ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกโรแมนติกใหม่ออนไลน์

โลกโรแมนติกใหม่ออนไลน์

5 พฤศจิกายน 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

แต่ไหนแต่ไรมาคู่แต่งงานพบกันส่วนใหญ่จากการแนะนำของญาติ หรือเพื่อน หรือเพื่อนของเพื่อน (งานแต่งงานและงานวันเกิดคือโอกาสที่ทำให้พบกันมากกว่างานศพ) ผู้ใหญ่จับคู่ให้ นายหน้าจับคู่ให้ (ถ้าเป็นครอบครัววัฒนธรรมจีนก็อาจผ่านสังคมโรงเจหรือศาลเจ้า) เพื่อนร่วมงาน เพื่อนเรียนหนังสือทั้งระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย) ร้านอาหาร หรือแม้แต่บาร์ แต่ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเริ่มที่โลกตะวันตก ลามมาจีน และมีการแพร่หลายในบ้านเรา

ในโลกตะวันตกหญิงชายพบกัน ชอบกัน และแต่งงานกัน นอกจากการแนะนำจากเพื่อนแล้วก็พบกันในกิจกรรมของโบสถ์ คลับเพื่อสังคม ร้านเหล้าหรือบาร์ ฯลฯ การลงโฆษณาหาคู่ในหนังสือพิมพ์ซึ่งมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1695 ในอังกฤษและแพร่กระจายไปทั่วโลกตลอดสามร้อยปีที่ผ่านมาก็มีส่วนร่วมในการแต่งงานไม่มากนัก

เมื่อเกิดโลกอินเทอร์เน็ตขึ้น ระบบการจับคู่ก็พลิกผันทันที ในปี 1995 ก็เกิดเว็บไซต์ ชื่อ match.com ขึ้นเพื่อให้บริการในแถบเบย์แอเรียของซานฟรานซิสโก online dating ก็เกิดขึ้นและได้รับความนิยมสูง (โดยเฉพาะในหมู่ผู้รักร่วมเพศชายซึ่งมีอยู่ในบริเวณนั้นเป็นที่เลื่องลือ)

ปี 2010 การจับคู่กันเองไปได้รวดเร็วมากในกลุ่มที่เรียกในภาษาสมัยใหม่ว่า LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender) กล่าวคือ อินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่นัดพบกันโดยมีประมาณการว่ามีส่วนร่วมกว่าร้อยละ 70 ของความสัมพันธ์ทั้งหมด

ในปี 2013 ธุรกิจ startup ชื่อ Tinder ใช้วิธีการใหม่ที่ได้รับความนิยมมาก กล่าวคือให้ฝ่ายชายเลือกภาพหญิงในไลน์ที่สมัครเข้ามาทีละคนโดยกวาดรูปที่ไม่ต้องการออกไป ฝ่ายหญิงก็ทำเช่น เดียวกัน ชายหญิงคนใดที่เลือกภาพออกมาตรงกันก็เป็นคู่ที่แนะนำให้

online dating เป็นวิธีการที่ทำให้หญิงชายแต่ละคนได้มีโอกาสเลือกคู่เดทอันอาจนำไปสู่การแต่งงานได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ตามรสนิยมที่ตนเองต้องการ เช่น ระดับการศึกษา ความเชื่อทางศาสนา อาชีพ อายุ หน้าตา ฐานะ นิสัยใจคอ ค่านิยม เรื่องที่สนใจ งานอดิเรก รสนิยมในการดำเนินชีวิต พื้นฐานครอบครัว ถิ่นที่อยู่อาศัย ฯลฯ และประการสำคัญคือเลือกได้อย่างเป็นอิสระเสรีโดยไม่มีฝ่ายใดต้องเกรงใจใคร ไม่มีใครเสียหน้า ฯลฯ ส่วนจะมีเรื่องปวดหัวตามมาหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะต้องจัดการเอง

online dating มีข้อจำกัดในหลายสังคมและหลายวัฒนธรรม อันเป็นผลพวงจากค่านิยมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายก่อนแต่งงาน อย่างไรก็ดี ความปรารถนาที่จะมีคู่มีน้ำหนักมากกว่าจนทำให้ธุรกิจจับคู่ออนไลน์ไปได้ดี ดังเช่นในประเทศจีน Tantan ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันจับคู่ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจีนมีผู้ใช้ 20 ล้านคน และทำให้แต่งงานกันไปแล้ว 10 ล้านคู่

นิตยสาร The Economist ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ประมาณการว่าธุรกิจ online dating ทั้งโลกมีมูลค่าประมาณ 4,600 ล้านเหรียญ ในสหรัฐอเมริกาธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็วมาก รายใหญ่ ได้แก่ Bumble และ Match Group (เครือใหญ่ครอบคลุม Tinder ซึ่งเติบโตจาก match.com มีสมาชิก 3.8 ล้านคน และชื่อธุรกิจอื่นๆ อีก 40 ราย) นั้นมีรายได้ 1,300 ล้านเหรียญในปี 2017 Facebook ก็กำลังจะเข้าร่วมธุรกิจนี้เช่นกัน

online dating ของบางกลุ่มก็มีลักษณะเฉพาะของตน เช่น มุสลิม ยิว ผู้นิยม Trump (ถ้ามีกลุ่มไม่นิยม Trump ระบบคงล่มไม่เว้นวัน) กลุ่มมังสวิรัติ กลุ่มที่ฉลาดเป็นพิเศษ กลุ่มผู้ชอบจักรยาน กลุ่มหน้าตาแบบธรรมดา ฯลฯ

คำถามที่สำคัญก็คือ dating online ทำให้เกิดการแต่งงานที่มีความสุขมากกว่าระบบเก่าหรือไม่ งานวิจัยในปี 2013 ของนักวิจัยจาก Harvard และ Chicago พบว่า การแต่งงานที่เริ่มจากการจับคู่ออนไลน์มีทางโน้มที่จะแตกหักน้อยกว่า และมีระดับความพอใจสูงกว่าคู่แต่งงานที่มาจากระบบเก่า ผลงานวิจัยนี้สอดคล้องกับงานศึกษาของ Thomas และ Rosenfeld จาก Stanford ซึ่งพบว่าคู่แต่งงานจากการพบกันออนไลน์มีคุณภาพของความสัมพันธ์โดยทั่วไปสูงกว่าระบบเก่า และมีทางโน้มน้อยกว่าที่จะเลิกรากันหลังจากแต่งงานกันไปได้แล้วครบปี นอกจากนี้ยังพบว่าการก้าวเข้าสู่การแต่งงานหลังจากพบกันผ่านออนไลน์แล้วเป็น ไปอย่างรวดเร็วกว่าระบบเก่าอีกด้วย

ในสังคมไทย การที่ online dating จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีจนอาจถึงการแต่งงานนั้น ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันว่าการเข้าบริการนี้อย่างเสียเงินหรือไม่เสียเงินก็ตามทีมิได้มาจากการสิ้นหวังหาคู่ไม่ได้แล้ว หากแต่ต้องการการมีทางเลือกที่กว้างขวาง เพื่อพบคนที่มีลักษณะถูกใจ ซึ่งระบบเก่าไม่อาจทำให้ได้อย่างไม่ถูกตำหนิหรือนินทา เช่น ต้องการคนที่มีค่านิยมในชีวิตและมีรสนิยมตรงกันในเรื่องงานอดิเรก เช่น ชอบการตื่นเต้นผจญภัย (ชอบดำน้ำและจับค้างคาวในถ้ำ ปีนภูเขา ชอบเลี้ยงงูและกิ้งก่า) มีความเชื่อที่คล้ายกัน (ศรัทธาความดี ความงาม และความจริง) ฯลฯ

สิ่งสำคัญที่ต้องระวังอย่างมากก็คือการต้มตุ๋นจากคนชั่วร้ายที่มีมันสมอง และเข้าใจจุดอ่อนทางจิตวิทยาของตัวเรา อย่าลืมว่าคนชั่วเกิดทุกวัน และทำร้ายเราได้เสมอ

นอกจากนี้ บุคคลจำนวนมากในโซเชียลมีเดียนั้นมิใช่มนุษย์จริง หากเป็น BOTS (ย่อมาจาก Robots, Automated Processes) หมายถึงบัญชีที่สร้างขึ้นในโลกโซเชียลที่ทำงานได้เสมือนเป็นมนุษย์ คืออ่านข้อความของเรา ตอบข้อความได้ในระดับหนึ่ง และมีกระบวนการบางอย่างที่ทำงานโดยอัตโนมัติ เช่น ให้ข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์ ฯลฯ โดยอาจมีวัตถุประสงค์ไปในทางไม่ซื่อตรงได้ เช่น สร้างไว้ขายเป็นจำนวนมากเพื่อกดไลค์ เพิ่มจำนวนผู้ติดตาม หรือเพื่อสร้างจำนวนกับดักมากๆ เพื่อเป็นตาข่ายกว้างให้ผู้คนเข้าไปติด

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดในวิธีการแสวงหาความสัมพันธ์หรือเลือกคู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังต้องคงที่ไม่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็คือคุณลักษณะของคนที่เราปรารถนาจะเลือก

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 30 ต.ค. 2561