ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการความร่วมมือ จีน-เมียนมา ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM ที่มุ่งสู่ทะเลเบงกอล

โครงการความร่วมมือ จีน-เมียนมา ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM ที่มุ่งสู่ทะเลเบงกอล

24 มกราคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนางออง ซาน ซู จีที่มาภาพ : https://in.glbnews.com/01-2020/CAIiEMhyeGqkA3q1kTc7/

การเดินทางไปเยือนเมียนมาร์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา จีนกับเมียนมาได้มีการลงนามความตกลง ที่ครอบคลุม 33 โครงการ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ความมั่นคง รวมทั้งการจัดการปัญหาคนเมียนมาร์ ที่ผลัดถิ่น เนื่องจากสงครามในรัฐคะฉิน ที่อยู่ติดกับชายแดนจีน

แต่โครงการสำคัญที่สุดคือ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู (Kyaukphyu Special Economic Zone) ในรัฐยะไข่ และท่าเรือน้ำลึกที่ติดกับอ่าวเบงกอล โครงการที่เจาะพยูนี้ ถือเป็นปลายทางของระเบียงเศรษฐกิจ จีน-เมียนมา ระยะทางยาว 1,700 กิโลเมตร ที่จะเชื่อมโยงเมียนมาร์กับโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ส่วนปลายทางของฝั่งจีน คือมณฑลยูนาน

ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM

การลงนามความตกลงระหว่างจีนกับเมียนมา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM” หรือ The Bangladesh-China-India-Myanmar (BCIM) Economic Corridor ที่เริ่มต้นจากมณฑลยูนานของจีน ผ่านเมียรมาร์ บังคลาเทศ และอินเดีย เพื่อมุ่งสู่มหาสมุทรอินเดีย

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือชื่อ Routledge Handbook of the Belt and Road (2019) กล่าวว่า ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM จะเชื่อมโยง 3 ภูมิภาคเข้าด้วยกันคือ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบรรดาประเทศตามระเบียงเศรษฐกิจ BCIM นี้ เมียนมาจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ เพราะตั้งอยู่ในจุดที่เป็นชุมทางของ 3 ภูมิภาคดังกล่าว ส่วนอินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดของเอเชียใต้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่สุดของภูมิภาคนี้ ส่วนบังคลาเทศ ตั้งอยู่ในจุดที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างจีน อินเดีย และอาเซียน

ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM เป็นโครงการที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน อุตสาหกรรมกับการลงทุน และการค้ากับเศรษฐกิจ โดยหนังสือ Routledge Handbook of the Belt and Road กล่าวว่า มีรายละเอียด ดังนี้

    (1)การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นโครงการหลักของระเบียงเศรษฐกิจBCIM โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟ ถนน ท่าเรือ พลังงาน ไฟฟ้า โทรคมนาคม และเงินลงทุน ที่จะมีบทบาทและปัจจัยสำคัญต่อกลุ่มประเทศ BCIM ในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการเพิ่มรายได้ต่อคน เมียนมาร์และบังคลาเทศ มีปัญหาขาดแคลนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า

    (2)ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน เป็นอีกโครงการหลักของระเบียงเศรษฐกิจ BCIM เนื่องจากประเทศ BCIM มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ 4 ประเทศต่างจะมีส่วนสนับสนุนกันและกัน ในเรื่องการลงทุน การผลิตและการค้า เช่น ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างจีนกับเมียนมา จีนกับบังคลาเทศ ความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมของจีน จะช่วยอุดช่องว่างการพัฒนาด้านนี้ของเมียนมาร์และบังคลาเทศ

    (3)ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ถือเป็นส่วนสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจ BCIM ความร่วมมือดังกล่าวของกลุ่มประเทศ BCIM จะทำให้เกิดความได้เปรียบด้านการพัฒนา เนื่องจากเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรต่างๆ ความร่วมมือยังจะช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิตในกลุ่มประแทศ BCIM อันเนื่องมาจากจากการโอนเทคโนโลยี การค้าและการลงทุน ที่เกิดขึ้นตามมา

ประตูสู่อ่าวเบงกอล

โครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบและก๊าซ จีน-เมียนมา (China-Myanmar Crude Oil and Gas Pipelines Project) ที่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู เมียนมา กับเมืองคุนหมิงของจีน เป็นโครงการที่เกิดขึ้น ก่อนที่จีนจะประกาศโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ในปี 2008 จีนและเมียนมาลงนามการก่อสร้างโครงการนี้ การก่อสร้างเสร็จในช่วงปี 2013-2014 ใช้เงินลงทุน 2.5 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นโครงการนำร่องของระเบียงเศรษฐกิจ BCIM ในช่วงของเมียนมา ท่อส่งน้ำมันมีความยาว 771 กม. ส่วนในช่วงของจีน มีความยาว 2,806 กม.

หนังสือชื่อ China’s Asian Dream (2019) กล่าวว่า สำหรับจีน การเข้าถึงอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ท่อส่งน้ำมันดิบและก๊าซทำให้จีนสามารถนำเข้าพลังงาน โดยไม่ต้องอาศัยการขนส่งด้วยเรือบรรทุกน้ำมันดิบ ที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกา ช่วยจีนแก้ปัญหาที่เรียกว่า “สถานการณ์ยุ่งยากมะละกา”

การพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งของจีนที่เจาะพยู อ่าวเบงกอล จะทำให้จีนสามารถนำเข้าวัตถุดิบโดยตรง ช่วยประหยัดระยะทางได้หลายพันกิโลเมตร การสร้างศูนย์กลางการค้าขึ้นในบริเวณนี้ จะทำให้บริษัทธุรกิจจีน ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ สามารถส่งออกได้รวดเร็วและประหยัดมาขึ้น เพื่อไปยังตลาดอินเดีย บังคลาเทศ และประเทศอื่นๆ

ระเบียงเศรษฐกิจ BCIM ที่มาภาพ : http://www.thaibizmyanmar.com/th/news/detail.php?ID=1598

ดังนั้น โครงการระเบียงเศรษฐกิจ BCIM จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงด้านคมนาคมระหว่างเมืองคุนหมิงกับเมืองกัลกัตต้าในอินเดีย จีนมีแผนที่จะสร้างเส้นทางคมนาคมคู่ขนานกันระหว่างทางด่วนกับเส้นทางรถไฟ ระหว่างเมืองรุยลี่ (Ruili) เมืองชายแดนของยูนาน มาถึงเจาะพยู ที่บริเวณเมืองมันดาเลย์ จะมีเส้นทางด่วนอีกเส้นหนึ่ง แยกไปยังเมืองธากา ในบังคลาเทศ และกัลกัตต้า อินเดีย เส้นทางนี้มีระยะทาง 2,800 กม. จากคุนหมิงถึงกัลกัตต้า โดยได้รับความเห็นชอบแล้วจาก 4 ประเทศ BCIM

หนังสือ China’s Asian Dream กล่าวว่า ทางด่วนของระเบียงเศรษฐกิจ BCIM จะทำให้เมืองชายแดนรุยลี่ในยูนาน ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราจะกลายเป็นประตูของยูนาน สู่เอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย เมืองนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและโลจิสติกส์ ของสินค้าที่จะไปสู่เอเชียใต้ เดิมเมืองรุยลี่เป็นเมืองการค้าชายแดนจีนกับเมียนมาร์ ส่วนใหญ่เป็นการค้าหยก
แต่หนังสือ China’s Asian Dream สรุปว่า จีนกับบริษัทของจีนจะต้องพยายามอย่างหนัก ที่จะสร้างความไว้วางใจจากคนเมียนมาร์ ก่อนหน้านี้ คนเมียนมาเคยคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนอิรวดี จนในปี 2017 ต้องระงับการสร้างเขื่อนนี้ลงไป เขื่อนดังกล่าวจะขายไฟฟ้า 90% ให้กับจีน

หากจีนสามารถทำให้คนเมียนมาเกิดความเชื่อมั่นไว้วางใจ การค้าระหว่าง 2 ประเทศจะขยายตัว และการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะสิ่งนี้จะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นไปตามธรรมชาติ จากการที่เมียนมาตั้งอยู่ใกล้กับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชีย

คนเมียนมามีความหวาดกลัวกับการที่จีนกำลังพุ่งขึ้นมาเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ แต่คนเมียนมาร์ก็ต้องหาทางที่จะทำให้ประเทศตัวเอง ได้ประโยชน์และสามารถเติบโตพร้อมกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นดังกล่าว

เอกสารประกอบ
Routledge Handbook of the Belt and Road, Edited by Cai Fang and Peter Nolan, Routledge, 2019.
China’s Asian Dream, tom Miller, Zed Book, 2019.