ThaiPublica > เกาะกระแส > 75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย : เหลียวหลัง แลหน้า บทบาทของธปท.คืออะไร?

75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย : เหลียวหลัง แลหน้า บทบาทของธปท.คืออะไร?

24 กันยายน 2018


ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานสัมมนาประจำปี 2561 “สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง” หรือ “BOT Symposium 2018: The Future of Money, Finance, and Central Banking” โดยในช่วงเช้า ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลงาน “75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เหลียวหลัง แลหน้า” ว่าแนวคิดในการก่อตั้งธนาคารชาติได้มีมาตั้งแต่ภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง อันนำมาซึ่งการค้าขายและความต้องการระบบการเงินที่ดีขึ้นในช่วงทศวรรษ 1890 โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งสาขาธนาคารต่างชาติ เช่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และธนาคารแห่งอินโดจีน มีการขอจัดตั้งธนาคารกลางจากต่างชาติ มีการสั่งพิมพ์เงินกระดาษหลวง แม้ว่าจะไม่ได้นำออกมาใช้

เหลียวหลัง แลหน้า 75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย

แผนการจัดตั้งธนาคารชาติเมื่อเริ่มต้นไม่ได้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อออกธนบัตรใช้เป็นครั้งแรก  กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้จัดทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 1905 ว่า คงไม่สามารถทำได้ เพราะไม่น่าจะคุยกับอังกฤษได้หลังจากไปปรึกษาเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติ เนื่องจากเขาก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง นอกจากนี้ การตั้งธนาคารชาติเพื่อออกพันธบัตร ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่มากเกินไป แต่ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและค่อยๆเรียนรู้เป็นลำดับต่อไป แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน

เริ่มจากการออกธนบัตรจากรัฐบาลไทย ซึ่งเดิมเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะขาดความไว้วางใจจากประชาชน ต่อด้วยการตั้งธนาคารท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อให้คนไทยเรียนรู้สถาบันการเงิน เนื่องจากธนาคารต่างชาติสมัยนั้นไม่ได้สนใจคนไทยเลย และสุดท้ายจึงรวมกันเป็นธนาคารชาติในท้ายที่สุด โดยคาดว่าจะใช้เวลาสัก 10 ปีภายหลังมีธนาคารท้องถิ่นในการจัดตั้ง  แม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปก่อนจะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือพระโอรส พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยก็ได้มาสานต่องานของพระบิดา

ต่อมาหลังจากปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนั้น มีข้อเสนอให้ตั้งธนาคารชาติอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็มีข้อถกเถียงสำคัญถึงบทบาทของธนาคารกลาง เพราะในสมัยนั้นคนคิดกันว่าธนาคารชาติเป็นเหมือนต้นกัลปพฤษก สามารถผลิตเงินได้เสมอ เป็นธนาคารของรัฐบาล เป็นธนาคารของธนาคารอีกทีหนึ่ง รวมไปถึงว่าควรจะต้องตั้งธนาคารชาติขึ้นมาก่อน หรือรอให้ธนาคารเกิดขึ้นก่อนแล้วตั้งธนาคารชาติขึ้นมาดูแล โดยรัฐบาลไทยมักจะเห็นด้วยกับแนวทางแรก อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาต่างชาติมักจะคัดค้านและเห็นด้วยกับแนวทางที่สองมากกว่า นอกจากนี้ อิทธิพลของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างชาติในไทย

“คนถามว่าทำไมที่ปรึกษาถึงมีบทบาทขัดแย้งเจ้ากระทรวงการคลังได้ เพราะว่าบทบาทของที่ปรึกษามีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 และความคิดเห็นมักมีอิทธิพลมาก รัฐบาลมักจะเกรงใจ อีกเรื่องก็คืออิทธิพลของธนาคารต่างชาติ แม้ว่าจะมีไทยพาณิชย์ขึ้นมาแล้ว แต่ธนาคารต่างชาติในยุคนั้นเป็นผู้รับฝากเงินคงคลังของรัฐบาลไทย ก็เลยทำหน้าที่คล้ายธนาคารกลางและมีอิทธิพลค่อนข้างมาก อาจารย์ปรีดีก็ต้องเผชิญกับอุปสรรค 2 เรื่องใหญ่นี้”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงตั้งพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาการคลังฝ่ายไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้งคนไทยขึ้นมาในตำแหน่งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือก็มีหลักฐานว่าที่ปรึกษาชาวอังกฤษก็พยายามจะขัดขวางการตั้งธนาคารชาติอย่างเต็มรูปแบบ เพราะอาจจะเกิดความเสียหายได้เนื่องจากทำให้ระบบการเงินไปอยู่ในมือนักการเงินสมัครเล่น นอกจากนี้ ยังให้นายดอลแบร์ (F.A. Dolbeare) และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ช่วยสร้างความเข้าใจกับนานาชาติว่าการจัดตั้งจะไม่กระทบต่อสถานะของธนาคารต่างชาติในไทย โดยมีหลักฐานคือความเห็นของนายฟิชต์เจอรัล ผู้จัดการธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ที่เขียนถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยสนับสนุนแนวทางดังกล่าว และในที่สุดก็นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติได้ในที่สุด

“ผลการประนีประนอมก็คือการตั้งสำนักงานธนาคารชาติ แต่ก็ไม่ยอมให้ตั้งเป็นธนาคารชาติตรงๆ โดยมีบทบาทสำคัญที่ไม่เกี่ยวกับธนาคารกลางเหมือนอย่างในปัจจุบันเลย เพียงแต่ไปดูการจัดการเงินกู้แทนรัฐบาลและฝึกฝนคนด้านการเงิน และรอการจัดตั้งอย่างเต็มรูปแบบ ก็เป็นการวางรากพันธุ์ของธนาคารกลางเอาไว้ ก่อนการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ปีครึ่ง”

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่น ในฐานะพันธมิตรสงครามได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยให้ 1) กำหนดค่าเงินบาทเท่ากับเงินเยน ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 30% 2) กำหนดให้ชำระเงินระหว่างประเทศให้ชำระเป็นเงินเยน และ 3) ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้างานเป็นคนญี่ปุ่น ทั้งนี้ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการคลัง ซึ่งต่อมาจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนแรก ได้รับมอบหมายให้ร่างกฎหมายขึ้นและทรงเจรจากับญี่ปุ่นจนเป็นสำเร็จในการป้องกันให้ไทยยังควบคุมระบบเงินตราและเครดิตของไทย และมีเงื่อนไขว่าพนักงานทั้งหมดต้องเป็นคนไทย

“จริงๆ 2 ข้อแรกถือว่าเป็นข้อจำกัดโดยจำนนในภาวะสงครามขณะนั้นอยู่แล้ว แต่ในข้อที่ 3 แทบจะนับว่าเป็นการเสียอธิปไตยทางการเงินแก่ญี่ปุ่น ประเทศไทยจึงยอมไม่ได้และต้องร่างกฎหมายเป็นการด่วนไปเจรจาจนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องการมีพนักงานคนไทยเท่านั้น ซึ่งมองในยุคนี้อาจจะไม่แปลก แต่จริงๆในสมัยนั้นคนที่มีความรู้ด้านการเงินการธนาคารมีน้อยมาก ตรงนี้สำนักงานธนาคารชาติได้กลับมาตอบโจทย์เป็นอย่างดีและมีส่วนช่วยให้เจรจาจนสำเร็จได้”

ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่าแม้ว่ากฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่างขึ้นเป็นการด่วนเพื่อปกป้องอธิปไตยทางการเงินของประเทศ แต่พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ร่างขึ้นมาอย่างมีความละเอียดรอบคอบและคิดไว้ล่วงหน้าหลายเรื่อง และภายหลังจะถูกพัฒนาขึ้นมา เช่น ระบุว่าแม้ตัวกฎหมายจะเขียนอำนาจถ่วงดุลทางการเมืองไว้อย่างไร แต่การจะมีอิสระในการดำเนินนโยบายขึ้นอยู่กับผู้บริหารขององค์กรและสุดท้ายขึ้นอยู่กับรัฐบาลเอง ดังนั้น ถ้าสามารถสร้างและรักษาความมีอิสระได้ ธนาคารกลางก็จะสามารถดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะได้เต็มที่ หรือการร่วมมือกันรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ไม่ใช่ทำได้ด้วยธนาคารกลางเพียงแห่งเดียว แต่ต้องร่วมมือกับทุกฝ่าย เป็นต้น

ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่าหลังจากตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2485 ในระยะเวลา 75 ปีที่ผ่านมา อาจจะแบ่งได้เป็น 5 ช่วง เริ่มจากปฐมบทของธปท. ซึ่งประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อในภาวะสงครามโตขึ้นประมาณ 8 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากที่สงครามสิ้นสุดก็ต้องเผชิญปัญหาว่าจะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินภายนอกอย่างไร จากการสูญเสียเงินสำรองที่สะสมไว้ในรูปเงินเยนจำนวนมาก

“เรียกว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้ามากๆเลย ไม่มีเวลามาวางรากฐานอะไรทั้งสิ้น อาจารย์ป๋วยเคยพูดว่าการเกิดขึ้นของธปท.ไม่มีเวลาเป็นเด็กเลย คือไม่มีเวลาเล่นเลย เกิดมาทำงานหนักทันที นี่คือปฐมบทของธปท. อีกด้านเครื่องมือนโยบายก็ไม่พร้อมอย่างมาก เป็นความยากลำบากอย่างยิ่ง”

เมื่อเข้าสู่ยุคที่ 2 จึงเริ่มเข้าสู่การวางรากฐานความมั่นคงและการพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โจทย์ที่กลับมาเป็นประเด็นสำคัญคือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด โดยยุคนี้ธปท.ได้มีบทบาทในการปฏิรูปกฎหมายการเงิน การคลัง และการธนาคาร, มีการตั้งหน่วยงานหลักขึ้นมาอีกจำนวนมาก เช่น สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน เพื่อประสานนโยบายให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่สะดุด, มีการให้ทุนการศึกษาแต่คนในประเทศ, มีการตั้งธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACEN), มีการพัฒนาเครื่องมือนโยบายที่หลากหลายมากขึ้นและสามารถมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศได้ ,มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรของตัวเอง นับว่าเป็นยุคทองธนาคารแห่งประเทศไทย

มาสู่ยุคที่ 3 ธปท.ต้องนำรากฐานที่วางไว้มาทดสอบเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก เรื่องแรกคือการล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods system) เรื่องที่ 2 คือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างมากถึง 2 ครั้ง เรื่องที่ 3 คือเรื่องวิกฤตสถาบันการเงิน ทั้งวิกฤตราชาบริษัทเงินทุน 2522 และหลังจากนั้นก็มีวิกฤตอีกครั้งในปี 2526 ข้อสังเกตที่สำคัญในช่วงนี้คือการดูแลปัญหามักจะมีลักษณะที่เครื่องมือมาทีหลัง และนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินขึ้นมาเป็นกลไกดูแลวิกฤตลักษณะนี้

ในยุคที่ 4 ประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับคลื่นลมมรสุมและนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในประเทศครั้งใหญ่ โจทย์ในยุคนั้นคือต้องเผชิญกับปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ วิกฤตสถาบันการเงิน และการลอยตัวค่าเงินบาท สิ่งที่ยากคือเศรษฐกิจไทยวิ่งไปด้วยความเร็วสูงมากขณะนั้น ทำให้ธปท.เริ่มปรับบทบาทจากให้กลไกตลาดทำงานได้ดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าการผ่อนคลายนำไปสู่ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์

หลังจากนั้น ในยุคที่ 5 นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่สุดขององค์กร ธปท.หันมาพัฒนาโครงสร้างองค์กรใหม่ให้มีความโปร่งใส รับผิดชอบ และการสื่อสารต่อสาธารณะชนอย่างชัดเจน รวมทั้งเน้นการพัฒนาระบบการเงินเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในกาพัฒนาประเทศ

“ถ้ากลับไปดู 75 ปีของธปท. บทเรียนในยุคแรกเราได้เรียนรู้และแก้ไขมัน โดยเฉพาะการประสานนโยบาย เพราะไทยในช่วงแรกต้องการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ แต่ด้วยตัวเองทำได้ลำบากมาก เช่น พอรัฐบาลจะกู้เงิน ธปท.ก็ต้องพิมพ์เงิน ก็มีบทเรียนแรกว่าต้องประสานนโยบาย จากบทเรียนนี้ก็นำมามาสู่ยุคที่ 2 ที่ต้องหันมาวางรากฐานมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน”

สำหรับบทบาทของธปท.ในอนาคต ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าวว่าจะต้องเป็นองค์กรที่พึ่งพาได้ เข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง ต้องคุ้มครองดูแลผู้ใช้บริการการเงิน ต้องเป็นองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายที่สำคัญมากคือการเป็นองค์กรที่เข้าถึงผู้คนทุกภาคส่วน มีการสื่อสารให้เข้าใจง่าย มีการพบผู้ประกอบการ ปัจจุบันธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มเข้าหาสาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ

ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท.

“ธาริษา วัฒนเกส” แลหน้า…ธนาคารกลาง

ด้านดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. อภิปรายถึง 75 ปีของธปท.ว่าบทบาทของธปท.เรียกว่าแตกต่างและไม่ค่อยได้เห็นจากธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นอกเหนือไปจากการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เช่น การให้ธนาคารพาณิชย์ออกไปเปิดสาขาในอำเภอนอกรอบเมืองด้วยโดยตั้งเป็นเงื่อนไขพ่วงในการเปิดสาขาในอำเภอเมือง มีการจูงใจให้รับช่วงซื้อลดตั๋วที่เกิดในภาคธุรกิจสำคัญ เป็นต้น

ทั้งนี้ ธปท.ในยุคปัจจุบันเรียกว่าเกิดขึ้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และเห็นความแตกต่างอย่างมากในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น กรอบนโยบายการเงินได้เปลี่ยนเป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่มีความโปร่งใสและชัดเจน, การเพิ่มบทบาทดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน นอกเหนือไปจากเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งเป็นบทเรียนโดยตรงจากปี 2540, ในแง่สถาบันการเงินเป็นการเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่และเข้าสู่มาตรฐานสากล ตั้งแต่การกำกับดูแลและการปรับปรุงการบริหารที่เน้นความเสี่ยงมากขึ้น มีการใช้แผนแม่บท มีการใช้นโยบาย One Presence ที่ทำให้สถาบันการเงินโดยรวมมีความเข้มแข็งมากขึ้น กองทุนฟื้นฟูที่เหลือก็ดูเรื่องเงินทุนชัดเจนมากขึ้น และสุดท้ายคือกฎหมายที่รองรับความเป็นอิสระและให้เครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ปัจจุบันปัญหาต่อเนื่องจากวิกฤตครั้งนั้นถือว่าหมดไปแล้ว ระบบสถาบันการเงินมีการเปลี่ยนแปลง ธนาคารพาณิชย์ที่เราต้องไปแทรกแซงซื้อออกมาก็ได้ขายออกไปจนหมดแล้ว 2 ธนาคารสุดท้ายในยุคที่ดิฉันเป็นผู้ว่าฯ เราจัดการมรดกที่ทิ้งเอาไว้จากวิกฤตหมดไปแล้ว พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป” นางธาริษา กล่าว

นางธาริษา กล่าวต่อไปว่าหากมองไปข้างหน้าก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านของผลกระทบเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ขอบเขตต่างๆมันไม่ชัดเจนเหมือนแต่ก่อน โดยมีปัจจัยอย่างน้อย 3 เรื่อง อันแรกคือโลกาภิวัตน์ที่ทำให้สินค้าและบริการและการเงินเคลื่อนย้ายด้วยรูปแบบที่ผิดไปจากเดิมและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม สังคมผู้สูงอายุ การเข้าสู่สังคมเมือง การเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง และสุดท้ายคือดิจิทัล

ปัจจัยทั้ง 3 ก็กลับมาสร้างความท้าทายอย่างมากสำหรับการดำเนินนโยบายของธปท. อันแรกคือนโยบายการเงินมีผลน้อยลง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการติดตามข้อมูลและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ให้ทันจึงจำเป็น รวมไปถึงการสื่อสารนโยบายและบทบาทของธปท. เพื่อไม่ให้เกิดการคาดการณ์ของสาธารณชนที่ผิดพลาด ซึ่งจะทำให้ธปท.ไม่สามารถดำเนินโยบายไม่ได้อย่างที่คาดหวังในที่สุด และสุดท้ายคือการระมัดระวังเรื่องสถานภาพทางการเงิน เนื่องจากผลลัพธ์ของนโยบายการเงินมีผลที่ลดลงหรืออาจจะไปสร้างความเสี่ยงในจุดต่างๆได้

ในประเด็นที่ 2 คือการดูแลเสถียรภาพทางการเงินท้าทายมากขึ้น เรื่องจากความเชื่อมโยงของระบบการเงินและการส่งผ่านความเสี่ยงของวิกฤตเศรษฐกิจจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งธปท.จะต้องนำกลไกหรือเครื่องมือใหม่ๆมาดูแลมากขึ้น เช่น การกำกับโดยใช้กฎระเบียบ (Rule-Based), การใช้นโยบาย Macroprudential และการใช้มาตรการสวนวัฎจักรเศรษฐกิจ (Counter-Cyclical Measure) เหมือนตอนที่ธนาคารพาณิชย์หันมาใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ก่อนที่สภาวิชาชีพจะเริ่มใช้ถึง 2 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่ดีและความเข้มแข็งของระบบธนาคารขณะนั้นเพียงพอที่จะทำได้ โดยไม่ต้องรอจนถึงกำหนดการ ซึ่งสภาพแวดล้อมอาจจะเปลี่ยนไปได้

ประเด็นที่ 3 คือการดูแลระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงินที่ท้าทายมากขึ้น โดยได้รับผลกระทบโดยตรงจากระบบดิจิทัล และประเด็นสุดท้ายคือธปท.จะต้องเผชิญกับโจทย์ใหม่และยากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดบทบาทที่เหมาะสมของธปท. เช่นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ดิจิทัล การมีส่วนร่วมในระบบการเงิน (Financial Inclusion) เรื่องวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญอีกประการก็คือบุคคลากรของธปท.ที่ต้องเรียนรู้และคล่องตัวพอจะรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้

นายธาริษา กล่าวสรุปว่าแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมองเป็นโอกาสเช่นเดียวกัน เช่นนำมาแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาสมัยใหม่ที่ถูกและทั่วถึง การลดต้นทุนและประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้บริการของสถาบันการเงินที่ถูกลง ทั่วถึงมากขึ้น เป็นต้น

ป้ายคำ :