ThaiPublica > คอลัมน์ > SciSci ให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

SciSci ให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

17 กันยายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://www.nature.com/natrevphys/

บางสิ่งที่คนอื่นทำไว้แล้วก็สามารถนำมาเลียนแบบเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้โดยนำแนวทางและวิธีการมาใช้ เรื่องที่จะกล่าวถึงนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ที่แวดวงอื่นควรใคร่ครวญ

นักวิชาการของห้องสมุดใหม่ของมหาวิทยาลัยซึ่งต่อมาเป็น National University of Singapore ชื่อ Derek John de Solla Price เสนอผลการศึกษาในปี 1950 ในเรื่องการเติบโตของวารสาร วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่มีการสะสมมาตั้งแต่ ค.ศ. 1665 โดยพบว่าความสูงของหนังสือที่วางซ้อนกันพุ่งขึ้นในอัตราที่สูงมาก (แบบ exponential) เขาบอกว่านี่คือหลักฐานของลักษณะการเติบโตของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์

สิ่งที่เขาพูดยิ่งเป็นจริงมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา การตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการซึ่งมาจากการศึกษาวิจัยและข้อเสนอทางทฤษฎีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเหลือจะพรรณาโดยเฉพาะในเวลา 10 ปี ที่ผ่านมาจนมีนักวิจัยจำนวนมากกำลังศึกษาผลงานตีพิมพ์เหล่านี้และพยายามประเมินว่าเรื่องใดมีประโยชน์มากน้อยเพื่อช่วยปรับทิศทางของแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดผลงานวิชาการในอนาคตที่จะเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติมากที่สุด การศึกษาแบบนี้เรียกว่า SciSci (หรือ The Science of Science)

ที่จริงงานศึกษาลักษณะนี้มีมาแต่กลางศตวรรษที่ 20 แต่ที่คึกคักเป็นพิเศษในปัจจุบันก็เพราะมีกลไกการค้นหา และระบบเก็บข้อมูลด้านดิจิตอลซึ่งทำให้งานง่ายขึ้นมาก สาขาหนึ่งที่ขอยกมาเล่าก็คือสาขาฟิสิกส์ มีความตกใจมากเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วว่าไม่มีใครรู้ว่ามีนักฟิสิกส์ในโลกโดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่ตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารกี่คน ไม่รู้ว่าแต่ละสาขาย่อยของฟิสิกส์มีส่วนร่วมอย่างไร สาขาย่อยใดที่สร้างผลกระทบอย่างสูงต่อวิชาวิทยาศาสตร์ (high-impact science) ถ้าไม่มีข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นเรื่องยากในการตัดสินใจขององค์กรในการให้เงินสนับสนุนสาขาย่อยใดเป็นพิเศษ

ในปี 2017 วารสาร Nature Reviews Physics จึงจ้างกลุ่มนักวิจัยในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา รวม 4 คน ค้นหาคำตอบข้างต้น กลุ่มนี้วิเคราะห์บทความ 5.6 ล้านชิ้นซึ่งตีพิมพ์ระหว่างปี 1985-2015 ที่เขียนโดยนักฟิสิกส์ 135,877 คน ทั้ง 4 คน ตีพิมพ์คำตอบในบทความของวารสารนี้เดือนมกราคมของปี 2019

สิ่งที่พบก็คือสาขาย่อยหนึ่งของฟิสิกส์คือ interdisciplinary physics (สหวิทยากรของสาขาฟิสิกส์ใหญ่ ๆ) สร้างผลงานวิจัยที่มีผลกระทบมากที่สุด แต่ทว่ามีผู้สร้างผลงานสำคัญในสาขาย่อยนี้จำนวนน้อย อีกทั้งได้รับการสนับสนุนน้อยด้วยอย่างไม่สอดคล้องกับประโยชน์ที่สาขาย่อยนี้สร้างขึ้น

มีเพียงไม่ถึง 2% ของนักฟิสิกส์จำนวน 32,000 คนในสาขาย่อยนี้ที่ผลงานมีผลกระทบมากที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับสาขาฟิสิกส์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ condensed matter physics (ฟิสิกส์ของสสารควบแน่น) ที่มีจำนวนนักฟิสิกส์ 62,000 คน หรือประมาณ 40% ของนักฟิสิกส์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาย่อยต่าง ๆ ทั้งหมด

งานวิจัยชนิด Science of Science เช่นนี้มีประโยชน์เพราะให้หลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับการตัดสินใจในการให้เงินสนับสนุนงานวิจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบสูง ซึ่งเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกว่าการให้เงินสนับสนุนแบบ “ปืนลูกซอง” คือหัวกระสุนเล็ก ๆ จำนวนมากกระจัดกระจายเป็นวงกว้างและไม่เกิดผลกระทบมาก

นอกจากนี้ก็ยังพบอีกว่านักวิทยาศาสตร์มิได้มีผลงานสำคัญเฉพาะในตอนต้นของอายุการทำงานเท่านั้นดังที่เคยเข้าใจกัน การวิเคราะห์ผลงานตีพิมพ์ 514,896 ชิ้นในหลากหลายสาขาพบว่าผลงานสำคัญเกิดได้ในทุกช่วงอายุ

ในด้านขนาดของทีมวิจัย งานวิจัยชนิด Science of Science พบว่าการร่วมมือกันทำงานเป็นทีมวิจัยให้ผลงานที่เป็นเลิศและมีผลกระทบสูงกว่างานที่ศึกษาเดี่ยว และพบอีกว่าหากต้องการผลงานที่มีไอเดียใหม่ ๆ สร้างทิศทางแปลกใหม่ให้ศาสตร์แล้ว ขนาดของทีมที่เล็กจะเหมาะสมกว่าเพราะมีความคล่องตัวสูง และกล้าที่จะเสี่ยงมากกว่ากลุ่มใหญ่ การให้เงินสนับสนุนงานวิจัยทีมเล็กถึงแม้ว่าจะเสี่ยงกว่าแต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะหากไม่มีทีมเล็กบุกเบิกก่อนแล้ว ทีมใหญ่ก็จะไม่มีอะไรพัฒนาในเวลาต่อไป

แนวศึกษา Sci Sci ช่วยให้ค้นพบ “การเกิน” และ “การขาด” ไปของตัววิทยาศาสตร์เอง และช่วยให้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกระบวนการวิทยาศาสตร์โดยแท้ การมี Sci Sci จะช่วยให้วิทยาศาสตร์นำทางตัวเองได้

หากนำแนวทาง Sci Sci มาใช้กับบ้านเราย่อมเกิดประโยชน์มหาศาลต่อการบริหารจัดการงานวิจัยของรัฐแนวใหม่ผ่านการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรมซึ่งปรับรูปแบบการจัดสรรเงินทุนวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันนำไปสู่นวตกรรมและการเปลี่ยนหน้าตาของประเทศไทยสู่โลกสากลสมัยใหม่ครั้งใหญ่

การตัดสินใจสนับสนุนเงินทุนวิจัยในทิศทางของวิทยาศาสตร์สาขาย่อยใด งานวิจัยชนิดใดและโครงการใดจำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานในเรื่องการสร้างผลกระทบสูง

ที่ผ่านมาเป็นที่เชื่อได้ว่าการจัดสรรเงินทุนวิจัยขององค์กรต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงประเด็น “ผลกระทบสูง” อยู่แล้ว เพียงแต่ปัจจุบันการจัดสรรทุนวิจัยจะเป็นไปอย่างเข้มข้นและด้วยเงินทุนที่สูงกว่าเดิมเป็นอันมาก การมีข้อมูลรวมในระดับประเทศตามเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจ

ในระดับมหาวิทยาลัย การสำรวจความมี high-impact จากการจัดสรรเงินทุนวิจัยให้คณะ ภาควิชา สาขา และโครงการวิจัยต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการการตัดสินใจที่ถูกต้องในการสนับสนุนในขั้นต่อไป

ข้อมูลย่อยเหล่านี้จากมหาวิทยาลัยทั้งหลายจะช่วยให้เกิดข้อมูลสำหรับการศึกษาเชิง Sci Sci ของระดับประเทศสำหรับการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพซึ่งอาจหมายถึงความเป็นความตายของประเทศก็เป็นได้ ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวตกรรมอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและธุรกิจต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่อังคาร 17 ก.ย. 2562