ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท.มั่นใจเศรษฐกิจต้นไตรมาส 2 ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง – ตัวชี้วัดหนี้ครัวเรือนผ่านจุดสูงสุดแล้ว

ธปท.มั่นใจเศรษฐกิจต้นไตรมาส 2 ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง – ตัวชี้วัดหนี้ครัวเรือนผ่านจุดสูงสุดแล้ว

1 มิถุนายน 2018


นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจอุปทาน ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะมาจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องนโยบายกีดกันการค้าของประเทศหลักๆ หรือความไม่ชัดเจนในการเจรจาการค้า ทำให้ธุรกิจจะต้องมีความระมัดระวังต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับเศรษฐกิจไทยถือว่ากำลังฟื้นตัวและมีกันชนจากความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศค่อนข้างดี ทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เรื่องของทุนสำรองระหว่างประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่าทั้งหนี้ต่างประเทศระยะสั้นและยาว เรื่องการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศที่ไม่ค่อยมากจากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของต่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำไม่ถึง 10% ของพันธบัตรทั้งหมด เทียบกับหลายประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่สูงขึ้นไปถึง 30-40% ซึ่งทำให้อ่อนไหวต่อดอกเบี้ยตลาดการเงินโลกมาก

ขณะที่เรื่องหนี้ครัวเรือนน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สัญญาณของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีเสถียรภาพมาขึ้น ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อกลับมาเติบโต ขณะที่เรื่องนโยบาย macro prudential อาจจะต้องรอดูต่อไปว่าจะมีการใช้เพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเศรษฐกิจหลัก หรือ Normalization คิดว่าขึ้นอยู่กับประเภทของหนี้ ซึ่งหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยจะเป็นเรื่องบ้านที่มีสัญญาระยะยาวอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ด้านนายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจอุปทาน ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจเดือนเมษายน 2561 ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีโดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบ ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวชัดเจนเช่นเดียวกัน ตั้งแต่การบริโภคที่ขยายตัวในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวส่วนหนึ่งจากช่วงวันหยุดอีสเตอร์ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสดที่กลับมาขยายตัว อัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อย

ในรายละเอียด มูลค่าการส่งออกขยายตัว 14.6% หากหักทองคำจะขยายตัวได้ 14.1% และเป็นการขยายตัวในหมวดสินค้า จากอุปสงค์ต่างประเทศและราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรก็ส่งออกได้ดีขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ที่ขยายตัวทั้งด้านปริมาณและราคา สอดคล้องกับรายได้ของภาคเกษตรกรรมที่แม้ยังคงหดตัว -0.7% แต่ปรับดีขึ้นจากหดตัว -4.2% ในเดือนที่ผ่านมาและหดตัวไป -4.5% ในไตรมาสแรกของปี ส่งผลให้ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อมีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ยังไม่เข้มแข็งนัก โดยดัชนีการบริโภคของภาคเอกชนขยายตัว 5.8% สูงสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งกลุ่มสินค้าคงทนขยายตัวสูงสุดที่ 11.2%

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนขยายตัวสอดคล้องกัน โดยการผลิตขยายตัวค่อนข้างมากในกลุ่มยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์ โดยมีการใช้กำลังการผลิตถึง 68.1% ซึ่งส่งผลให้ดัชนีการลงทุนของเอกชนขยายตัว 7% เพิ่มขึ้นจาก -0.4% ในเดือนที่แล้วและเพิ่มขึ้นจาก 1.7% ในไตรมาสแรกของปวีซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ในรายละเอียดการลงทุนจะเห็นว่าส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่นยอดขายเครื่องจักรในประเทศขยายตัว 12% เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในเดือนก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในไตรมาสแรกของปี มีการนำเข้าเครื่องจักรเติมโต 10.3% เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวในเดือนที่ผ่านมา -9.3% และเพิ่มขึ้นจาก 2.9% ในไตรมาสแรกของปี และการจดทะเบียนยานยนต์เพื่อลงทุนขยายตัว 12.1% เพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในเดือนก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นจาก 3% ในไตรมาสแรกของปี ขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างหดตัว -0.6% ชะลอลงจากการหดตัว -4.3% ในเดือนก่อนหน้า

สุดท้ายในภาคต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ขณะที่ดุลบัญชีเคลื่อนย้ายเงินทุนขาดดุลจากการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติและไทย สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค