ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > EXIM Bank เปิดบริการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องควบป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน-หนุนผู้ส่งออกขนาดกลาง

EXIM Bank เปิดบริการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องควบป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน-หนุนผู้ส่งออกขนาดกลาง

23 สิงหาคม 2018


ข่าวประชาสัมพันธ์

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)

EXIM Bank เปิดบริการใหม่สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลาง เป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออก วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท และสินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาว เป็นสินเชื่อหมุนเวียนหลังการส่งออก วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาทพร้อมวงเงิน Forward Contract ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกไทยได้ตามเป้าหมาย ส่งเสริมการจ้างงาน และเสริมศักยภาพผู้ส่งออกขนาดกลางเติบโตเป็นผู้ส่งออกขนาดใหญ่ได้มากขึ้น

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้พัฒนาบริการใหม่เพิ่มเติมเต็มความต้องการของผู้ส่งออกขนาดกลางที่มียอดขายตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท ทั้งในด้านเงินทุนเพื่อสนับสนุนการขยายกิจการการส่งออกและนำเข้าและยกระดับกระบวนการผลิต รวมทั้งด้านเครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ 2 บริการคือ

หนึ่ง สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อธุรกิจขนาดกลาง(EXIM for M Credit) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนก่อนและหลังการส่งออก วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรกขั้นต่ำอยู่ที่ Prime rate ลบ 2.00% ต่อปีหรือ 4.25% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 2 ขั้นต่ำ Prime rate ลบ 1.50% ต่อหรือ 4.75% ต่อปี ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามมาตรฐานธนาคาร ซึ่งบริการนี้มาพร้อมกับวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ(Forward Contract) สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อใช้หลักประกันขั้นต่ำ 35% และบุคคลค้ำประกัน

สอง สินเชื่อรับรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาง(EXIM Nego for M Credit) เป็นสินเชื่อหมุนเวียนหลังการส่งออก เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีแรกขั้นต่ำอยู่ที่ Prime rate ลบ 2.00% ต่อปีหรือ 4.25% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 2 ขั้นต่ำ Prime rate ลบ1.50% ต่อหรือ 4.75% ต่อปี ส่วนปีที่ 3 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามมาตรฐานธนาคารกับวงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ(Forward Contract สูงสุด 3 เท่าของวงเงินสินเชื่อใช้หลักประกันขั้นต่ำ 30% และบุคคลค้ำประกัน

ทั้งสองบริการมีระยะเวลาอนุมัติตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 มีเป้าหมายอนุมัติวงเงิน 3,000 ล้านบาท

“ธนาคารกำหนดเงื่อนไขแบบผ่อนปรนสำหรับสินเชื่อทั้งสองแบบนี้ โดยกำหนดมูลค่าหลักประกันเพียง 30-35% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำสุดในตลาดขณะนี้ แม้ธนาคารอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ก็มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังสามารถใช้หนังสือค้ำประกันของ บสย. ได้ด้วยหากขอสินเชื่อรับซื้อตั๋วเพื่อธุรกิจขนาดกลาง”

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า SME เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งภาคการส่งออกโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางหรือกลุ่ม M ของไทยที่ยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีจำนวนไม่ถึง 1% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ EXIM จึงพัฒนา 2 ผลิตภัณฑ์นี้ เพราะเห็นความสำคัญของผู้ประกอบการขนาดกลางต่อระบบเศรษฐกิจมีหลายด้าน โดยมีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 15,000 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.5% ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีอยู่ 3 ล้านรายและผู้ส่งออกขนาดกลางคิดเป็น 10% ผู้ส่งออกทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 28,000 ราย

“ผู้ประกอบการกลุ่ม M นี้สามารถสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจได้ในสัดส่วนสูง โดยสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ได้ถึง 12.5% ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 1.79 ล้านล้านบาทและมีศักยภาพค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนถึง 9.4% ของมูลค่าส่งออกรวม หรือ 710,000 ล้านบาท รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงาน 7.4% ของการจ้างงานรวม 1.09 ล้านราย” นายพิศิษฐ์กล่าว

EXIM Bank มุ่งเน้นการสร้างกลุ่มผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่การสร้างกลุ่มผู้เริ่มต้นส่งออกให้มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด การสร้างกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะขยายกิจการไปจนถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่สามารถนำผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เวทีการค่าและการลงทุนระหว่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จในระยะยาว ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและโอกาสมากมายในโลกธุรกิจยุคใหม่

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อทั้งสองแบบที่เปิดตัวในวันนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ช่วยให้การส่งออกนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในรอบ 7 เดือนแรกของปีสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม ธนาคารมียอดสินเชื่อ 98,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วและสูงกว่าคาด เพราะขายตัวตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบเป้าหมายทั้งปีที่ 100,000 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนในสัดส่วน 65%และสินเชื่อหมุนเวียนในสัดส่วน 35% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan:NPLs) อยู่ที่ 3.56%

สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้าต่อการส่งออกของไทย นายพิศิษฐ์กล่าวว่า คงมีผลในระยะยาว ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าสหรัฐจะดำเนินการอย่างไรต่อประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบจะปรับตัวจากการส่งออกเข้าไปลงทุนในประเทศอื่น

ในครึ่งแรกของปีการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐมีผลให้ผู้นำเข้าของสหรัฐนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นจำนวนมากเพื่อเลี่ยงภาระทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลังจึงส่งผลให้การส่งออกไทยในครึ่งแรกของปีเติบโตสูง อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้วการส่งออกมักมีปัจจัยฤดูกาลมาเกี่ยวข้อง โดยครึ่งหลังของปีมักขยายตัวโดยเฉลี่ยต่ำกว่า ทั้งคาดว่าครึ่งหลังของปีการส่งอกจะเพิ่มขึ้น 7% และทั้งปีจะขยายตัวเฉลี่ย 10.6% ตามคาด

ป้ายคำ :