ThaiPublica > เกาะกระแส > EIC วิเคราะห์สถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบัน “ยังไม่แย่ แต่ไม่พอ และน่ากังวล”

EIC วิเคราะห์สถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบัน “ยังไม่แย่ แต่ไม่พอ และน่ากังวล”

30 เมษายน 2019


EIC ธนาคารไทยพาณิชย์วิเคราะห์ด้านผลิตภาพแรงงานของไทย (Labor Productivity) พบว่าผลิตภาพแรงงานไทยในช่วงปัจจุบันยังไม่แย่ สะท้อนจากอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในช่วงปัจจุบัน (2554-2558) มีระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้า (2546-2550) ที่ประมาณ 4% ต่อปี แต่ระดับการเติบโตดังกล่าวไม่เพียงพอ เนื่องจากกำลังแรงงานไทยกำลังลดลงจากการเข้าสู่สังคมชราภาพ โดยอีไอซีประเมินว่า หากยังไม่ปรับปรุงผลิตภาพแรงงานให้ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลา 30 ปีหรือมากกว่าในการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางเพื่อกลายเป็นประเทศรายได้สูง

นอกจากนี้ สถานการณ์ผลิตภาพแรงงานของไทยยังมีข้อน่ากังวลหลายประการ เริ่มจากระดับผลิตภาพแรงงานที่มีการคำนวณกันทั่วไปอาจเป็นค่าที่สูงเกินจริง เนื่องจากการคำนวณส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวมแรงงานต่างชาติเข้าไปในกำลังแรงงาน โดยหากรวมแรงงานต่างชาติในกำลังแรงงาน จะทำให้ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนลดลงถึง -4.1% รวมถึงอัตราเติบโตของผลิตภาพแรงงานก็จะลดลงเช่นเดียวกัน

หากพิจารณาเชิงลึกก็ยังพบว่าสาเหตุสำคัญของการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากสาขาการผลิตที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำไปยังสาขาผลิตที่มีผลิตภาพแรงงานสูง แต่อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละสาขาการผลิตกลับมีทิศทางลดลง สะท้อนว่าแรงงานในแต่ละสาขาการผลิตไม่ได้มีการพัฒนาเท่าที่ควรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อน่ากังวลต่อการพัฒนาผลิตภาพแรงงานรวม

ในระยะต่อไป เนื่องจากแนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากภาคเกษตร จะมีข้อจำกัดมากขึ้นในระยะข้างหน้าจากปัญหาต่าง ๆ เช่น แรงงานมีทักษะต่ำ ทำให้ไม่สามารถย้ายไปยังสาขาการผลิตที่ต้องใช้ทักษะสูงกว่าได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น นอกจากผลิตภาพแรงงานไทยจะมีระดับต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างชัดเจน ยังพบว่า เศรษฐกิจไทยมีแรงงานที่มีผลิตภาพสูงเป็นส่วนน้อยของกำลังแรงงานทั้งหมด โดยแรงงานส่วนใหญ่ของไทยมีการกระจุกตัวที่ระดับผลิตภาพต่ำ ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่ระดับผลิตภาพแรงงานมีการกระจายตัวมากกว่า ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจสะท้อนว่าแรงงานส่วนใหญ่ของไทยมีทักษะต่ำ จึงอาจปรับตัวช้าและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในอนาคต

สำหรับข้อกังวลสุดท้ายคือ ทรัพยากรแรงงานและทุนของไทยมีการจัดสรรอย่างไม่มีประสิทธิภาพในหลายสาขาการผลิต โดยพบว่าสาขาเกษตรมีประสิทธิภาพการใช้แรงงานต่ำกว่าสาขาอื่น ขณะที่สาขาสาธารณูปโภค และสาขาขนส่งและโทรคมนาคมมีประสิทธิภาพ การใช้ทุนต่ำกว่าสาขาอื่น

ดังนั้นหากใช้เกณฑ์การผลิตตามประสิทธิภาพ สาขาการผลิตข้างต้นก็ควรใช้ทรัพยากรแรงงานและทุนลดลงและนำทรัพยากรไปจัดสรรให้สาขาอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งนี้กากจัดสรรทรัพยากรใหม่ตามหลักประสิทธิภาพ จะทำให้ระดับ TFP เพิ่มขึ้นได้ทันทีถึง 20% โดยย่อมหมายถึงระดับ GDP ที่ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วมากกว่าเดิม

การเพิ่มผลิตภาพแรงงานในอนาคตต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนผ่านนโยบายระดับประเทศและบริษัท
โดยในระดับประเทศ รัฐควรมีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคน้ำและการขนส่งทางราง ตลอดจนการลงทุนด้าน ICT

นอกจากนี้ ยังควรปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้งานได้จริงมากขึ้น โดยควรเน้นผลิตนักศึกษาตามสายที่ตลาดแรงงานต้องการ (demand-driven) เพื่อแก้ปัญหา skill mismatch ทั้งนี้ภาครัฐยังควรต้องลดการผูกขาดและส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเสรีมากขึ้น เนื่องจากระดับการแข่งขันที่เหมาะสมจะช่วยพัฒนาผลิตภาพแรงงานผ่านทั้งการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่

ขณะที่ด้านการดำเนินนโยบายช่วยเหลือระยะสั้นของภาครัฐ (เช่น การให้ soft loan กับ SMEs) จะต้องมีความระมัดระวังเนื่องจากอาจทำให้เกิดการกระจุกตัวของทรัพยากรในธุรกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำ ดังนั้นจึงควรดำเนินนโยบายยกระดับความสามารถการแข่งขันในระยะยาวควบคู่ไปด้วย

ในด้านนโยบายระดับบริษัท อีไอซีมองว่า บริษัทควรเพิ่มการลงทุนที่มีคุณภาพ โดยเป็นการลงทุนทั้งในส่วนของเครื่องมือเครื่องจักรและระบบ ICT และยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับ R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมในอนาคต ตลอดจนการฝึกอบรมแรงงานที่มีคุณภาพและสม่ำเสมอเพื่อให้แรงงานมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันบริษัทยังควรใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) เพื่อเสริมสร้างผลิตภาพแรงงานผ่านการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น การเสนอขายสินค้าได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น (customized product) หรือจะเป็นด้านการลดต้นทุนจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในการจัดการ เช่น การใช้ chatbot เพื่อทำงานด้านตอบคำถาม เป็นต้น