
“ในการทำงานอนุรักษ์วัฒนธรรมเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นเจ้าของที่แท้จริง และจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาศิลปวัฒนธรรมที่ได้ฟื้นฟูขึ้นมาแล้วนั้นให้อยู่อย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคมสืบไป”
แม้เสียงสะบัดกลองและท่าร่ายรำของเด็กๆ และเยาวชน บนเวทีการประกวดการตีก๋องปู่จานครลำปาง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2562” ที่จัดขึ้นบริเวณข่วงนคร อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 9-13 เมษายน 2562 ที่ผ่านมาจะเป็นภาพที่ชินตาของชาวลำปางและนักท่องเที่ยวที่อาจเคยมาเยือนลำปางในช่วงสงกรานต์ เนื่องจากงานนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
กระนั้นท่วงทำนองจังหวะของกลองและเสน่ห์การร่ายรำในการตี “ก๋องปู่จา” หรือ “กลองบูชา” นั้นก็ยังสามารถสะกดและเรียกความสนใจของผู้ชมได้เสมอ ถือเป็นเสน่ห์ของกลองโบราณขนาดใหญ่ของล้านนาที่ต้องใช้เทคนิควิธีการและความแม่นยำจากการฝึกฝนในการตี ซึ่งต้องฝึกฝนเป็นเวลาหลายเดือนก่อนการแข่งหรือแสดง
เวทีประกวดนี้จึงเป็นทั้งความภาคภูมิใจของเด็กๆ ชาวลำปางที่มีพื้นที่ในการแสดงฝีไม้ลายมือ และยังเป็นโอกาสที่ครูกลอง ครูภูมิปัญญา จะได้ถ่ายทอดวิชากลองและสืบสานประเพณีการตีก๋องปู่จาที่สืบทอดมาแต่โบราณ
“ก๋องปู่จา” รากวัฒนธรรมล้านนาที่ต้องอนุรักษ์
“งานประกวดนี้เราสนับสนุนให้จัดขึ้นในช่วงงานสงกรานต์ของทุกปีจนกลายเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดลำปางไปแล้ว และได้รับการตอบรับอย่างดี” นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีที โออาร์ กล่าวถึงงานอนุรักษ์วัฒนธรรมที่หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท. คลังปิโตรเลียมลำปาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของพีทีที โออาร์ ได้เริ่มต้นสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูและอนุรักษ์การตีก๋องปู่จา เมื่อ 18 ปีก่อน โดยหน่วยธุรกิจน้ำมัน คลังปิโตรเลียมลำปาง ได้ร่วมกับจังหวัดลำปางฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวลำปางที่กำลังจะสูญหายไปนี้ให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
“คลังปิโตรเลียมลำปางเป็นเสมือนหนึ่งในตัวแทนของบริษัท ในการทำงานอนุรักษ์วัฒนธรรมเน้นให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นเจ้าของที่แท้จริง และจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาศิลปวัฒนธรรมที่ได้ฟื้นฟูขึ้นมาแล้วนั้นให้อยู่อย่างยั่งยืนควบคู่กับสังคมสืบไป” นางสาวจิราพรกล่าว
สำหรับคนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยกับคำว่า “ก๋องปู่จา” มากนัก เพราะคำนี้เป็นภาษาล้านนา มีความหมายตรงตัวคือ “กลองบูชา” ในภาษากลาง ที่ใช้ตีเพื่อบูชา ชาวล้านนาใช้กลองโบราณขนาดใหญ่นี้ในพิธีกรรมทางศาสนารวมทั้งเรื่องสำคัญ รวมถึงการที่กลองอยู่ในวิถีชีวิต ในช่วงวันโกน ราว 2-3 ทุ่มคืนก่อนวันพระใหญ่ พระที่วัดจะตี “ก๋องปู่จา” เพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้ชาวบ้านได้รู้ว่าวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันพระ นอกจากนี้ยังใช้ในโอกาสสำคัญในยามศึกสงคราม ไม่ว่าจะใช้ในยามฉลองชัยชนะ ระหว่างรบยังใช้ในการตีบอกสัญญาณการเข้าโจมตีศัตรูของกองทัพ หรือในยามบ้านเมืองสงบกลองนี้ก็ใช้ตีเพื่อเป็นสัญญาณบอกข่าวของชุมชน รวมถึงใช้เป็นเครื่องดนตรีมหรสพ และเพื่อความสนุกสนานอีกด้วย
คิดเชิงระบบ ตอบโจทย์งานอนุรักษ์ ที่ท้องถิ่นเป็นเจ้าของ
ย้อนกลับไปในปี 2545 เมื่อครั้งที่หน่วยธุรกิจน้ำมัน เริ่มสนับสนุนการฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีการตีก๋องปู่จา ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การยึดหลักในการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างบริษัทกับสังคม โดยการให้ “ท้องถิ่นเป็นเจ้าของ” ถือเป็นแนวคิดสำคัญที่ทำให้ฟื้นฟูการตีก๋องปู่จาประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการผลักดันให้งานฟื้นฟูและงานอนุรักษ์เป็นระบบและทำอย่างมียุทธศาสตร์
จากช่วงแรกๆ ในการกิจกรรมจัดสร้างก๋องปู่จา ที่ชำรุดเสียหาย การสร้างขวัญกำลังใจเสริมพลังครูกลอง กระทั่งเมื่อทำงานไปเกือบเข้าปีที่ 10 ในปี 2554 ได้มีการริเริ่มทำงานเชิงระบบมากขึ้นในงานอนุรักษ์วัฒนธรรม หน่วยธุรกิจน้ำมันในเวลานั้น ได้หารือร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และคณะกรรมการบริหารจัดการกิจการก๋องปู่จา เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีการตีก๋องปู่จา ให้อยู่คู่กับชาวลำปางอย่างยั่งยืน โดยแบ่งภารกิจการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้าน เพื่อให้การดำเนินงานมีความเป็นรูปธรรมและมีแผนงานที่ชัดเจน ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการส่งเสริมกิจกรรม ด้านการพัฒนาหลักสูตร นำมาสู่กิจกรรมสำคัญๆ ในเวลาต่อมา เช่น การจัดทำหนังสือ “ทศวรรษการฟื้นฟูประเพณีตีก๋องปู่จา” การจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนท้องถิ่น การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ในโฮงก๋องปู่จา การจัดทำเอกสารเผยแพร่ รวมถึงการจัดกิจกรรมประกวดแข่งขันตีก๋องปู่จาประจำปี ฯลฯ
ส่งต่องานฟื้นประเพณีสู่งานสืบสานเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
“ค่ายเยาวชน พีทีที โออาร์ อนุรักษ์ประเพณีตีก๋องปู่จานครลำปาง” ถือเป็นหนึ่งในแผนงานของยุทธศาสตร์การฟื้นฟูการตีก๋องปู่จาที่มีการคิดและเห็นร่วมกันระหว่างคนท้องถิ่น ค่ายนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ และการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่เวทีการแข่งขันตีก๋องปู่จาในปีถัดไป โดยแต่ละปีเปิดรับเด็กราว 130 คนในจังหวัดลำปาง มีครูกลองผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชาวบ้าน และครูภูมิปัญญาท้องถิ่น มาร่วมถ่ายทอดความรู้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20-22 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่มีการจัด “กิจกรรมค่ายเยาวชน พีทีที โออาร์ อนุรักษ์ประเพณีตีก๋องปู่จานครลำปาง” ครั้งที่ 17 ณ คลังปิโตรเลียมลำปาง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และวัดพระเจดีย์ซาวหลัง พระอารามหลวง จังหวัดลำปาง
นายวิชิตพงศ์ ชื่นวรทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายคลังปิโตรเลียมส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีที โออาร์ กล่าวว่า “ค่ายนี้ใช้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน โดยคัดเลือกเยาวชนจาก 13 อำเภอในจังหวัดลำปางมาร่วมกิจกรรม และมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้ความรู้ ฝึกปฏิบัติ จัดการทดสอบ ประเมินผล และมอบเกียรติบัตรเพื่อรับรองทักษะความรู้ของเยาวชนลำปาง”
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานในเชิงระบบและต่อเนื่อง หลังจากค่ายสิ้นสุดลงในทุกปี จะยังมีกิจกรรมตระเวนค่ายเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันการลงพื้นที่ออกตระเวนฝึกสอนให้กับเด็กๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันจริงจะเกิดขึ้นในปีถัดไปด้วย ซึ่งพบว่า กระบวนการในการติดตามทำให้ที่ผ่านมาสามารถช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และเป็นการเสริมพลังให้งานอนุรักษ์การตีก๋องปู่จานั้นมีความต่อเนื่องและยืนระยะต่อไปได้ เช่น ที่เคยพบความขาดแคลนกลองในการซ้อม ทำให้เวลาต่อมาครูกลองได้ร่วมพัฒนาก๋องปู่จา จากถังน้ำมัน 200 ลิตร ประกบไม้ทำเลียนแบบกลองจริงซึ่งทำให้เด็กๆ ทั้ง 13 อำเภอมีกลองได้ฝึกฝีมือ แทนที่จะฝึกซ้อมตีกลองกับผนัง กระดาษแข็ง อย่างที่ผ่านมา
กระบวนการดังกล่าวที่ออกแบบโดยท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่นจึงถือเป็นงานขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ที่กำลังตอบโจทย์สำหรับก้าวต่อไปในอนาคตของการตีก๋องปู่จาที่เป็นมากกว่าการพลิกฟื้นประเพณี แต่ยังรวมไปถึงการสืบสานและงานอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาให้ยังคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน