ThaiPublica > เกาะกระแส > อวสาน “ขีดคร่อม-สำเนาถูกต้อง”! เปิดตัว Thailand Digital ID นำร่องระบบพิสูจน์ตัวตนออนไลน์

อวสาน “ขีดคร่อม-สำเนาถูกต้อง”! เปิดตัว Thailand Digital ID นำร่องระบบพิสูจน์ตัวตนออนไลน์

14 พฤศจิกายน 2019


ที่มาภาพ : https://library.mju.ac.th/pr/?p=7730

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด หรือ NDID ได้จับมือภาคีครั้งสำคัญกับกลุ่มธนาคารนำร่อง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน บริษัทประกันชีวิต บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือดังกล่าว ภายใต้ชื่องาน “We are ready for Thailand Digital ID” เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าสู่การพิสูจน์ และยืนยันตัวตนดิจิทัล นับเป็นความร่วมมือที่จะผลิกโฉมด้านดิจิทัลไอดี ครั้งสำคัญ ณ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

  • ชวน “อนุชิต อนุชิตานุกูล” คุยเบื้องหลัง National Digital ID คืออะไร – ทำไมประเทศต้องมี?
  • นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กล่าวว่า Digital ID เป็นธุรกิจบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นภารกิจสำคัญของ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะต้องออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดรายละเอียดในการกำกับดูแล ให้เกิดความเชื่อมั่นในด้านความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องเปิดกว้างรองรับทุกเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และระบบต้องมีความมั่นคงปลอดภัย โดยสอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบระบบ ดังนั้นในฐานะ Regulator กำกับดูแลผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์การส่งเสริมการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่ภาคธุรกิจของไทย มีความพร้อม และตื่นตัวในเรื่องนี้ และเชื่อว่าในอนาคตจะมีบริษัทที่ทำ Platform Digital ID เพิ่มมากขึ้น

    นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(เสื้อสีแดง) นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ที่3จากขวา) และนางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานบริษัท ตัวแทนบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (ที่ 2 จากขวา)

    นางสาวสุธีรา ศรีไพบูลย์ รักษาการประธานบริษัท ตัวแทนบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เปิดเผยว่าบริษัทได้ดำเนินการพัฒนาระบบ NDID Platform โดยการพัฒนาให้เกิดเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลต้องให้การยินยอม (Consent) ก่อนการดำเนินการใดๆ ระบบ NDID ไม่มีการรวมศูนย์เก็บข้อมูล ข้อมูลจะถูกเก็บแบบกระจายศูนย์ภายใต้หน่วยงานที่ดูแลข้อมูลนั้นๆ ระบบถูกออกแบบภายใต้แนวคิด Decentralized ด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยข้อมูลบนระบบ Blockchain ของ NDID เป็น Timestamp Log ของรายการที่เกิดขึ้น ระบบเปรียบเสมือนถนนที่เชื่อมโยงไปยังหน่วยงานต่างๆ มีความปลอดภัย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

    “งานแถลงความร่วมมือ สู่การให้บริการในวันนี้ บริษัทและสมาชิก กลุ่มธนาคารนำร่อง 10 ธนาคาร กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทประกันชีวิต กว่า 20 บริษัท พร้อมด้วยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และยังได้รับเกียรติจากทางธนาคารภาครัฐ ที่ให้ความสนใจ ให้ความสำคัญในการเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อพัฒนา การให้บริการต่างๆ ผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย มีความพร้อมในการให้บริการ จากความสำเร็จในการร่วมทดสอบการเชื่อมต่อระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนระหว่างสมาชิกที่เข้าร่วมทดสอบกว่า 30 บริษัท จนเกิดความสำเร็จ และมีความพร้อมที่จะให้บริการจริงแก่ประชาชน ภายใต้ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ ในระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ว่ามีการทำงานที่ถูกต้อง มีความปลอดภัย และเป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมายให้แก่ผู้บริโภค สำหรับการเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ ที่เอื้อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนโดยยึดหลักประชาชนผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ในโครงสร้างระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามแนวคิดการสร้าง Digital Platform ของรัฐบาล ” นางสาวสุธีรากล่าว

    ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าสำหรับบทบาทของกระทรวง สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือการออกกฎหมายลูกและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการกำกับดูแลต่างๆให้ครบถ้วนและผลักดันให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดเชื่อมต่อเข้ากับระบบดังกล่าว ในอนาคตอาจจะเชื่อมต่อระบบดังกล่าวกับทั่วโลก ในลักษณะของแพลตฟอร์ตการค้าระหว่างประเทศ