ThaiPublica > คอลัมน์ > เปลี่ยน “หัวใจ” ก็ไม่ฟรี

เปลี่ยน “หัวใจ” ก็ไม่ฟรี

19 มีนาคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

“โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” หมายถึงทุกสิ่งในโลกที่ได้มานั้นล้วนมาจากการต้องยอมเสียสละสิ่งหนึ่ง หรือหลายสิ่งไปแลกเสมอ” เช่น กินยาก็ต้องมีผลข้างเคียง อยากเป็นคนดีก็ต้องอดทนไม่ทำสิ่งชั่วซึ่งอาจสนุก อยากมีความรู้ต้องบากบั่น อยากร่ำรวยก็ต้องขยันทำงานหนัก คนมีชื่อเสียงจะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ อยากได้ของมาก็ต้องจ่ายเงิน ฯลฯ

“โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ประโยคนี้ผู้เขียนแปลจาก “There is no such thing as a free lunch.” เมื่อเกือบ 30 ปี มาแล้ว และเอามาเป็นชื่อหนังสือหากินอยู่หลายเล่ม (เล่มแรกตีพิมพ์ 22 ครั้ง) ผู้เขียนจึงให้ความเคารพสัจธรรมนี้มาก เมื่อพบตัวอย่างของหมอผ่าตัดเปลี่ยนไตมีชื่อซึ่งได้เป็นคนไข้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (หัวใจจริง มิใช่หัวใจที่สลาย) ที่อยู่ในสภาพยอมรับสัจธรรมนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะต้องนำมาเล่าต่อ

ที่มาของประโยคภาษาอังกฤษดังกล่าวเกิดจากการที่โรงเตี๊ยมในอังกฤษซึ่งมีร้านอาหารและที่พักอยู่ด้วยกันเมื่อสมัยใช้รถม้าเมื่อหลายร้อยปีก่อนมักติดป้ายไว้หน้าร้านว่า “free lunch” แต่เมื่อคนกินไม่สั่งอะไรเพิ่ม กินแต่ free lunch อย่างเดียว ก็โดนโยนออกมานอกร้าน จึงมีคำพูดว่าจริงๆ แล้วไม่มี free lunch หรอก ประโยคนี้หลุดเข้าไปเป็นสำนวนภาษาอังกฤษมายาวนานซึ่งหมายความว่าไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ มันต้องมีอะไรแอบแฝงอยู่เสมอ

Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้เรืองนามในทศวรรษ 1970-1990 เอาประโยคนี้มาใช้ในเศรษฐศาสตร์ โดยมีความหมายดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้นจนเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง การ “trade-off” คือได้อย่างต้องเสียอย่างหรือหลายอย่างเพื่อแลกกันเป็นเรื่องจริงที่ช่วยทำให้เห็นประเด็นในการตัดสินใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Robert Montgomery แพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนไตมีชื่อของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้อำนวยการ New York University Langone Transplant Institute เป็นผู้หนึ่งที่ยอมรับสัจธรรมดังกล่าวอย่างหน้าชื่นตาบาน เขาประกาศมาตลอดว่าคนที่เปลี่ยนอวัยวะควรยอมรับการติดเชื้อ hepatitis C (โรคไวรัสตับอักเสบซี) ที่ติดมาจากอวัยวะของผู้บริจาคเพราะปัจจุบันมียาที่กินแล้วรักษาโรคตับอักเสบซีอย่างมีประสิทธิภาพถึง 95%

เหตุที่เขาต้องออกมากล่าวทำนอง “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เช่นนี้ ซึ่งหมายถึงว่าอยากได้อวัยวะบริจาคก็ต้องยอมรับไวรัสตัวนี้ที่ติดมาด้วย (ไวรัสมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรีย และต้องการ “เจ้าภาพ” เช่น ร่างกายคน พืช หรือสัตว์เพื่อขยายจำนวน มิฉะนั้นอยู่ไม่รอด) ก็เพราะมีความขาดแคลนอวัยวะที่เอามาเปลี่ยนอย่างหนัก จะมีอยู่มากแต่ไม่ยอมรับกันก็คือพวกอวัยวะที่ติดเชื้อ hepatitis C มาด้วยเพราะมักมาจากเจ้าของที่ใช้เข็มฉีดร่วมกับคนที่ติดโรคนี้อยู่ เช่น พวกติดยาเสพติดและเสียชีวิต

ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะเสพยาเสพติดประเภทฝิ่น (opioid) มากขึ้นอย่างผิดสังเกต และพวกนี้ส่วนใหญ่ติดเชื้อ hepatitis C การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่ทำกันมากที่สุดคือไต รองมาคือตับ ส่วนหัวใจและปอดนั้นถือว่าเป็นเรื่องพิเศษแต่ก็กำลังเพิ่มขึ้น

ในปี 2018 ในสหรัฐอเมริกามีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ 36,527 ราย โดยมีคนไข้ 113,691 คน ที่อยู่ในสภาพรอคอยอวัยวะจากผู้ที่เพิ่งเสียชีวิต อวัยวะที่ต้องการมากที่สุดคือไต รองลงมาคือตับและหัวใจ เวลาเฉลี่ยของการรอคอยไตคือ 3-5 ปี แต่ทั้งนี้อันดับที่จะได้รับขึ้นกับสถานะความเร่งด่วนของอาการด้วย ผู้รับและผู้บริจาคต้องมีกรุ๊ปเลือดตรงกัน อีกทั้งมีลักษณะเนื้อเยื่อประเภทเดียวกันด้วย ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องง่ายที่จะพบคู่ที่เหมาะสม

เมื่ออวัยวะเป็นของหายาก การยอมรับอวัยวะที่อาจมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ C จึงมีมากขึ้น เพราะดีกว่ารอคอยยาวนานซึ่งอาจทำให้ชีวิตลำบากหรือเสียชีวิตก่อน พูดง่ายๆ ก็คือผู้รับบริจาคยอมจ่ายด้วยราคาคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C หลังจากผ่าตัดไม่กี่วันก็รู้ว่าติดเชื้อนี้หรือไม่และรักษาด้วยการกินยาต่อเนื่องกัน 2-3 เดือนก็สามารถหายได้ แต่บางรายอาจมีผลเสียในระยะยาวหากเป็นอย่างเรื้อรัง แต่ส่วนใหญ่แล้วรักษาหายได้หลังจากติดเชื้อ

เรื่องของ Dr.Montgomery เกิดเมื่อเขาประสบสภาวะหัวใจวายหลายครั้งตั้งแต่เติบโตมา เพราะเขามีความบกพร่องของหัวใจที่เรียกว่า familial cardio-myopathy ซึ่งสืบทอดมาทางพันธุกรรม (พ่อเขาตายเพราะหัวใจวายตอนอายุ 52 ปี น้องตายตอนอายุ 35 ปี)

โรคนี้ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขยายตัว ผนังหนาและแข็งตัว จนทำให้หัวใจมีความสามารถในการปั๊มเลือดไปยังส่วนอื่นของร่างกายต่ำลง และไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้หัวใจเต้นอย่างเป็นปกติได้จนทำให้หัวใจล้มเหลว

Dr.Montgomery มีอาการหัวใจเต้นไม่เป็นปกติ (cardiac arrhythmias) ต้องฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (defibrillator) ไว้ใต้ผิวหนังตั้งแต่อายุ 29 ปี ตอนที่เรียนแพทย์ไม่แน่ใจว่าจะผ่าตัดได้หรือไม่เพราะเครื่องมือผ่าตัดที่มีกระแสไฟฟ้าเกี่ยวข้องด้วยอาจแทรกแซงการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจของเขา แต่ 30 ปี ที่ผ่านมาเขาก็ผ่านมาได้จนเป็นหมอผ่าตัดเปลี่ยนไตแถวหน้า

เครื่องกระตุ้นหัวใจช่วยชีวิตเขามาหลายหนในชีวิต จนกระทั่งครั้งล่าสุดมันไปไม่ไหวเพราะหัวใจทำงานเพียง 20% อีกทั้งหัวใจก็เต้นไม่เป็นปกติอย่างมากด้วยจนอาจนำไปสู่อาการหัวใจวายได้ เขาจึงต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจด่วนโดยฝีมือของบรรดาหมอที่เป็นลูกน้องของเขา โดยยินดีที่จะรับหัวใจจากผู้ติดเฮโรอีน ซึ่งคาดว่าจะมีเชื้อ hepatitis C แถมมาด้วยเพราะเขาพูดมาตลอดว่าไม่ควรเป็นสิ่งน่ารังเกียจ

การคาดคะเนของเขาก็เป็นจริง เพราะ 5 วันหลังผ่าตัด การตรวจเลือดพบว่าเขาติดเชื้อดังคาด อย่างไรก็ดี การกินยารักษาต่อเนื่องกัน 2 เดือนก็ทำให้เขาหายจากโรค แต่ก็ต้องมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอยู่หลายครั้ง

2 เดือนหลังจากผ่าตัดเขาก็เริ่มงานผ่าตัดเปลี่ยนไตอีกครั้งในอัตราที่เขาเคยทำคือ 50 ครั้งต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ยาก Dr. Montgomery ยังคงยืนยันกับคนไข้ที่จะเปลี่ยนไต ตับ และหัวใจว่าการรับเชื้อ hepatitis C จากอวัยวะที่แสนหายากเป็น “ราคา” ที่คนไข้ควรรับได้ ดังที่เขาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การทิ้งอวัยวะเหล่านี้ไปเพราะคาดว่าจะมีเชื้อดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

ถ้ายอมรับสัจธรรมที่ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” อาจทำให้ผู้รอคอยอวัยวะจำนวนมากยอมรับความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ การตัดสินใจว่าจะรับ “ราคา” นี้ได้หรือไม่ต้องคำนึงถึงความทนทุกข์ทรมานที่ได้รับในปัจจุบัน ตลอดจนความเสี่ยงจากการเสียชีวิตระหว่างการรอคอยอันยาวนาน

ถ้าสงสัยว่าอวัยวะของคนสูงอายุมีน้ำยาพอจนสามารถบริจาคได้หรือไม่ คำตอบก็คืออายุไม่ใช่อุปสรรค ตับ ไต หัวใจ ปอด ตับอ่อน กระดูก ไขกระดูก กระจกตา ฯลฯ สามารถเป็นประโยชน์ได้ทั้งสิ้น คำถามมีเพียงว่าคนรับบริจาคเขาจะเอาอวัยวะของพวก ส.ว. (สวยทุกวัน) เหล่านี้หรือไม่เท่านั้น

หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจอังคาร 5 มี.ค. 2562