ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > “เจฟฟรีย์ แซคส์” นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก เตือนไทยลด “ความย้อนแย้ง”ในการพัฒนา แนะรัฐลงทุนประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น รับมือความเหลื่อมล้ำและวิกฤติสิ่งแวดล้อม

“เจฟฟรีย์ แซคส์” นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก เตือนไทยลด “ความย้อนแย้ง”ในการพัฒนา แนะรัฐลงทุนประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น รับมือความเหลื่อมล้ำและวิกฤติสิ่งแวดล้อม

9 ตุลาคม 2018


หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการประชุม Global Business Dialogue 2018: Innovating the Sustainable Future ซึ่งจัดขึ้นในไทยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา เมื่อ ศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ ดี แซคส์  นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังระดับโลก ปาฐกถาพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกลจากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

โลกรู้จัก “เจฟฟรีย์ แซคส์” ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์และนักอุดมคติที่เชี่ยวชาญเรื่อง “ความยากจนแร้นแค้น” (extreme poverty) ของโลก เขาไม่เพียงเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ The End of Poverty: Economic Possibilities of Our Time ที่มีการนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ แล้ว 18 ภาษา ที่ว่าด้วยการยุติความยากจน แต่ยังเป็นคนหนึ่งที่ “แอนเจลินา โจลี” นักแสดงชื่อดังแห่งฮอลลีวู้ด กล่าวไว้ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Diary of Angelina Jolie and Dr. Jeffrey Sachs in Africa ถึงเขาว่า เจฟฟรีย์ แซคส์ เป็นคนที่ฉลาดสุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งโจลีกล่าวว่าเธอได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์และประสบการณ์ชีวิตจากเขาในขณะที่ทั้งคู่ไปถ่ายทำสารคดีเรื่องดังกล่าวที่เคนยา ในปี 2005 เพื่อไปดูความก้าวหน้าของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในโครงการ Millennium Village Project โครงการที่ทดลองว่าอะไรคือยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดีที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ เรื่อง Millennium Development Goals (MDGs) ที่ขณะนั้น แซคส์เป็นหัวหน้าโครงการ

  • “Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์และนักอุดมคติ กับภาระกิจขจัดความยากจนในโลก”
  • ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ UN Sustainable Development Solution Network  ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือทางวิชาการระดับโลกที่มุ่งหวังจะหานวัตกรรม วิธีการใหม่ เพื่อให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

    เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2561 ที่ผ่านมาในการประชุม Global Business Dialogue 2018: Innovating the Sustainable Future ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และกระทรวงการต่างประเทศ  ศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ แซคส์ ผู้อำนวยการศูนย์ความยั่งยืน แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา และผู้อำนวยการ  UN Sustainable Development Solution Network  (SDSN) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Innovating for a Sustainable World” ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการก้าวข้าม “ความไม่ยั่งยืน” สู่การบรรลุเป้าหมาย “ความยั่งยืน” สำหรับประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

    นวัตกรรมและความย้อนแย้งของการพัฒนา

    ประเทศไทยควรจะสร้าง “นวัตกรรม” ใน 2 ประการ 1) นวัตกรรมที่จะพยายามทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่รายได้สูง และยกระดับคุณภาพชีวิตคนให้สูงขึ้น 2) การเชื่อมโยงนวัตกรรมกับอนาคตความยั่งยืน โดยประเทศไทยจะทำอย่างไรที่จะใช้นวัตกรรมสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะการพัฒนาไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ความยั่งยืนเป็นการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติให้การรับรองร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2015 โดย SDGs นั้นไม่เหมือนการพัฒนาแบบเดิม แต่มุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อที่การพัฒนาอุตสาหกรรมจะไม่ทำให้สังคมเสื่อมไป

    ทั้ง 2 ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ถือเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทย เพราะมีความเหลื่อมล้ำสูง ขณะที่เผชิญหน้ากับความย้อนแย้งเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ในขณะที่ประเทศไทยมีป่าไม้ที่ดี มีทะเลที่ดี แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีมลพิษสูง มีการตัดไม้ทำลายป่า มีภัยแล้ง มีหมอกควัน มีการเผาป่า นอกจากนี้ยังมีวิกฤติในอุตสาหกรรมประมง มีการจับปลามากเกินไป ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่มีเรือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น ในการพัฒนาประเทศไทยต้องกลับมามองการพัฒนาโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย

    ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของ SDSN ที่ประเมินความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ประเทศไทยได้ลำดับที่ 59 จาก 156 ประเทศลดลงจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ในลำดับที่ 55 ที่มา: SDG Index and Dashboards Report 2018

    ไทยในฐานะประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม

    ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยง ต่อน้ำท่วม คลื่นความร้อน พายุฤดูร้อน ความเสี่ยงจากชายฝั่งเสียหายจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมประมงเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่ว่าอุตสาหกรรมนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นผมคิดว่าประเทศไทยควรใช้นโยบายและเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการสื่อสารเพื่อติดตาม เราจะสร้างผลกระทบที่ดีขึ้นและมีมลพิษน้อยลง การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง สามารถควบคุมการทำประมงและการปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษในการทำการเกษตรลดลง และสามารถติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น

    “ประเทศไทยมีกฎระเบียบเยอะในเอกสาร แต่ไม่สามารถบังคับใช้ อย่างการลักลอบขายสัตว์ป่าสงวน ผมคิดว่าประเทศไทยควรนำนวัตกรรมมาใช้ โดยให้รัฐบาลลงทุนและเอกชนมาร่วมด้วย ตลอดจนการทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ” ศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ ดี. แซคส์ กล่าว

    หลายประเด็นในรายงานชี้ให้เห็นถึงหลายเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มที่แย่ลง ที่มา: SDG Index and Dashboards Report 2018

    เทคโนโลยีทางออกของการพัฒนา

    การเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน ไทยเป็นประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล (fossil fuel) ในปริมาณที่มาก ไม่ว่าจะเป็นจากก๊าซหรือถ่านหิน โดยรวมมีสัดส่วนรวมถึงประมาณ 76% แต่หากดูการใช้พลังงานหมุนเวียนนั้นยังน้อยมาก การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

    สำหรับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และตั้งอยู่ในจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในขณะที่ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกัน ดังนั้น ไทยควรเป็นประเทศทำเกษตรกรรมที่ใช้สารพิษลดลงและควรใช้เทคโนโลยีในการควบคุมและติดตามการรุกพื้นที่ป่าไม้ รวมไปถึงการติดตามพื้นที่ชายฝั่งในการติดตามการทำประมงที่สร้างความยั่งยืน เพราะว่าปัจจุบันยังพบว่ามีการลักลอบทำประมงที่ผิดกฎหมายอยู่

    ในการประชุมเครือข่าย UN Sustainable Development Solution Network  (SDSN) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีของประเทศอินโดนีเซีย เล่าว่า ปัจจุบันยังมีการลักลอบในการทำประมงอยู่ แต่ปัจจุบันอินโดนีเซียได้นำเทคโนโลยีดาวเทียมมาติดตามแบบ real-time ในการตรวจสอบติดตามผู้ลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีมาปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในการปกป้องสัตว์น้ำและป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อให้เราสามารถกำหนดขอบเขตการทำประมง เพื่อให้เราสามารถดูแลการเผาไร่ เผาป่า ว่ามีการเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรหรือไม่ เหล่านี้เป็นการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อความสำเร็จในการจัดการสิ่งแวดล้อม

    ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง เรื่องการศึกษาภาคบังคับหรือการวิจัยและพัฒนาก็อยู่ในลำดับกลางๆ ซึ่งยังไม่พอที่จะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้และไม่สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีจะสามารถมาตอบโจทย์อันเดิมให้เพิ่มสูงขึ้นได้

    ต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ

    ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ผลิตยานยนต์เป็นหลัก ซึ่งรูปแบบของยานยนต์เองก็กำลังจะเปลี่ยนโฉมไปเป็นรถไฟฟ้า คำถามคือประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้หรือยัง ยังมีคำถามอื่นๆ อย่างในเรื่องระบบโทรคมนาคมและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่าง 5G

    บทบาทของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่กำลังสอนเทคโนโลยีระดับสูงจึงมีความสำคัญมากๆ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีหลายอย่างเกี่ยวกับนวัตกรรมที่จะเป็นคำตอบของความท้าทาย โดยนวัตกรรมไม่ควรเน้นนวัตกรรมอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสนใจไปที่การนำนวัตกรรมไปแก้ปัญหา การเกษตร เหมืองแร่ อุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การประมงที่ยั่งยืน จึงยังมีความเป็นไปได้อีกมากที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

    ในฐานะประธานอาวุโสขององค์การสหประชาชาติ และประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยรอบโลกที่จะเน้นการพัฒนาที่มีเป้าหมายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เครือข่าย UN Sustainable Development Solution Network สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการผลักดันรัฐบาล ภาคประชาสังคม ในการหาทางออกให้กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงอยากสร้างเครือข่ายนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย เพราะปัจจุบันนอกจากไทยจะได้รับรู้บทบาทเรื่องนี้ในระดับประเทศและในระดับโลก การเข้าไปอยู่ในเครือข่ายจะช่วยให้ประเทศไทยเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยกับประเทศต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่มีการศึกษาระดับต้นๆ ของโลกในเรื่องนวัตกรรมละความยั่งยืน จึงอยากเชิญชวนให้มีการสร้างเครือข่าย SDSN ในประเทศไทย

    แนะรัฐเพิ่มการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย

    สำหรับบทบาทรัฐบาลในการรับรู้ช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องการรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ และมีรัฐบาลที่มีการรายงานความคืบหน้าหรือไม่คืบหน้าในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่การสนับสนุนต้องมีพันธสัญญาที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ ต้องมีการลงทุนในการอนุรักษ์ทรัพยากร การมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องลงทุนในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ

    “ที่ผ่านมาถ้าเราดูการใช้จ่ายภาครับเราจะเห็นว่าการใช้จ่ายภาครัฐน้อยและประเทศไทยลงทุนน้อยไปในเรื่องที่ผมพูดมา รวมถึงเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการลงทุนให้คนจนมากพอ ผมขอฝากแนวคิดนี้ให้รัฐบาลลงทุนมากขึ้นกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้นและลดความไม่เท่าเทียมในไทย ด้วยการจัดเก็บรายได้จากคนรวยในสังคมและไปให้บริการกับคนจนในประเทศไทย” ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ กล่าวในที่สุด