ThaiPublica > คอลัมน์ > “สังคมไร้เงินสด” มีจริงหรือ

“สังคมไร้เงินสด” มีจริงหรือ

12 กันยายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ตู้กดเครื่องดื่มมีQR code สำหรับจ่ายเงินในศูนย์กลางการเดินทางในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

มนุษย์มักทึกทักบางสิ่งว่าทั้งหมดเป็นความจริง ทั้ง ๆ ที่เพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่เป็นความจริง บางครั้งก็รู้สึกว่าเป็นความจริงเพราะเพียงเห็นหลักฐานสนับสนุนเล็กน้อย ลองมาดูกันในเรื่อง “สังคมไร้เงินสด” (cashless society) ว่ามีความจริงเพียงใด

นิตยสาร The Economist ฉบับเมื่อเร็ว ๆ นี้ให้ข้อมูลว่าทั้งโลกเรามีความเป็น “สังคมไร้เงินสด” มากน้อยเพียงใด เมื่อเห็นตัวเลขแล้วรู้สึกตกใจว่าเราเข้าใจผิดถึงเพียงนี้เชียวหรือ จีนที่เราได้ยินเรื่องการใช้ QR code ชำระแทนเงินสดกันมากมายนั้นแท้จริงแล้วเพียง 8% ของธุรกรรมทั้งหมดในปี 2016 ที่ไม่ใช้เงินสด ที่เหลือ 98% ของธุรกรรมยังคงเป็นเงินสด สิงคโปร์ยังใช้เงินสด 58% ของธุรกรรมทั้งหมด สหรัฐอเมริกา40% ที่ใช้เงินสดน้อยสุดคือนอร์เวย์ 5%

ถึงแม้จะเป็นสถิติของปี 2016 แต่ตัวเลขไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้มากนัก บางประเทศเช่น จีนอาจเป็น “สังคมไร้เงินสด” มากขึ้น แต่ก็ไม่ลดการใช้เงินสดลงไปจนถึง 30-40% แน่นอน ทางโน้มสู่ “สังคมไร้เงินสด” นั้นเป็นความจริงแต่ไม่สูงดังที่เข้าใจกัน
กลุ่มประเทศที่เป็น “สังคมไร้เงินสด” มากที่สุดก็คือสแกนดิเนเวีย อันได้แก่นอร์เวย์ (15% ของธุรกรรมใช้เงินสด) เดนมาร์ค (22%) สวีเดน (25%) ฟินแลนด์ (40%) ส่วนอังกฤษนั้น 30% คานาดา (40%) ออสเตรเลีย(42%) ฝรั่งเศส (45%) เยอรมันนี (60%) เกาหลีใต้ (50%)

กลุ่มอื่น ๆ ในโลกเช่น ยุโรปตะวันออก รัสเซีย ไต้หวัน สเปน อเมริกาใต้ เอเชีย ล้วนใช้เงินสดในระดับ 60% ขึ้นไปด้วยกันทั้งนั้น ที่โดดเด่นในการเป็น “สังคมเงินสด” อย่างแท้จริงก็คือ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ (3 ประเทศนี้เกือบ 98%) มาเลเซีย (85%) ไทย (ประมาณร้อยละ 95) ที่น่าแปลกใจคือญี่ปุ่นใช้เงินสดถึงเกือบ 70% อิตาลี (90%) กรีก (95%)

ใน “สังคมไร้เงินสด” ผู้คนใช้การจ่ายเงินหลากหลายรูปแบบ พื้นฐานที่สุดก็คือการรูดเครดิตการ์ด เดบิตการ์ด (ใช้เงินได้ไม่เกินที่ตนเองฝากไว้) ในปัจจุบันที่นิยมก็คือใช้เดบิตการ์ดแตะเพื่อจ่ายเงิน (เหมือนใช้ผ่านประตูจ่ายเงิน BTS และ MRT) ในกลุ่มสแกนดิเนเวียใช้วิธีนี้มากที่สุด

ปัจจุบันในออสเตรเลียและยุโรปหลายประเทศใช้การสัมผัสเพื่อจ่ายเงินดังกล่าวโดยใช้แหวน กำไล ตุ้มหู (เท่าที่ทราบยังไม่มีเข็มขัดซึ่งน่าหวาดหวั่นมาก) แทนบัตร (ฝังชิบไว้ในสิ่งเหล่านี้แทนที่จะฝังไว้ในบัตรเดบิต) เมื่อต้องการจ่ายเงินก็เพียงเอาเครื่องประดับเหล่านี้สัมผัสหรือผ่านใกล้ ๆ จุดที่จ่ายเงิน

อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันคือการใช้บัตรเดบิตเสียบเข้าไปในเครื่องที่วางไว้ ณ จุดจ่ายเงินและกดรหัสลับของตนเองเพื่อหักเงิน (บัตรเครดิตและเดบิตเสียบเข้าเครื่องและมีสลิปให้ลงนามนั้นเป็นวิธีเก่าแก่ที่ยังใช้กันกว้างขวางแต่กินเวลามากกว่าและสะดวกน้อยกว่า) อย่างไรก็ดีการจ่ายโดยใช้การสัมผัสเป็นที่นิยมกว่าแต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกโกงหรือคนอื่นเอาไปใช้ เฉพาะในประเทศที่ประชาชนมีค่านิยมของความซื่อสัตย์สูงจึงจะเป็นที่นิยม

การเป็น “สังคมไร้เงินสด” โดยการโอนเงินผ่าน QR code (ใช้มือถืออ่าน QR code ของฝ่ายผู้รับโอน และโอนเงินผ่านมือถือ) เป็นที่นิยม โดยเฉพาะในเซี่ยงไฮ้จนแม้แต่ขอทานก็เปิด QR code บนมือถือไว้ข้างตัวเพื่อให้คนผ่านไปมาบริจาค หากไม่ใช้ QR code ก็โอนเงินกันโดยตรงผ่านมือถือโดยใช้เลขบัญชีของธนาคาร กล่าวคือไม่อาศัยข้อมูลจาก QR code แต่ใช้เลขบัญชีโดยตรง
การโอนเงินระหว่างบุคคลนั้นมีวิธีการมากมายในโลกไซเบอร์ บ้างก็โอนถึงกันโดยใช้เบอร์โทรศัพท์ บ้างก็ใช้ทั้งเลขหมายประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ นอกจากนี้ก็โอนกันในเงินสกุลต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สกุลจริงของประเทศต่าง ๆ ดังที่เรียกว่า crypto currency (crypto = เกือบจะ)

ดีกรีของการเป็น “สังคมไร้เงินสด” นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความสามารถในการปรับตัวของประชาชนเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การเป็น “เศรษฐกิจใต้ดิน” (ไม่ต้องการให้มีหลักฐานการรับจ่ายเงิน จึงนิยมเงินสด ดังเช่นกรีก และอิตาลี) กฎหมายที่กีดกันการใช้บัตรเครดิต (ญี่ปุ่นคุ้มกันต่างชาติจนมีการใช้น้อยกว่าที่ควร) การไม่ไว้วางใจธนบัตร (เกรงว่าจะเป็นธนบัตรปลอม) รสนิยมการซื้อขายออนไลน์ โครงสร้างอินเตอร์เน็ต การสนับสนุนของภาครัฐ วัฒนธรรมประเพณีความเชื่อ ความเป็นสมัยใหม่ของการค้า การเลียนแบบเศรษฐกิจอื่น ฯลฯ

นิตยสาร The Economist แสดงกราฟให้ดูว่ายิ่งมีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูง และยิ่งมีรายได้ต่อหัวสูง ก็มีทางโน้มสูงที่จะเป็น “สังคมไร้เงินสด” (กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกว่าร้อยละ 90 และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 75,000-100,000 เหรียญต่อปี) ยกเว้นประเทศที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น กรีก อิตาลี ญี่ปุ่น ฯลฯ

เกาหลีใต้มุ่งมั่นที่จะเป็น “สังคมไร้เงินสด” อย่างสมบูรณ์ก่อนปี 2020 (ยังดูห่างไกลความจริง) การใช้เงินสดลดลงเป็นลำดับ ในปี 2006 เฉลี่ยมี 500 จำนวนธุรกรรมปลีกที่ใช้เงินสดต่อคนลดลงเหลือ 380 ในปี 2017 ส่วนสวีเดนและเดนมาร์คนั้นเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก คือลดจากประมาณ 370 เหลือ 125 ในปี 2017

การเป็น “สังคมไร้เงินสด” นั้นช่วยสนับสนุนการค้าขายและบริการทั้งปกติและออนไลน์เป็นอย่างมากเนื่องจากลดต้นทุนในการจัดเก็บ ตรวจสอบ รักษาเงินสด สร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค ลดค่าโสหุ้ยในการผลิตและการจัดการธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ ภาครัฐมีฐานภาษีเพิ่มขึ้นเนื่องจากการซื้อขายผ่านระบบการบันทึกมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานในการตรวจจับการทุจริต คอรัปชั่น ปราบปรามอาชญากรรม ยาเสพติด ฯลฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักฐานจากงานวิจัยว่าการใช้เงินสดก่อให้เกิดโสหุ้ยต่อสังคมรวมทั้งหมดประมาณ 0.5% ของ GDPต่อปี

ถึงแม้ในระดับโลกผู้คนยังคงใช้เงินสดกันมากถึง 89% ของจำนวนธุรกรรมในปี 2013 แต่ลดลงเป็นลำดับจนถึง 77% ในปัจจุบัน การลดลงของการใช้เงินสดในแต่ละประเทศมิได้ขึ้นอยู่กับอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแต่เพียงอย่างเดียว หากขึ้นอยู่กับอีกหลากหลายปัจจัย แต่ทางโน้มก็คือการเป็น “สังคมไร้เงินสด” ของโลกในอนาคต

ไม่มีสังคมใดที่จะเป็น “สังคมไร้เงินสด” อย่างสมบูรณ์ มนุษย์ส่วนหนึ่งยังคงต้องการใช้เงินสด ต้องการมีความเป็นส่วนตัว สามารถใช้เงินตามใจชอบโดยไม่มีใครมา “แอบดู” ผ่านหลักฐานทางดิจิทอลที่ “สังคมไร้เงินสด” มีร่องรอยทุกธุรกรรม

ตราบใดที่ยังมีมนุษย์บางส่วนต้องการความเป็นเสรีชน การเป็น “สังคมไร้เงินสด” อย่างสมบูรณ์ไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 3 ก.ย.2562