ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics เจาะลึกนิติบุคคล 7.3 แสนราย จ่ายภาษี 1.8 แสนราย ใครจ่ายมาก-น้อย แนะกลุ่มไหนที่รัฐต้องเพิ่ม-ลดการจูงใจ

TMB Analytics เจาะลึกนิติบุคคล 7.3 แสนราย จ่ายภาษี 1.8 แสนราย ใครจ่ายมาก-น้อย แนะกลุ่มไหนที่รัฐต้องเพิ่ม-ลดการจูงใจ

29 พฤษภาคม 2019


TMB Analytics เจาะรายจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลผู้ประกอบการจากงบการเงิน พบผู้ประกอบการชำระภาษี 1.8 แสนราย มูลค่าชำระรวม 4.4 แสนล้านบาท ประเมินมีการใช้สิทธิประโยชน์ภาษี 1.5 แสนล้านบาท พบผู้ประกอบการ SME ยังใช้น้อย แนะรัฐใช้นโยบายจูงใจกระตุ้นการใช้เพิ่มเติม

รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของภาครัฐ (ข้อมูลของกระทรวงการคลัง) โดยในปี 2560 รายรับจากรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล 6.22 แสนล้านบาท คิดเป็น 25% รายรับจากการจัดเก็บภาษีสุทธิรวมทั้งประเทศ เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวนี้ ภาครัฐนำไปใช้จ่ายพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ จะเห็นว่าการเติบโตของผู้ประกอบการค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะหากรายได้เติบโต กิจการมีกำไรดี ก็จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ศึกษาเจาะลึกการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อตอบคำถาม ธุรกิจจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่าไหร่ ธุรกิจใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่าไหร่ กลุ่มไหนใช้เยอะ กลุ่มไหนใช้น้อย และธุรกิจที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้สิทธิประโยชน์ภาษีเพิ่มขึ้นอย่างไร

ธุรกิจขนาดเล็กมีจำนวนผู้เสียภาษีมากที่สุด 84%

ผลการศึกษาพบว่าในปี 2560 กิจการที่จดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยที่ส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและยังดำเนินกิจการอยู่มีจำนวน 7.3 แสนราย มีผู้ประกอบการที่ชำระภาษี 1.8 แสนราย (คิดเป็น 25% ของผู้ประกอบการรวม) และเม็ดเงินจ่ายภาษีรวมกันเท่ากับ 4.4 แสนล้านบาท แยกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่ม 1 “ธุรกิจ SME จ่ายภาษีในอัตราขั้นบันไดของ SME” มีจำนวนผู้ชำระภาษี 1.1 แสนราย จ่ายภาษีรวม 1.2 หมื่นล้านบาท
  • กลุ่ม 2 “ธุรกิจ SME เหมือนกันแต่จ่ายภาษีในอัตราทั่วไป” มีจำนวนผู้ชำระภาษี 2.9 หมื่นราย จ่ายภาษีรวม 2.17 หมื่นล้านบาท
  • กลุ่ม 3 “ธุรกิจขนาดกลาง จ่ายภาษีในอัตราทั่วไป” มีจำนวนผู้ชำระภาษี 2.3 หมื่นราย จ่ายภาษีรวม 7.69 หมื่นล้านบาท
  • กลุ่ม 4 “ธุรกิจขนาดใหญ่ จ่ายภาษีในอัตราทั่วไป” มีจำนวนผู้ชำระภาษี 3.95 พันราย จ่ายภาษีรวม 3.25 แสนล้านบาท
  • จากข้อมูลชี้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่มีการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลมากที่สุด (75%) รองลงมา ธุรกิจขนาดกลาง (18%) ธุรกิจ SME (8%) แต่หากมองในแง่จำนวนกิจการพบว่า ธุรกิจขนาดเล็กมีจำนวนผู้เสียภาษีมากที่สุด (84%) รองลงมา ธุรกิจขนาดกลาง (14%) และธุรกิจขนาดใหญ่ (2%) ตามลำดับ

    เมื่อศึกษาลึกลงไปว่า แต่ละกลุ่มมีการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีอย่างไร

    การใช้สิทธิประโยชน์ภาษี คือ การที่ภาครัฐอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินกิจการให้เติบโตในอนาคตมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น ค่าสึกหรอ ค่าเสื่อมราคาของอาคารและเครื่องจักร ค่าอบรมพนักงาน เงินบริจาค ฯลฯ รวมถึงสิทธิประโยชน์จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI เช่น ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน

    พบว่า “ภาพรวมกิจการมีการใช้สิทธิประโยชน์ภาษีประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการใช้สิทธิประโยชน์มากที่สุดคือธุรกิจขนาดใหญ่ มีสัดส่วนการใช้ 94% รองลงมาคือธุรกิจขนาดกลาง มีสัดส่วนการใช้ 5% ในขณะที่ธุรกิจ SME มีการใช้น้อยมากไม่ถึง 1%”

    และเมื่อเจาะลึกลงในส่วนธุรกิจ SME พบว่า ธุรกิจ SME (กลุ่ม 1) มีการใช้สิทธิลดหย่อนประมาณ 1.4 พันล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจ SME (กลุ่ม 2) ภาพรวมแทบไม่มีการใช้สิทธิประโยชน์ภาษีเลย ชี้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่มีการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีมากที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจขนาดกลาง ในขณะที่ธุรกิจ SME พบว่ามีการใช้สิทธิประโยชน์ภาษีน้อย

    ทั้งนี้ ในบรรดาการใช้สิทธิลดหย่อนทางด้านภาษีทุกประเภท จะพบว่าการขอลดหย่อนภาษีจากการขอส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จะมีผลต่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากที่สุด ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงทำการศึกษากิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เปรียบเทียบกับกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริม BOI พบว่า

    กลุ่มกิจการที่ไม่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (กลุ่ม 2-4) ส่วนใหญ่ 50-68% เสียอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) อยู่ระหว่าง 15 – 20% ในขณะที่ธุรกิจ SME (กลุ่ม 1) ส่วนใหญ่ 67% เสีย Effective Tax Rate ต่ำกว่า 5% เนื่องจากอัตราภาษีต่ำกว่าเพราะจ่ายภาษีในอัตราขั้นบันได

    สำหรับ SME กลุ่มกิจการที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน BOI พบว่า ภาพต่างกันออกไปจากกลุ่มกิจการที่ไม่ขอ BOI โดยธุรกิจส่วนใหญ่ที่เสีย Effective Tax Rate ระหว่าง 15-20% น้อยกว่า 50% เพราะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจาก BOI เพิ่มเติม

    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณากลุ่มธุรกิจที่ขอ BOI และเสียภาษีต่ำกว่า 15% ของกำไรสุทธิ แยกตามขนาดธุรกิจ พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ (กลุ่ม 4) มี 69% และธุรกิจขนาดกลาง (กลุ่ม 3) มี 47% ในขณะที่ธุรกิจ SME (กลุ่ม 2) มีเพียง 30% เท่านั้นที่เสียภาษีต่ำกว่า 15% ชี้ว่า ธุรกิจที่ขอ BOI จะมี Effective Tax Rate ต่ำกว่าธุรกิจที่ไม่มีการขอ BOI โดยธุรกิจ SME มีผู้เสีย Effective Tax Rate ต่ำว่า 15% ไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากมีผู้ขอรับการส่งเสริม BOI น้อยมากเพียง 2% ของจำนวนกิจการในกลุ่ม SME ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีผู้ขอรับการส่งเสริม BOI คิดเป็น 8% และ 33% ของจำนวนกิจการ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีมากกว่า

    สรุปผลการศึกษา ภาพรวมธุรกิจมีการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล 4.4 แสนล้านต่อปี ส่วนใหญ่ 75% มาจากธุรกิจขนาดใหญ่

    อย่างไรก็ตาม ในแง่จำนวนกิจการ ธุรกิจ SME มีจำนวนผู้เสียภาษีมากที่สุด 82% สำหรับมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภาษีในแต่ละปี พบว่ามีจำนวน 1.5 แสนล้านบาท โดยธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนการใช้มากที่สุดถึง 94% ทั้งนี้ ธุรกิจที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการขอส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จะมี Effective Tax Rate ต่ำกว่าธุรกิจที่ไม่มีการขอ BOI โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็น กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการขอรับการส่งเสริม BOI มากที่สุด ในขณะที่ธุรกิจ SME เป็นกลุ่มที่ใช้สิทธิประโยชน์ภาษีจาก BOI น้อย

    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ เสนอแนะภาครัฐให้ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจ SME ที่มีรายได้ 30-100 ล้านบาทและสินทรัพย์ถาวรน้อยกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 2.9 หมื่นราย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีน้อย ทั้งยังเสียภาษีในอัตราปกติเช่นเดียวกับธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ เนื่องจากรายได้และทุนจดทะเบียนสูงกว่าเงื่อนไขอัตราภาษีขั้นบันไดสำหรับ SME ของกรมสรรพากร

    นอกจากนี้ ยังเป็นกลุ่มที่ขอรับการส่งเสริม BOI น้อยมีเพียง 2% ของจำนวน SME เท่านั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ เห็นว่าเป็นกลุ่มที่ภาครัฐควรสนับสนุนใช้นโยบายกระตุ้นการลงทุนที่จูงใจมากพอ เช่น การออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน SME ที่เข้มข้นขึ้น การตั้งศูนย์บริการการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ SME อย่างครบวงจร (One-Stop Service) ฯลฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการเติบโตเป็นธุรกิจขนาดกลางได้ ซึ่งจะเป็นฐานรายได้การจัดเก็บภาษีในอนาคต

  • TMB Healthy SME Day แนะเอสเอ็มอีสุขภาพดีได้ ถ้ากล้ารื้อ กล้าล้าง ทำบัญชีเดียว เปลี่ยนความยุ่งเป็นข้อมูล “Data is Money” ต่อยอดธุรกิจได้