ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “4 บอร์ด สปสช. ลาออก – วิษณุยั้ง กก.ยุทศาสตร์ชาติ “อย่าเพิ่งออก” ยัน ไม่ต้องยื่นบัญชี” และ “ผู้นำยุโรป 27 ชาติลงนามเบร็กซิตแล้ว”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “4 บอร์ด สปสช. ลาออก – วิษณุยั้ง กก.ยุทศาสตร์ชาติ “อย่าเพิ่งออก” ยัน ไม่ต้องยื่นบัญชี” และ “ผู้นำยุโรป 27 ชาติลงนามเบร็กซิตแล้ว”

1 ธันวาคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 24-30 พ.ย. 2561

  • 4 บอร์ด สปสช. ลาออก – วิษณุยั้ง กก.ยุทธศาสตร์ชาติ “อย่าเพิ่งออก” ยัน ไม่ต้องยื่นบัญชี
  • DSI แจ้งข้อหา “ประธานมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ส่ง อสส. สั่งฟ้อง คดีเอี่ยวฟอกเงิน “สหกรณ์คลองจั่นฯ”
  • สภาคนพิการฯ ฟ้อง รฟม. 17 ล้าน เหตุไม่อำนวยความสะดวก
  • เคาะแล้ว ค่าโดยสาร รฟฟ. สีม่วง-น้ำเงิน “14-70 บาท”
  • ผู้นำยุโรป 27 ชาติลงนามเบร็กซิตแล้ว
  • 4 บอร์ด สปสช. ลาออก – วิษณุยั้ง กก.ยุทศาสตร์ชาติ “อย่าเพิ่งออก” ยัน ไม่ต้องยื่นบัญชี

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย

    จากประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค. 2561 ซึ่งโดยเนื้อหาสาระแล้ว ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินจะไม่ใช่แค่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป แต่ยังรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งยังมีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ.2561 ที่ทำให้แม้กระทั่งภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของเหล่าผู้ที่ประกาศ ป.ป.ช. กำหนดให้ยื่นบัญชีฯ ก็ต้องยื่นบัญชีฯ เช่นกัน ทำให้หลายๆ คนที่เข้าข่ายต้องยื่นบัญชีฯ เป็นครั้งแรกในคราวนี้ยื่นขอลาออกจากตำแหน่งที่ตนนั่ง

    คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็เข้าข่ายต้องยื่นบัญชีฯ ตามประกาศใหม่นี้ด้วยเช่นกัน และทำให้มีคณะกรรมการ 4 ท่าน ประกอบด้วย 1. นพ.พินิจ หิรัญโชติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก 2. นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง 3. นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย และ 4. นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ยื่นหนังสือลาออกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา แต่บอร์ดได้มีมติให้ทบทวนการขอลาออกก่อน

    ล่าสุด วันที่ 30 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากการพูดคุย กรรมการทั้ง 4 ท่านยังยืนยันเรื่องการลาออก ซึ่งตรงนี้จะมีผลกระทบต่อการประชุมพิจารณาในเรื่องสำคัญของบอร์ด สปสช. เนื่องจากถือว่าองค์ประชุมในสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่ครบ เพราะเดิมมีอยู่ 7 คน ลาออกไป 4 คน ดังนั้น ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้บอร์ดจะมีการพิจารณาสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาแทน เพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อไปได้ โดยการสรรหาเป็นไปตามรูปแบบและกระบวนการของ สปสช. มีการเสนอชื่อ และให้ที่ประชุมลงคะแนน โดยจะทราบผลภายในวันที่ 3 ธันวาคมนี้เลย

    ขณะเดียวกัน เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนท้ายการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่า “เนื่องจากมีคำถามกันเข้ามามาก จึงขอเรียนให้ทราบว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ รวมถึงคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะหลายคนขอลาออกจากตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งกรรมการในองค์การมหาชน กรรมการสภามหาวิทยาลัย อะไรก็ดีทั้งหมด บางท่านอาจลาออกไปแล้วด้วยซ้ำไป บางท่านกำลังเตรียมจะลาออก ขอเรียนให้ทราบว่ากรุณาอย่าไปลาออก เพราะทั้งหมดที่เป็นประกาศ ป.ป.ช. ออกไปนั้น เขาจะแก้ไขหรือยกเลิกทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อทบทวนใหม่แล้ว จะไม่ครอบคลุมสิ่งที่ท่านเป็นอยู่ ขอความกรุณาอย่าไปลาออก ทำให้เขายุ่งยากมากขึ้น ซึ่งความชัดเจนจะออกมาใน 1-2 วันนี้”

    DSI แจ้งข้อหา “ประธานมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ” ส่ง อสส. สั่งฟ้อง คดีเอี่ยวฟอกเงิน “สหกรณ์คลองจั่นฯ”

    เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10.00 น. พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด (ขวา) และพ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน (ซ้าย) แถลงความคืบหน้าของคดีพิเศษที่ 24/2560 กรณี DSI การกล่าวโทษมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ “พระธัมมชโย” และกรรมการ ในข้อหาสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน ณ ห้องแถลงข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ

    วันที่ 29 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีอาญากับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงให้นำเงินมาฝากกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง จากนั้นเมื่อประชาชนหลงเชื่อ นำเงินมาฝากกับสหกรณ์ฯ ปรากฏว่านายศุภชัย กับพวก ได้ร่วมกระทำการทุจริต นำเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ออกไปโดยไม่ชอบ ซึ่งที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีฟอกเงินกับผู้กระทำความผิดมาอย่างต่อเนื่อง หลายคดี รวมถึงคดีวัดพระธรรมกายที่ DSI ได้สรุปสำนวนส่งสำนักงานอัยการคดีพิเศษออกคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปแล้ว

    สำหรับคดีพิเศษที่ 24/2560 กรณีนายธรรมนูญ อัตโชติ กับพวก ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีฟอกเงินกับมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูงในพระอุปถัมภ์พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโย) และกรรมการมูลนิธิฯ ที่ได้รับเงินจำนวน 125 ล้านบาท จากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร กับพวก กระทำทุจริต เซ็นเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันนั้น

  • DSI เตรียมสรุปคดี-แจ้งข้อหา มูลนิธิคุณยายจันทร์ฯ เกี่ยวข้องคดียักยอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯ
  • ตำนานคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
  • เกาะติดสถานะสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
  • ล่าสุด กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้สรุปสำนวนคดี และแจ้งข้อกล่าวหานางวรรณา จิรกิติ ประธานกรรมการมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และนางสาวอารีพันธุ์ ตรีอนุสรณ์ (เสียชีวิต) กรรมการและเลขานุการมูลนิธิฯ ในข้อหาสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (3), 5, 9 และ 60 โดยนางวรรณา ผู้ถูกกล่าวหา ได้เดินทางมาชี้แจงต่อคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมยื่นพยานหลักฐานแก้ต่างข้อกล่าวหาแล้ว ทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงสรุปสำนวนการสอบสวน และมีความเห็นให้ส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาพร้อมสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

    นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิว่ากระทำการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจในการดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 131 (2) ดังนั้น ทางคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จึงทำเรื่องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ส่งเรื่องดังกล่าวนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย

    พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าว จากการตรวจสอบเส้นทางเงิน พบว่า นายศุภชัย ได้เซ็นเช็คของสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นจำนวน 11 ฉบับ เข้าบัญชีพระธัมมชโย 538 ล้านบาท เงินจำนวนนี้นำไปรวมกับเงินบริจาคจากแหล่งอื่น เพื่อนำสร้างอาคารลูกโลก และวิหารคต ขณะนี้ทางสำนักงาน ปปง. ได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของมูลนิธิฯ ไว้แล้ว ส่วนการติดตามตัวพระธัมมชโยเพื่อมาดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองว่าพระธัมมชโยหลบหนีไปอยู่ที่ไหน แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังคงดำเนินการอยู่

    ด้านนายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวสรุปการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นว่าในขณะนี้มีทั้งหมด 23 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษสรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องแล้วมี 12 คดี ส่วนที่เหลืออีก 11 คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน ทาง DSI ยังไม่ได้สรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้อง

    นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ
    รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด

    สภาคนพิการฯ ฟ้อง รฟม. 17 ล้าน เหตุไม่อำนวยความสะดวก

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ที่ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ได้รวมตัวหลายร้อยคน ชุมนุมรำลึก 23 ปีของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิด้านการขนส่งมวลชน ได้ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ต่อศาลปกครอง ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่กรณีไม่อำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมเรียกค่าเสียหายรวม 17 ล้านบาท และให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กฎหมายกำหนดทั้ง 16 สถานี

    โดยนายธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า การเปิดทางเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ รฟม. จำนวน 16 สถานี พบว่ามีปัญหาอุปสรรคทั้ง 16 สถานี เช่น ติดตั้งลิฟต์ไม่ครบถ้วนทุกสถานี ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมของอาคารสถานีขนส่ง หรืออาคารจอดรถ ก็ไม่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ทางสภาคนพิการฯได้พยายามที่จะขอเข้าไปมีส่วนร่วม ดูการออกแบบ และติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างว่า ได้มีการวางแผนให้กับคนพิการหรือไม่ แต่ทาง รฟม. ก็ไม่ให้ความร่วมมือ มีเพียงการประชุมร่วมในหลักการ แต่ไม่ได้ทำงานร่วมกันในรายละเอียด จึงได้ตัดสินใจยื่นฟ้อง รฟม. ต่อศาลปกครองกลางในวันนี้

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (http://bit.ly/2QqVA7t)

    เคาะแล้ว ค่าโดยสาร รฟฟ. สีม่วง-น้ำเงิน “14-70 บาท”

    เว็บไซต์ไบร์ทีวีรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ. ….

    สำหรับร่างข้อบังคับดังกล่าว กำหนดให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าตั้งแต่สถานีต้นทางของรถไฟฟ้าสายสีม่วง คือ สถานีบางใหญ่ ไปยังสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือสถานีบางแค อยู่ที่ 70 บาท จากปัจจุบันที่มีการยกเว้นค่าแรกเข้า 14 บาท เมื่อมีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย และมีการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน 3 สถานีๆละ 1 บาท

    ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสาร 70 บาทตลอดสาย ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ

    นายไพรินทร์ กล่าวว่า กทม.และกระทรวงคมนาคม จะร่วมกันจัดพิธีเปิดทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในวันที่ 6 ธ.ค. 2561 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยนายกฯ ได้สั่งการว่า ให้ยกเว้นค่าโดยสารในช่วงทดสอบการเดินรถเป็นเวลา 3-4 เดือนก่อนจะเริ่มเก็บค่าโดยสารจริงหลังเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน

    ส่วนนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ต้องการให้ รฟม. จัดหาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อยนั้น นายไพรินทร์กล่าวว่า รฟม.ได้ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จ.สมุทรปราการ จัดเตรียมแผนก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย บนถนนสุขุมวิท อ.เมืองสมุทรปราการ พื้นที่ 18 ไร่ โดยอาคารชั้นบนจะเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ส่วนอาคารชั้นล่าง 4-5 ชั้น จะเป็นอาคารจอดแล้วจร รองรับรถยนต์ 720 คัน

    ผู้นำยุโรป 27 ชาติลงนามเบร็กซิตแล้ว

    วันที่ 25 พ.ย. 2561 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า ผู้นำชาติในสหภาพยุโรป 27 ชาติลงมติอนุมัติข้อตกลงถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรแล้ว

    นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรป ระบุทางทวิตเตอร์ว่า ผู้นำชาติสหภาพยุโรปลงมติอนุมัติข้อตกลงถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ เบร็กซิต (Brexit) แล้ว โดยในขั้นตอนต่อไป ข้อตกลงนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสหราชอาณาจักร

    นายฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป บอกว่า สหราชอาณาจักรต้องรับรู้ว่านี่เป็น “ข้อตกลงเดียวที่เป็นไปได้”

    การอนุมัตินี้เป็นผลลัพธ์จากการเจรจายาวนานกว่า 18 เดือนระหว่างทั้งสองฝ่ายหลังจากอังกฤษเริ่มใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการ

    สหราชอาณาจักรวางแผนว่าจะออกจากอียูในวันที่ 29 มี.ค. 2019 โดยคาดว่ารัฐสภาสหราชอาณาจักรจะลงมติเห็นชอบข้อตกลงนี้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. นี้ แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคมีท่าทีไม่เห็นด้วย

    เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้เรียกร้องให้สาธารณชนสนับสนุนข้อตกลงนี้โดยบอกว่านี่เป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดที่เธอจะเจรจาได้ และนี่เป็นการเคารพต่อเสียงประชามติเมื่อปี 2016