ThaiPublica > เกาะกระแส > Krungthai COMPASS คาดงบปี’63 ล่าช้า ทำเงินลงทุนรัฐลด 2-4 หมื่นล้าน ฉุด GDP โต 2.1%

Krungthai COMPASS คาดงบปี’63 ล่าช้า ทำเงินลงทุนรัฐลด 2-4 หมื่นล้าน ฉุด GDP โต 2.1%

11 กุมภาพันธ์ 2020


Krungthai COMPASS คาดงบฯปี 2020 ที่ล่าช้าทำให้เงินลงทุนรัฐลด 2-4 หมื่นล้านบาท และฉุด GDP โตเพียง 2.1%

เป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2020 เผชิญความเสี่ยงจากหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งจากภายในและภายนอก เพียงแค่เดือนแรกของปีก็มีข่าวด้านลบเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับตะวันออกกลาง ฝุ่น PM 2.5 จวบจน ไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่จากประเทศจีนที่สถานการณ์ปัจจุบันยังคงไม่สู้ดีนัก ซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบภาคการท่องเที่ยวของไทย รวมไปถึง ภาคการส่งออก เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2020 ที่ดูท่าทางจะเร่งเครื่องไปไม่ได้ไกลมากนัก

ความคาดหวังของหลายฝ่ายจึงมาตกอยู่ที่การลงทุนภาครัฐซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะเร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่คำตัดสินของศาสรัฐธรรมนูญที่มีต่อพ.ร.บ. งบประมาณ เมื่อ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา จะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณต้องล่าช้าไปอีกแค่ไหน และจะทำให้การลงทุนภาครัฐยังช่วยเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ได้อยู่หรือไม่

งบประมาณปี 2020 ที่ล่าช้ามีที่มาที่ไปอย่างไร ?

จากรูปที่ 1 จะพบว่า โดยปกติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี จะมีการบังคับใช้ในเดือน ก.ย. และเบิกจ่ายได้ ในเดือน ต.ค. ของทุกปี แต่เนื่องจากปีนี้มีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า กระบวนการพิจารณาร่างงบประมาณจึงล่าช้าออกไปประมาณ 4 เดือน ส่งผลให้การบังคับใช้เลื่อนออกไปอยู่ที่เดือน ม.ค. ซึ่งกฎหมายวิธีการงบประมาณได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณในกรณีที่การจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า ให้หน่วยงานต่างๆ สามารถใช้งบประมาณปีก่อนหน้าไปพลางก่อนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50% ของงบรายจ่ายประจำปีงบประมาณปีก่อนหน้า ซึ่งรวมถึง รายจ่ายลงทุนที่มีภาระผูกพัน อย่างไรก็ตาม งบลงทุนใหม่จะยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้

กรณี ส.ส. เสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ในวาระที่ 2-3 ทำให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ส่งผลให้งบล่าช้ายืดเยื้อออกไป ครม. จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 75% จากเดิมที่ขยายไปแล้ว 50% และล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่างบฯ ปี 2020 ขัดกับหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่โมฆะ โดยให้โหวตใหม่ในวาระ 2-3

การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง พ.ร.บ. งบประมาณจะส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างไร ?

Krungthai COMPASS คาดว่า การโหวตวาระ 2-3 ใหม่ของ พ.ร.บ. งบประมาณ กำหนดไว้เบื้องต้นในวันที่ 13 ก.พ. 20 จะทำให้งบประมาณสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ช้ากว่าคาดการณ์เดิมประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายงบในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ(ต.ค.-ธ.ค. 19) จะไม่เป็นไปตามเป้า โดยเมื่อเปรียบเทียบ การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2020 กับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา (รูปที่ 2) พบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก ทั้งรายจ่ายประจำที่เบิกจ่ายได้ 27.7% และงบลงทุนที่เบิกจ่ายไปได้เพียง 4% เท่านั้น ในขณะที่ ค่าเฉลี่ย 5 ปี ของการเบิกจ่ายงบประมาณไตรมาสแรกของรายจ่ายประจำ และงบลงทุนอยู่ ที่ 34.1% และ 12.1% ตามลำดับ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในไตรมาสแรกปี 2020 อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีถึง 6.8%

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับงบรายจ่ายประจำ และงบลงทุนมีความแตกต่างกันหรือไม่ ?

แม้ว่า งบประมาณปี 2020 จะล่าช้าแต่การเบิกจ่ายงบประจำจะสามารถเบิกจ่ายได้เต็มวงเงินที่ 2.4 ล้านล้านบาท เราคาดว่างบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ (อาทิ เงินเดือนข้าราชการ ค่ารักษาพยาบาล) และเมื่อ พ.ร.บ.บังคับใช้ คาดว่ารายจ่ายประจำในปีงบประมาณ 2020 จะเร่งเบิกจ่ายได้เต็มวงเงินที่ 2.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 75% ของวงเงินทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบลงทุน วงเงิน 6.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายไม่ได้ตามเป้า เนื่องจากงบลงทุนใหม่ที่มีวงเงินประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ยังเบิกจ่ายไม่ได้จนกว่างบประมาณปี 2020 จะผ่าน ซึ่งโดยปกติแล้วงบลงทุนจะมีอัตราการเบิกจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 60% ซึ่งถือว่าไม่สูงนัก โดยเฉพาะ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ(ไม่ถึง 60%) ซึ่งหากงบภาครัฐยิ่งล่าช้า จะยิ่งทำให้โอกาสในการเบิกจ่ายงบลงทุนไม่เป็นไปตามเป้า อันเนื่องมาจาก กระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลราคาที่มีขั้นตอนมาก ซึ่งใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน โดย Krungthai COMPASS มองว่า งบลงทุนในปี 2020 จะเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในกรอบ 5-10% โดยมีรายละเอียดดังรูปที่ 3

แล้วผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ?

Krungthai COMPASS ประมาณการว่าการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล้าช้าไปถึงเดือน มี.ค. จะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐปีนี้ลดลงจาก 5.3% เหลือ 3.3% ทำให้เม็ดเงินในส่วนนี้ของปี 2020 หายไปราว 2-4 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จะส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2020 ถูกปรับลงจากเดิม 2.8% เหลือ2.1%

สรุปมุมมอง Krungthai COMPASS

การเบิกจ่ายงบประมาณช้าไปจากเดิมอีกประมาณ 1 เดือน จะทำให้การลงทุนภาครัฐขยายตัวชะลอลงจากประมาณการเดิม โดยเราคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้เพียง 3.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 5.3% ในเดือน พ.ย. 19 และเมื่อรวมกับปัจจัยเสี่ยงที่รายล้อมเศรษฐกิจไทยเราจึงปรับประมาณการจีดีพีลงจากเดิมในเดือน พ.ย. 19 ที่ 2.8% มาอยู่ที่ 2.1%
โดยเราคาดว่าหลัง พ.ร.บ. งบประมาณ 2020 มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะระดมมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยคาดว่าจะมุ่งไปที่การกระตุ้นการบริโภค และช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวเป็นพิเศษ

รายงานโดย ชญานิน ถาวรลัญฉ์ และมานะ นิมิตรวานิช Krungthai COMPASS