ThaiPublica > คอลัมน์ > เคล็ดลับสร้างสุขของเกาหลี

เคล็ดลับสร้างสุขของเกาหลี

14 พฤศจิกายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/c/c6/Korean_sword_dance-Jinju_geommu-03.jpg/1024px-Korean_sword_dance-Jinju_geommu-03.jpg

ทุกคนอยากมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ละวัฒนธรรมก็มีคำสอนเพื่อให้เกิดความสุขเพียงแต่จะเอาไปปฏิบัติกันมากน้อยเพียงใด วัฒนธรรมเกาหลีมีเคล็ดลับในการสร้างความสุขที่น่าสนใจและน่าดัดแปลงไปใช้

Euny Hong เขียนหนังสือชื่อ “The Power of Nunchi: the Korean Secret to Happiness and Success (2019) เสนอแนะไอเดียเรื่องการนำสิ่งที่เรียกว่า “nunchi” มาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความสุขและความสำเร็จ

“nunchi” หมายถึงศิลปะในการรู้สึกสัมผัสว่าคนอื่นๆ กำลังคิดและรู้สึกอย่างไร และควรตอบกลับอย่างเหมาะสมอย่างไร เด็กๆ เกาหลีถูกสอนให้มี “nunchi” ในทุกลักษณะของการดำเนินชีวิต กล่าวคือให้รู้จักเรียนรู้ว่าคนอื่นๆ หรือกลุ่มคนที่กำลังพูดคุยกันอยู่นั้นกำลังมีความรู้สึกอย่างไร และควรกระทำตนเองอย่างไร ในภาษาไทยเราก็คล้ายกับการรู้จักกาลเทศะ

“nunchi” ดูจะกินความกว้างขวางเพราะหมายถึงการกระทำที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นอันเป็นผลมาจากการมีการกระทำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ไม่พูดโพล่งอะไรที่ไม่เหมาะสมขึ้นมาในยามที่คนที่นั่งรวมกลุ่มกันอยู่นั้นอยู่ในสภาวะเศร้าโศกเสียใจ หรือไม่สังเกตเรียนรู้ว่าที่ประชุมกำลังมีความรู้สึกอย่างไร และกระทำสิ่งที่ตรงข้าม (กำลังจะเลิกประชุมกันเพราะหิวข้าวก็กลับถามคำถามที่ต้องใช้เวลานานในการพูดจากัน)

พูดง่ายๆ ก็คือคนที่ไม่รู้จักสัมผัสสถานการณ์ที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ ไม่เข้าใจว่าคนอื่นกำลังรู้สึกอย่างไร กระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ คือคนที่ขาด “nunchi” ซึ่งเป็นศิลปะอันเกิดจากการสั่งสมทักษะและความรู้

“nunchi” เน้นเรื่องความเร็วในการรับรู้สัมผัส คนที่ช้าในการรับรู้เป็นนัยว่าเจ้าของบ้านอยากให้ลากลับบ้านแล้ว หรือช้าในการสัมผัสว่ากำลังเผชิญกับภยันตราย ย่อมไปไม่ไกลในการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นและอาจไม่มีชีวิตยืนยาวด้วย

ผู้เขียนเน้นว่า “nunchi” เป็นเครื่องมือสำคัญในการสังคม คนเกาหลีมีคำพูดว่า “ครึ่งหนึ่งของ social life คือ nunchi” ทุกคนจำเป็นต้องมี “nunchi” ในการเข้ากับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ในการได้สิ่งที่ต้องการจากผู้อื่น (เนื่องจากรู้สึกสัมผัสความรู้สึกของเขา) และในการป้องกันตนเองจากอันตราย ในสังคมไทยคนซื่อบื้อก็คือคนที่ขาด “nunchi” นั่นเอง

ในสังคมเกาหลีเช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น การแลกเปลี่ยนนามบัตรถือเป็นเรื่องสำคัญ “nunchi” มีบทบาทในเรื่องนี้ดังเห็นได้จากการให้และการรับนามบัตร ทั้งสองฝ่ายต้องใช้มือทั้งสองข้างพร้อมกันในการให้และรับอย่างสุภาพนอบน้อมอย่างเป็นพิธีการ ราวกับมันเป็นสิ่งเปราะบาง เมื่อรับมาแล้วก็ต้องพิจารณาอ่านอย่างตั้งใจสักพักเพื่อให้เห็นว่าเป็นสิ่งมีคุณค่า และให้ความเคารพตัวตนของฝ่ายตรงข้าม คนเกาหลีจะไม่รับนามบัตรและเอาใส่กระเป๋าโดยทันทีอย่างเด็ดขาด

พิธีการนี้คือการให้โอกาสทั้งสองฝ่ายที่จะใช้ “nunchi” ประเมินซึ่งกันและกันเพื่อให้สามารถสัมผัสได้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นใครและเป็นคนอย่างไร สมควรที่จะคบหากันต่อไปหรือไม่ พิธีการนี้คือการเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายเข้าหากัน อันเป็นพื้นฐานของความไว้วางใจในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน หรือคนไม่มีอภิสิทธิ์ ก็สามารถใช้ “nunchi” ได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคำกล่าวในสังคมเกาหลีว่า “nunchi คืออาวุธลับของผู้ที่เสียเปรียบในสังคม” ด้วยซ้ำ คนที่มีทักษะสูงแต่เกิดมาเสียเปรียบสามารถใช้ “nunchi” ในการรู้จักจังหวะที่พูด หรือถาม หรือขอร้อง หรือสัมผัสความต้องการของคนอื่นๆ เสมอ

คนที่เป็นนักพูด ครูอาจารย์ และพระ ซึ่งต้องใช้การพูดเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน หากมี “nunchi” ก็จะสามารถสัมผัสความรู้สึกของผู้ฟังว่าเข้าใจหรือพอใจสิ่งที่ตนกำลังพูดอยู่หรือไม่เพียงใด

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญของการมีความสุขของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ผู้เขียนเชื่อว่าการมี “nunchi” จะทำให้แต่ละคนสามารถสัมผัสและเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นๆ ได้อย่างดีเป็นพิเศษ แนวคิด nunchi จะช่วยทำให้คนคิดถึงการฝึกฝนตนเองให้มี sense ในการสัมผัสสิ่งที่อยู่รอบข้าง และมีการกระทำตอบรับที่เหมาะสมอันจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นในระยะยาว “nunchi” จึงเป็นเคล็ดลับในการสร้างสุข

สำหรับสังคมไทยเรา คำว่า “ไม่เป็นไร” ก็สามารถนำไปใช้ในบริบทของการสร้างสุขได้เช่นเดียวกับ “nunchi” เพียงแต่ยังไม่มีการวิเคราะห์อย่างละเอียดและยังไม่มีคนนำไปเขียนเป็นภาษาอังกฤษแบบ Euny Hong

“ไม่เป็นไร” มีนัยสำคัญว่าเมื่อ “เสีย” ไปแล้วก็อย่าไปหมกมุ่น เสียใจ เสียดายกับมัน คิดว่าช่างมันและตัดมันไป และเริ่มต้นใหม่กันดีกว่า ทัศนคติแบบนี้ทำให้เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ไม่ติดกับดักอดีตโดยยอมรับสิ่งที่เสียไป

“ไม่เป็นไร” ก็มีนัยสำคัญในด้านลบ (เคยมีหนังสือชื่อนี้เป็นภาษาอังกฤษเมื่อหลายปีก่อน) ว่าเป็นทัศนคติที่ไม่ไยดีกับสิ่งลบที่เกิดขึ้น ไม่ให้ความสำคัญหรือให้ความจริงจังกับสิ่งที่ทำอยู่ เพราะคิดว่า “ไม่เป็นไร” อยู่เสมอ ผู้วิจารณ์ด้านลบคิดว่าที่ถูกต้องนั้นมันต้อง “เป็นไร” ถ้ามัวแต่ “ไม่เป็นไร” อยู่เรื่อยมันก็ไม่เกิดสิ่งที่เป็นมรรคเป็นผลขึ้นเสียที

ไม่ว่าจะตีความด้านบวกหรือลบก็ตาม เราต้องยอมรับว่าทัศนคติ “ไม่เป็นไร” นั้นทำให้เกิดความสุขขึ้นได้ กล่าวคือมีความรู้สึกยอมรับสิ่งที่สูญเสีย และมาเริ่มกันใหม่ ไม่จมอยู่ในความทุกข์เพราะทำไม่สำเร็จ คนที่ไม่ว่าอะไรก็ “เป็นไร” อยู่เสมอนั้น จะมีความเครียดเพราะจริงจังเกินไปกับทุกสิ่งในโลกนี้ที่ไม่มีอะไรจีรัง

ในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลื่นไหล และผันผวนอย่างยากแก่การพยากรณ์ แนวคิด “nunchi” ช่วยในการปรับตัวให้เข้ากับผู้คนและสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะ “nunchi” เน้นเรื่องความเร็วและการปรับตัวให้สอดคล้องกับสรรพสิ่ง
การอ่านคนให้ออกนั้นเป็นศิลปะที่สำคัญในการครองชีวิตปัจจุบันที่แสนจะเปราะบางและแสนยากเย็นในการดูแลทรัพย์สมบัติของคนที่มีเงินและอยากได้ผลตอบแทนสูง (ก็โลภนั่นแหละ) ทักษะในการอ่านสถานการณ์และอ่านผู้คนเป็นสิ่งที่เรียนรู้และสั่งสมกันได้ตราบที่พยายามเปิดใจรับรู้สิ่งดีๆ จากทุกวัฒนธรรม

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 12 พ.ย. 2562