ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.เผย สินเชื่อรถยนต์เร่งตัวติดต่อ 5 ไตรมาส – รายได้ค่าธรรมเนียมโอนเงินไตรมาส 2 ชะลอ

ธปท.เผย สินเชื่อรถยนต์เร่งตัวติดต่อ 5 ไตรมาส – รายได้ค่าธรรมเนียมโอนเงินไตรมาส 2 ชะลอ

14 สิงหาคม 2018


นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อานวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อานวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2561 ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและภาพรวมคุณภาพสินเชื่อทรงตัว สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้

สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.4% เมื่อเทียบระยะเวลาเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะจากพอร์ตสินเชื่อ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในทุกพอร์ตสินเชื่อโดยเฉพาะจากการเร่งตัวต่อเนื่องของสินเชื่อรถยนต์ ทั้งนี้การระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.1% มาอยู่ที่ 5.6 %

สินเชื่อธุรกิจซึ่งมีสัดส่วน 66.7% ของสินเชื่อรวมขยายตัว 4.1% เพิ่มขึ้นในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะจากสินเชื่อธุรกิจ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง แม้การขยายตัวของสินเชื่อ SME ที่มีวงเงินขนาดเล็กปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัว 7.5% จากธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจอาคารชุดที่พักอาศัยและอาคารแฟลตเพื่อขาย และธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป

สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวที่ 1.8% เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น ประกอบกับธุรกิจบางส่วนมี การชำระคืนหนี้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดใหญ่บางประเภทมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจที่พักแรม และการผลิตเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

นอกจากนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งมีสัดส่วน 33.3% ของสินเชื่อรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.0% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 มาอยู่ที่ 12.4% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เติบโตต่อเนื่องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 6.2% สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 6.5% และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 8.0% สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

ทางด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ 2.93% ใกล้เคียงกับ 2.92% ในไตรมาสก่อน โดยยอดคงค้าง NPL ลดลง 1.65 พันล้านบาทจากไตรมาสก่อนเป็น 441 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนี้สูญ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) เพิ่มขึ้นเป็น 2.36%จาก2.32 ในไตรมาสก่อน โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 356 พันล้านบาท

ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรอง 637 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 14.6 พันล้านบาท และสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นเป็น 182.1%

อย่างไรก็ตามในไตรมาส 2 ปี 2561 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ แม้รายได้ค่าธรรมเนียมจะได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.21% จาก 1.017% ในไตรมาสก่อน และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นจาก 2.66% เป็น 2.71%

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,477 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการขยายสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 17.9% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 15.3%