
www.hrw.org/news/2015/12/22/gulf-countries-bid-protect-migrant-workers
การส่งเงินกลับบ้านซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางของแรงงานทั่วโลกในปี 2561 เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ โดยมีจำนวน 529 พันล้านดอลลาร์ สูงขึ้น 9.6% จาก 483 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560
การส่งเงินกลับบ้านที่เป็นประเทศรายได้สูงของแรงงานปี 2561 มีจำนวน 689 พันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจาก 633 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560 จากเอกสารข่าวของธนาคารโลก (World Bank)
รายงาน Migration and Development Brief 31ฉบับที่ 31 เผยแพร่เดือนเมษายน 2562 ระบุว่า ในรายภูมิภาค เงินรับโอนในกลุ่มเอเชียตะวันจากแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 12%
เหตุที่แรงงานส่งเงินกลับบ้านมากขึ้นคือ เศรษฐกิจและการจ้างงานที่แข็งแกร่งในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเงินที่ส่งกลับบ้านจากกลุ่มประเทศความร่วมมืออาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) ยกเว้นจีน
การส่งเงินกลับบ้านของแรงงานในประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางที่ไม่รวมจีนมีจำนวนถึง 462 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเสียอีก เพราะในปี 2561 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางมีจำนวน 344 พันล้านดอลลาร์
ประเทศที่แรงงานส่งเงินกลับบ้านสูงสุดคือ อินเดีย มีจำนวนรวม 79 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ จีนจำนวน 67 พันล้านดอลลาร์ อันดับสามคือ เม็กซิโก 36 พันล้านดอลลาร์ อันดับสี่ ฟิลิปปินส์ 34 พันล้านดอลลาร์ และอียิปต์ 29 พันล้านดอลลาร์
รายงานคาดว่าในปี 2563 กระแสเงินโอนกลับประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลาง ของแรงงานจะมีจำนวน 550 พันล้านดอลลาร์ และจะกลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่มาจากเงินตราต่างประเทศของประเทศ
เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกส่งกลับสูงสุด
เมื่อแยกตามภูมิภาค การส่งเงินกลับบ้านของแรงงานในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเพิ่มขึ้นราว 7% เป็น 143 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 จาก 5% ในปี 2560 โดยเงินโอนกลับบ้านของแรงงานไปฟิลิปปินส์มีจำนวน 34 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเพียง 3.1% ต่ำกว่า 5.4% ในปี 2560 เนื่องจากการส่งเงินกลับบ้านจากแรงงานที่ทำงานใน GCC ลดลง 15% ส่วนเงินโอนกลับบ้านไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 25% จากปี 2560 หลังจากทรงตัวในปี 2560 เนื่องจากเงินโอนกลับจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นถึง 50%
การโอนเงินกลับในประเทศยุโรปและเอเชียกลางมีจำนวน 59 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% ในปี 2561 ลดลงจาก 22% ในปี 2560 เศรษฐกิจที่ขยายตัวเนื่องทำให้มีการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานออกจากโปแลนด์ รัสเซีย สเปน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศต้นทางรายหลักๆ ในภูมิภาคนี้ ขณะที่ประเทศเล็กได้รับเงินโอนจากแรงงานนั้น ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยยูเครนเป็นประเทศที่แรงงานส่งกลับบ้านสูงสุด 14 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561
เงินโอนกลับประเทศในลาตินอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียนเพิ่มขึ้น 10% เป็น 88 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 โดยเม็กซิโกมากสุดเป็นอันดับหนึ่งด้วยจำนวน 36 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน ส่วนโคลัมเบียและเอกวาดอร์ ที่แรงงานไปทำงานในสเปน มีเงินโอนกลับเพิ่มขึ้น 16% และ 8% ตามลำดับ ขณะที่สาธารณรัฐโดมินิกันและฮอนดูรัสรับเงินโอนเพิ่มขึ้น 10% จากแรงงานที่ไปทำงานในสหรัฐฯ
เงินโอนกลับตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น 9% เป็น 62 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 ส่วนหนึ่งมาจากการโอนเงินกลับไปอียิปต์ที่สูงขึ้นถึง 17% และคาดว่าเงินโอนกลับประเทศในกลุ่มนี้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 อาจจะเพิ่มขึ้นเพียง 3% เนื่องจากเศรษฐกิจในยูโรโซนชะลอตัว
เงินโอนกลับประเทศในเอเชียใต้เพิ่มขึ้น 12% มีจำนวนรวม 131 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 จากที่เพิ่มเพียง 6% ในปี 2560 เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานที่ไปทำงานในกลุ่มประเทศ GCC
โดยเฉพาะเงินโอนกลับอินเดียที่มีเพิ่มขึ้นถึง 14% เงินโอนกลับของแรงงานได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักในรัฐเกรละ ส่วนในปากีสถานเงินโอนกลับประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 7% เพราะเงินโอนกลับจากแรงงานที่ทำงานในซาอุดีอาระเบียลดลง ส่วนบังกลาเทศเงินโอนกลับกลับบ้านของแรงงานเพิ่มขึ้น 15%
เงินโอนกลับบ้านของแรงงานไปยังประเทศทางใต้ทะเลทรายสะฮาราในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นราว 10% มีจำนวนรวม 46 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศรายได้สูง ประเทศที่รับเงินโอนสูงสุดคือ คอโมโรส รองลงมาคือ แกมเบีย เลโซโท การ์บูเวร์ดี ไลบีเรีย ซิมบับเว เซเนกัล โตโก กานา และไนจีเรีย
แรงงานแบกรับค่าธรรมเนียมโอนเงินสูง
อย่างไรก็ตามค่าธรรมเนียมการโอนเงินยังอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยราว 7% ต่อการโอนเงินจำนวน 200 ดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปี 2562 จากฐานข้อมูลค่าธรรมเนียมการโอนเงินกลับประเทศของธนาคารโลก ค่าธรรมเนียมโอนเงินในเอเชียใต้ต่ำสุด 5% ขณะที่ค่าธรรมเนียมการโอนเงินกลับประเทศในกลุ่มประเทศแอฟริกาและหมู่เกาะเล็กในแปซิฟิกยังสูงถึง 10%
ทั้งนี้ เป้าหมายความยั่งยืนโลกปี 2030 หรือ SDGs จะลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินกลับประเทศลงมาที่ 3%
การโอนเงินกลับประเทศผ่านช่องทางธนาคารยังคงมีค่าธรรมเนียมแพงสุด โดยคิดในอัตรา 11% ในไตรมาสแรกปี 2562 ช่องทางไปรษณีย์คิดค่าธรรมเนียมแพงเป็นอันดับสองราว 7% ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการโอนเงินมักจะบวกเพิ่มในไปรษณีย์ที่มีความร่วมมือกับผู้ให้บริการเงินโอนข้ามประเทศ โดยจะบวกเพิ่มตั้งแต่เฉลี่ย 1.5% ทั่วโลก และสูงสุด 4% ในบางประเทศ จากข้อมูลในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561
ค่าธรรมเนียมโอนเงินมายังเอเชียใต้และแปซิฟิกมีอัตรา 7.3% ในไตรมาสสุดท้ายปี 2561 ลดลงจาก 8% อัตราเฉลี่ยรายไตรมาสในปี 2560 โดยอัตราเฉลี่ยสูงสุดของประเทศระเบียงเศรษฐกิจอยู่ที่ 16% อัตราเฉลี่ยต่ำสุด 3.5% และไทยเป็นประเทศที่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินไปประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงสุดเฉลี่ย 15% ในปี 2561
สำหรับการโอนกลับไปประเทศยุโรปและเอเชียกลาง มีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 6.9% ในไตรมาสุดท้าย ปี 2561 จาก 6.6% ในปีก่อน ต่อการโอนเงิน 200 ดอลลลาร์ ขณะที่ค่าธรรมเนียมการโอนเงินไปลาตินอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียนอยู่ที่ 6.3% ในไตรมาสุดท้าย ปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.9% ในงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ก็นับว่าเป็นภูมิภาคที่มีค่าธรรมเนียมต่ำเป็นอันดับสอง ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลาง รองจากเอเชียใต้
ค่าธรรมเนียมการโอนเงินไปกลุ่มตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือลดลงเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปี 2561 มาอยู่ที่ 6.9% จาก 7.4% ระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยของโลกที่ 7%
ค่าธรรมเนียมการโอนเงินไปเอเชียใต้ต่ำสุดเทียบกับทุกภูมิภาคมีอัตราเฉลี่ย 5.2% ส่วนหนึ่งมาจากประเทศต้นทางในกลุ่ม GCC และสิงคโปร์ ขณะที่การโอนเงินไปอินเดียและเนปาลต่ำกว่าเป้าหมาย 3% ของ SDGs เสียอีก เนื่องจากเป็นการโอนเงินจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันและใช้เทคโนโลยี
ดิลิป รฐา หัวหน้าคณะผู้จัดทำราย Migration and Development Brief และผู้นำของ Knowledge Partnership on Migration and Development (KNOMAD) กล่าวว่า การส่งเงินกลับบ้านของแรงงานกลายเป็นแหล่งรายได้หลักจากต่างประเทศ ที่นำไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมการโอนเงินที่อยู่ในระดับสูงทำให้แรงงานเสียประโยชน์ไปส่วนหนึ่ง การทำข้อตกลงพันธมิตรและการอนุญาตให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในทุกช่องทางทั้งไปรษณีย์ ธนาคารและเทเลคอมจะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะมีผลให้ค่าธรรมเนียมลดลง
รายงานยังระบุอีกว่า ค่านายหน้าที่แรงงานต้องจ่ายให้กับนายหน้าจัดหางานก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแรงงานที่ขาดทักษะ
มิเกล รัทโกวสกี ผู้อำนวยการอาวุโส ด้าน Social Protection and Jobs Global Practice ธนาคารโลก กล่าวว่า แรงงานทักษะต่ำหลายล้านคนเปราะบางต่อการจัดหาแรงงานอย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งการจ่ายเงินนายหน้าจัดหาแรงงานที่สูงเกินไป ดังนั้นต้องกระตุ้นการสร้างงานในประเทศกำลังพัฒนาให้มากขึ้น รวมทั้งต้องมีการติดตามและลดค่าใช้จ่ายของแรงงานในการจัดหางาน
สหรัฐฯ ประเทศต้นทางรายใหญ่
ประเทศต้นทางเงินโอนกลับของแรงงานส่วนใหญ่เป็นประเทศรายได้สูงในกลุ่ม Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยอันดับหนึ่ง คือ สหรัฐฯ มีจำนวน 68 พันล้านดอลลาร์ในปี 2560 รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 44 พันล้านดลลาร์ และอันดับสามคือซาอุดีอาระเบีย 36 พันล้านดอลลาร์
ส่วนในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง รัสเซียเป็นประเทศต้นทางที่มีการโอนเงินออกของแรงงานสูงสุด 21 พันล้านดอลลาร์ เพราะมีแรงงานจำนวนมากจากยุโรปและเอเชียกลาง ขณะที่แรงงานส่งเงินออกจากจีนจำนวน 16 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากผู้บริหารของบริษัทต่างชาติ