ThaiPublica > เกาะกระแส > ประชุมเจ้าหนี้ “สหกรณ์คลองจั่นฯ” เร่งสรุปแผนหาแหล่งเงินเสริมสภาพคล่อง ชง ครม. แก้ปัญหาภายใน ธ.ค. นี้

ประชุมเจ้าหนี้ “สหกรณ์คลองจั่นฯ” เร่งสรุปแผนหาแหล่งเงินเสริมสภาพคล่อง ชง ครม. แก้ปัญหาภายใน ธ.ค. นี้

28 พฤศจิกายน 2018


เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 มีการประชุมหารือสหกรณ์เจ้าหนี้ครั้งที่ 2/2661 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการชำระหนี้กิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ณ อาคารยูทาวเวอร์ ถ.ศรีนครินทร์ โดยมีสหกรณ์เจ้าหนี้ 74 แห่ง เข้าร่วมประชุม

แผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด หรือ สคจ. ผ่านการเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางตั้งแต่ปี 2559 แต่ปัจจุบันผ่านมากว่า 3 ปี การชำระหนี้ยังไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากขณะนี้สหกรณ์ฯ คลองจั่นไม่มีเงินทุนและขาดสภาพคล่อง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 มีการประชุมหารือสหกรณ์เจ้าหนี้ครั้งที่ 2/2561 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการชำระหนี้กิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ณ อาคารยูทาวเวอร์ ถ.ศรีนครินทร์ โดยมีสหกรณ์เจ้าหนี้ 74 แห่ง เข้าร่วมประชุมหารือ

นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในผู้เข้าประชุม เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นวาระต่อเนื่องจากการประชุมเชิงปฏิบัติการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการเสนอทางเลือกแหล่งเงินทุนสนับสนุนใหม่ 3 แนวทาง นอกเหนือจากการขอสนับสนุนผ่านธนาคารภาครัฐ

ทั้งนี้ 3 แนวทางที่นำมาเสนอต่อสหกรณ์เจ้าหนี้ประกอบด้วย 1. ให้รัฐบาลออกพันธบัตรจำหน่ายให้แก่สหกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีเงินฝากจำนวนมากกับสถาบันการเงินเพื่อระดมเงินจากการจำหน่ายพันธบัตรนำเข้ากองทุนกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ให้สหกรณ์ต่างๆ กู้ยืมไปดำเนินการ

2. ให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สหกรณ์ มาตรา 28 ให้กองทุนพัฒนาสหกรณ์สามารถออกพันธบัตรจำหน่ายแก่สหกรณ์ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน เพื่อเป็นการระดมเงินเข้ากองทุนฯ

3. ให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยมีวงเงินมากเพียงพอที่จะให้สหกรณ์กู้ยืมไปขยายกิจการ และนำผลตอบแทนที่ได้ส่วนหนึ่งกลับมาสมทบเข้ากองทุนฯผ่าน “โครงการบัญชีร่วมเพื่อรักษาเสถียรภาพสหกรณ์” ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมเงินทุนไว้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสหกรณ์ที่ขาดสภาพคล่อง มีข้อจำกัดในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 แนวทางยังไม่มีข้อสรุปที่ตายตัว แต่จะมีการประชุมหารือเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งให้เหลือเพียงประเด็นเดียวเป็นประเด็นหลักสำคัญ และในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวกับนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาข้อสรุปนำไปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป  โดยคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้

  • แผนฟื้นฟู “สหกรณ์คลองจั่นฯ” สะดุด สภาพคล่องขาดมือ หวั่นงวดที่ 5 ไม่มีเงินชำระเจ้าหนี้
  • ตำนานคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
  • “สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ถ้าเราต้องการใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ต้องเข้า ครม. ซึ่งจะต้องมีทีมงานไปช่วยกันทำประเด็นข้อมูลทั้งหมดว่าถ้าใส่เงินลงไปในระบบสหกรณ์ สหกรณ์สามารถจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าและมีความเข้มแข็ง ก็ตรงกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลก็พร้อมทำ เพราะรัฐบาลอยากเห็นระบบสหกรณ์เข้ามาดูแลพืชผลทางการเกษตร ถ้าสหกรณ์เป็นอะไรไปสักอย่างหนึ่ง สมาชิกที่มีอยู่ทั่วประเทศจำนวนล้านๆ คนอาจจะได้รับผลกระทบได้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์” นายธีระกล่าว

    นายธีระยังกล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามทรัพย์สินที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ ยักยอกไปกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการฟื้นฟูฯ กำลังเร่งติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ยังติดเรื่องข้อกฎหมายบางประการทำให้ไม่สามารถทวงคืนได้เร็วอย่างที่คิด

    นายธีระกล่าวด้วยว่า “ทรัพย์สินบางแห่งถูกยักย้ายถ่ายเท และต้องยอมรับว่าเรื่องมันค่อนข้างยาวนานและความฉ้อฉลมันยังคงดำรงอยู่ รวมทั้งบางอย่างสิ่งที่เราไปพบไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เรื่องถึงไม่จบง่ายๆ แต่หลังจากนี้เมื่อมีการประชุมหารือกันแล้วในช่องทางต่างๆ เราจะได้มาช่วยกันดูแลทั้งระบบ”

    “เราได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการฟื้นฟูฯ ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษบอกว่ากำลังเร่งรัดในเรื่องนี้ โดยทรัพย์สินบางส่วนปล่อยออกมาแล้ว แต่บางส่วนก็ยังติดอยู่ ดังนั้น ยังมีการติดตามอยู่ เราไม่ได้ปล่อยปละละเลย ยังเร่งรัดดำเนินการอยู่ แล้วก็ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามที่จะทำให้เร็วที่สุดครับ” นายธีระกล่าว

    นายทอง วิริยะจารุ (ซ้าย), นายธีระ วงษ์เจริญ (กลาง), นายประกิต พิลังกาสา (ขวา)

    นายทอง วิริยะจารุ ประธานกรรมการเจ้าหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวว่า ขณะนี้หนี้สหกรณ์ฯ คลองจั่นมี 2 ประเภท คือ หนี้บุคคลและหนี้นิติบุคคล โดยนิติบุคคลมีเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 74 สหกรณ์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือต่อเนื่องในการช่วยเหลือดูแลกระบวนการสหกรณ์ทั้งระบบ เพราะหากสหกรณ์ฯ คลองจั่นเป็นอะไรไปจะส่งผลกระทบต่อระบบสหกรณ์ทั้งหมด

    นายทองเผยว่า ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ คลองจั่นได้ชำระเงินเจ้าหนี้ทั้งบุคคลและนิติบุคคลไปกว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนมากและไม่เหลือเงินให้สหกรณ์ได้ตั้งตัว โดยเงินที่ได้มามี 3 ประเภท คือ 1. ธุรกรรมเดิมจากการปล่อยกู้ และค่าเช่าต่างๆ 2. จากผู้ทุจริต ซึ่งทางคณะกรรมการสหกรณ์ฯ กำลังติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่ทรัพย์สินบางส่วนที่พบ ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังควบคุมไว้  และ 3. การขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐ

    “อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเภทที่ 1 ยังลำบากอยู่ ประเภทที่ 2 เป็นเงินที่ได้มาจากนายศุภชัย ติดตามทวงคืนมาได้เท่าไหร่ก็จ่ายออกไปทั้งหมด สหกรณ์คลองจั่นไม่ได้ถือไว้สักบาท ส่วนประเภทที่ 3 กำลังรอรัฐบาลอยู่ ซึ่งหากมีการพิจารณาตั้งกองทุนร่วมขึ้นมาทุกอย่างก็จบ กระบวนการสหกรณ์จะมีความเข้มแข็งตามนโยบายของรัฐบาล” นายทองระบุ

    นายประกิต พิลังกาสา ประธานคณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กล่าวว่า หนี้สินของสหกรณ์คลองจั่นมีทั้งสิ้นประมาณ 17,700 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ของสหกรณ์เจ้าหนี้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ของสมาชิกสหกรณ์คลองจั่นโดยตรง

    ทั้งนี้ การบริหารจัดการชำระหนี้ดังกล่าวในระยะแรกตั้งแต่ปี 2559-2560 สามารถชำระได้ตามปกติตามแผนที่กำหนดไว้ จากการติดตามรายได้และทรัพย์สินต่างๆ ที่เข้ามาตามที่ประมาณการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงปี 2561 เริ่มมีความติดขัดในการชำระหนี้ เนื่องจากเงินและทรัพย์สินที่คาดว่าจะได้จากคดีต่างๆ เริ่มใช้ระยะเวลาในการได้มายาวนานขึ้นและไม่มีราคา โดยพบว่าทรัพย์สินส่วนหนึ่งเป็นหุ้นที่ไม่มีราคาจำนวนมาก

    นอกจากนี้ เงินในส่วนที่ภาครัฐรับจะช่วยเหลือสหกรณ์ฯ คลองจั่น ซึ่งตามแผนฟื้นฟูจะต้องได้รับเงินจำนวนนี้มาตั้งแต่ปี 2560 แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับแม้แต่บาทเดียว  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหกรณ์ฯ คลองจั่นขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนกระทั่งขาดส่งหนี้มาหลายครั้ง

    อ่านข่าวซีรีส์สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น เพิ่มเติม