วรากรณ์ สามโกเศศ
คนและสิ่งของจะมีคุณค่าหรือไม่ มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่ามีการเห็นคุณค่าหรือไม่ และประการสำคัญมันอยู่ในที่ ๆ ควรอยู่หรือไม่ ผู้เขียนมีสองเรื่องที่แสดงให้เห็นประเด็นการเห็นคุณค่าและการอยู่ในที่สมควรอยู่
เรื่องแรก ได้มาจาก “นุสนธิ์บุคส์” ในอินเตอร์เน็ต เรื่องมีอยู่ว่าในตลาดขายของเก่าแห่งหนึ่งเจ้าของร้านได้หยิบไวโอลินเก่า ๆ ตัวหนึ่งขึ้นมาประกาศขาย “ไวโอลินเก่าตัวนี้ ราคา 1,000 บาทขาดตัว ลูกค้าท่านใดสนใจ เดินตรงเข้ามาเลยครับ”
ชายคนหนึ่งเดินเข้ามา และหยิบไวโอลินทั้งเก่าทั้งโทรมตัวนั้นขึ้นมาดู เขาลองสีดู ปรากฏว่าเสียงของมันบาดหูมาก เขาจึงตัดสินใจวางมันลงไว้ที่เดิม
เมื่อผ่านเวลาไปได้ครึ่งชั่วโมง เจ้าของร้านก็ได้ประกาศขึ้นอีกครั้งว่า “ไวโอลินเก่าตัวนี้ราคา 500 บาทขาดตัว ลูกค้าท่านใดสนใจเดินตรงเข้ามาเลยครับ” แต่ก็ยังไร้วี่แววคนสนใจ จนเจ้าของร้านได้ประกาศเป็นรอบที่ 3 ว่า “ไวโอลินเก่าตัวนี้ ราคา 100 บาทขาดตัว ลูกค้าท่านใดสนใจ เดินตรงเข้ามาเลยครับ”
ชายชราผมขาวคนหนึ่งเดินมาหยุดหน้าร้าน จากนั้นก็หยิบไวโอลินขึ้นมาดู เขาใช้ผ้าที่อยู่ในมือของเขาบรรจงเช็ดลงไปที่ไวโอลินเครื่องนั้นด้วยความทะนุถนอม ครู่ต่อมาไวโอลินตัวนั้นก็มีสีสันมันวาวขึ้นมา มันดูดีขึ้นมาในทันที ชายชราปรับสายไวโอลินแต่ละเส้นด้วยความตั้งใจ จากนั้นก็นำมาทาบที่คางของเขาแล้วบรรจงสีไวโอลินตัวนั้น
เสียงของไวโอลินกังวานก้องจนเจ้าของร้านประหลาดใจ “คุณทำได้ยังไง?” เขาเอ่ยถาม ชายชรา “ทุกสิ่งในโลกใบนี้ล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง อยู่ที่ว่าใครจะเห็นคุณค่าของมันหรือไม่” ชายชราตอบ
“คุณลุงช่วยสีไวโอลินนี้ให้ผมอีกครั้งได้ไหมครับ” ชายชราพยักหน้า จากนั้นก็สีไวโอลินให้ผู้คนที่เดินเลือกซื้อของเก่าในตลาดฟัง “ผมให้ราคาหนึ่งพันบาทตามที่คุณประกาศตอนแรก” ลูกค้าชายคนหนึ่งเสนอขึ้น “ผมให้ราคาสองพันบาทมากกว่าที่คุณประกาศตอนแรก” ลูกค้าชายคนที่สองเอ่ยขึ้น “ฉันให้ราคาสามพันบาท สามีของฉันต้องชอบมันแน่ ๆ” ลูกค้าชายคนหนึ่งเสนอ จนสุดท้าย ราคาไวโอลินตัวนี้ถูกขายในราคา 5,999 บาท จากราคาเดิมที่ 100 บาท
ไวโอลินเก่าตัวหนึ่ง เมื่อมันอยู่ในมือของนักเล่นที่เห็นคุณค่า มันกลายเป็นไวโอลินที่ทรงคุณค่าและมีราคา กลับกัน หากมันอยู่ในร้านขายของเก่าอย่างไม่มีคนสนใจ มันก็ไม่ต่างอะไรจากไวโอลินเก่า ๆ ธรรมดาตัวหนึ่งที่หาราคาค่างวดอะไรไม่ได้
ม้าตัวหนึ่งเมื่อมันอยู่กับชาวไร่ คุณค่าของมันก็คือพาหนะที่ช่วยขนย้ายพืชผล แต่หากมันอยู่กับแม่ทัพ มันก็กลายเป็นม้าศึกคู่ใจแม่ทัพ คุณค่าของมันก็คือม้านักรบ ของที่มีคุณค่าต้องอยู่กับคนที่เห็นคุณค่า
เรื่องที่สอง ผู้เขียนนำมาจากข้อเขียนของตนเองจากนิตยสาร ALL “ของจะมีค่าต้องอยู่ในที่ที่ควรต้องอยู่” เป็นคำกล่าวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปูชนียบุคคลของศิลปะไทย
ลองคิดดูว่าถ้าพระพุทธรูปที่ควรแก่การกราบไหว้บูชา ไม่อยู่บนหิ้ง หากไปวางอยู่บนส้วมหรือวางอยู่ที่พื้นในห้องเก็บของก็หมดความมีค่าไปทันที เนื่องจากมิได้อยู่ในที่ที่ควรต้องอยู่ ฉันใดก็ฉันนั้นถ้าบุคคลหนึ่งสมควรแห่งการทำตนในลักษณะหนึ่งแต่ไม่กระทำก็จะกลายเป็นของไม่มีค่าไป
ในครอบครัวหนึ่งหากคนที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าปู่ย่าตายาย พ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ต้องการเป็นสิ่ง “มีค่า” ในใจของลูกหลานอย่างแท้จริงแล้ว ต้องอยู่ในที่ที่ควรต้องอยู่ กล่าวคือต้องทำหน้าที่ของตนอย่างสมแห่งการดำรงฐานะนั้น ๆ
หากทำตัวไร้คุณธรรมและไร้ความรับผิดชอบ ความมีค่าก็จะหมดไปในใจของทุกคน ภายนอกอาจจะไม่มีใครกล่าวถึงแต่ลึกเข้าไปในใจแล้ว บุคคลผู้นั้นสิ้นความ “มีค่า” อย่างแท้จริงเพราะมิได้อยู่ในที่ที่ควรต้องอยู่
ทุกคนสามารถทำให้ตนเองเป็นสิ่ง “มีค่า” ได้เสมอตราบที่อยู่ในที่ที่ควรต้องอยู่ ครูบาอาจารย์ หัวหน้างานและผู้ใหญ่ต้องทำตนเองเป็น “ผู้ใหญ่” ให้ผู้อื่นเคารพกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ พระพุทธรูปต้องอยู่ที่ที่ควรต้องอยู่ฉันใด บุคคลเหล่านี้ก็ต้องอยู่ในที่ควรต้องอยู่ฉันนั้นจึงจักได้รับการเคารพอย่างแท้จริง
การมีคุณค่านอกจากจะต้องเกิดจากการเห็นคุณค่าแล้ว ยังต้องอยู่ในที่ที่ควรต้องอยู่ด้วย โดยต้องรู้ว่าที่ที่ควรต้องอยู่นั้นมีลักษณะใด และต้องทำตัวอย่างไรจึงจะถือว่าอยู่ในที่นั้น
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 8 ต.ค. 2562