ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนบัตรใหม่ 10,000 เยน พิมพ์รูปของ เออิชิ ชิบูซาวะ ผู้ประกอบการที่เป็น “บิดา” ของทุนนิยมญี่ปุ่น

ธนบัตรใหม่ 10,000 เยน พิมพ์รูปของ เออิชิ ชิบูซาวะ ผู้ประกอบการที่เป็น “บิดา” ของทุนนิยมญี่ปุ่น

7 พฤษภาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ธนบัตร 10,000 เยนใหม่ ที่จะออกใช้ในปี 2024 ที่มาภาพ : japantimes.com

เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในปี ค.ศ. 2024 ญี่ปุ่นจะมีธนบัตรชนิดใหม่ ราคา 10,000 เยน 5,000 เยน และ 1,000 เยน ออกหมุนเวียนในตลาด สำหรับธนบัตรราคา 10,000 เยน ด้านหน้าจะเป็นรูปของเออิชิ ชิบูซาวะ (Eiichi Shibusawa) ผู้ประกอบการและนักอุตสาหกรรมในยุคสมัยการฟื้นฟูเมจิ ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดา” แห่งทุนนิยมของญี่ปุ่น ส่วนด้านหลังของธนบัตรจะเป็นรูปสถานีรถไฟโตเกียว

หนังสือประวัติของชิบูซาวะชื่อ The Entrepreneur Who Built Modern Japan: Shibusawa Eiichi (2017) เขียนไว้ว่า การสร้างญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองและทันสมัยนั้นเกิดจากบทบาทของคนจำนวนมาก แต่ในด้านเศรษฐกิจแล้ว มีคนญี่ปุ่นไม่กี่คนที่มีบทบาทสำคัญดังกล่าว โดยเฉพาะบทบาทการสร้างธุรกิจของประเทศให้ทันสมัย หนึ่งในนั้นคือ เออิชิ ชิบูซาวะ (1840-1931) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการทำธุรกิจสมัยใหม่ของญี่ปุ่น

การดำรงตำแหน่งประธานธนาคารไดอิชิ (Dai Ichi) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของญี่ปุ่นในปี 1873 ทำให้ชิบูซาวะมีบทบาทอย่างมาก ในการผลักดันให้เกิดธุรกิจและสถาบันเศรษฐกิจสมัยใหม่ในด้านต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย ตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งยังลงทุนในโรงงานสิ่งทอ บริษัทขนส่งทางเรือ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญแก่การทหาร

เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นอย่างเช่น มิตซูบิชิ พานาโซนิค โซนี่ หรือฮอนด้า ชิบูซาวะจะมีชื่อเสียงน้อยกว่านักธุรกิจเหล่านี้ เหตุผลหนึ่งคงจะเป็นเพราะว่า ชิบูซาวะไม่ได้สร้างบริษัทใดบริษัทหนึ่งให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เรียกว่าไซบัตสึ (Zaibatsu) หรือให้เป็นบริษัทของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่เขามีบทบาทในการสร้างบริษัทสมัยใหม่ของญี่ปุ่นขึ้นมากกว่า 500 แห่ง

ที่มาภาพ : amazon.com

มาจากครอบครัวชาวนา

เออิชิ ชิบูซาวะ เกิดเมื่อปี 1840 ในครอบครัวของชาวนาที่มั่งคั่งในจังหวัดมูซาชิ ทางเหนือของโตเกียวไป 80 กิโลเมตร ณ เวลานั้นถือเป็นช่วงปลายของยุคโชกุนโตกุกาวะ (Tokugawa Era) นอกจากทำการเกษตร ครอบครัวของเขายังทำธุรกิจสีย้อมผ้าและผ้าไหม เขาได้รับการศึกษาในระบบขงจื๊อ และเรียนรู้การอ่านการเขียนจากบิดาของเขาเอง

ช่วงที่เขาทำงานช่วยธุรกิจของครอบครัว ได้พบปะกับพวกเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพวกซามูไร ในหนังสืออัตชีวประวัติ ชิบูซาวะเขียนไว้ว่า ตัวเขาเองไม่ชอบทัศนะของพวกคนเหล่านี้ “ที่ยกย่องเจ้าหน้าที่รัฐ แต่รังเกียจประชาชน” ชิบูซาวะเห็นว่า ทัศนะดังกล่าวช่วยไปส่งเสริมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในทางที่ผิด และขัดขวางการริเริ่มของเอกชน

ชิบูซาวะเขียนไว้ว่า “ทัศนะของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่า ระบบการปกครองของรัฐบาลโตกุกาวะไม่ใช่สิ่งที่ดี ในทัศนะของข้าพเจ้า สิ่งที่ถูกต้องคือ คนเรามีอำนาจในการครอบครองทรัพย์สินของตนเองอย่างสมบูรณ์ และถูกประเมินจากปัญญาและความสามารถของตนเอง ในการติดต่อสัมพันธ์กับคนที่ร่วมงาน”

ในช่วงปีทศวรรษ 1860 คนญี่ปุ่นในวัยหนุ่มได้โจมตีคนต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่รัฐที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่ ชิบูซาวะออกจากบ้านเพื่อไปเข้าร่วมกับขบวนการที่ต่อต้านและโจมตีคนต่างชาติในเมืองโยโกฮามา แต่ก็เลิกความคิดนี้ และเดินทางไปเมืองเกียวโตแทน เนื่องจากเป็นคนมีความรู้เรื่องระบบบัญชี และมีความมุ่งมั่นสูง ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นซามูไร

ในปี 1867 ชิบูซาวะอยู่ในคณะผู้แทนรัฐบาลโชกุนโตกุกาวะ ที่เดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าที่ปารีส และไปเรียนรู้เศรษฐกิจสมัยใหม่ในยุโรป เป็นเวลาเกือบปี ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ชิบูซาวะเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า หากญี่ปุ่นต้องการที่จะเป็นประเทศมั่งคั่งและเข้มแข็ง ญี่ปุ่นจะต้องเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อธุรกิจการค้า เขาประทับใจที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป พ่อค้า และผู้นำด้านอุตสาหกรรม มีฐานะสูงส่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับในญี่ปุ่นที่พวกซามูไรรังเกียจพวกพ่อค้า ชิบูซาวะเห็นว่า ทัศนะดังกล่าวนี้จะต้องเปลี่ยนแปลง หากว่าเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนจะร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ

สู่ผู้ประกอบการในยุคสมัยเมจิ

ในปี 1869 รัฐบาลโชกุนถูกโค่นล้มลงไป และอำนาจของพระจักพรรดิเมจิถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ในช่วงสมัยเมจิ (1868-1912) ญี่ปุ่นมีคำขวัญว่า “ประเทศมั่งคั่ง กองทัพเข้มแข็ง” ชิบูซาวะจึงมีบทบาทสำคัญในด้านการค้าและอุตสาหกรรม เพราะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังก้าวไล่ตามการพัฒนาของประเทศตะวันตก ในปี 1873 หลังจากลาออกจากการทำงานในกระทรวงการคลัง ชิบูซาวะได้ตั้งธนาคารแห่งแรกของญี่ปุ่นขึ้นมา คือ ธนาคารไดอิชิ ที่มีความหมายว่า ธนาคารชาติแห่งแรก (First National Bank)

ในเวลานั้น การตั้งธนาคารแห่งแรกขึ้นมาในญี่ปุ่น ก็เหมือนกับการเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัปอย่างหนึ่งในปัจจุบัน ชิบูซาวะอธิบายความสำคัญของธนาคารว่า “ธนาคารก็เหมือนแม่น้ำใหญ่ หากเงินไม่ได้มารวมอยู่ที่ธนาคาร มันก็จะเป็นเพียงแอ่งน้ำหรือหยดน้ำค้าง ศักยภาพที่จะนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศและประชาชนก็ไม่เกิดขึ้น”

ในปี 1957 ธนาคารไดอิชิได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติของธนาคาร โดยเขียนถึงชิบูซาวะที่ทำให้ธนาคารแห่งนี้มีบทบาทสำคัญ 5 ด้านต่อประวัติศาสตร์การเงินของญี่ปุ่น คือ การสร้างระบบการเงินในฐานะธนาคารพาณิชย์, การรับฝากเงินและปล่อยกู้เพื่อให้เกิดธนาคารสมัยใหม่, ร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการผลิตและวิสาหกิจ, ส่งเสริม “บริษัทร่วมทุน” ที่เป็นรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ และดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของชิบูซาวะในเรื่อง “ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคุณธรรมกับเศรษฐกิจ”

แม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของทุนนิยมญี่ปุ่น แต่ชิบูซาวะมีความเชื่อทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ทุนนิยมแบบสหกรณ์” (cooperative capitalism) หรือในปัจจุบันเรียกว่า “ทุนนิยมของคนที่มีส่วนได้เสีย” (stakeholder capitalism) แนวคิดนี้เห็นว่า รูปแบบองค์กรธุรกิจคือบริษัทร่วมทุน ธุรกิจควรบริหารโดยคนที่ทำงานกับองค์กรนี้ และมีเจ้าของคือคนที่มีส่วนได้ประโยชน์จากธุรกิจนี้

เออิชิ ชิบูซาวะ ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

แนวคิดของชิบูซาวะจึงแตกต่างจากการทำธุรกิจของพวกตระกูลพ่อค้าในสมัยโตกุกาวะ หรือกลุ่มยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมในสมัยเมจิ ที่องค์กรธุรกิจมีลักษณะเป็นระบบปิด ทั้งในด้านการบริหารและการเป็นเจ้าของ ส่วนเป้าหมายของธุรกิจคือ การสร้างความมั่งคั่งมากสุดให้กับครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจ

แนวคิด “ทุนนิยมของคนมีส่วนได้เสีย” ทำให้ชิบูซาวะได้รับการยกย่องมาก ในฐานะผู้ประกอบการ ที่บุกเบิกให้ธุรกิจเกิดขึ้นมามากกว่า 500 แห่ง ที่ปัจจุบันหลายบริษัทยังดำเนินธุรกิจอยู่ เช่น โตเกียวมารีนประกันภัย (Tokio Fire and Marine Insurance) บริษัทเบียร์ซัปโปโร และโรงแรมอิมพีเรียล เป็นต้น รวมทั้งบริษัทรถไฟญี่ปุ่น (Japan Railways) ที่เดิมเป็นบริษัทเอกชน บทบาทในการริเริ่มการลงทุนดังกล่าวทำให้ชิบูซาวะเปรียบเหมือน “นักธุรกิจร่วมทุน” (venture capitalist) คนแรกของญี่ปุ่น ที่ให้เงินทุนสนับสนุนการทำธุรกิจใหม่ขึ้นมา และถอนตัวไปเมื่อธุรกิจนั้นสามารถดำเนินการเองได้แล้ว

ชิบูซาวะจึงเป็นผู้ประกอบการแบบต่อเนื่อง แต่เขาไม่มีแนวคิดที่จะเข้าครอบครองบริษัทธุรกิจ เพราะเห็นว่ายิ่งมีคนเข้ามาถือหุ้นบริษัทมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นผลดี ความคิดของเขาคือการทำให้คนจำนวนมากมั่งคั่งขึ้นมา แทนที่ความมั่งคั่งจะกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนชั้นนำทางธุรกิจ ชิบูซาวะจึงเป็นคนที่บุกเบิกแนวคิดที่ปัจจุบันเรียกว่าผู้ถือหุ้นส่วนน้อย และระบบธรรมาภิบาล คือเปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจ และใช้วิธีการประชาธิปไตยในการเลือกคนที่มีความสามารถมาเป็นกรรมการบริษัท สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและของเอกชน

ชิบูซาวะยังเป็น “ผู้ประกอบการด้านสังคม” (social entrepreneur) ระดับแนวหน้าของญี่ปุ่น เขาช่วยทำให้เกิดองค์กรทางสังคมถึง 600 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และองค์กรด้านสังคมสงเคราะห์ ในหนังสือชื่อ The Sakura Obsession ที่เกี่ยวกับตำนานต้นซากุระ เขียนถึงบทบาทของชิบูซาวะไว้ว่า สมาคมต้นซากุระของญี่ปุ่นตั้งขึ้นมาในปี 1917 ชิบูซาวะซึ่งเป็นประธานบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงแรมอิมพีเรียลได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่สมาคมนี้ รวมทั้งอนุญาตให้สมาคมนี้ มีที่ทำงานอยู่ในโรงแรมอิมพีเรียล

บทบาททางธุรกิจของชิบูซาวะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น Peter F. Drucker ปรมาจารย์ด้านการบริหารสมัยใหม่กล่าวถึงความสำเร็จทางธุรกิจของชิบูซาวะและอิวาซากิ ยาทาโร (Iwasaki Yataro) ผู้ก่อตั้งกลุ่มมิตซูบิชิ ว่า “ความสำเร็จของพวกเขาน่าประทับใจมากกว่าพวกรอทส์ไชลด์ มอร์แกน ครัปป์ หรือ ร็อกกี้เฟลเลอร์ 2 ใน 3 ของวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมและการขนส่งของญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นมาโดยสองคนนี้”

Peter F. Drucker ยังกล่าวอีกว่า “เป็นเวลาเกือบ 50 ปี ที่ตัวชิบูซาวะเองทำงานเหมือนเป็น ‘ศูนย์การพัฒนาด้านการบริหาร’ อย่างไม่เป็นทางการ และไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ เขาให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ข้าราชการ นักธุรกิจ และผู้บริหาร จำนวนหลายร้อยคน เขาไม่เบื่อหน่ายที่จะจัดทำโครงการฝึกอบรม และตั้งสโมสรการบริหาร โดยการจัดทำหลักสูตรอบรม การสัมมนา และการอภิปรายต่างๆ”

ชิบูซาวะไม่เพียงแต่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสมัยใหม่ แต่ยังเป็นคนที่ยกระดับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นให้ก้าวหน้า อุตสาหกรรมคือกระบวนการผลิตที่เปลี่ยนสิ่งของไปเป็นสิ่งของ เช่น จากฝ้ายไปเป็นเส้นใย สิ่งทอ หรือเสื้อผ้า จากเหล็กกล้าไปเป็นเครื่องซักผ้า หรือรถยนต์ อุตสาหกรรมจึงเป็นภาคการผลิตที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เป็นภาคการผลิตที่นำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ ทำให้แรงงานเกิดผลิตภาพ สิ่งนี้คือความหมายของคำว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมยังทำให้การผลิตในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เกิดผลิตภาพ เช่น รถแทร็กเตอร์ทำให้การเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงมาจากบทบาทของเออิชิ ชิบูซาวะ ในฐานะนายธนาคาร ผู้ประกอบการ และนักอุตสาหกรรม ที่วางรากฐานให้กับเศรษฐกิจสมัยใหม่ของญี่ปุ่น

เอกสารประกอบ

Masakazu Shimada, The Entrepreneur Who Built Modern Japan: Shibusawa Eiichi, Japan Publishing Industry Foundation for Culture, 2017.
Ken Shibusawa, Eiichi Shibusawa was a man of his time and ours, japantimes.co.jp, 01 May 2019.