เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ได้จัดงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2561 (TEA Annual Forum 2018) ในหัวข้อ “ยุคปฏิวัติข้อมูล ใครได้ ใครเสีย” (Winners and Losers in the Data Revolution Era) โดยในช่วงเช้า ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ได้ร่วมสนทนากับดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ “ยุคปฏิวัติข้อมูลและเทคโนโลยี กับก้าวต่อไปของประเทศไทย”
รับมือ “สงครามการค้า-ดอกเบี้ยโลกขาขึ้น-เสถียรภาพการเงิน”
ดร.วิรไท กล่าวว่าสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงในอนาคตอาจจะแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น 1) บรรยากาศของเศรษฐกิจโลกที่ตึงเครียดขึ้น แม้ว่าสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงยุโรปและญี่ปุ่นจะยังถือว่าเติบโตดีอยู่ แต่บรรยากาศเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น และคาดว่าจะไม่จบง่ายๆ เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่ที่ออกมาต่างเล็งผลในระยะยาวทั้งสิ้น
“ตอนนี้ตัวเลขการส่งออกและการค้าโลกในห่วงโซ่การผลิตต่างๆอาจจะยังเห็นภาพชะลอตัวลงไม่มากนัก เพราะคำสั่งซื้อส่วนหนึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้ว เพื่อรองรับมาตรการช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวก็จะเห็นชัดเจนขึ้น ไทยเองก็ติดร่างแหไปด้วยแม้ว่าจะไม่ใช้เป้าหมายโดยตรง ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ อันแรกคืออย่างตอนแรกที่สหรัฐประกาศมาตรการเป็นรายสินค้าอย่างเครื่องซักผ้าหรือโซลาร์เซลล์ มันก็กระทบโดยตรงกับผู้ผลิตสินค้านั้นๆ รวมถึงไทย แต่อีกอันจะเกี่ยวกับกับห่วงโซ่การผลิตที่เราจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปทั้งระบบด้วย” ดร.วิรไท กล่าว
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อเกิดสงครามการค้าขึ้น รูปแบบการค้าของโลกก็จะปรับตัวด้วย หรือที่เรียกว่า Trade Diversion โดยรูปแบบที่เปลี่ยนไปจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคือสินค้าที่สหรัฐอเมริกาเคยนำเข้าจากจีน เขาจะมานำเข้าจากประเทศอื่นแทนและตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีสินค้าบางชนิดที่มีคำสั่งนำเข้าเพิ่มขึ้นแล้ว ขณะที่ด้านลบ ซึ่งคนมักจะไม่กล่าวถึงกัน เกิดจากการแข่งขันจากจีนที่เดิมเคยส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อปัจจุบันส่งไปไม่ได้ จีนจะหาทางระบายสินค้าเหล่านี้ไปยังประเทศอื่นๆแทน
“ดังนั้นสงครามการค้าไม่ได้กระทบเฉพาะผู้ส่งออกไทย แต่จะมากระทบกับผู้ผลิตที่ขายในประเทศด้วย อย่างเหล็ก แม้เราจะไม่ได้ส่งออกเยอะ แต่ผู้ผลิตภายในประเทศจะได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ตลาดของเหล็กจีนแทน มาแข่งขันด้านราคา อันสุดท้ายเป็นผลข้างเคียงที่อาจจะเป็นผลบวกคือสงครามการค้าที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ผู้ประกอบการต้องคิดใหม่จากเดิมที่ผลิตในจีนทั้งหมด แต่ตอนนี้พอเป็นเป้าและจะเป็นเป้าไปอีกนาน เขาก็ต้องเริ่มคิดกระจายแหล่งผลิตออกไปที่อื่นด้วย อีอีซีของเราก็สอดรับกับกระแสนี้ เป็นการสร้างห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคใหม่ แต่อาจจะใช้เวลาสักพัก”
2) ความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่จะตึงตัวขึ้น หลังจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังจากวิกฤตการเงินโลกจนทำให้ทั่วโลกต่างดำเนินนโยบายผ่อนคลายมากกว่าปกติ และโลกได้รับอานิสงค์จากการเติบโตก่อหนี้สูง โดยปัจจุบันเรียกว่ามีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของโลกสูงเป็นประวัติการณ์ และเมื่อเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจน fed เริ่มปรับนโยบายการเงินใหม่เป็นประเทศแรก ซึ่งในแง่ตลาดการเงินโลกที่เชื่อมโยงกันมากก็ทำให้ดอกเบี้ยของตลาดการเงินได้ปรับตัวขึ้นตามไปบ้างแล้วทันที รวมไปถึงประเทศไทย โดยไม่ต้องรอให้ธนาคารกลางอื่นๆเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม ขณะที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป และธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นที่เริ่มพูดถึงการปรับทิศทางนโยบายการเงินใหม่
ในภาวะที่โลกมีหนี้จำนวนมากแบบนี้ ภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นแบบนี้อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศต่างๆ รวมไปถึงต้นทุนทางการเงินในอนาคตที่จะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นภาพแบบนี้ นอกจากนี้ ตลาดการเงินในปัจจุบันเรียกว่ามีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก หรือปลิวง่าย ดังนั้นถ้าเอกชนขาดการบริหารสภาพคล่องที่ดีก็อาจจะมีปัญหาทั้งทางด้านต้นทุนและสภาพคล่องในอนาคตได้
3) ต้นทุนของการคงดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานเริ่มส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงิน เช่นเห็นระบบธนาคารเงาเกิดขึ้นบ้างอย่างกรณีหุ้นกู้ของเอกชนที่กู้ในระยะสั้นไปลงทุนในระยะยาวเกือบทั้งหมด แต่นักลงทุนกลับประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรเป็น เพราะคิดว่าระยะสั้น 3-6 เดือนหากเกิดอะไรขึ้นก็สามารถถอนตัวได้ทัน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถทำได้แบบนั้น เพราะทุกบริษัทยังไม่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมา หรือการย้ายการออมเงินไปยังสหกรณ์ออมทรัยพ์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารมากแต่ไม่ได้ถามว่านำเงินไปทำอะไรถึงสามารถให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารได้ค่อนข้างมาก หรือล่าสุดเกี่ยวกับมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาที่เริ่มบานปลาย เนื่องจากการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มักมีการให้เกินกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ หรือเรียกว่ามีเงินทอน และเงินทอนเหล่านั้นถูกนำไปลงทุนเก็งกำไรและเป็นการกู้มาแสวงหาผลตอบแทน
“สิ่งแรกที่เรียนๆในหลักเศรษฐศาสตร์คือไม่มีของฟรีในโลก การดำเนินนโยบายย่อมจะมีต้นทุนของมันอยู่ โดยการใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานก็เริ่มให้เกิดพฤติกรรมที่ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเติบโตจากหนี้มากขึ้น และสร้างความเปราะบางในระยะยาว หรืออาจจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจากบทเรียนที่ผ่านมาวิกฤตทุกครั้งจะดึงความเป็นอยู่ของประชาชนถอยหลังไปหลายปีมากๆและเป็นสิ่งที่เราคงไม่อยากให้เกิดขึ้น” ดร.วิรไท กล่าว
บทบาทธปท.ระยะต่อไปต้องอิงกับข้อมูล
ดร.วิรไท กล่าวต่อไปถึงบทบาทของธปท.และการดำเนินนโยบายของกนง.ในระยะต่อไปว่ากนง.จะตัดสินใจโดยขึ้นอยู่กับข้อมูล หรือ “Data Dependent” ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะถามว่าทำไมธปท.ถึงไม่ทำ dot plot คล้ายกับ fed ที่บอกทิศทางของนโยบายการเงินในอนาคต เพราะเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่และไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศมากนัก หรือเป็นประเทศปิด ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดขนาดเล็ก ดังนั้นการเปลี่ยนของเศรษฐกิจการเงินโลกย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินและการตัดสินใจนโยบายของไทยโดยตรง ซึ่งมักจะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ทำให้การพึ่งพิงข้อมูลของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ บทบาทของนโยบาย Macro Prudential ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตอบโจทย์เป้าหมายด้านเสถียรภาพระบบการเงิน นอกเหนือไปจากการใช้ดอกเบี้ยนโยบายหรือเครื่องมือทางนโยบายตามปกติ เช่นการออกมาตรการอสังหาริมทรัพย์แทนที่จะใช้ดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะกระทบกับตลาดการเงินทั้งหมด ธปท.ก็ได้ตัดสินใจให้เครื่องมืออย่างอัตราส่วนหนี้ต่อสินทรัยพ์ หรือ LTV มาสกัดแทน หรือเรื่องมาตรการบัตรเครดิตที่จำกัดเงื่อนไขการสมัครก่อนหน้านี้
“แต่นโยบายพวกนี้มันเหมือนฝายชะลอน้ำชั่วคราว แต่อย่างไรก็ตามน้ำหรือเงินเหล่านี้ก็จะต้องไหลในที่ๆที่กฎเกณฑ์ผ่อนปรนกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องของนโยบายดอกเบี้ย ช่วงที่ผ่านมาจะมีความเข้าใจว่าปัจจุบันกำลังหมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว เพื่อสกัดต้นทุนที่อาจจะเกิดในเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ความจริงคือดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติแบบนี้มันจำเป็นน้อยลงมากกว่า เพราะถ้ามองไปในอดีตดอกเบี้ยที่ 1.5% ถือว่าต่ำใกล้เคียงกับช่วงวิกฤต ซึ่งเทียบกับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ที่เข้มแข็งกว่าตอนนั้นมาก ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็เรียกว่ายังไม่ได้เป็นอุปสรรคของการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ก็ไม่ใช่ว่าจะขึ้นแล้วจะขึ้นต่อเนื่องแต่ต้องดูข้อมูลประกอบทุกครั้ง อาจจะขึ้นแล้วรอดูสักระยะ ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดการเงินก็คิดว่าไม่น่าจะมีมากในช่วงที่สภาพคล่องสูงแบบนี้ ธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องแข่งกันขึ้นดอกเบี้ยตาม” ดร.วิรไท กล่าว
ดึงเทคโนโลยีข้อมูลช่วยตัดสินนโยบายใหม่ๆ
สำหรับนโยบายการเงินในยุคของข้อมูลและเทคโนโลยี ดร.วิรไท กล่าวว่าเรื่องของเทคโนโลยีจะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันอาจจะเห็นความเป็นไปในโลกเทคโนโลยี 5 ประเด็น หรือ 5S ได้แก่
-
1) Scale คือเทคโนโลยีส่งผลให้การบริการต่างๆเข้าถึงคนได้จำนวนมาก ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และมีผลของเครือข่ายเกินขึ้น
2) Speed คือเทคโนโลยีทำห้บริการต่างๆมีความรวดเร็วและเกิดความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
3) Scpoe ที่การให้บริการต่างๆเริ่มไม่สามารถแยกออกจากกันได้ หลายบริษัทให้บริการสินค้าและบริการที่หลากหลายในที่ที่เดียวกัน
4) Sharing คือเศรษฐกิจในยุคต่อไปจะเปิดโอกาสจากการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่มากขึ้นผ่านการแบ่งปัน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมมากนัก
5) Segment of ONE เทคโนโลยีเริ่มทำให้บริษัทต่างสามารถให้บริการลูกค้าเป็นรายบุคคลได้
“จากมิติต่างๆเหล่านี้ ธนาคารกลางจะต้องปรับวิธีคิดใหม่ๆกับสิ่งใหม่ๆ เช่นเรื่องของเงินเฟ้อที่หายไปไหน ส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีที่ดีทำให้ต้นทุนถูกลงมาก การตั้งราคาของผู้ผลิตทำได้ยากขึ้น รวมไปถึงว่าราคาสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ตระกร้าเงินเฟ้อของไทยไม่เพิ่มขึ้น แต่ในความรู้สึกคนกลับรู้สึกว่าข้าวของยังแพงอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ไปดึงให้ต่ำลงมา ธฯนาคารก็จะต้องเข้าใจมิติต่างๆเหล่านี้ให้ดีขึ้น”
ในทางปฏิบัติ ธปท.จะต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้นในการทำนโยบาย หรือที่เรียกว่า Evidence-Based Policy ที่ต้องตอบโจทย์ต่างๆให้ได้ชัดเจน และต้องไม่เป็นนโยบายเหวี่ยงแหแบบในอดีต ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมาองค์กรได้นำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลมาเป็นกลยุทธ์หลักของการขับเคลื่อน มีการจับมือกับหน่วยงานต่างๆที่มีข้อมูล เพื่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้ความเข้าใจจากข้อมูลซึ่งกันและกันนอกจากนี้ เรื่องของความเป็นส่วนตัวของประชาชน ธปท.ก็ให้ความสำคัญ โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาจะมีการปกปิดตัวตนตามมาตรฐานที่ทำให้ไม่สามารถสาวกลับไปถึงตัวบุคคลได้ แต่ยังมีข้อมูลเพียงพอจะวิเคาะห์เชิงนโยบายได้ รวมไปถึงธปท.ก็ได้มีมาตรการเกี่ยวกับกำกับดูแลข้อมูลที่ดีเพิ่มขึ้นมาด้วย
ตัวอย่างเช่น เรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูงจากเดิมที่เราจะเน้นเทียบกับจีดีพี แต่คำถามสำคัญคือจะแก้ไขอย่างไร? ซึ่งข้อมูลระดับมหภาคอาจจะไม่ได้ให้ภาพชัดเจน แต่พอธปท.ศึกษาเชิงลึกลงไปในสัญญาเงินกู้ของบริษัท เครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโรกลับพบว่ามีหลายพฤติกรรมที่น่าตกใจ เช่นคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นมากและเป็นหนี้กับพวกที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมไปถึงผิดนัดชำระหนี้เร็ว ซึ่งพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ก็แตกต่างไปตามแต่ละประเภทของหนี้ และในที่สุดจึงนำไปสู่การออกมาตรการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน
หรือเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ที่เราเห็นว่าหนี้เสียยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น สวนทางกับความเข้าใจของเราว่าคนไม่น่าจะยอมทิ้งบ้านไป แต่เมื่อเจาะลงไปจึงพบว่าเกิดพฤติกรรมการเก็งกำไรและการผ่อนปรนมาตรฐานการปล่อยกู้ของระบบธนาคารมากขึ้น เราก็ออกมาตรการตรงนี้มาเตะเบรกไว้ได้ หรือเรื่องการกำกับดูแล เราพยายามจะเน้นการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งถ้าออกแบบไม่ดีก็อาจจะนำไปสู่พฤติกรรมกินรวบของผู้เล่นที่มาก่อน ดังนั้นเราจึงพยายามออกมาตรฐานของประเทศ เช่น QR Code มาตรฐาน เป็นต้น
“ในเรื่องของเทคโนโลยีหรือเรื่องความเป็นส่วนตัวเราจะต้องหาสมดุล ถ้าเราปิดหมดเลยประโยชน์มันก็หายไป บางประเทศมีข้อมูลสุขภาพอยู่ เขาก็สามารถบอกได้ว่ามีอนาคตประชาชนของเขาจะป่วยเป็นอะไร จะมีค่าใช้จ่ายอีกเท่าไหร่ ต้องเตรียมพร้อมอย่างไร หรือข้อมูลคะแนนของเด็กในประเทศ เขาก็สามารถวางแผนการผลิตทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างชัดเจนและทันท่วงที อย่างของไทยก็มีเครดิตบูโรที่ทำให้การเข้าถึงเงินกู้ของประชาชน สำหรับคนที่มีเครดิตที่ดีจะสามารถเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า เป็นต้น”
4 นักเศรษฐกิจมองเศรษฐกิจไทย 2562
นอกจากการเสวนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ในช่วงเช้ายังมีการสัมมนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ปี 2562 มองไปข้างหน้า” (Thai Economy 2019: Looking Ahead) โดยนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่ง สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ได้แก่ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ, ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก, ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร CIMB THAI
รับมือเศรษฐกิจโลกเตรียมชะลอ – จับตาดอกเบี้ย fed – สงครามการค้า
ดร.พิพัฒน์ เริ่มต้นกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในระยะที่ผ่านมาว่าในช่วงปีที่แล้วทั่วโลกเรียกว่าเป็นการเติบโตแบบสอดคล้องกัน หรือ Synchronized Growth แต่ในช่วงปีนี้ที่ผ่านมาเริ่มเห็นภาพของการชะลอตัวของเศรษฐกิจพร้อมๆกัน หรือ Synchronized Slowdown ไม่ว่าจะเป็นดัชนีผู้จัดการซื้อ หรือ Purchasing Manager Index (PMI) ที่สะท้อนว่าเกือบทุกภูมิภาคได้ผ่านจุดที่เติบโตสูงสุดมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 จนถึงต้นปี 2561 และหลังจากนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่ายังไม่ถึงกับขั้นหดตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่ยังมีสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวที่ยังสามารถเติบโตอย่างแข็งแรงได้ต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ เรียกว่าเป็นการฉีกตัวออกมาจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือว่าเป็นวัฏจักรการเติบโตที่กลับมาสูงที่สุดและยาวนานที่สุดตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2551 สอดคล้องกับการจ้างงานของประเทศที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 1949 และในภาพเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ fed จำเป็นจะต้องเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเพื่อถอยการกระตุ้นเศรษฐกิจลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง โดยครั้งนี้ fed ได้เน้นย้ำถึงการถอนการกระตุ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เรียกว่าเป็นการถอนเท้าออกจากคันเร่งมากกว่าการเหยียบเบรกเศรษฐกิจ ซึ่งหากดอกเบี้ยนโยบายยังต่ำกว่า 3% ก็อาจจะเรียกว่าอยู่ในภาวการณ์กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งการเริ่มทยอยถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็ย่อมจะกระทบกับตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในระยะข้างหน้าต่อไป
“ในอีก 1 ปีข้างหน้าก็คาดการกันว่า fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 3-4 ครั้งกลับไปสู่ระดับ 3% โดยที่ fed ยังคิดว่าถ้ายังถอนไม่หมดซะทีเดียว แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็น่าจะรับมือไหว อย่างไรก็ตาม ในภาพของตลาดการเงินเริ่มส่งสัญญาณว่าให้ fed ถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจช้าลงกว่านี้ เพราะหากไปดูดอกเบี้ยระยะยาวก็ยังอยู่ที่ระดับ 3% เท่านั้น ดังนั้นหาก fed ขึ้นดอกเบี้ยกลับมาที่ 3% ก็จะทำให้ Yield Curve กลับมาเป็นเส้นแบนราบทันที” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ขณะที่ประเด็นสงครามการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจนอกเหนือไปจากการถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจของ fed คาดว่าอาจจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจด้านรายได้ของสหรัฐอเมริกมากนัก เนื่องจากเป็นประเทศปิดขนาดใหญ่ โดยมีภาคการส่งออกเพียง 10% ของจีดีพีเท่านั้น เทียบกับประเทศไทยที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะกระทบคือภาคเอกชนของสหรัฐอเมริกาที่จะมีต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าหลายอย่างที่นำเข้ามามักจะมาากจจีนเป็นหลัก
“ส่วนหนึ่งของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาอาจจะเป็นการพยายามรักษาบทบาทของตัวเองในเศรษฐกิจโลก จังหวะนี้ก็เป็นการพยายามเตะตัดขาจีนไม่ให้ขึ้นมาเป็นคู่แข่งในอนาคต เนื่องจากตอนนี้จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นความคิดว่านโยบายหลายอย่างของจีนทางด้านการค้าและเทคโนโลยีก็อาจจะไม่ยุติธรรมกับสหรัฐอเมริกาเท่าไหร่” ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ดร.ชนินทร์ กล่าวว่าเศรษฐกิจจีนได้ชะลอตัวตามาภาวะเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน หลายสำนักได้ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตลดลงมาที่ประมาณ 6% โดยจีนได้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงด้วยการหาสมดุลของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เช่นการปรับปรุงภาคการผลิต การยกระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ เพื่อดึงให้การผลิตอยู่ที่จีนต่อไป
“ในระยะสั้นคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา จีนน่าจะรับมือกับเศรษฐกิจที่ชะลอและสงครามการค้าได้ แต่ในระยะยาวก็น่ากังวลว่าภาวะหนี้ที่สูงของจีน ภาคการผลิตจะยังมีความสามารถแข่งขันเพียงพอจะสร้างรายได้มาชำระคืนนี้จำนวนมากได้หรือไม่” ดร.ชนินทร์ กล่าว
ดร.อมรเทพ กล่าวว่าสำหรับประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ ซึ่งไทยถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศนี้ อาจจะต้องแยกแยะด้วยว่าแต่ละประเทศมีพื้นฐานของเศรษฐกิจเป็นอย่างไร โดยในกลุ่มประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจดีก็อาจจะสามารถรับมือได้ดีมากกว่า ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาถอนนโยบายคิวอีออกไปในปี 2556 ตลาดประเทศเกิดใหม่ที่เปราะบาง หรือที่เรียกว่า “Fragile 5” อย่างบราซิล อินเดีย อินโดนิเชีย แอฟริกาใต้ และตุรกี ต้องเผชิญกับการไหลออกของเงินทุนจำนวนมาก ขณะที่ตลาดประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยที่มีพื้นฐานภาคต่างประเทศที่เข้มแข็งกว่ากลับได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย และในปีถัดมานักลงทุนเห็นว่าประเทศเหล่านี้ก็มีพื้นฐานดีพอจะรองรับและไม่เกิดวิกฤตการเงินต่างก็เคลื่อนย้ายเงินทุนกลับมาอีกครั้ง
“ประเด็นสำคัญของความเสี่ยงพื้นฐานของตลาดเกิดใหม่ในรอบนี้จะไปเกี่ยวข้องกับว่าประเทศเหล่านี้มีการค้าขายหรือเปิดประเทศกับจีนมากน้อยเพียงใด ประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องกับจีนมากๆอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่า แต่ครั้งนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน แต่อาจจะมาในลักษณะของการเติบโตที่ชะลอลง ซึ่งในมุมของประเทศไทย ภาคต่างประเทศถือว่ายังเข้มแข็งที่จะรองรับได้อยู่” ดร.อมรเทพ กล่าว
คาดปีนี้ยืนระยะ 4% ได้ ชี้ปีหน้าส่งออกชะลอ กระทบบริโภคหด
ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 และปี 2562 ว่าตัวเลขไตรมาส 3 ของปี 2561 ออกมาเติบโตเพียง 3.3% ต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก โดยมีปัญหาหลักมาจากภาคต่างประเทศที่ชะลอตัวลงอย่างมาก ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออกในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ของปีกลับออกมาดีขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะแปลว่าการส่งออกที่หดตัวลงช่วงปลายไตรมาสที่ผ่านมาอาจจะเป็นปัจจัยชั่วคราวได้ ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้จะเติบโตได้ 4% ต้นๆ อาศัยว่าช่วงครึ่งปีแรกสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างมากและทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถยืนระยะได้จนถึงสิ้นปี
ขณะที่ในปีหน้าอาจจะต้องเผชิญกับฐานที่สูงของปีนี้และทำให้การเติบโตไม่เท่ากับปีนี้ โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโตสูงมาสักระยะหนึ่งแล้ว เช่นในภาคท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยอาศัยนักท่องเที่ยวจีนที่คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวของไทย หรือเกือบ 10 ล้านคนต่อปี แต่เมื่อในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยลดลง แม้ว่าไม่ต้องถึงขั้นหดตัว เพียงแค่ชะลอตัวลงก็ทำให้การเติบโดยรวมกระทบแล้ว เช่นเดียวกันกับการส่งออกที่เติบโต 8-9% มาทั้งปี เมื่อเริ่มชะลอตัวลงก็จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมทันที
“ถามการส่งออกทำไมชะลอตัวลง ประเด็นแรกคือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง หมุนช้าลง การส่งออกของไทย รวมไปถึงเพื่อนบ้านก็ชะลอตัวเหมือนกัน อีกด้านคือสงครามการค้า เนื่องจากจีนถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในเอเชีย โดยไทยส่งออกไปยังจีนคิดเป็น 10% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่สหรัฐอเมริกานำเข้าจากจีนเกือบ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นถ้า 2 ประเทศนี้ทำสงครามการค้ากันย่อมจะกระทบมายังไทย แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถได้รับการย้ายฐานการลงทุนจากจีนเข้ามา ซึ่งก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่า และคำถามสำคัญอีกอันคือแล้วในภูมิภาคอาเซียน เขาจะย้ายมาที่ไทยด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายที่ทำให้การตัดสินใจย้ายฐานการลงทุนช้าออกไป เพื่อรอดูข้อสรุปว่าของสงครามการค้า ทั้งหมดนี้ประกอบกันทำให้ในระยะสั้นเราก็อาจจะเห็นผลกระทบด้านลบมาก่อน”
ดร.อมรเทพ กล่าวว่าในด้านการบริโภคของเอกชนในไตรมาสที่ผ่านมาที่เติบโตได้ 5% และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจภายในประเทศเข้มแข็ง สวนทางกับภาคต่างประเทศและอาจจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ แต่หากไปดูไส้ในของการบริโภคจะพบว่าการเติบโตที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นผลจากยอดขายรถยนต์ที่เติบโตกว่า 20% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการรถคันแรกที่หมดไปด้วย ขณะที่กลุ่มอาหารหรือเครื่องมือหรือเสื้อผ้าที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันแทบจะไม่ขยายตัวหรือหดตัวด้วยในบางรายการ
“ภาพการบริโภคกำลังฉีกเป็น 2 ขั้ว ด้านหนึ่งคือกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมีกำลังซื้อ คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อรถยนต์ได้ อีกกลุ่มจะเป็นกลุ่มที่รายได้น้อยลงไปก็ถือว่ายังไม่ได้ฟื้นตัว และอาจจะต้องรอปัจจัยอื่น ๆ ด้านการผลิตให้ฟื้นตัวมากกว่านี้ เช่น เรื่องราคาสินค้าเกษตร ส่วนมาตรการภาครัฐที่ออกมาอาจจะมาช่วยพยุงเอาไว้ได้ชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นปีหน้าเมื่อผลของการซื้อรถยนต์หมดไป การบริโภคก็อาจจะชะลอตัวลง ตรงนี้ก็หวังว่าชนชั้นกลางที่ไม่ค่อนได้รับผลกระทบมากนักจะมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น” ดร.อมรเทพ กล่าว
ดร.ชนินทร์ กล่าวถึงการใช้จ่ายภาครัฐว่าคิดว่าไม่น่ากังวลมากและรัฐบาลพยายามเร่งผลักดันโครงการต่างๆออกมาอย่างเต็มที่ แต่ด้วยมูลค่าที่คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งประเทศ โจทย์ของการลงทุนภาครัฐจึงน่าจะเน้นที่ผลที่ได้จากการลงทุนมากกว่ามูลค่าเม็ดเงินที่ลงไป เช่น การลงทุนในระบบคมนาคมให้มีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของประเทศได้ เป็นต้น แต่หากมองจากการเบิกจ่ายในอดีตก็คาดว่าในปีหน้าอาจจะลดลงเล็กน้อย เพราะโครงการเล็กๆที่เบิกจ่ายได้ง่ายกว่าก็ได้ทยอยดำเนินการไปมากแล้ว
มั่นใจกนง.ยังตรึงดอกเบี้ยได้อีกระยะ – ก่อนทยอยขึ้น 1-2 ครั้งในปีหน้า
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่าสำหรับภาวะดอกเบี้ยนโยบายของไทยถ้าดูจากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในอนาคตที่เรียกว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ปัจจัยที่คณะกรรมการการเงิน (กนง.) ให้น้ำหนักมีอยู่ 4 ประเด็น
-
1) อัตราเงินเฟ้อตามเป้าหมายเงินเฟ้อที่ปัจจุบันและมองไปข้างหน้าเริ่มนิ่งอยู่ในกรอบที่ 1%
2) เงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่เริ่มต่ำกว่า fed หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะมีการไหลออกของเงินทุน อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลค่อนข้างสูงเป็นกันชนอยู่ เพราะเมื่อมีเงินทุนไหลออก แต่ไทยก็ยังมีเงินทุนไหลเข้าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เช่นรายได้ต่างประเทศการค้าขาย ฯลฯ
3) เรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน ที่คาดว่ากนง.น่าจะให้น้ำหนักและกังวลมากที่สุดในระยะนี้
4) การรักษาพื้นที่นโยบาย เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
“กนง.มองว่าอาจจะต้องขึ้น แต่อาจจะเป็นการขึ้นแบบช้าๆ ใน 12 เดือนข้างหน้าอาจจะขึ้นเพียง 1-2 ครั้ง คือไม่ได้ต้องรีบขึ้นเร็วมากเท่ากับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากยังมีกันชนของภาคต่างประเทศที่เข้มแข็งพอสมควร นอกจากนี้อาจจะต้องแยกดอกเบี้ยของตลาดการเงินกับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันแม้ว่ากนง.จะไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยในตลาดการเงินก็ได้ปรับขึ้นเล็กน้อยตามทิศทางของตลาดโลกแล้วด้วย” ดร.พิพัฒน์ กล่าว