ThaiPublica > เกาะกระแส > PwC ชี้งานวิจัยระบุค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของจีนและยุโรป ปี’61 เติบโตสองหลัก

PwC ชี้งานวิจัยระบุค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของจีนและยุโรป ปี’61 เติบโตสองหลัก

13 พฤศจิกายน 2018


บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดรายงาน Global Innovation 1000 Study โดยระบุว่า

  • จีนและยุโรปเพิ่มงบด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก ในขณะที่มูลค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกสูงถึง 7.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • บริษัทจำนวน 88 แห่งมีความสามารถทางการเงินเหนือกว่าคู่แข่ง แม้มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับปานกลาง
  • อเมซอน รักษาตำแหน่งบริษัทที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก
  • แอปเปิล ได้แชมป์บริษัทนวัตกรรมเบอร์ 1 ของโลกกลับคืนมาจาก อัลฟาเบทด้านเน็ตฟลิกซ์ติด 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก
  • อุตสาหกรรมผู้บริโภคมีการใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด แซงหน้า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

รายงานระบุว่ามูลค่าการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกในปี 2561 เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนอยู่ที่ 7.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนและยุโรปมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลก ที่ 34% และ 14% ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรมผู้บริโภคเห็นการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในปีนี้แซงหน้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่วนองค์กรขนาดใหญ่ของไทยตื่นตัวในการวิจัยและพัฒนา แต่ต้องรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะและเกิดผลคุ้มค่าต่อธุรกิจในระยะยาว ย้ำไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาล

ผลการศึกษา Global Innovation 1000 Study ฉบับที่ 14 ทำการวิเคราะห์การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ของบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลกจำนวน 1,000 แห่ง โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการลงทุนด้านนวัตกรรมว่า มีผลกระทบต่อกลยุทธ์เพื่อการเติบโตในระยะยาวและความมั่นใจของผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจ

รายงานระบุว่า มูลค่าการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกในปี 2561 เพิ่มขึ้น 11% อยู่ที่ 7.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 25.97 ล้านล้านบาท) โดยการใช้จ่ายเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกทวีปทั่วโลกและเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน (34%) และยุโรป (14%) ซึ่งมีการใช้จ่ายเติบโตในอัตราสองหลัก ส่วนอเมริกาเหนือ (7.8%) และญี่ปุ่น (9.3%) เติบโตในตัวเลขหลักเดียว ขณะที่ความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนา (R&D Intensity) โดยรวม ซึ่งใช้วัดมูลค่าการใช้จ่ายต่อยอดขาย ยังคงเติบโตในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.5%

นาย แบร์รี่ เจรูเซลสกี้ หัวหน้าสายงานเทคโนโลยีและกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมของ Strategy& บริษัท PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “มาตรฐานความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถูกยกระดับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงในศตวรรษที่ 21 แต่แม้จะมีการลงทุนจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ผลจากการศึกษาในครั้งนี้ ยังคงเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่า การมีนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถหาซื้อได้ด้วยการทุ่มเงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากความเอาใจใส่ต่อการวางกลยุทธ์ที่ใช่ การมีวัฒนธรรมองค์กร และการมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูง ประกอบกับข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และการปฏิบัติอย่างมีวินัยตลอดทั่วทั้งวงจรนวัตกรรมขององค์กร”

นอกจากนี้ เมื่อนำผลการศึกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัท และการลงทุนด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรายงานปีนี้ พบว่า มีบริษัทจำนวน 88 แห่งทั่วโลกและกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการประเมินว่า เป็นองค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูง (High-leverage innovator)

บริษัทเหล่านี้มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นกว่าบริษัทคู่แข่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ดูจากตัวชี้วัดความสำเร็จทางด้านการเงิน 7 ตัวในช่วงระยะเวลา 5 ปี ขณะเดียวกันที่มีค่าใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาน้อยกว่า ค่ากลางของค่าใช้จ่ายในด้านดังกล่าวของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันตามเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย โดยตัวชี้วัดความสำเร็จทางด้านการเงินทั้ง 7 ที่ว่านี้ประกอบด้วย การเติบโตของรายได้ การเติบโตของมูลค่าตลาดรวม อัตรากำไรจากการดำเนินงาน อัตรากำไรขั้นต้น การเติบโตของกำไรจากการดำเนินการ การเติบโตของกำไรขั้นต้น และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นรวม

รายงานพบว่า ขณะที่องค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงเหล่านี้ มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานและอัตรากำไรขั้นต้นที่คล้ายคลึงกันกับบริษัทอื่นใน 1,000 บริษัทนวัตกรรมชั้นนำในช่วงระยะเวลา 5 ปีสิ้นสุด 2560 แต่บริษัทเหล่านี้ กลับมีการเติบโตของยอดขายสูงกว่า 1,000 บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมระดับโลกถึง 2.6 เท่า และมีการเติบโตของมูลค่าตลาดสูงกว่า 2.9 เท่า รวมทั้งบริษัทเหล่านี้ยังมีความสามารถทางการเงินที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ อย่างน้อย 2 เท่าดูจากตัวชี้วัดความสำเร็จทางการเงินอื่นๆ ที่ใช้ โดยที่ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานั้นน้อยกว่าค่ากลางของบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันตามเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย

ทั้งนี้ คุณลักษณะของกลุ่มบริษัทที่มีการเติบโตสูงนี้ ประกอบด้วย

  • วางกลยุทธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน: 77% ของบริษัทที่เติบโตรวดเร็วที่สุดระบุว่า กลยุทธ์ด้านนวัตกรรมของตนเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ธุรกิจอย่างมาก เปรียบเทียบกับ 54% ของบริษัทที่มีการเติบโตในระดับเดียวกัน และ 32% ของบริษัทที่มีการเติบโตช้ากว่า
  • วัฒนธรรม: 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่รายงานว่าบริษัทของตนมีรายได้เติบโตรวดเร็วกว่าคู่แข่งระบุว่า วัฒนธรรมองค์กรของตนเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมอย่างมาก เปรียบเทียบกับ 53% ของบริษัทที่มีการเติบโตในระดับเดียวกัน และ 33% ของบริษัทที่มีการเติบโตช้ากว่า
  • ความเป็นผู้นำ: 78% ของบริษัทที่มีรายได้สูงกว่าคู่แข่งระบุว่า ทีมผู้บริหารมีการทำงานที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมเป็นอย่างมาก หรือใกล้เคียง เปรียบเทียบกับ 62% ของบริษัทที่มีการเติบโตในระดับเดียวกัน และ 53% ของบริษัทที่มีการเติบโตช้ากว่า

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในระดับภูมิภาค ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของบริษัทที่มีถิ่นที่ตั้งในจีน ซึ่งเดิมเมื่อปี 2550 เคยมีบริษัทที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงเพียง 3% กลับเพิ่มเป็น 17% ในปี 2560 ด้านบริษัทในยุโรปก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 18% ในปี 2550 เป็น 30% ในปี 2560 ในทางกลับกัน จำนวนของบริษัทในอเมริกาเหนือที่ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูง ปรับตัวลดลง 45% และบริษัทในญี่ปุ่นลดลง 8%

เมื่อประเมินเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า จำนวนขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงปี 2560 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมผู้บริโภค อุตสาหกรรมสุขภาพ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการบินและยุทโธปกรณ์ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มอุตสาหกรรมที่จำนวนขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และพลังงาน อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์และอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ จากการสำรวจบริษัทมากกว่า 1,000 ราย โดยแบ่งระยะ 5 ปีย้อนหลังออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ระยะเวลา 5 ปีสิ้นสุดในปี 2550 2555 และ 2560 พบว่า มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่มีการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูงมาตลอดระยะเวลา 15 ปี ได้แก่ แอปเปิล และ แสตนลีย์ แบล็ก แอนด์ เด็กเกอร์

นาย แบร์รี่ กล่าวต่อว่า “ความสำเร็จขององค์กรผู้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในระดับสูง ยังช่วยยืนยันผลจากการศึกษาที่เราพบครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จำนวนเม็ดเงินที่บริษัทจ่ายไปเพื่อการคิดค้นด้านนวัตกรรม และผลประกอบการทางการเงินนั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันในระยะยาว แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ วิธีการที่บริษัทใช้เงินและทรัพยากรนั้นๆ อย่างไร รวมถึงคุณภาพของบุคลากรมากความสามารถ กระบวนการทำงาน และการตัดสินใจที่จะเชื่อมต่อและเข้าถึงความต้องการที่ซับซ้อนของลูกค้า”

1000 บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมระดับโลก

ผลการศึกษา Global Innovation 1000 Study ของ Strategy& ทำการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจำนวน 1,000 ราย โดยการศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาครั้งที่ 14 ซึ่งผลการศึกษาที่สำคัญ ได้แก่

  • อเมซอนยังคงเป็นผู้นำที่มีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในขณะที่ซาโนฟี่ และซีเมนส์กลับเข้ามาติดอันดับ 20 บริษัทที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดในปีนี้
  • แอปเปิล กลับมาครองแชมป์บริษัทด้านนวัตกรรมเบอร์ 1 ของโลกจากอัลฟาเบท ขณะที่เน็ตฟลิกซ์ติด 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก
  • อุตสาหกรรมผู้บริโภคแซงหน้าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในปีนี้ เติบโตรวดเร็วที่สุดเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (26% เปรียบเทียบ 20.6%)
  • อุตสาหกรรมสุขภาพ จะกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในปี 2563
  • อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนารวมกันคิดเป็น 60% ของการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของโลกในปีนี้
  • จีนและยุโรปเห็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทในกลุ่ม 1,000 บริษัทชั้นนำที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ในขณะที่อเมริกาเหนือ (-5%) และญี่ปุ่น (-6%) มีจำนวนบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมลดลง

ด้านนางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “ตัวเลขการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าและบริการของตนเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ในอดีต การให้ความสำคัญของงานด้านการวิจัยและพัฒนาถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าแทบทุกอุตสาหกรรมต่างแสดงความต้องการในการที่จะลงทุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองให้สอดรับกับสภาพการแข่งขัน คู่แข่ง และภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป”

“สำหรับประเทศไทยนั้น จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนพบว่า หลายๆ องค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่มีความตื่นตัวและมีความพร้อมที่จะลงทุนในการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เอไอ การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง หรือ บล็อกเชน มาประยุกต์ให้กับองค์กรของตน แต่กุญแจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การวิจัยและพัฒนาสำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงแค่เม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่คือ การรู้จักเลือกว่าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมไหนที่เหมาะสมที่องค์กรควรจะหันมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดผลคุ้มค่าต่อตัวธุรกิจในระยะยาว โดยไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ผู้บริหารจะต้องมี Mindset ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัลอย่างแท้จริง” นางสาววิไลพรกล่าว