ThaiPublica > เกาะกระแส > AEC Business Forum 2018 (2) : เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมธุรกิจ – เชื่อม AEC เข้าถึงโอกาสการลงทุนข้ามชาติ

AEC Business Forum 2018 (2) : เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมธุรกิจ – เชื่อม AEC เข้าถึงโอกาสการลงทุนข้ามชาติ

25 มิถุนายน 2018


เสวนา หัวข้อ “ASEAN: Change and Business Model Transformation” โดยนายโม มินต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา (กลาง) นายดอน ลัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วีนา แคปิตอล ประเทศเวียดนาม (ซ้าย) และนายวิลเลียม อี. ไฮเนคกี้ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย (ขวา)

ต่อจากตอนที่ 1 AEC Business Forum 2018 (1) : สถานการณ์ – ความเปลี่ยนแปลง – โอกาสของอาเซียนในช่วง “Rising City, Rising Business”

ธนาคารกรุงเทพจัดสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2018 หัวข้อ Rising City, Rising Business เป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 เพื่อฉายภาพอาเซียนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นเวทีการแสดงมุมมองของธนาคารกรุงเทพในฐานะธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน ต่อโอกาสทางการธุรกิจให้กับนักธุรกิจไทย สนับสนุนศักยภาพและผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ตลาดการค้าอาเซียนและประสบความสำเร็จ

ช่วงเสวนา ช่วงแรกจัดขึ้นในหัวข้อ “ASEAN: Change and Business Model Transformation” ธนาคารได้รับเกียรติจากผู้บริหารของธุรกิจชั้นนำในอาเซียนร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ในการปรับตัวของธุรกิจ ประกอบด้วย นายโม มินต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา ซึ่งได้รับสัมปทานแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเมียนมา นายดอน ลัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วีนา แคปิตอล ประเทศเวียดนาม และนายวิลเลียม อี. ไฮเนคกี้ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย โดยมีนายบัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ดำเนินรายการข่าวช่อง 3 เป็นผู้ดำเนินการสัมมนา

การเสวนามุ่งตอบโจทย์ที่ว่า ธุรกิจจะผ่านพ้นและเติบโตจากกระแสการเกิดขึ้นของเมืองและกระแสดิจิทัลได้อย่างไร รวมทั้งการคว้าโอกาสที่มากับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียน และจะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจอย่างไรเพื่อให้รักษาความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางคลื่นเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีเปิดโอกาสปรับโมเดลธุรกิจ

นายโม มินต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา ได้รับสัมปทานแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเมียนมา นายดอน ลัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วีนา แคปิตอล ประเทศเวียดนาม และนายวิลเลียม อี. ไฮเนคกี้ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย ต่างมีความเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนโฉมธุรกิจ แต่จะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียนภายใต้การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน(ASEAN Economic Community: AEC)

โดยนายโม มินต์ กล่าวว่า ทุกคนตระหนักดีว่าเทคโนโลยีมีบทบาทมากอย่างไรในทุกวันนี้ เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานแบบมืออาชีพ เทคโนโลยีทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมาก ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น

ระดับความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในแทบทุกภาคธุรกิจและทุกด้าน อีกทั้งยังเชื่อมโยงข้ามกันไปมาด้วยเทคโนโลยี ลดความสามารถในการทำนาย หรือการประมาณการณ์อย่างถูกต้องว่า จะก้าวหน้าไปได้อย่างไรในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนรูปอนาคตของโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและกำลังมีความสำคัญมากขึ้น

“เทคโนโลยีจะช่วยให้มีการจัดหาพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม และเป็นพลังงานสะอาดที่จะส่งเสริมธุรกิจของประเทศ และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน” นายโม มินต์ กล่าว

นายโม มินต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

สำหรับบริษัทซึ่งได้รับสัมปทานแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี จึงเป็นปัจจัยหลักในการเลือก Woodside Energy บริษัทขนาดพอเหมาะและมีประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานจากออสเตรเลียเป็นพันธมิตร เพราะผู้บริหารบอกว่าจะไม่เสียเวลาไปกับการแข่งขัน แต่จะมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนธุรกิจโดยการใช้เทคโนโลยี

“ผมจึงตัดสินใจที่จะเป็นพันธมิตรกับบริษัทนี้ เพราะผมต้องการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และต้องการให้ทีมงานรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีล่าสุดให้มากที่สุด ไม่ว่าการขุดเจาะ หรือการผลิต”

ทางด้านนายดอนกล่าวว่า “การรวมตัวเป็น AEC และเทคโนโลยีทำให้ทำธุรกิจได้ขึ้นมาก AEC ทำให้การค้าการลงทุนระหว่างกันสะดวกและง่ายกว่าเดิม ขณะที่เทคโนโลยีช่วยให้สามารถขยายธุรกิจออกนอกประเทศไปในภูมิภาคได้มากขึ้น”

ปีแรกของการลงทุนในอาเซียนของ วีนา แคปปิตอล ได้ลงทุนในบริษัทหนึ่งที่ใช้แพล็ตฟอร์มยูทูบในการทำธุรกิจ ซึ่งบริษัทนี้ได้เข้ามาซื้อกิจการในไทยเมื่อเร็วๆนี้ และติดอันดับหนึ่งในการใช้แพลตฟอร์มยูทูบ ในเอเชีย นี่คือตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีขยายธุรกิจออกนอกประเทศไปในภูมิภาค

สำหรับในประเทศวีนา แคปปิตอล ได้เปิดตัว TIMO ดิจิทัลแบงก์แห่งแรกในเวียดนามใน 18 เดือนก่อน

นายดอนกล่าวว่า วีนาแคปปิตอลทำธุรกิจในเวียดนามมา 15 ปีแล้ว ได้ขยายการลงทุนในอาเซียนตั้งแต่ AEC เริ่มขึ้นประมาณ 2 ปีครึ่งมาแล้ว เพราะเชื่อมั่นในอนาคตของไม่เฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในช่วงหลายปีนี้ แต่นอกจากจำนวนประชากรที่มีมากแล้ว ยังใกล้ชิดกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้ง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ด้วย รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

“ปัจจัยทั้งหลายนี้ ในแง่การลงทุนสำหรับธุรกิจของเราแล้ว ทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจที่น่าลงทุน น่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งมากว่าที่อื่น อีกทั้งการรวมกลุ่มเป็น AEC ทำให้มีการค้าและการลงทุนระหว่างกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น”

นายดอน ลัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท วีนา แคปปิตอล ประเทศเวียดนาม

AEC มีผลบวกต่อเวียดนามมาก โดยเวียดนามส่งออกสินค้าไปอาเซียนจนเป็นรายใหญ่อันดับ 4 มีการนำเข้าจากอาเซียนมากเป็นอันดับ 3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่มีนัยยะมากจากกว่า 2 ปีก่อน

นอกจากนี้มีหลายบริษัทของไทยที่ได้เข้าไปซื้อกิจการข้ามชาติจำนวนมาก เช่น ไทยเบฟฯ ซื้อบริษัทในเวียดนาม กลุ่มเซ็นทรัลมีการลงทุนขนาดใหญ่ในเวียดนาม เครือซิเมนต์ไทยก็มีการลงทุน นี่เป็นผลของการเป็น AEC ที่ทำให้การค้าการลงทุนสะดวกและง่ายกว่าเดิม เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่ช่วยให้บริษัททำธุรกิจข้ามชาติได้มากขึ้น ง่ายขึ้น

นายดอนกล่าวว่า เทคโนโลยียังช่วยให้ทำธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะต้นทุนต่ำลง มีความยืดหยุ่นในทำธุรกิจมากขึ้น ทำให้มีโอกาสมองหาการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนในเวียดนาม

เดิมอาเซียนพึ่งพาและนำเข้าเทคโนโลยีจากยุโรปหรืออเมริกา แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ภาพได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยหากต้องการเทคโนโลยีล่าสุดที่พัฒนาขึ้นต้องไปที่จีน ซึ่งจะเห็นว่ามีการพัฒนา wechat, Alipay และ mobile application อื่นๆ อีกมาก และมองว่าจีนล้ำหน้าสหรัฐฯ ในแง่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองผู้บริโภค

นายดอนกล่าวว่า ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนมากขึ้น โดยในเวียดนามซึ่งมีการใช้สมาร์ทโฟนจำนวนมากอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ใช้ฟังก์ชันหรือแอปพลิเคชันของสมาร์ทโฟนน้อยมาก แต่ช่วง 2 ปีก่อนที่ Grab กับ Uber ได้เข้าไปให้บริการ ปรากฏว่ามีการใช้แอปพลิเคชัน Grab, Uber มากขึ้น เริ่มแรกเพื่อการเดินทาง แต่ละระยะหลังใช้เพื่อการอื่นๆ เช่น การส่งอาหาร และอื่นๆ บนระบบออนไลน์

“เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจปัจจุบันและเป็นปัจจัยหนึ่งที่พิจารณาเมื่อขยายการลงทุน บริษัทให้ความสำคัญและต้องการให้พนักงานรับรู้และตระหนักว่าเทคโนโลยีมีการพัฒนาใหม่อย่างต่อเนื่อง และจะเผชิญกับการแข่งขันจากคู่แข่งได้อย่างไร หากคู่แข่งใช้ดิจิทัลใช้เทคโนโลยี การที่จะพร้อมรับการแข่งขันได้ตลอดเวลา ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพราะหากไม่ทำคนอื่นก็ทำ”

นายดอนกล่าวว่า วีนา แคปปิตอล เป็นบริษัทเพื่อการลงทุน เป็นธุรกิจที่ต้องใช้คน ดังนั้นจึงต้องมีบุคคลากรที่เหมาะสม แต่ก็นับว่าโชคดี เพราะเวียดนามมีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก รวมทั้งมีคนที่ไปทำงานต่างประเทศกลับมาเวียดนาม มีความยืดหยุ่นปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ดี พนักงานของบริษัทจะติดตามความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีได้เร็ว เพราะอายุพนักงานเฉลี่ยประมาณ 22 ปี

นายดอนให้ข้อแนะนำการทำธุรกิจในอาเซียนท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพราะไม่ใช่ทุกธุรกิจขณะนี้ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี จากมุมมองการลงทุน แนะนำว่า ควรมองออกไปนอกประเทศของตัวเอง เพราะการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ทำให้การลงทุนระหว่างกันง่ายขึ้นมาก มีความเป็นผ่อนคลายมากขึ้น ง่ายขึ้น บรรยากาศการลงทุนเอื้ออำนวยหลายด้าน ทั้งการซื้อกิจการซึ่งจะช่วยให้เจาะเข้าตลาดในประเทศนั้นๆ ได้มากขึ้น

ในภาคบริการบริษัทไทยมีข้อได้เปรียบมากกว่าบริษัทอื่นในเชิงเทคโนโลยี ดังนั้น ควรใช้ข้อได้เปรียบนี้ไปลงทุนในอาเซียน ทั้งเวียดนาม ลาว เมียนมา ใช้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้บริษัทไทยมีข้อได้เปรียบในการซื้อหรือควบรวมกิจการคือ ต้นทุนการเงินต่ำ เมื่อเทียบกับเวียดนาม เมียนมา ต้นทุนการเงินเวรียดนามสูงมาก ดังนั้นเมื่อซื้อกิจการ ต้นทุนก็จะสูงกว่า ขอสนับสนุนให้บริษัทไทยขยายการลงทุนไปนอกประเทศ และการทำธุรกิจแนวทางหนึ่งคือ การควบรวมกิจการ

นายวิลเลียมกล่าวว่า “ประชากรในอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในวัยต่ำกว่า 30 ปี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าภูมิภาคนี้ใช้เทคโนโลยีมาก เทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจในอาเซียน ทุกคนต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพราะช่วยในการดำเนินงาน การจัดการทางธุรกิจไปได้ดี”

ไมเนอร์ กรุ๊ป อยู่ในภาคบริการ มีธุรกิจ 50 แบรนด์ ใน 35 ประเทศ รวมทั้งอาเซียนด้วย

“เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจมากขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากธุรกิจโรงแรมที่เรามี ปัจจุบันการจองห้องพักมาจากการจองผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นเป็นสัดส่วนใหญ่ เป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และมีผลให้ธุรกิจโรงแรมต้องเปลี่ยนวิธีการทำการตลาด เพื่อแข่งกับบริษัททัวร์ที่ให้บริการออนไลน์”

นายวิลเลียม อี. ไฮเนคกี้ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทในเครือไมเนอร์ กรุ๊ป ประเทศไทย

ส่วนในธุรกิจอาหาร นายวิลเลียมกล่าวว่า พิซซ่า เป็นผู้เริ่มต้นการส่งอาหาร (Food Delivery) โดยรับประกันเวลา 30 นาที แต่ขณะนี้เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคมีการใช้ Grab, Uber และอื่นๆ มากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีมีผลต่อความภักดี (Loyalty) ของลูกค้า หากไม่มีการใช้เทคโนโลยีก็จะสูญเสียลูกค้าได้ ไมเนอร์กรุ๊ปได้มีการว่าจ้างบริษัทภายนอกให้จับพฤติกรรมลูกค้ากับธุรกิจร้านอาหาร เพราะผู้บริโภคปัจจุบันนี้เปลี่ยนเร็วมาก ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเร็วมาก และเร็วขึ้นจากเดิมมาก

นายวิลเลียมกล่าวต่อว่า ต้องยอมรับเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีมาใช้ ดิจิทัลเทคโนโลยีทุกวันนี้มีความสำคัญต่อการทำธุรกิจสำหรับทุกบริษัท ตัวอย่างเช่น Airbnb เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด ในแง่ธุรกิจที่พัก และนับเป็นคู่แข่งรายเดียวที่ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวในการแข่งขัน

สำหรับไมเนอร์กรุ๊ป ได้มีการใช้เทคโนโลยีเพราะมีธุรกิจทั่วโลก ทำให้สามารถขยายฐานและขนาดธุรกิจได้ รวมทั้งยังได้ใช้เทคโนยี e-wallet, AI เพื่อให้เข้าใจข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค, ใช้ Blockchain เพราะมีฐานธุรกิจที่กว้าง และยังสนใจเทคโนโลยีจีนด้วย โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน wallet payment และอื่นๆ ที่อยู่บนออนไลน์ หากไม่ใช้เทคโนโลยีจะแข่งขันไม่ได้ เพราะผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากกว่าเดิม ผู้บริโภคไม่ต้องการพกบัตรเครดิต ไม่ต้องการพกเงินสด ทุกอย่างอยู่ในสมาร์ทโฟน และหากธุรกิจไม่พร้อมรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น ธุรกิจโรงแรม ที่ลูกค้าต้องใช้สมาร์ทโฟน หรือ device สำหรับการเปิดประตูห้อง

ไมเนอร์กรุ๊ปมีการจัดทำแผนธุรกิจ 5 ปี แต่ละปีมีการทบทวนปรับเปลี่ยน ซึ่งแผน 5 ปีที่ทำกันหลายบริษัทในทุกวันนี้อาจจะต้องกลายเป็นแผนรายไตรมาส เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่สำหรับไมเนอร์กรุ๊ปไม่ได้ตามกระแสขนาดนั้น แต่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเชิงกลยุทธ์ การซื้อกิจการ การมีพันธมิตร เพราะบางครั้งต้องมีพันธมิตรเพื่อให้ได้บุคคลากรที่มีความสามารถมีทักษะทางเทคโนโลยี

นอกจากนี้ไมเนอร์กรุ๊ปเปิดให้พนักงานใช้โอกาสทางเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ด้วยการจัดตั้งโปรแกรม New gen program for new generation ส่งเสริมให้พนักงานรุ่นใหม่ศึกษาเทคโนโลยีและหาแนวทางที่จะนำมาใช้ เพื่อนำเสนอต่อบริษัท ซึ่งหากว่าไม่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจะแข่งขันไม่ได้

ทุกวันนี้มีคู่แข่งจำนวนมากที่มีส่วนขับเคลื่อนการบริการให้ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า ดังนั้นเทคโนโลยีมีส่วนให้บริษัทอาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

สำหรับข้อแนะนำนักลงทุน นายวิลเลียมกล่าวว่า ไทยโชคดีเพราะมีตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน เป็นที่ตั้งที่มีข้อดี หลายประเทศมีการย้ายฐานการลงทุนการผลิตมาไทย ดังนั้นก็ขึ้นอยู่ไทยว่าจะใช้ข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งอย่างไรเพื่อการเสริมความแข็งแกร่งสถานะนี้ในอาเซียน การทำงานหรือการร่วมมือกับเวียดนาม เมียนมา ลาวที่อยู่ใกล้ก็จะเป็นข้อดี

สถานการณ์พลังงานอาเซียน

นาย โม มินต์ นำเสนอข้อมูลสถานการณ์พลังงานในโลก อาเซียน และเมียนมา เพื่อนำไปสู่การวางแผนด้านพลังงาน ซึ่งจะมีผลต่อบริบทของภูมิภาค โดยกล่าวว่า ปัจจุบันมีทางเลือกเกี่ยวกับพลังงานมากขึ้นที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า แต่การใช้พลังงานและพลังงานทางเลือกเหล่านี้เพื่อสร้างอนาคตที่สดใส ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นแบบที่ไม่เคยมีมากก่อน

เมื่อพูดถึงพลังงานคนทั่วไปอาจจะคิดถึงในด้านผลประโยชน์ต่อสภาวะแวดล้อมที่ดีจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานโซลาร์ การใช้พลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้า ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่พลังงานทางเลือกที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตกระแสไฟฟ้าคือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG)

ที่มาภาพ : presentation นายโม มินต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

บางประเทศอาจจะมีพลังงานทางเลือกและมีแหล่งพลังงานธรรมชาติจำนวนมากและสามาถเข้าถึงเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าคือ การจัดทำแผนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการแบ่งปันการใช้แหล่งพลังงานนั้นอย่างยั่งยืนและร่วมมือกันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียนที่หแหล่งพลังงานในประเทศกำลังลดลง

ก๊าซธรรมชาติและ LNG กลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนานำไปบรรจุไว้ในแผนพลังงาน การใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นแนวทางที่รู้กันดีว่ามีประสิทธิภาพและเป็นพลังงานสะอาดที่สุดอย่างหนึ่ง มีความยั่งยืนที่สุดในบรรดาการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้อยู่ในโลกทุกวันนี้

ที่มาภาพ : presentation นายโม มินต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิภาพสูงถึง 60% ส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ก๊าซในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำกว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างน้อย 20%

ขณะที่เทคโนโลยีในการผลิต LNG ดีขึ้นมาก มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกด้านทั้งการผลิต การขนส่ง ประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีจะมีผลดีต่อความมั่นคงทางพลังงานของชาติอาเซียนภูมิภาค

ความสามารถในการหาและผลิต LNG ในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศกำลังกลายเป็นความท้าทายที่มากขึ้น เฉพาะประเทศไทย ความต้องการกระแสไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 30-40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า การผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศของไทยคาดว่าจะลดลงประมาณ 70% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้นไทยและชาติอื่นในอาเซียนกำลังวางแผน วางนโยบายเพื่อเพิ่มการนำเข้าพลังงาน

ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล เช่น ปิโตรเลียม ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา กำลังวางแผนที่จะสร้าง Terminal ที่ใช้งานได้หลายด้านทั้งรับปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ และเพื่อการขนส่ง มีเป้าหมาย 2 ข้อคือ หนึ่ง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเชื่อว่า อัตราการเติบโตของความต้องการในประเทศน่าจะสูงกว่าที่ได้ประมาณการณ์ไว้ สอง ต้นทุนพลังงานลดลงทำให้จัดหาพลังงานได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ขณะเดียวกัน รูปแบบการทำสัญญาปัจจุบันมีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม ในแง่ระยะเวลาของสัญญา

การเปลี่ยนแปลงด้านอุปทานและอุปสงค์ของโลกส่งผลให้มีภาพพลังงานโลกเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่มีผู้ครองตลาดรายใหญ่ คือ ตะวันออกกลางและออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายประเทศได้ขยับตัวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น อัลจีเรีย อิยิปต์ โมซัมบิก แอฟริกา มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี สหรัฐอเมริกา แคนาดา

ที่น่าสนใจคือสหรัฐอเมริกา ที่ได้ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาแหล่งก๊าซในประเทศที่ไม่เพียงทำให้เป็นประเทศที่มีพลังงานพอเพียงพึ่งพาตัวเองได้แต่ยังส่งออกไปยังแหล่งอื่นของโลกด้วย ขณะเดียวกันประเทศในเอเชีย และอาเซียนกำลังเปลี่ยนทิศทางและมีผลต่อการกำหนดนโยบายพลังงานของโลกมากขึ้น จากเดิมที่มีญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชาติเหล่านี้ประสบอยู่

โดยจีนเดินหน้าปิดโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน และทดแทนด้วยก๊าซธรรมชาติ และจีนยังได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับโครงข่ายท่อส่งก๊าซ เพื่อกระจายใช้ก๊าซและพลังงานให้ใช้ได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลกลางจีนยังได้สั่งการให้มณฑลสั่งปิด โรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4,400 แห่งภายในสิ้นเดือนตุลาคมปีนี้แม้จะเป็นแหล่งอุปทานพลังงานความร้อนและพลังงานไฟให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ และให้ทดแทนด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซ

ทางด้านราคาพลังงานได้ลดลงเหลือ 8 ดอลลาร์ต่อ 1 ล้านบีทียู (MMBTU) ใน 4 เดือนที่ผ่านมาจากที่เคยสูงถึง 10-15 ดอลลาร์ต่อ 1 ล้านบีทียู แม้ตลาดส่งออกพลังงานยังเจอความผันผวนของราคา ผู้ซื้อหลายรายยอมรับราคาในระดับความเสี่ยงนี้เพื่อแลกกับการทำสัญญาซื้อระยะสั้นและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

สัญญาซื้อพลังงานเดิมเป็นสัญญาระยะยาวทั้งอายุของสัญญาที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่สัญญาซื้อ LNG ขณะนี้สั้นลงเหลือ 5 ปี สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเองก็ยอมรับให้ LNG มีส่วนในแหล่งพลังงานของประเทศทั่วโลกมากขึ้น

ที่มาภาพ : presentation นายโม มินต์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

กระตุ้นไทยร่วมมือกันมากขึ้น

นายโม มินต์ กล่าวว่า ประเทศนำเข้าพลังงานในอาเซียนโดยเฉพาะไทยและเมียนมาจะได้รับผลดีจากการที่สัญญาเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีข้อได้เปรียบในการเข้าทำสัญญาระยะสั้นในราคา spot ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และในระดับราคาที่สามารถซื้อได้มากขึ้น ต่างจากสัญญาระยะยาวแบบเดิม

“ผมหวังว่าชาติอาเซียนโดยเฉพาะไทยและเมียนมาจะได้หาแนวทางที่จะประสานความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การทำสัญญาซื้อพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และประสานความร่วมมือทางแผนแม่บทที่มี stakeholders ร่วมอยูด้วย และเมื่อทั้งสองประเทศร่วมกันวางแผน ก็จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของชาติ และผมดีใจที่มีการพูดถึงและหารือเรื่องนี้ในการประชุมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECs) ที่จัดขึ้นในไทยเมื่อเร็วๆ นี้”

นอกจากนโยบายของชาติอาเซียนในด้าน LNG ที่ได้เข้ามาอยู่ในแผนแม่บทพลังงานแล้ว ก็คาดหวังว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะยังคงเดินหน้าแบ่งปันพลังงานผ่าน รูปแบบการแบ่งปัน (Resource sharing Model) ที่ให้ผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองฝ่ายและของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีไทยกับเมียนมาที่ใช้โมเดลนี้ เพราะทั้งสองประเทศได้ผลประโยชน์ร่วมกันอย่างมาก โดยไทยนั้นปัจจุบันได้ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 60% ส่วนแหล่งพลังงานในไทยนั้น สัดส่วน 70% เป็นก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศ นำเข้า 10% และนำเข้า LNG 20% จากเมียนมา

ที่มาภาพ : presentation นายโม มินต์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาไปอย่างมาก ส่วนเมียนมาความต้องการพลังงานยังไม่มาก และแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงและพัฒนาเร็ว แต่ก็ยังไม่ก้าวหน้าพอที่รองรับก๊าซธรรมชาติในประเทศได้หมด มีก๊าซเหลือตลอดเวลา ดังนั้น เมียนมาจึงส่งออกส่วนหนึ่งไปประเทศใกล้เคียงคือไทยและจีน ทำให้มีรายได้เงินตราต่างประเทศที่สามรถนำไปพัฒนาประเทศได้

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเอเชียแปซิฟิกที่เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็ว จึงมีความเหมาะสมที่มีแหล่งพลังงานที่หลากหลายที่มีความยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่ขยายตัว ซึ่ง LNG เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม และสิ่งสำคัญคือไทยจะต้องยังคงเสริมแหล่งพลังงานด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา เพราะไม่เพียงทำให้ไทยมีแหล่งพลังงานที่กระจายและยังได้ประโยชน์จากราคาก๊าซที่นำเข้าจากเมียนมาที่ต่ำลง 20% จาก 4 เดือนก่อน

นายโม มินต์ กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่พบในชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศซึ่งน่าจะเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ของเอเชียแปซิฟิกที่สำรวจพบและจะถูกพัฒนาในเร็วนี้ หลายพื้นที่มีการพัฒนาแล้ว มีหลายพื้นที่ยังไม่ได้มีการสำรวจ จึงมีศักยภาพ แต่เมียนมาไม่มีกำลังพอที่จะรับพลังงานเหล่านี้ได้หมด

“ผมคิดว่าเมียนมาจะมีบทบาทในด้านทรัพยากรของภูมิภาค เมียนมามีความพร้อมในด้านทรัพยากร แต่ที่ขาดคือเทคโนโลยีและการจัดการ หากนักลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาพร้อมลงทุนเราก็จะยอมรับและจะเติบโตไปด้วยกัน นั่นเป็นสิ่งที่เรามองหา”

นายโม มินต์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าก๊าซที่ผลิตได้จากแหล่งนี้จะคงใช้สัญญาแบบ sharing model ที่สองประเทศคือไทยและเมียนมาได้ยึดถือปฏิบัติกัน

“การสำรวจและการขุดเจาะ ผลิต ก๊าซธรรมชาติในแหล่งใหญ่ของเมียนมามีอย่างต่อเนื่อง ผมจึงคาดว่าเมียนมาจะเดินหน้าใช้การทำสัญญาแบบ Sharing Model”

นอกจากการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันในเรื่องก๊าซธรรมชาติแล้ว ทั้งสองประเทศยังสามารถการดำเนินการอื่นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันได้อีกมาก ซึ่ง ด้านแรก คือ โรงไฟฟ้าพลังงาน้ำ (hydro power plant) ซึ่งเมียนมรมีศักยภาพที่จะผลิตได้ถึง 240 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปีซึ่งสูงกว่ากระแสไฟที่ผลิตได้ในไทยปัจจุบันถึง 17 เท่า

ด้านที่สอง ไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ East-West Corridor ซึ่งสามารถนำมาประสานกับนโยบายใหม่ของเมียนมา คือ Look East ได้ ซึ่งก็จะทำให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไทยสามารถขนส่งตรงผ่านเมียนมาทะลุไปมหาสมุทรอินเดียได้ ร่นระยะทางประหยัดต้นทุนแทนการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาที่แออัด ขณะที่เมียนมาเองสามารถขนสินค้าผ่านไทยไปยังดานัง เวียดนามได้

ที่มาภาพ : presentation นายโม มินต์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

ธนาคารโลกศึกษาไว้ว่าความหนาแน่นของการใช้ถนนที่เพิ่มขึ้น 10% จะเพิ่มปริมาณการค้าได้ถึง 1% ดังนั้น หากไทยและเมียนมาเพิ่มการขนส่งทางถนนและโครงสร้างพื้นฐาน 2 เท่า ก็จะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันได้ถึง 10%

“เมียนมามีแนวนโยบายใหม่คือ Look East ที่เชื่อมตั้งแต่แหล่งผลิตก๊าซในชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียมาจนถึงดานัง เวียดนาม ผมขอเชิญชวนให้ไทยหันมองไปทางตะวันตกมากขึ้น และหวังว่าจะมีการหารือพูดคุยกันมากขึ้น ไม่เฉพาะภาครัฐแต่เป็นเอกชนด้วย และไม่เน้นเฉพาะการขนส่งเท่านั้น แต่เพื่อการเชื่อมโยงด้านพลังงานและความมั่นคงทางพลังงาน”

นายโม มินต์ กล่าวว่า โอกาสการลงทุนในเมียนมามีมากหากต้องการที่จะลงทุนในเมียนมาอย่างแท้จริง ที่สำคัญนักลงทุนต้องมีความตั้งใจและมุ่งมั่น (commitment) ทั้งด้านเงินทุนและแผนการลงทุนที่ชัดเจน รัฐบาลก็พร้อมพิจารณา และปัจจุบันคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของเมียนมาได้ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาให้กระชับมากขึ้น