราหลายสกุล สาเหตุหลักมาจากรับกระทบของเงินเฟ้อที่สูงจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ลาวได้รับผลกระทบหนักช่วงปี 1998-2001 อัตราเงินเฟ้อสูงถึงกว่า 160% ทำให้ประชาชนกระจายความเสี่ยงด้วยการไปสินทรัพย์ต่างประเทศ และซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ยังนิยมใช้ ทำให้การบริหารเงินตราทำได้ค่อนข้างยาก การติดตามไม่ทัน

สิ่งท้าทายข้อสองได้แก่ การดูแลเสถียรภาพการเงิน ลาวมีความเสี่ยงหลายข้อ การวิเคราะห์ความเสี่ยงยังไม่เป็นระบบ วิสาหกิจที่ดำเนินธุรกิจมีหลายบัญชี ไม่ใช้บัญชีเดียว ธนาคารกลางกำลังผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel ที่ต้องมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงในแต่ละด้าน และการดูแลความเสี่ยงให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารความเสี่ยงของธนาคาร และแนวปฏิบัติเรื่องใหม่ของธนาคารพาณิชย์ที่นำมาตรฐานสากลเข้ามาใช้

ข้อสาม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีไม่มากนัก จากผลิตภัณฑ์การเงินที่นำเสนอในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน เพราะที่ผ่านมาไม่มีการแข่งขันกันมาก

“ปัจจุบันการแข่งขันอิ่มตัว ตอนนี้ถึงจุดที่แต่ละธนาคารต้องหาจุดขายของตัวเอง การขยายสินเชื่อเพื่อให้เข้าสู่ภาคการผลิต ยังไม่ได้เป็นไปตามทิศทางที่วางไว้ ดังนั้นการที่จะผลักดันให้เข้าสู่การเงินที่รับผิดชอบ หรือ sustainable banking ก็ยังเป็นปัญหาท้าทาย”

อีกหนึ่งความท้าทายของระบบตลาดเงิน คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดเงินของวิสาหกิจของลาว เนื่องจากต้องใช้เวลาในการค้นคว้าหาข้อมูลและการตัดสินใจ ยังต้องมีการให้คำแนะนำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการระดมเงินจากตลาดทุน ที่จะต้องดำเนินการต่อไป รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความสมามารถของบุคลากรทั้งธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ ที่จะปรับวิสัยทัศน์ เพื่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เปิดประตูทางการเงินไม่จำกัดขอบเขตธนาคารต่างชาติ

ท่านนางวัฒนากล่าวอีกว่า การเข้าเป็นสมาชิก WTO และการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลให้การค้าของลาวขยายตัวดี เพราะการค้าการเปิดเสรีทางการค้าอยู่ในกรอบอาเซียน แต่ได้นำหลักการของ WTO มาปฏิบัติใช้ในเรื่องเดียวกัน อีกทั้งเมื่อเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนได้ประโยชน์หลายด้าน เป็นประโยชน์โดยรวมกัน คือ ได้ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้า

นอกเหนือจากนี้ คือ ด้านการเงิน โดย สปป.ลาว ใช้นโยบาย เปิดกระตูทางการเงิน โดยเฉพาะด้านธุรกิจธนาคาร ลาวไม่ได้จำแนก หรือจำกัดขอบเขตการทำธุรกิจของธนาคารในประเทศและธนาคารต่างประเทศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างธนาคารในประเทศและธนาคารต่างประเทศ ธนาคารในประเทศดำเนินธุรกิจใดได้ ธนาคารต่างประเทศก็สามารถดำเนินธุรกิจในแบบเดียวกันได้ ทำได้เหมือนกัน

“เมื่อดูแล้ว สปป.ลาว นับว่าเปิดกว้างพอสมควร และขณะนี้อยู่ในช่วงการเปิดเสรีรอบที่ 10 ในภาคบริการทางการเงินของอาเซียน ซึ่งลาวประเมินแล้วก็เห็นว่าลาวได้เปิดกว้างพอสมควร อยู่ในอาเซียน การเปิดเสรีกว้างแบบนี้ เราเห็นเราได้ประโยชน์”

ประโยชน์ที่ได้คือ หนึ่ง ธนาคารในประเทศเองจะได้เรียนรู้จากธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว และก็ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะการแข่งขันเพิ่มขึ้น มีการถ่ายทอดโนว์ฮาวมากขึ้น บางครั้งการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ธนาคารในประเทศมีแนวคิดแบบหนึ่ง แต่เมื่อธนาคารต่างประเทศเข้ามา ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ มีการเรียนรู้ มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น

สอง สิ่งที่ได้จากการเปิดเสรีภาคการเงิน คือ ภาคบริการทางการเงินเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ แต่ลาวอาจจะยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการคุ้มครอง แต่การคุ้มครองในปัจจุบันได้ร่วมมือกับหน่วยงานด้านการกำกับดูแลของประเทศคู่ค้า เช่น ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ได้มีข้อตกลงกับ ธปท. ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินข้ามพรมแดน เมื่อ ธปท. เข้ามาตรวจสอบบริษัทลูกที่ทำธุรกิจในลาวของธนาคารไทย หรือการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยที่อยู่ในลาว ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ก็จะมีการทำงานร่วมมือกัน ประสานงานกัน ให้การคุ้มครองธนาคารพาณิชย์มีความเข้มข้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ท่านนางวัฒนากล่าวว่า การพัฒนาภาคการเงินของลาวด้วยการเปิดเสรีให้ธนาคารต่างชาติเข้ามายังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศยังไม่แข็งแกร่งมากนัก แต่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศยังรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ เพราะธนาคารต่างชาติไม่ได้ทำธุรกิจในทุกด้าน

“วันแรกที่เราเปิดเสรีในภาคบริการทางการเงิน เราเปิดเสรีทั้งธนาคารในประเทศและธนาคารต่างชาติ เปิดพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แต่การที่ธนาคารพาณิชย์ลาวสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและสามารถแข่งขันได้ เป็นเพราะเมื่อธนาคารต่างชาติเข้าในลาว ไม่ได้มีความสนใจที่ขยายธุรกิจครอบคลุมไปทุกด้านทั้งประเทศ แต่มีความสนใจในบางด้านเท่านั้น และเป็นการเข้ามาตามลูกค้าธุรกิจเพื่อที่จะให้บริการลูกค้าดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกของธนาคารต่างชาติ ในทางตรงข้ามเมื่อธนาคารพาณิชย์ลาวมีการก่อตั้งขึ้น ก็มีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการไปทั่วในทุกด้านและครอบคลุมพื้นที่ของประเทศให้มาก เป้าหมายของธนาคารต่างชาติและธนาคารพาณิชย์ในประเทศจึงแตกต่างกัน” ท่านนางวัฒนากล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ขอบเขตการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในประเทศและธนาคาต่างประเทศอาจจะทับซ้อนกันอยู่บ้าง เป็นเรื่องของระยะเวลาในการดำเนินงานที่นาน อย่างเช่น บริษัทลูกของธนาคารไทยที่เข้ามาทำธุรกิจใน สปป.ลาว อาจจะอิ่มตัว ถ้าจะรอให้บริการเฉพาะลูกค้าตัวเองก็จะไม่สามารถอยู่รอดทางธุรกิจได้ ปัจจุบันเห็นธนาคารไทยมีความแข็งขันกระตือรือร้นในการขยายการให้บริการทางการเงินกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยในลาว เช่นเดียวกับธนาคารในประเทศ ขณะเดียวกันธนาคารในประเทศก็พิจารณาแล้วว่าจะต้องมีแนวทางการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นอกจากการให้บริการลูกค้ารายย่อยแล้ว จะต้องให้บริการกล่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่รายย่อย เพื่อให้ผู้ประกอบการของลาวสามารถขยายตลาดออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ เพราะยุคนี้เป็นยุคการแข่งขัน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ธนาคารกลางได้เสนอวิสัยทัศน์ ปี 2015 ธนาคารกลางผ่านยุทธศาสตร์พัฒนาระบบสถาบันการเงินและเงินตราต่อรัฐบาล ซึ่งปี 2019 เป็นปีที่ 5 ของแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วหลายด้าน ส่วนวิสัยทัศน์ 2030 มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศและสร้างระบบการเงินที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพและมีความสามารถในการแข่งขัน

ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบการเงินปี 2025 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ หนึ่ง การรักษาเสถียรภาพเงินตรา สอง พัฒนาระบบสถาบันการเงินและเงินตราให้เข้มแข็งมั่นคง สาม พัฒนาระบบการชำระเงินให้เป็นระบบที่ทันสมัยและปลอดภัย และสี่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสถาบันการเงิน เงินตรา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

ท่านนางวัฒนากล่าวว่า ยุทธศาสตร์แรก ด้านเงินตราได้แก่ หนึ่ง มีกลไกการรักษาเสถียรภาพเงินตราให้ต่อเนื่อง สอง การพัฒนาตลาดเงิน ให้สามารถเป็นเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของะรบบสถาบันการเงินและเงินตราอย่างมีประสิทธิภาพ สาม ปัญหาหลัก คือ การจัดเก็บข้อมูล จึงมีโครงการปรับปรุงแบบจำลอง สถิติเงินตรา ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา และสี่ สร้างกลไกการประสานงานด้านเศรษฐกิจมหภาคระหว่างหน่วยงานด้านเศรษฐกิจให้มีความเป็นเอกภาพ

ท่านนางวัฒนากล่าวว่า ระบบ Money Market Operations หลายด้านมีความคืบหน้า ส่วนตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคาร (interbank lending market) ได้เปิดตัวมา 8 ปี แต่ไม่มีธุรกรรม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีธนาคารพาณิชย์เข้ามาทำการซื้อขาย ทางด้านตลาดเงินตราระหว่างประเทศนั้น (interbank foreign exchange) ปัจจุบันมี เงินกีบ กับเงินบาท ไตรมาสสามปีนี้จะเพิมเงินหยวนเข้าไป

“การดูแลเงินตราต่างประเทศจะเน้นไปที่ การใช้เงินตราต่างประเทศ แต่เงื่อนไขปัจจุบันได้เปิดเสรีมากในการใช้เงินตราต่างประเทศ อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินตราต่างประเทศ เพื่อปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้กระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าประเทศ รวมทั้งได้อนุญาตให้นิติบุคคลในลาวกู้เงินจากต่างประเทศได้ เนื่องจากเงินออมในประเทศไม่เพียงพอ แต่หากปล่อยเสรีมากจะมีผลต่อหนี้ของประเทศได้ ซึ่งธนาคารกลางได้ติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกับหาแนวทางรองรับการขยายตัวระยะปานกลางและระยะยาว ที่จะไม่เกิดเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินของ สปป.ลาว” ท่านนางวัฒนากล่าว

ท่านนางวัฒนากล่าวว่า การบริหารเงินตราต่างประเทศได้ยึด 2 หลักการ คือ หนึ่ง คุ้มครองตัวเอง และสอง ความปลอดภัย สองหลักการนี้มาก่อน ในแง่การคุ้มครองตัวเอง เนื่องจากลาวมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนน้อยมีจำกัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เพราะปัจจุบันสินทรัพย์ที่ธนาคารแห่ง สปป.ลาว ลงทุนได้คือ พันธบัตรของรัฐบาล ยังไม่สามารถลงในตราสารหนี้เอกชนได้ ยังไม่ถึงจุดนั้น

ด้านที่สอง ต้องบริหารตะกร้าเงินได้สมดุลกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ หนี้สินระหว่างประเทศ หากการค้า การลงทุน หนี้สินระหว่างประเทศ ใช้สกุลใดเป็นหลัก ก็จะบริหารเงินตราต่างประเทศไปทางสกุลนั้น แต่ระยะหลังที่เงินดอลลาร์ผันผวนก็เริ่มพิจารณาทางเลือกอื่นๆ และจะปรับตะกร้าเงินให้ยืดหยุ่นขึ้น

สำหรับโครงการการจัดเก็บข้อมูล หรือ big data นั้น ท่านนางวัฒนากล่าวว่า ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาวให้ความสำคัญมาก แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ อยู่ในช่วงกำลังศึกษาถึงแนวทางที่จะนำมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีต้นทุนต่ำที่สุด เพราะระบบสถาบันการเงินในลาวในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาประสบปัญหามาแล้วจากการที่แต่ละรายลงทุนอย่างมากในด้านเทคโนโลยี ต่างคนต่างลงทุน จึงมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ปัจจุบันหากมีการลงทุน ธนาคารกลางในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแล ต้องการให้อุตสาหกรรมการเงินการธนาคารมีต้นทุนต่ำ เป้าหมายโดยรวม ต้องมีการหารือกันถึงแนวทาง

สำหรับยุทธศาสตร์ที่สอง การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกอบด้วยการดำเนินการหลายด้าน หนึ่ง การยกระดับการดูแลธนาคารพาณิชย์ การสร้างโรดแมปการนำหลักเกณฑ์ Basel II และ Basel III ให้ทุกธนาคารปรับใช้ภายในปี 2025 พร้อมกับมีกลไกการประเมิน ติดตามอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์

สอง ส่งเสริมธนาคารพาณิชย์ให้ปรับปรุงโครงสร้างให้เข้มแข็งและมั่นคง และต้องมีธนาคารพาณิชย์ 1 แห่งที่ได้มาตรฐาน QAB หรือ Qualified ASEAN Bank รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจให้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ

สาม สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ง่ายขึ้น สี่ สร้างความเข้มแข็งให้ตลาดทุน มีการขยายตัวมีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคและระดับโลก

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์หลายด้านที่ไม่คล่องตัว เช่น การปรับปรุงสินเชื่อ บัตรเครดิต หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ระบบข้อมูลเครดิต ซึ่งขณะนี้ลาวกำลังพิจารณาที่จะจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคล เพราะปัจจุบันธนาคารต้องวิเคราะห์กันเอง รวมทั้งปรับโครงสร้าง และในอนาคตอาจจะส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ส่วนการค้ำประกันสินเชื่อยังไม่มีระบบค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่ม SME และบริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สิน รวมไปถึงจะเสนอการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากต่อรัฐบาลเพื่อคุ้มครองการใช้บริการทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้บริการทางการเงิน

ยุทธศาสตร์ที่สาม การพัฒนาระบบการชำระเงินที่รวมศูนย์ ซึ่งให้ความสำคัญการทำธุรกรรมที่ปลอดภัย ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของลาว โดยเริ่มจากระบบการชำระเงิน 5 ปีตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ 9 ซึ่งจะเริ่มใช้ปี 2020 โดยจะครอบคลุมการเงินดิจิทัล และการให้สินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล ควบคู่กับเงินฝาก พร้อมกับฟินเทคด้านการชำระเงิน

การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้อนี้ คือ การสร้างให้ระบบการชำระเงินขของประเทศมีประสิทธิภาพและทั่วถึง สามารถรองรับธุรกรรมที่หลากหลาย มีความปลอดภัยและใช้ได้ทุกเวลา รวมทั้งมีการเชื่อมโยงตู้เอทีเอ็มให้ใช้ได้ทั้งระบบธนาคาร และปรับปรุงโครงสร้างธนบัตรให้เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงและกระจายธนบัตรให้ทั่วถึง

ก่อนหน้านี้ในปี 2015 ได้มีการใช้ระบบโอนเงินรายย่อย (switching pool) รองรับการใช้เอทีเอ็ม บัตรเดบิต ของธนาคารหลายแห่งรวมกัน แต่ได้ยกระดับลาวเอทีเอ็มพูลขึ้นเป็นพร้อมเพย์แบบไทย และตั้งเป็นบริษัทเอกชนคล้าย ITMX ของไทย เพื่อที่จะใช้โอนเงินผ่านระบบธนาคารเป็น gateway สำหรับการชำระเงินผ่าน QR code ผ่านระบบธนาคารในระยะอันใกล้นี้

“การชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดใน 4-5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีเครื่องรูดบัตรกว่า 4,000 เครื่อง มีการใช้โมบายแบงกิง และมี 2 ธนาคารที่ใหบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) มี 6 ธนาคารใช้ QR code และอีก 1 ธนาคารให้บริการผ่าน WeChat ส่วนการชำระเงินข้ามแดนผ่าน Swift กับ Western Union และมีธนาคารไทยที่ให้บริการชำระเงินข้ามแดน 2 รายผ่าน QR code จำนวน 2 ราย คือ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารธนชาติ” ท่านนางวัฒนาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

การพัฒนาระบบชำระเงินจะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนที่มีปริมาณสูง โดยเฉพาะกับไทย ซึ่งธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาวกับ ธปท. ได้ร่วมมือกันหลายด้านเพื่อส่งเสริมการชำระงินให้เข้ามาอยู่ในระบบธนาคาร ซึ่งมีผลต่อระบบภาษี ควบคุมการฟอกเงิน และอื่นๆ

ท่านนางวัฒนากล่าวถึงการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับอาเซียนและระหว่างประเทศว่า การเชื่อมโยงกับอาเซียน เป็นระบบที่ใช้งานร่วมกัน interoperable มีหลายด้านที่ธนาคารกลางจะดำเนินการเงิน พัฒนาบริการชำระเงินด้วย interoperable QR code ที่เป็นมาตรฐานสากลและมาตรฐานแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วในช่วงต้นปี 2020 จากการช่วยเหลือของ ธปท.

ในอีก 5 ปีข้างหน้า ระบบธนาคารจะใช้การเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน API เทคโนโลยี 4G เทคโนโลยี 5G ซึ่งกำลังดำเนินการ

ระบบการชำระเงินเป็นภาระบทบาทของธนาคารกลางนับตั้งแต่ 11 ปีก่อน มีการกำกับดูแลการชำระเงิน แต่ส่วนใหญ่ในลาวมีการใช้เงินสดมาก ส่วนการโอนระหว่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมโยงระหว่างประเทศในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ในปี 2017 ได้ออกกฎหมายชำระเงิน ด้วยความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย มีการจัดตั้งฝ่ายงานใหม่ในโครงสร้างธนาคารกลาง มีการวางระบบดูแลการชำระเงิน (supervision framework for payment)

รวมทั้งมีระบบการชำระเงินแบบทันสมัยให้สถาบันการเงินเพื่อให้บริการลูกค้าแบบเรียลไทม์ มีศูนย์รับฝากชำระเช็ค ซึ่งปริมาณการใช้เช็คกับการโอนเงินแบบเรียลไทม์มีมูลค่าใกล้เคียงกัน แต่การโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์เริ่มขยายมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์จะมากขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 4 โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ซึ่งจะช่วยการเงินมีความปลอดภัย รวมทั้งระบบการบัญชี เป็นการรองรับอนาคตใน 5-10 ปีข้างหน้า โดยจะพัฒนาให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ มีระบบการรายงานสถิติ ระบบการติดตามฐานะการเงินให้ชัดเจน ตลอดจนมีการบริหารบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ที่ผ่านมาการกำกับดูแลเน้น ต้องให้ความสำคัญ เน้นการดูแลเสถียรภาพ (prudential) มากเกินไป แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าต้องดำเนินการควบคู่กับหลักสากล และนำหลักการการเงินยั่งยืนเข้ามาประยุกต์ใช้การให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะภาคพลังงานและเหมืองแร่ ซึ่งกำลังพิจารณา โดยคาดว่าจะเริ่มออกยุทธศาสตร์ในเร็วๆ นี้

ในปี 2020-2025 จะเพิ่มอีก 2 ยุทธศาสตร์ คือ ขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการเพิ่มความเข้มแข็งของไมโครไฟแนนซ์

สำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน ท่านนางวัฒนากล่าวว่า 70% เข้าถึงบริการทางการเงินกองทุนหมู่บ้าน การเข้าถึงบริการทางเงินผ่านไมโครไฟแนนซ์ลดลงมาที่ 35% ขณะการใช้บริการโมบายแบงกิง 98% โดยที่ผ่านเทคโนโลยี 4G เพียง 10% ผ่านเทคโนโลยี 3G ในสัดส่วน 30% 3G ส่วนที่เหลือผ่าน 2G

ปัจจุบัน ประชาชนเปิดบัญชีกับสถาบันการเงิน 3.2 ล้านบัญชี จากประชากรรวม 6.7 ล้านคน มีบัตรเอทีเอ็มกว่า 1 ล้านใบ ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ากัมพูชา และมีธนาคารพาณิชย์ 15 แห่งให้บริการโมบายแบงกิง ส่วนฟินเทคจะมีบทบาทอย่างไรในระบบการเงิน ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว จะต้องทำการศึกษาเพื่อกำหนดบทบาทในด้านที่เหมาะสมในการพัฒนาระบบการเงิน

ท่านนางวัฒนากล่าวว่า ธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว ยังมีแผนที่จะส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการใช้บริการทางการเงิน หรือ financial literacy โดยเริ่มจากการสร้างโรดแมปเพื่อให้เข้าใจ ร่วมกับสถาบันการศึกษา เผยแพร่สื่อความรู้ต่างๆ ให้ประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริการทางการเงินต่างๆ แม้จะเริ่มดำเนินการช้า แต่จะทำอย่างต่อเนื่อง

ท่านนางวัฒนากล่าวปิดท้ายการให้สัมภาษณ์ว่า ความร่วมมือกับระหว่างธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว กับธนาคารแห่งประเทศไทย มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยาวนาน มีความร่วมมือหลายด้าน มีการจัดประชุมประจำปีของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งมีการหารือ แลกเปลี่ยนนโยบาย มีการส่งเจ้าหน้าที่แลกเปลี่ยนมาฝึกงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย มีคณะผู้แทนแลกเปลี่ยนทางวิชาการ มีการแข่งขันกีฬาประจำปี และช่วยเหลือกันในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน และอาเซียนบวก 3