ThaiPublica > เกาะกระแส > จากล้อ สู่ราง ต่อเรือ เยือนเจ้าพระยา-บางกอกใหญ่-บางกอกน้อย

จากล้อ สู่ราง ต่อเรือ เยือนเจ้าพระยา-บางกอกใหญ่-บางกอกน้อย

12 พฤศจิกายน 2019


การสัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยา

กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีแค่ห้างสรรพสินค้า แสงสีของความเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางของหลายสิ่งหลายอย่างผลักให้กรุงเทพฯ ในภาพจำของหลายคนเต็มไปด้วยความเร่งร้อน แสงสี แฟชั่น ความทันสมัย แต่กรุงเทพฯ ยังคงมีมุมของความเรียบง่าย เชื่องช้า ที่ยังเก็บความทรงจำในอดีตให้เราได้ก้าวไปสัมผัสและทำความรู้จักผ่านการขนส่งสาธารณะทางน้ำลัดเลาะสองฝั่งคลอง “บางกอกใหญ่ – บางกอกน้อย” เยี่ยมชมวัดเก่าแก่ รวมทั้งตลาดน้ำหลายแห่งตลอดฝั่งคลอง เช่น ตลาดน้ำคลองบางหลวง ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม เป็นต้น

จากโครงการ “ล้อ ราง เรือ” ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใช้เป็นนโยบายช่วยแก้ปัญหาการจราจรในเมืองหลวง และมีจุดนำร่องที่เป็นจุดเชื่อมเรือต่อราง จากสถานีรถไฟฟ้าบางหว้าเชื่อมกับท่าเรือสะพานตากสิน-เพชรเกษม เพื่อเดินทางไปลงเรือสายคลองภาษีเจริญ เส้นทางส่วนต่อขยายไปวัดกำแพงบางจาก ในระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ซึ่งได้เริ่มทดลองให้บริการตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 แล้วนั้น ต่อมา กทม.ได้มีการขยายโครงการเชื่อมต่อเส้นทางคลองบางกอกใหญ่ สู่แม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงคลองบางกอกน้อย ผ่านเส้นทางเดินเรือ “บางหว้า-วัดใหม่ (ยายแป้น)” ที่เริ่มเปิดให้บริการไปเมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา

แม้แรกเริ่มเดิมที หัวใจหลักของโครงการ “ล้อ ราง เรือ” จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาการจราจร แต่สิ่งน่าสนใจที่พ่วงมาด้วยจนนำไปสู่การขยายเส้นทางเดินเรือก็คือเรื่องของการท่องเที่ยว เนื่องจาก กทม.หันมาให้ความสำคัญและพัฒนาการคมนาคมทางน้ำมากขึ้น ประกอบกับการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เพิ่งเปิดให้บริการไป ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยู่ในย่านฝั่งคลองได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำรวจวิถีชีวิตริมฝั่งน้ำ

จากล้อ สู่ราง ต่อเรือ เยือนเจ้าพระยา-บางกอกใหญ่

หากดูตามแผนที่ลำคลองบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อถึงกันได้ในลักษณะเป็นวงรี แต่ปัจจุบันการพัฒนาขนส่งทางน้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มีเพียงช่วงต้นคลองบางกอกใหญ่ถึงแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น โดยเริ่มต้นที่รถไฟฟ้าสถานีบางหว้า ณ จุดนี้นอกจากจะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้วที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าสถานีดังกล่าวยังสามารถเชื่อมต่อเรือได้ 2 จุด คือ เรือสายคลองภาษีเจริญ และเรือที่จะเชื่อมต่อไปยังคลองบางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยา(ท่าเรือท่าช้าง)

โดยเรือสายคลองภาษีเจริญ จะให้บริการจากท่าประตูน้ำภาษีเจริญ ถึงท่าเรือเพชรเกษม 69 ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร มีท่าเทียบเรือจำนวน 15 ท่า และมีส่วนต่อขยายเชื่อมสู่คลองบางกอกใหญ่ (ด้านเหนือ) ระยะทาง1.5 กิโลเมตร คือ ท่าวัดกำแพงบางจาก 1 ท่า

ชุมชนคลองบางหลวง
ชุมชนคลองบางหลวง
ชุมชนคลองบางหลวง

  • ท่าเรือบางหว้า – ท่าเรือวัดกำแพงบางจาก มุ่งสู่ชุมชนคลองบางหลวง ชุมชนเก่าแก่ที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำ ปลูกบ้านเรือนเรียงรายริมน้ำ ประกอบเข้ากับร้านรวงที่ยังคงกลิ่นอายของอดีตไว้อย่างดี ซึ่งอาคารไม้ทรงมะนิลาที่สร้างล้อมรอบเจดีย์เก่า หรือบ้านศิลปิน เป็นอีกจุดเด่นของที่นี่ ที่นอกจากจะมีแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ ยังมีการแสดงหุ่นละครเล็ก โดยบ้านศิลปินจะเปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 9-10 โมง ไปจนถึง 6 โมงเย็นในวันธรรมดา และ 1 ทุ่มในวันเสาร์-อาทิตย์ ต่อด้วยวัดคูหาสวรรค์ และวัดกำแพง (คลองบางจาก) สองวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรม จิตกรรมฝาผนังดั่งเดิมไว้อย่างครบถ้วน อีกทั้งที่นี่ยังมีตลาดน้ำคลองบางหลวงให้ได้จับจ่าย ชิมลิ้มลองอาหารฝีมือชาวบ้านย่านนี้

ส่วนเรือที่เชื่อมต่อไปยังคลองบางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าเรือท่าช้าง) ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร มีท่าเทียบเรือจำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือบางหว้า ท่าเรือวัดอินทราราม ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือราชินี และท่าเรือท่าช้าง ทั้งนี้ท่าเรือจากคลองบางกอกใหญ่ในเส้นทาง สายบางหว้า-ท่าช้าง ก่อนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย 1 ท่าเรือ ได้แก่

  • ท่าเรือวัดอินทาราม เชื่อมต่อกับวัดอินทารามซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เชื่อว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และคงความสำคัญมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เป็นวัดอนุสรณ์สันติสถานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่พระองค์ใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง เช่น พระแท่นบรรทมไสยาสน์ เป็นพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับแรมทรงศีลแลทรงเจริญกรรมฐาน รวมถึงเป็นที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยเช่นกัน
บ้านเรือนไทย เรือนปั้นหยา เรือนฝากระดาน บ้านสวน และวิถีชีวิตริมน้ำ

ในอนาคตอาจมีการพิจารณาเปิดท่าเรือให้บริการเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีอิสรภาพได้ อีกทั้งยังสามารถเดินเท้าต่อไปยังวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก โดดเด่นด้วยพระปรางค์องค์ใหญ่ประดับกระเบื้องเคลือบ ซึ่งจากจุดนี้สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินเรือหลักของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง “เรือด่วนเจ้าพระยา” ได้ ส่วนท่าเรือที่จะเปิดเพิ่มอีกแห่ง คือ ท่าเรือตลาดพลู เชื่อมต่อกับตลาดพลู ที่เต็มไปด้วยร้านอาหารเจ้าดัง ทั้งร้านเก่าแก่ อาทิ ร้านหมี่กรอบสูตรดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 5 จนไปถึงร้านอาหารสมัยใหม่มากมายให้ได้เลือกลิ้มลอง จากท่าเรือแห่งนี้สถานีรถไฟฟ้าใกล้เคียงก็คือรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานีตลาดพลู หรือจะเลือกใช้บริการรถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) มุ่งสู่พระราม 3 ก็ได้เช่นกัน

สำหรับเส้นทางในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบไปด้วย 3 ท่าเรือ ได้แก่

  • ท่าเรือสะพานพุทธ จากจุดนี้เดินเท้าไปอีกนิดก็พบกับตลาดดอกไม้แห่งใหญ่อย่างปากคลองตลาด และหากข้ามสะพานชมวิวไปสักหน่อยก็พบกับตลาดนัดในตำนานอย่าง “ตลาดนัดสะพานพุทธ Night Market” ที่แม้ไม่ได้อยู่ใต้สะพานพุทธเหมือนเดิม แต่พื้นที่ 3 ไร่แห่งใหม่นี้ก็บรรจุร้านรวงที่คงกลิ่นอายแบบเดิมๆ ไว้ได้กว่า 300 ร้าน
  • ท่าเรือราชินี โดยท่าเรือราชินีนั้นอยู่ถัดจากท่าเรือสะพานพุทธเพียงเล็กน้อยสามารถเดินเท้ากันถึง และอยู่ติด “ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค” ที่สามารถนั่งทานอาหารชมวิวพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เช่นเดียวกันคือท่าเรือแห่งนี้ก็อยู่ใกล้กับปากคลองตลาด และเมื่อเดินเท้าไปอีกเล็กน้อยก็สามารถไปถึงมิวเซียมสยามได้ไม่ยาก อีกทั้งปัจจุบันท่าเรือดังกล่าวก็เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีสนามชัย
โบสถ์ซางตาครู้ส
ศาลเจ้าเกียนอันกง
โบสถ์ซางตาครู้ส, ศาลเจ้าเกียนอันกง และวัดกัลยาณมิตร

นอกจากนี้ หากใช้บริการเรือข้ามฝากก็สามารถไปถึง “ชุมชนกุฎีจีนหรือกะดีจีน” ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 200 ปี ที่กุฎีจีนที่เดียวสามารถเที่ยวชมศาสนสถานหลากศาสนาที่มีความงามและความเป็นมาที่ยาวนาน ทั้งวัดไทยอย่างวัดกัลยาณมิตร ที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 วัดจีนอย่างศาลเจ้าเกียนอันกง ที่งดงามด้วยงานไม้แกะสลักและภาพฝาผนัง ซึ่งยังคงความสมบูรณ์แม้ผ่านเวลามากว่า 200 ปีแล้วก็ตาม วัดฝรั่งอย่างวัดซางตาครู้ส ที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ผสมนีโอคลาสสิก และเมื่อข้ามถนนอรุณอมรินทร์ไปก็จะพบกับมัสยิดบางหลวง มัสยิดทรงไทยแห่งเดียวในโลก

  • ท่าเรือท่าช้าง ที่จากจุดนี้สามารถเดินลัดเลาะไปยังสถานที่สำคัญที่เป็นแลนด์มาร์คอื่นๆ ได้อีกหลายแห่ง เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารหรือวัดโพธิ์ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ท่าเรือมหาราช คอมมูนิตี้มอลล์เล็กๆ ที่บรรจุร้านรวงหลายสิบร้านไว้ให้ฝากท้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิพิธพันธ์สถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น และเช่นกันท่าเรือแห่งนี้สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินเรือหลักของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่าง “เรือด่วนเจ้าพระยา” ได้

โดยภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้จะมีการขยายเส้นทางเดินเรือจาก ท่าเรือบางหว้า-ท่าเรือท่ารถไฟ ซึ่งจะมีท่าเรือที่ให้บริการอีก 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือพรานนกและท่าเรือท่ารถไฟ ที่สามารถเดินเท้าต่อไปยังวัดระฆังโฆสิตาราม ตลาดวังหลัง โรงพยาบาลศิริราช โรงรถจักรธนบุรี และชุมชนบ้านบุ ชุมชนที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาในการทำขันลงหิน ที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน และหากข้ามสะพานอรุณอมรินทร์ พบกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ที่จัดแสดงเรือพระที่นั่ง พร้อมทั้งโขนเรือ และให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนเรือพระราชพิธี ซึ่ง ในอนาคต ท่าเรือแห่งนี้จะเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีศิริราช ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 และรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราชและตลิ่งชัน-ศาลายาด้วย ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

วัดอรุณราชวราราม, วัดระฆังโฆสิตาราม, อู่ต่อเรือพระราชพิธี และตลาดน้ำตลิ่งชัน

ทั้งนี้ เรือสายคลองภาษีเจริญส่วนต่อขยายถึงท่าเรือวัดกำแพงบางจาก จะให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00น.-18.00น. โดยเรือจะออกทุก 30 นาที ส่วนเรือที่เชื่อมต่อไปยังคลองบางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าเรือท่าช้าง) กทม.ได้จัดเรือบริการจำนวน 6 ลำ ขนาด 60 ที่นั่ง ทดลองให้บริการฟรีตลอดเส้นทาง วันจันทร์-อาทิตย์ ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 17 มิถุนายน 62 เป็นต้นไป โดยเรือจะออกจากท่าเรือต้นทาง (ท่าเรือบางหว้า) ระหว่างเวลา 06.00-09.00 น. เรือออกทุก 30 นาที ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. เรือออกทุก 1 ชั่วโมง และระหว่างเวลา 15.00-19.00 น. เรือออกทุก 30 นาที ส่วนที่ท่าเรือปลายทาง (ท่าเรือท่าช้าง) เรือออกเที่ยวแรกเวลา 06.30น.

เชื่อมเรือโดยสาร สู่คลองบางกอกน้อย

ด้านกระทรวงคมนาคม กำลังศึกษาเส้นทางนำร่องที่เหมาะสมในส่วนของคลองบางกอกน้อยจนถึงคลองมหาสวัสดิ์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นลำคลองที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเส้นทางเดินเรือได้มากที่สุด เพราะเคยใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักมาก่อน โดยจะวางแนวเส้นทางเริ่มตั้งแต่ช่วงจุดเชื่อมคลองบางกอกน้อย-ประตูน้ำฉิมพลี มีระยะทาง 15 กม. และจะต้องมีการปรับปรุงท่าเรือในคลองเส้นนี้ใหม่ทั้งหมด 8 ท่า โดยมีกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพหลัก

ปัจจุบันมีเรือโดยสารอื่นที่สามารถพาเราล่องคลองบางกอกน้อยสู่เจ้าพระยาและคลองบางกอกใหญ่ตามรอยเส้นทางการเดิมทัพในสมัยกรุงธนบุรี หรือลัดเลาะลำคลองสายอื่นๆ เช่น คลองชักพระ คลองบางเชือกหนัง ชมบรรยากาศริมน้ำ บ้านเรือนไทย เรือนปั้นหยา เรือนฝากระดาน วัดวาอารามสมัยกรุงศรีอยุธยา และตลาดน้ำต่างๆ เช่น

  • เรือด่วนเจ้าพระยา ที่มีให้บริการตั้งแต่
      – เรือด่วนพิเศษธงส้ม เส้นทาง: นนทบุรี-วัดราชสิงขร อัตราค่าโดยสาร: 15 บาท ให้บริการทุกวัน
      -เรือด่วนพิเศษธงเขียว เส้นทาง: ปากเกร็ด-นนทบุรี-สาทร อัตราค่าโดยสาร: 13/20/32 บาท (ตามระยะทาง) ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์
      – เรือด่วนพิเศษธงเหลือง เส้นทาง: นนทบุรี-สาทร อัตราค่าโดยสาร: 20 บาท ให้บริการ วันจันทร์-ศุกร์
      – เรือประจำทาง (ไม่มีธง) เส้นทาง: นนทบุรี-วัดราชสิงขร อัตราค่าโดยสาร: 9/11/13 บาท (ตามระยะทาง) ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์
  • เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา เรือด่วนเจ้าพระยาธงฟ้า จอดท่าเรือสำคัญเชื่อมต่อสถานที่ท่องเที่ยว ให้บริการในรูปแบบ Hop On Hop Off (ขึ้น-ลงได้ไม่จำกัด) โดยให้บริการทุกวัน ทุก 30 นาที ระหว่าง 9 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าสาทร, ไอคอนสยาม, ล้ง 1919, ราชวงศ์, ยอดพิมาน, วัดอรุณราชวราราม, ท่ามหาราช, ท่ารถไฟ และท่าพระอาทิตย์ ซึ่งมีให้บริการทั้งตั๋วรายเที่ยว และตั๋วรายวัน
  • เรือเช่าเหมาเรือเช่าเหมามีให้บริการหลากหลายให้เลือกรูปแบบเรือ เส้นทางท่องเที่ยวใกล้ไกล ทั้งบริการนำเที่ยว และอาหาร โดยมีจุดบริการหลัก เช่น
    • ที่ท่าเรือสะพานตากสิน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนสถานีสะพานตากสิน โดยมีเรือให้บริการทุกวัน แต่ราคาค่อนข้างสูงอยู่ในหลักพัน
    • ที่ ตลาดน้ำตลิ่งชัน เปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ราคาย่อมเยากว่า อยู่ในหลักสิบถึงหลักร้อยเท่านั้น