ThaiPublica > เกาะกระแส > อุตสาหกรรมแบงก์ปี ’62 กำไร 2.7 แสนล้าน สินเชื่อชะลอ จับตา “มาตรการปรับโครงสร้างหนี้”

อุตสาหกรรมแบงก์ปี ’62 กำไร 2.7 แสนล้าน สินเชื่อชะลอ จับตา “มาตรการปรับโครงสร้างหนี้”

17 กุมภาพันธ์ 2020


นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท.

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ของปี 2562 โดยนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง ระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นจากการรับรู้กำไรพิเศษเป็นสำคัญ ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,845 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน การออกหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่งเพื่อรองรับการควบรวมกิจการ รวมถึงการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 19.6 เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูงที่ 701.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32.4 พันล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ทรงตัวที่ร้อยละ 149.9 ด้านอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (liquidity coverage ratio: LCR) อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 187.5

ปี 2562 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 270.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 30.8 ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้กำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิลดลงเล็กน้อยจากรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและรายได้ค่านายหน้าขายหลักทรัพย์ โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (return on assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.39 จากร้อยละ 1.11 ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (net interest margin: NIM) ทรงตัวที่ร้อยละ 2.73

สำหรับภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 64.1 ของสินเชื่อรวม) หดตัวร้อยละ 0.8 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการชำระคืนหนี้ในหลายประเภทธุรกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวร้อยละ 1.9 และสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวร้อยละ 2.1 ทั้งนี้สินเชื่อที่ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท) ขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2562
  • สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 35.9 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 7.5 ชะลอลงจากปีก่อนในประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวได้ในระดับสูง

คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loan: NPL) อยู่ที่ 465 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.98

โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อด้วยการตัดหนี้สูญและการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (special mention: SM) ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.42 ณ สิ้นปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.79 จากทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค หากตัดผลของรายการพิเศษออก ROA และ NIM ของปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.01 และ 2.71 ตามลำดับ

“สำหรับผลกระทบของโคโรนา สถาบันการเงินมีกันชนเยอะอยู่ การรองรับหนี้ที่ด้อยคุณภาพอาจจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในธุรกิจที่อาจจะถูกกระทบอาจจะคิดเป็น 10% ของสินเชื่อธุรกิจและ 6% ของสินเชื่อทั้งหมด และในนี้ 2 ใน 3 เป็นธุรกิจรายใหญ่ที่ใช้สินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไปซึ่งมีสายป่านยาวพอจะรองรับได้ และที่เหลืออีก 1 ใน 3 จะกระทบจากโรคระบาดได้มาก ส่วนคุณภาพนี้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ถ้าชะลอตัวก็อาจจะด้อยลง แต่ว่าด้วยการขอความร่วมมือจากธนาคารให้ดูแลลูกหนี้เหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่เผชิญคือสภาพคล่องมากกว่าสถานะทางการเงิน เช่น ถูกยกเลิกการซื้อหรือเข้ามาเที่ยว ดังนั้นถ้าสถานการณ์กลับมาปกติก็จะกลับมาได้ ถ้าเข้ามาดูแลสภาพคล่องได้ก็จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ไปต่อไป”