ThaiPublica > คอลัมน์ > อยู่ในโอวาทด้วยระบบแต้มของจีน

อยู่ในโอวาทด้วยระบบแต้มของจีน

10 กันยายน 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

Social Credit System ที่มาภาพ : http://telecoms.com/493747/chinas-social-credit-system-set-to-kick-off-in-beijing-in-2020/

ใครที่เล่น Facebook อาจรู้สึกตกใจที่บ่อยครั้งมันจำหน้าคุณได้ รู้ชื่อคุณถูกต้องและเอาไปโยงใยกับเพื่อนคนอื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าเพียงแค่นี้ยังขวัญอ่อน สิ่งที่เล่าต่อไปนี้อาจทำให้ท่านไม่สบายใจมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้

ปัจจุบันมีการพัฒนาซอฟต์แวร์โปรแกรมที่เรียกว่า facial recognition กล่าวคือมันบันทึกใบหน้าและชื่อบุคคลไว้ และเมื่อพบเห็นที่ไหนอีกก็บอกได้หมดว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน และมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบตามที่บันทึกไว้

จีนก้าวหน้ากว่าใครทั้งหมดในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะผ่าตัดเปลี่ยนหน้าอย่างไรก็ยากที่จะหนีพ้นเพราะมันบันทึกระยะห่างระหว่างจุดต่างๆ บนใบหน้า รูปลักษณ์ของใบหูตลอดจนลักษณะของตา จมูก คิ้ว ปาก ฯลฯ แม้แต่ภาพหน้าที่ถ่ายไม่ชัดเจน หรือเห็นไม่เต็มหน้าทั้งหมด ก็สามารถบอกได้ด้วยความแม่นยำที่สูงมาก

เมื่อเร็วๆ นี้ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกของสหรัฐอเมริกาที่ออกเทศบัญญัติห้ามท้องถิ่นใช้ซอฟต์แวร์นี้ เพราะเกรงว่าจะไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง โดยเห็นว่าผลเสียสูงกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

facial recognition ซอฟต์แวร์อาศัย AI (ปัญญาประดิษฐ์) ในการตรวจข้อมูลของใบหน้าทั้งหมดที่เก็บบันทึกไว้เพื่อตรวจเช็คกับข้อมูลที่เก็บไว้ก่อนหน้าซึ่งเอามาจากรูปถ่ายจากเอกสาร จากภาพถ่ายเมื่อทำบัตรต่างๆ และที่สำคัญ จากข้อมูลในโซเชียลมีเดียที่ปรากฏรูปและชื่อของบุคคลนั้น Facebook ก็เป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่สำคัญ

เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์มหาศาล ตั้งแต่ใช้อนุญาตการเข้าสถานที่ ใช้เพื่อยืนยันตัวตน (biometric) ติดตามและตรวจจับผู้ทำผิดกฎหมายทั้งในปัจจุบันและที่หลบหนี ตั้งแต่คดีอาชญากรรมใหญ่จนถึงการทำผิดกฎจราจร การติดตามคนหาย การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ตรวจอาการของโรค ฯลฯ

ในปี 2017 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในรัฐบัญญัติให้มีการบันทึกข้อมูลหน้าตาของผู้โดยสารจากต่างประเทศทุกคนที่เดินทางผ่านสนามบินใหญ่ 20 แห่งของสหรัฐอเมริกาให้เสร็จก่อนปี 2021 เพื่อประโยชน์ในการใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว

ข่าวนี้ชวนให้ขบขันเพราะภายในปี 2020 จีนจะใช้ซอฟต์แวร์ facial recognition บันทึกหน้าตาพลเมือง 1,400 ล้านคนที่มีอายุเกิน 18 ปี รวมทั้งผู้เดินทางจากต่างประเทศด้วย ไม่ใช่ไม่กี่ล้านคนตามที่สหรัฐอเมริกามีแผนการ

ในขณะที่คนอเมริกันกังวลกับซอฟต์แวร์ facial recognition เพราะจะล้ำสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล คนจีนกลับตอบรับโครงการนี้เพราะเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ระหว่างกันของคนจีนที่หายไปนานกลับคืนมา

นักสังคมวิทยาจีนระบุว่า สังคมจีนขาดความไว้วางใจกันและคาดคิดว่าจะถูกโกงหรือรังแกจากผู้อื่นเสมอถึงแม้ตนเองจะเป็นผู้ไร้เดียงสาก็ตาม การขาดความไว้วางใจนี้ติดพันมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรมสมัยเหมา เจ๋อตง ที่ส่งเสริมให้เพื่อนบ้านเป็นศัตรูกัน ต่างฝ่ายต่างพร้อมที่จะรายงาน “ความผิดปกติ” ของเพื่อนบ้านให้พรรคทราบ การมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบความจริงได้จะเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนความวางใจและประกันภัยได้เป็นอย่างดี

ทางการจีนมิได้เพียงแต่ใช้ facial recognition โปรแกรมเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมายเท่านั้น หากไปไกลกว่านั้นมาก กล่าวคือ ใช้มันเป็นเครื่องมือของการสร้างระบบที่เรียกว่า Social Credit System หรือระบบแต้มของชื่อเสียงทางสังคม ซึ่งคล้ายกับระบบการให้แต้มเพื่อใช้ในการประเมินการให้กู้ยืมของสถาบันการเงินในหลายประเทศ

ระบบนี้อยู่ในขั้นทดลองตั้งแต่ปี 2014 ในกว่า 40 ท้องถิ่น โดยคาดว่าจะนำมาใช้ทั่วประเทศภายใต้มาตรฐานเดียวกันในปี 2020 โดยตั้งใจให้เป็นระบบตรวจสอบ ผลักดันและกดดันให้คนจีนทั้งประเทศมีพฤติกรรมที่ “เหมาะสม”

จากการทดลอง แต่ละคนและแต่ละบริษัทธุรกิจจะได้รับแต้มระหว่าง 350-950 ถ้าทำสิ่งไม่ดี เช่น ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ข้ามถนนในที่ห้าม ทะเลาะเบาะแว้ง นินทาซุบซิบ คดโกง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ฯลฯ และประการสำคัญ มีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล จะถูกตัดแต้มโดยไม่บอกสาเหตุ หากถูกตัดจนต่ำถึงระดับหนึ่ง เช่น 300 ก็จะถูกตัดสิทธิในการจองรถไฟฟ้าความเร็วสูงล่วงหน้า ลูกถูกตัดสิทธิเรียนในโรงเรียนดีๆ ไม่สามารถโดยสารเครื่องบินได้ สมัครเข้าทำงานไม่ได้ รับบริการจากรัฐน้อยลง ถูกตัดสิทธิในการประมูลงาน ฯลฯ

ดูเผินๆ ก็ดีที่เป็นการบังคับประชาชนให้อยู่ในร่องในรอย ให้อับอายหากทำสิ่งไม่ดี แต่ถ้าดูลึกลงไปแล้วจะไม่เห็นผิดไปจากที่เทศบาลเมืองซานฟรานซิสโกเห็น นั่นก็คือการละเมิดสิทธิเสรีภาพ พลเมืองจะอยู่ “ในโอวาท” ไม่มีใครกล้าประท้วง หรือแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำเพราะจะเสียแต้ม (แค่ถือป้ายประท้วง ทางการก็รู้จักชื่อและที่อยู่ อาจไปคอยอยู่ที่บ้านก่อนกลับไปถึงด้วยซ้ำ)

หากทำดี เช่น ทำงานจิตอาสา บริจาคเงิน หรือทำความดี เช่น เก็บของตกและคืนเจ้าของ ก็จะมีป้ายชื่นชมความดีและได้แต้มเพิ่มสะสมจนหลุดจากแบล็กลิสต์และกลับมาได้สิทธิประโยชน์เหมือนคนทั่วไปอีกครั้ง

จากการสำรวจพบว่าคนจีนกว่าร้อยละ 80 เห็นชอบกับระบบ Social Credit System (เข้าใจว่าเวลาตอบคำถามไม่มีกล้องถ่ายอยู่ด้วย) เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นการปกป้องการถูก รังแกและช่วยให้ไว้ใจกันมากยิ่งขึ้น

ระบบเช่นนี้เป็นสิ่งที่ชาวโลกกำลังจับตามมอง เพราะอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่มากขึ้น และหากประสบผลสำเร็จอาจมีการเลียนแบบในสังคมอื่น เมื่อสิทธิและเสรีภาพเป็นหัวใจของการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตย การเลื่อมใสในระบบ Social Credit System กันมากอาจบ่อนเซาะระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวก็เป็นได้

Social Credit System โดยแท้จริงแล้วมิใช่ของใหม่ เคยมีการทดลองใช้ในชิลีในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ของจอมเผด็จการ Pinochet ในจีนเองในช่วง 2001-2002 ก็มีการทดลองในสมัยของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา เพียงแต่ในสมัยก่อนไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดเทคโนโลยีขั้นสูงสนับสนุน

ประชาชนนั้นเปรียบเสมือนมหาสมุทร รัฐบาลคือนาวาลำน้อยที่ล่องลอย ถ้าคลื่นลมแรงมหาสมุทรไม่เป็นใจ ระบบใดก็อยู่รอดไม่ได้ ช่วงเวลาและสภาพอากาศจะชี้ว่า Social Credit System อยู่รอดในจีนซึ่งเป็นแล็บทดลองใหญ่แห่งแรกของโลกหรือไม่

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 25 มิ.ย. 2562