ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธานี ชัยวัฒน์” เปิดงานวิจัย “เมื่อกฎ(หมาย)ขายได้ ตลาดแข่งขันของการคอร์รัปชันในสังคมไทย”

“ธานี ชัยวัฒน์” เปิดงานวิจัย “เมื่อกฎ(หมาย)ขายได้ ตลาดแข่งขันของการคอร์รัปชันในสังคมไทย”

1 ตุลาคม 2019


งานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2562 BOT Symposium 2019 ในหัวข้อ“พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน” Competitive Thailand จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 กันยายน-1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ในวันนี้ได้มีการนำเสนอ บทความ “เมื่อกฎ(หมาย)ขายได้ ตลาดแข่งขันของการคอร์รัปชันในสังคมไทย” โดย นายธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องคอร์รัปชันผ่านมาจำนวนมากในสังคมไทย มักจะเน้นไปที่ความถูกผิดที่อิงอยู่กับกฎหมาย และความดีเลวที่อิงกับศีลธรรมหรือศาสนา ขณะที่งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์กลับมีจำนวนไม่มากนัก จุดแข็งของกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็คือ การทำความเข้าใจว่าการคอร์รัปชันเป็นบริการประเภทหนึ่ง (Service Sector) ในสาขาการผลิตอื่นๆ ที่หลากหลายในระบบเศรษฐกิจ

การคอร์รัปชันเองจึงสามารถเป็นบริการประเภทหนึ่ง โดยมีหน้าที่เป็นตัวกลาง (Middleman) ของการติดต่อระหว่างภาครัฐกับเอกชนหรือประชาชน และทำกำไรจากการซื้อขายกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์บางประเภทของรัฐ ลดต้นทุนธุรกรรมการติดต่อกับภาครัฐ หรืออำนวยความสะดวกสบายในการประสานงานกับภาครัฐ หลายครั้งตัวกลางเหล่านี้ก็เป็นตัวแทน (Broker)ซื้อขายกฎหมาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ของภาครัฐเสียเองอีกด้วย

หากจำแนกคอร์รัปชันเป็น 4 ประเภท แล้วทำการพิจารณาตั้งแต่ในปี 2526 จนถึง 2560 ได้แก่ การจ่ายสินบน พบว่ามีความผันผวนขึ้นลงตามนโยบายรัฐบาลแต่ละชุด การยักยอกงบประมาณสูงตลอดทุกช่วงเวลา การใช้อำนาจโยกย้ายพวกพ้อง เริ่มมีให้เห็นตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา และการใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน เริ่มมีให้เห็นหลังปี 2543 เป็นต้นมา

แนวคิดเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยคอร์รัปชัน (Economics of Corruption) พอจะถูกจำแนกออก ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ

งานทางด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยคอร์รัปชันกลุ่มแรก มองกฎเกณฑ์ผ่านตลาด โดยกฎเกณฑ์ในที่นี้ รวมไปถึงระเบียบ กติกา และนโยบายต่าง ๆ ในสังคมเป็นสินค้าที่สามารถซื้อขายได้ในตลาด (Rule for Sale) และเนื่องจากกฎเกณฑ์ ระเบียบ กติกา และนโยบายต่าง ๆ เป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ซึ่งภาครัฐมักจะบังคับใช้กฎเกณฑ์หรือการดำเนินนโยบายที่เน้นความเท่าเทียมกัน คือปฏิบัติกับปัจเจกบุคคลทุกคนเท่ากัน เปรียบเสมือนว่าภาครัฐไปกำหนดให้ปริมาณที่แต่ละคนได้รับมีจำกัด และราคาที่ต้องจ่ายคงที่ ทั้งที่ความเต็มใจจ่าย (Willingness toPay) ต่อกฎเกณฑ์หรือนโยบายนั้น ๆ และความต้องการปริมาณของกฎเกณฑ์หรือนโยบายของปัจ เจกบุคคลแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ทั้งในเชิงความต้องการ ราคาที่ยินดีจ่าย และผลประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดตลาดมืด และการคอร์รัปชันเป็นเพียงตลาดมืดของตลาดที่ซื้อขายกฎเกณฑ์ (Black Market of Rule Market)

ข้อเสนอแนะของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ จึงสนับสนุนการสร้างตลาดแข่งขันเสรีของกฎเกณฑ์และนโยบาย เช่น สนับสนุนให้การวิ่งเต้น เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะเป็นการซื้อขายกฎเกณฑ์หรือนโยบายรูปแบบหนึ่ง แต่หากสนับสนุนการวิ่งเต้นให้เป็นเสรี อาจจะทำให้นายทุนได้เปรียบประชาชน จึงมักตีกรอบการสนับสนุนอยู่ในกลุ่มกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นหลัก

งานทางด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยคอร์รัปชันกลุ่มหลัง มองการคอร์รัปชันเป็นผลผลิตมาจากสถาบันที่ขูดรีดของการกระจายสิทธิ เนื่องจากการออกกฎเกณฑ์หรือการดำเนินนโยบายของภาครัฐไม่ใช่สินค้า แต่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคล (Fundamental) นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้มองกฎเกณฑ์หรือนโยบายของรัฐเป็นสิทธิ (Rights) ที่เท่าเทียมกันที่ปัจเจกบุคคลทุกคนพึงได้รับอย่างเสมอภาค และสิทธิเหล่านี้เองคือโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลแต่ละคน เมื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานจึงไม่ควรมีใครที่ได้รับผลได้หรือต้นทุนของเรื่องนี้มากหรือน้อยเกินไป

ข้อเสนอแนะของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้จึงมีเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดสถาบันที่มีส่วนร่วม (Inclusive Institution) โดยสถาบันที่มีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนทุกคนได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์หรือนโยบายเสมือนเป็นสิทธิที่พึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และหากเป็นเช่นนั้น คนในสังคมจะยินดีเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบสร้าง และปฏิบัติตามข้อกำหนด (Rule of the Game) ของสถาบันร่วมกัน สุดท้าย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะดีขึ้นในระยะยาว

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการถกเถียงของแนวคิดใน 2 สำนักนี้คือ การเกิดตลาดมืดในการรับเด็กเข้าเรียน นั่นก็คือ สินบนหรือแป๊ะเจี๊ยะ เพราะการผลิตโรงเรียนหรือครูที่มีคุณภาพเท่ากันหมดทั้งประเทศเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในสังคมที่มีการกระจุกตัวของอุปกรณ์การเรียนที่ดีและครูที่เก่งอยู่ในโรงเรียนบางแห่ง ส่งผลให้ความเต็มใจจ่ายของผู้ปกครองที่จะส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่งมีไม่เท่ากัน โรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่าก็ย่อมมีผู้ปกครองที่เต็มใจจ่ายในราคาสูงกว่าเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียน สังคมกำหนดค่าเล่าเรียนของทุกโรงเรียนให้มีราคาเท่ากัน แต่ขาดการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพบว่าพบ 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นแรก วัฒนธรรมการเคารพกฎหมายหรือ (Culture of Lawfulness) ของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้แตกต่างกัน โดยจากการเปรียบเทียบคำถาม 2 คำถาม

คำถามแรก “เรากลัวการลงโทษเพราะไม่ทำการตามกฎหมายหรือไม่” และ คำถามที่สองคือ “การเคารพกฎหมายจะทำให้สังคมบรรลุจุดที่ดีที่สุดหรือไม่” พบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาท มีจำนวนสูงถึง 96% จะเคารพกฎหมายเพราะกลัวการลงโทษทั้งที่มี 7% เท่านั้นที่เชื่อว่าการเคารพกฎ หมายจะทำให้สังคมบรรลุจุดที่ดีที่สุดได้ ในทางตรงกันข้าม คนที่มีรายได้มากกว่า 550,000 บาทต่อปี จะกลัวการลงถูกลงโทษตามกฎ หมายน้อยลงเหลือเพียง 21% และส่วนใหญ่ 45% เชื่อว่าการเคารพกฎหมายจะทำให้บรรลุจุดที่ดีที่สุดของสังคมได้

ประเด็นที่สองเป็นการเปรียบเทียบคำถามสำคัญ 2 คำถาม ได้แก่ คำถามแรก “ท่านเชื่อว่าตัวเราเองสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้หรือไม่” และคำถามที่สองคือ “ท่านเชื่อว่ากฎหมายให้ความยุติธรรมกับตัวท่านได้หรือไม่”

จะเห็นได้ว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี มีสัดส่วนของคนที่เชื่อว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้น้อยมาก เพียง 12% เท่านั้น และเพียง 11% ที่เชื่อว่ากฎหมายให้ความยุติธรรมกับตัวเขาได้ในทางตรงกันข้าม คนที่มีรายได้มากกว่า 550,000 บาทต่อปีเกือบทั้งหมด 95% เชื่อว่าตัวเขาเองสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ และ51% มีความเชื่อว่ากฎหมายให้ความยุติธรรมกับตนเองได้

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือคนที่มีรายได้ในลำดับขั้นสูงที่สุดนี้กลุ่มเดียวเท่านั้นที่มีความเชื่อว่า ตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ แตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ อย่างชัดเจน เช่น กลุ่มที่มีรายได้รองลงไปมีเพียงจำนวน 46% เท่านั้นที่เชื่อว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ นั่นอาจเพราะคนกลุ่มนี้มีรายได้สูงพอที่สามารถเข้าถึงตลาดการค้ากฎหมายในสังคมไทยได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในสังคมไทย มีการแบ่งแยกคนออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน คนที่มีรายได้สูงคือ กลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงหรือเปลี่ยน แปลงกฎหมายได้ พวกเขาจึงไม่กลัวการลงโทษ หากไม่ทำตามกฎหมาย พวกเขาเชื่อว่ากฎหมายให้ความยุติธรรมได้ และเชื่อว่าการเคารพกฎหมายจะทำให้บรรลุจุดที่ดีที่สุดของสังคม ในขณะที่คนที่มีรายได้น้อยคือ กลุ่มคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายเพราะกลัวการถูกลงโทษ แม้จะไม่เชื่อว่ากฎหมายทำให้บรรลุจุดที่ดีที่สุดของสังคมได้ และไม่เชื่อว่ากฎหมายจะให้ความยุติธรรมกับพวกเขาได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ พวกเขายังเชื่อว่าตัวพวกเขาเองไม่มีพลังพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้

เมื่อเทียบเคียงกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในสองสำนัก อาจกล่าวได้ว่า ในสังคมไทยคนรวยอยู่ในสถานะที่เป็นไปตามแนวคิดแรก กล่าวคือ กฎหมายเป็นสินค้าหรือบริการที่ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ปรับปรุงพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตามการต่อรองของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่อำนวย (Facilitate) สังคมให้บรรลุจุดที่ดีที่สุด ในขณะที่คนจนอยู่ในสถานะที่เป็นไปตามแนวคิดที่สอง คือ กฎหมายเป็นสภาพบังคับในสถาบันที่พึงต้องปฏิบัติตาม โอกาสในส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีความเป็นไปไดน้อยมากแต่ยังคงต้องปฏิบัติตาม แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ขนาดเศรษฐกิจคอร์รัปชัน

สำหรับการประเมินขนาดเศรษฐกิจของสาขาคอร์รัปชันจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การประมาณมูลค่าสินบนของครัวเรือน และมูลค่าการยักยอกงบประมาณ

มูลค่าสินบนรวมที่มีการจ่ายโดยครัวเรือนทั่วประเทศในปี 2557 อยู่ที่ประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2542 มูลค่าสินบนรวมอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท หากพิจารณาร่วมกับอัตราเงินเฟ้อในช่วง 15 ปี(ปี 2542 -2557) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 35% จะพบว่า มูลค่าสินบนรวมหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจของการคอร์รัปชัน อันเนื่องมาจากการจ่ายสินบนลดลงอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง

หากทำการเปรียบเทียบมูลค่าของสาขาคอร์รัปชันกับมูลค่าการผลิตของสาขาอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ พบว่า ทั้งปี 2557 และปี 2542 มูลค่าการคอร์รัปชันในประเทศไทย เป็นสาขาการผลิตที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 16 จาก 24 สาขาตามการแบ่งสาขาการผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หากพิจารณาคุณค่าของการคอร์รัปชันรวมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2557 เปรียบเทียบกับผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดของจังหวัดต่าง ๆ จะพบว่า มูลค่าของการคอร์รัปชันเทียบได้กับจังหวัดขนาดกลาง โดยมีขนาดอยู่ระหว่างจังหวัดลำปางและชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่อันดับที่ 43 และ 44 ของประเทศไทย นั้นหมายความว่ามูลค่าการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในแต่ละปี สามารถนำมาดูแลประชากรในจังหวัดชัยภูมิได้ทั้งจังหวัดเลยทีเดียว

หากมองการคอร์รัปชันเป็นบริการประเภทหนึ่ง จะเห็นได้ว่า บริการประเภทนี้มีมูลค่าตลาดอย่างน้อยเกือบ 65,000 ล้านบาทในปี 2557 สูงกว่าปี 2542 ที่มีมูลค่า 35,000 ล้าน หรือเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นสาขาการผลิตที่มีค่าตัวทวี (Multiplier) สูงถึง 6.5 เท่า หมายความว่า ถ้าลดคอร์รัปชันลง 1 บาทจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงขึ้นถึง 6.5 เท่า หรือหากแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ จะก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหาศาล

อย่างไรก็ดี ตลาดคอร์รัปชันมีพลวัตร ปัจจุบัน เอกชนเข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดการคอร์รัปชันแทนที่ประชาชนจะติดต่อกับภาครัฐโดยตรง เช่น บริษัทจัดการภาษี บริษัทรับทำบัญชี บริษัทชิปปิ้ง รวมถึงทนายที่มาช่วยจัดการคดีความ ทั้งนี้ เพื่อลดโอกาสในการถูกจับเรื่องคอร์รัปชันลง

นอกเหนือจากต้นทุนทางตรงที่สังคมต้องแบบรับจากการคอร์รัปชันแล้ว สังคมยังมีต้นทุนแฝงของการผลิตบริการคอร์รัปชันในสังคมอีกจำนวนมาก ผ่านองค์กรที่สังคมตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะการทำงานขององค์กรเหล่านี้มีต้นทุน เช่นกัน องค์กรที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันโดยตรง และงบประมาณที่องค์กรเหล่านี้ต้องใช้

รูปแบบของธุรกิจ การทำกำไรและการสะสมทุน

การพิจารณารูปแบบของธุรกิจในสาขาบริการคอร์รัปชันและการสะสมทุนของธุรกิจ อาจไม่สามารถทำได้โดยตรง เพราะเส้นทางของเงินของธุรกิจนี้เป็นความลับและตรวจสอบได้ยาก แต่สามารถเข้าใจรูปแบบของธุรกิจบริการคอร์รัปชันได้ โดยวิธีทางอ้อมผ่านคำถาม 2 คำถามในงานวิจัย 2 ชิ้น

การสำรวจวิจัยชิ้นแรกมีคำถามหนึ่งที่ว่า “เมื่อคุณคิดว่าคุณต้องการความช่วยเหลือในการติดต่อกับภาครัฐเป็นพิเศษ เช่น ต้องการการอำนวยความสะดวก / ต้องการความสะดวกสบาย / ต้องการได้รับความเกรงใจ และคุณพร้อมจะมีค่าตอบให้ คุณสามารถทำอย่างไรได้บ้างต่อไปนี้” โดยมีทางเลือก 4 ทาง คำถามดังกล่าวเป็นการสอบถามทางอ้อมว่า หากพวกเขาต้องการกระบวนการพิเศษ ซึ่งหมายถึงการคอร์รัปชัน พวกเขาจะเข้าถึงบริการคอร์รัปชันได้อย่างไร

ในทางเลือก 4 ทางที่มีให้ ได้แก่

    ทางเลือกที่หนึ่งคือ “ตนเองรู้จักเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่คิดว่าจะช่วยได้” นั่นคือ การที่พวกเขามีข้อมูลโดยตรงของผู้ให้บริการคอร์รัปชัน ว่าพวกเขาสามารถซื้อบริการนี้ได้จากใคร

    ทางเลือกที่สองคือ “คิดว่าสามารถหาทางเข้าถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงด้วยตนเองได้” เป็นการสอบถามว่า พวกเขาคิดว่าจะสามารถหาข้อมูลผู้ให้บริการคอร์รัปชันได้ทั่วไปในตลาดหรือไม่

    ทางเลือกที่สามคือ “คิดว่ารู้จักคนที่นำไปสู่การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงได้” นั่นคือ พวกเขาไม่มีข้อมูลโดยตรงและไม่สามารถหาข้อมูลทั่วไปได้ผ่านตลาดแต่สามารถสอบถามจากคนรู้จัก เพื่อให้เข้าถึงผู้ให้บริการคอร์รัปชันได้

    ทางเลือกที่สี่คือ “ไม่ทราบเลยว่าจะเข้าถึงได้อย่างไร” ก็คือบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้

จากตารางมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ประการแรก ตลาดคอร์รัปชันมีความครอบคลุมของตลาด(Market Coverage) สูงมาก คือ มีประชากรจำนวนเพียง 13% เท่านั้นที่หากต้องการใช้บริการคอร์รัปชันแล้วไม่ทราบว่าจะสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการคอร์รัปชันได้อย่างไร หรือในอีกด้านหนึ่งแปลว่าบริการคอร์รัปชันมีความครอบคลุมไปแล้ว 87% ของตลาด ประการที่สอง คนที่สามารถเข้าถึงตลาดคอร์รัปชันได้โดยตรง ซึ่งหมายถึงคนที่รู้จักเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงที่คิดว่าจะให้ความช่วยเหลือได้ มีจำนวนถึง21% ของประชากร และสัดส่วนความรู้จักของคนที่มีรายได้สูงมีมากกว่าคนที่มีรายได้ต่ำ ประการที่สาม คนที่คิดว่าสามารถหาทางเข้าถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงด้วยตนเองได้มีสัดส่วนเพียง 8% นั่นหมายความว่า ข้อมูลผู้ให้บริการคอร์รัปชันไม่ได้เผยแพร่อยู่ในตลาดเป็นสาธารณะให้เข้าถึงได้ด้วยตัวเองได้ง่ายนัก สอดคล้องกับประเด็นสุดท้าย ผู้ที่ตอบว่าคิดว่ารู้จักคนที่นำไปสู่การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงได้มีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของประชากร

นั่นย่อมหมายความว่า รูปแบบการทำธุรกิจบริการคอร์รัปชันไม่ได้เป็นธุรกิจผ่านตลาด แต่เป็นธุรกิจแบบเครือข่ายผ่านความสัมพันธ์ และมีตัวแทนขายคือประชาชนด้วยกันเองจำนวนมาก อาศัยการขยายตลาดผ่านการบอกต่อ และค่านิยมของการช่วยเหลือกันยามยาก

นอกจากนี้การสำรวจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่ง มีคำถามว่า “ถ้าหน่วยงานที่ท่านทำงานอยู่ เป็นบริษัทที่ทำกำไรได้ 100 บาท ท่านคิดว่าจะแบ่งปันผลกำไรนี้อย่างไรจึงจะเหมาะสม” โดยมีทางเลือก 4 ทาง คำถามดังกล่าวเป็นการสอบถามทางอ้อมว่า หากพวกเขาต้องการกระบวนการพิเศษ ซึ่งหมายถึงการคอร์รัปชัน พวกเขาจะเข้าถึงบริการคอร์รัปชันได้อย่างไร เพื่อจะพิจารณาว่า รูปแบบการจัดสรรผลประโยชน์ของบุคลากรต่าง ๆ ในองค์กรให้บริการคอร์รัปชันควรจะเป็นอย่างไร

ความน่าสนใจของคำตอบจากคำถามนี้ก็คือ ค่าเฉลี่ยของร้อยละของกำไรที่ควรได้ของบุคคลตำแหน่งต่าง ๆในองค์กร พบว่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนใหญ่ยินดีแบ่งผลตอบแทนประมาณครึ่งหนึ่งให้กับหัวหน้างานที่อยู่ตำแหน่งสูงที่สุดในคำตอบ ในขณะที่ตนเองและหัวหน้างานระดับรองลงมา ได้รับผลตอบแทนประมาณคนละ 1 ใน4 นอกจากนี้ ลูกน้องที่ต่ำกว่าตนเอง 1 ท่าน จะได้รับค่าตอบแทนเพียง6.7% เท่านั้น

การจัดสรรผลกำไรในรูปแบบนี้มีความน่าสนใจ เพราะคือระบบที่เปิดโอกาสให้หัวหน้าทีมได้ค่าตอบแทนสูงมาก หรือถ้ามองธุรกิจบริการคอร์รัปชันเป็นธุรกิจเครือข่าย ระบบการจัดสรรค่าตอบแทนแบบนี้ยิ่งจะทำให้ธุรกิจบริการคอร์รัปชันมีลักษณะคล้ายธุรกิจแบบ MLM (Multi-level Marketing) หรือที่เรียกกันว่าธุรกิจขายตรงแบบหลายชั้น ซึ่งธุรกิจแบบนี้ หัวหน้างาน หรือหัวหน้าทีม จะได้รับค่าตอบแทนสูงมาก ทำให้มีแรงจูงใจที่จะเปิดทีมใหม่หรือขยายทีมในการแสวงหากำไรมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ข้อดีด้านหนึ่งของการที่ธุรกิจคอร์รัปชันมีลักษณะแบบนี้ ก็คือ ทำให้การคอร์รัปชันเกิดการแข่งขัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยิ่งทำให้คอร์รัปชันถูกจัดการได้ยาก เพราะคือผลประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ที่รวมตัวกันเป็นทีมทำงานในระบบราชการและภาครัฐเช่นกัน

บทบาทในการทำงานของตลาดบริการคอร์รัปชัน

ในปี 2542 บริการคอร์รัปชัน เป็นตลาดที่มีการบังคับซื้อ โดย 60% ของครัวเรือนระบุว่า สาเหตุของการจ่ายสินบนคือ รู้สึกว่าถูกเรียกหรือถูกบังคับ ในขณะที่24% ระบุว่าเพื่อเป็นสินน้ำใจให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนในปี 2557 สถานการณ์เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ครัวเรือน 36% ระบุว่า การจ่ายเงินสินบนเป็นไปเพื่อลดความยุ่งยาก และ34% ระบุว่า เพื่อประหยัดเวลา นั่นหมายความว่า จากการเป็นสภาพบังคับซื้อในตลาดบริการคอร์รัปชันในปี 2542 ได้กลายเป็นตลาดที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกลดต้นทุนธุรกรรมและให้ประโยชน์กับผู้จ่ายสินบนในปี 2557 เป็นที่เรียบร้อย

อีกทั้งจากการสอบถามคนที่มีประสบการณ์เคยจ่ายเงินสินบน หรือเคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการคอร์รัปชันว่า ภายหลังจากการจ่ายสินบนแล้ว บริการที่ได้รับเปรียบเทียบกับเงินที่จ่ายไป ซึ่งหมายถึงราคาของการคอร์รัปชันหรือมูลค่าสินบนที่จ่ายไป มีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน พบว่า 47% ระบุว่า การจ่ายสินบนมีความคุ้มค่า ในขณะที่เกินกว่า 70% ระบุว่าคุ้มค่าหรือคุ้มค่ามาก นั่นหมายความว่า นอกเหนือจากตลาดสินบนจะไม่ได้อยู่ในสภาพบังคับซื้อและพยายามทำหน้าที่ในการให้ประโยชน์กับผู้ให้สินบนแล้ว ยังมีการกำหนดราคาที่เหมาะสมด้วย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากมีการแข่งขันในตลาดคอร์รัปชันอยู่พอสมควร

นอกจากนี้สอบถามผู้ที่เคยจ่ายสินบนหรือมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันโดยตรงต่อว่า เมื่อการดำเนินการเสร็จแล้ว ผลลัพธ์จากการจ่ายสินบนก่อให้เกิดความพึงพอใจมากน้อยเพียงใด ซึ่งพบว่าเกือบ 75% รู้สึกพึงพอใจหรือพึงพอใจมาก นั่นหมายความว่า บริการคอร์รัปชันสามารถส่งมอบสินค้าที่ก่อให้เกิดความรู้สึกดีกับผู้ซื้อสินค้าได้

การถ่ายโอนการคอร์รัปชันไปสู่ภาคเอกชน (Privatization)

จากมูลค่าสินบนรวมที่มีการจ่ายโดยครัวเรือนทั่วประเทศในปี 2557 อยู่ที่ประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาทในปี 2542 มูลค่าสินบนรวมอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามูลค่าการจ่ายสินบนลดลงมาก แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปในรายละเอียดของแต่ละหน่วยงานที่เรียกรับสินบน จะพบประเด็นว่า ตำรวจศุลกากร สรรพากร และที่ดิน มีมูลค่าการคอร์รัปชันในปี 2557 ลดลงมากจากปี 2542 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความพยายามของแต่ละหน่วยงานในการพัฒนาประสิทธิภาพของตัวเอง

แต่เนื่องจากสินบนเป็นตลาดที่มูลค่าสูงมาก ผลที่ตามมาก็คือ ตลาดสินบนมีการปรับตัวให้เกิดตัวกลางในการ รับจ่ายเงินสินบนแทนการติดต่อโดยตรงระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ กล่าวคือผู้จ่ายเงินสินบน ซึ่งเป็น ประชาชนทั่วไป จะไปติดต่อกับตัวกลางโดยสมัครใจ ไม่ต้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง เท่ากับมองไม่เห็นว่ามีการเรียกร้องการจ่ายสินบน แต่เห็นว่าเป็นการซื้อบริการเพื่อให้เกิดความสะดวกในการติดต่อกับภาครัฐ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบนก็จะรับเงินสินบนจากตัวกลางหรือบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งมีจำนวนน้อยลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนทั่วไปที่มาติดต่อ ทำให้ความเสี่ยงในการถูกจับได้ลดลง และยิ่งนานขึ้นก็มีการจัดสรรผลประโยชน์ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

กระบวนการดังกล่าวจึงเสมือนการถ่ายโอนกิจการคอร์รัปชันในส่วนของการให้สินบนที่จ่ายโดยตรงกับภาครัฐ มาสู่การทำงานของตัวกลางเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการในตลาดสินบนและลดความเสี่ยงที่จะถูกจับได้ของทุกฝ่ายลง หรือก็คือ การถ่ายโอนเงินสินบนของภาครัฐไปให้ภาคเอกชนเป็นผู้จัดการ

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานหรือบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่ให้บริการเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างประชาชนกับภาครัฐเพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก กล่าวคือ การคอร์รัปชันจะไม่เกิดโดยตรงระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ แต่จะเป็นความสัมพันธ์ทางอ้อมผ่านตัวกลางที่เข้ามาจัดการแทน แต่ไม่มีข้อมูลผลกำไรของตัวกลางเพียงพอที่จะสามารถระบุมูลค่าของการคอร์รัปชันที่ผ่านตัวกลางได้ แต่ก็น่าจะคาดการณ์ได้ว่ามีมูลค่ามหาศาล

ที่น่าสนใจคือ การเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลของตัวกลางเหล่านี้ สะท้อนการแข่งขันของตลาดคอร์รัปชันอย่างน่าสนใจ รวมทั้ง ประชาชนสามารถหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ต นั่นย่อมหมายความว่า ตลาดนี้มีการแข่งขันที่สูง มีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก และมีต้นทุนการเปลี่ยนผู้ให้บริการที่ต่ำ (Switching Cost)

อย่างไรก็ดี ผลกำไรที่มากหรือน้อยของตัวกลางเหล่านี้น่าจะมาจากการที่ยังมีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอยู่ (Barrier to Entry) เพราะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีความสัมพันธ์หรือมีความไว้เนื้อเชื่อใจกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอยู่พอสมควร ประการที่สอง การเข้ามาทำงานของเอกชน ช่วยลดจำนวนครั้งของการติดต่อราชการลงได้มาก

โดยจากในปี2542 ที่ครัวเรือนหนึ่งๆ มีการติดต่อหน่วยงานราชการประมาณ 17 ครั้งต่อปี ลดลงเหลือประมาณเพียง 10 ครั้ง และครัวเรือนที่มีการติดต่อในจำนวนครั้งที่มาก (มากกว่า 20 ครั้งต่อปี) ลดลงมากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการปฏิรูปภาครัฐที่ลดการติดต่อกับประชาชน แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการเข้ามาทำงานของตัวกลางที่ทำให้การติดต่อมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ตลาดของบริการคอร์รัปชันมีขนาดใหญ่ และมีการแข่งขันกันสูง ทำให้เกิดการให้บริการสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และมีองค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันทำหน้าที่เป็นฝ่ายกำกับดูแลการให้บริการอีกด้วย

ดังนั้นเห็นได้ว่าตลาดคอร์รัปชันใช้กิจกรรมค่อนข้างหลายหลาย มีมูลค่าสูง และมีพลวัตรในการปรับตัว ซึ่งแนวทางแก้ไขจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และต้องทำการปฏิรูปการเมืองและสังคมครั้งใหญ่